ประชุมเพื่อปรับปรุงแผนหลัก 3 ปี สสส.(1)


หารอยต่อระหว่างแผน แล้วประสานกันเข้าไว้ อย่าไปทำเรื่องซ้ำซ้อนกัน เสีบงบประมาณเปล่าๆ

              วันอาทิตย์ที่ 2 ก.ค. 49  สสส. เชิญผู้จัดการแผน (ผู้รับทุนจาก สสส.) ไปประชุมเพื่อปรับปรุงแผนหลัก 3 ปี (ปีงบประมาณ 2550 - 2552) ที่ นนท์นที รีสอร์ท จ. นนทบุรี  โดยขอเล่าในส่วนที่เป็นเนื้อๆ ก่อน แล้วจะมีส่วนที่เป็นน้ำๆ ล้อมรอบในตอนหลัง

               ประธานในที่ประชุมคือ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ  นอกจากท่านจะหล่อเอาการแล้ว น้ำเสียงก็น่าฟัง ดูภูมิฐาน และที่สำคัญทำให้ที่ประชุมเกิดบรรยากาศเป็นกันเองและมีส่วนร่วม  โดยท่านเป็นผู้เดินไมค์  เวียนให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็น  คอยดึงให้เห็นประเด็น  สรุปเป็นแก่นให้ชัดๆ คือ บริหารจัดการการประชุมได้เยี่ยมจริง

               เมื่อเริ่มประชุม สสส. ได้ใช้ BAR คือ before action review และหา "หัวปลา" ในการพูดคุยกันว่า ความคาดหวังของการประชุมวันนี้คืออะไร  ซึ่งอาจารย์วิจารณ์ได้ขึ้น blog รายงานสดไปแล้ว ที่นี่ โดยหวังว่า ผลจากการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนนี้ จะได้รับการปรับระดับ จากระดับ 3 (ผลลัพธ์ต่อภาคีเครือข่าย) เป็น ระดับ 4 (ผลลัพธ์ต่อประชาชนและสังคม) ได้อย่างไร

                โครงสร้างแผนหลัก "สิบสามแผนสู่สุขภาวะ"  โดยที่แผน 1-12 เป็นแผนแนวดิ่ง (vertical) คือดำเนินงานตามประเด็น ส่วนแผน 13 เป็นแผนแนวราบ (horizontal) คือดำเนินงานสนับสนุนงานตามแผน 1-12 คล้ายๆ กับกองหลัง-กองหนุน

                 ที่สำคัญ ต้องหารอยต่อระหว่างแผน 13 กับ 12 แผน แล้วประสานกันเข้าไว้  อย่าไปทำเรื่องซ้ำซ้อนกัน เสีบงบประมาณเปล่าๆ 

                  หลักการสำคัญคือ ในแผน 13  ประกอบด้วยงานอีก 5 แผนหลัก 12 แผนย่อย

                   5 แผนหลักคือ
 1. ระบบข้อมูลข่าวสาร
 2. ระบบและกลไกนโยบายสาธารณะ
 3. สร้างและจัดการความรู้
 4. ศักยภาพภาคี/เครือข่าย
 5. การจัดการสำนักงาน สสส.

                   โดยที่ 5 แผนหลักนี้ ใช้ 4 กระบวนการหลัก คือ
 1. ระบบ/กลไกที่ทุกแผนใช้ร่วมกัน
 2. ทำให้ ถ้ายังไม่พร้อม
 3. พัฒนาศักยภาพ เพื่อทำได้เอง
 4. advocacy ((เดิมมี 3 กระบวนการ วันนี้คุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ แห่ง มสช. กรุณา innovate กระบวนการนี้ขึ้นมาใหม่ในวันประชุม)

                   หลังจากเข้าใจวัตถุประสงค์ของหัวข้อวันนี้แล้ว  ก็แบ่งกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม  โดย อ.วิจารณ์และแกบ ถือเป็นคนคนเดียวกัน เพราะมาจาก สคส. ด้วยกัน ได้อยู่กลุ่ม 2   โดยสรุป ได้ข้อเสนอจากหลายๆ ท่าน ที่ช่วยกันคิดแบบดังๆ อาทิ

                   -  แผน 13 ต้องมองให้ใหญ่กว่า (ครอบคลุมเกินกว่า) 12 แผน  ไม่ติดกรอบฉพาะแค่ 12 แผน นั่นคือ นอกจากภาคีเครือข่าย สสส. แล้ว  เรายังสามารถส่งเสริมโครงการที่ไม่ได้รับทุนจาก สสส. ได้เช่นกัน  หากทำเช่นนี้ จะเกิดอิสระในการดำเนินงาน และได้ผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นอีก (เป็นข้อเสนอของ อ.วิจารณ์)

                   -  หากจะทำแผน 13 ให้ serve แผน 12 แผนได้ จะต้องออกแบบระบบใหม่ ให้มีมาตรฐานตามที่กำหนดแบบเดียวกัน  (โดยส่วนตัวแล้ว เห็นว่า ข้อนี้น่าจะดีในการคิดแวบแรก แต่ในเชิงปฏิบัติ คงต้องมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ใช้เฉพาะบริบทกัน)

                   -  แผน 13 น่าจะเดิน 2 ขาคือ ในขณะที่ สสส. ดำเนินงาน 12 แผนอยู่แล้ว ก็ควรมองออกนอกกรอบ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมด้วย หากมีประเด็นหรือพื้นที่ที่ 12 แผนยังไม่ได้ทำ  ก็หนุนให้เกิดขึ้นมาใหม่ โดยใช้ evidence-based มาช่วยผลักดันแผน  โดยที่แผน 13 ไม่จำเป็นต้องทำเอง  แต่สามารถกลับไปหนุนเสริม-จุดประกาย 12 แผนให้เห็นความสำคัญของเรื่องนั้นๆ แล้วดำเนินการด้วยตนเอง   ถ้ามองแค่ทำงานให้สอดรับกับ 12 แผนอย่างเดียว ในที่สุดก็จะเจอทางตัน

                  -  ลองมองแผน 13 ให้เป็นเครื่องมือที่จะให้ 12 แผน และ เครือข่ายภายนอกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์  ให้แผน 13 เข้าไปเสริม  ถ้าเสริมไม่ได้ ก็ให้ต่อยอดไปเลย  โดยยกตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาศักยภาพ เช่น

                   * การจัดการความรู้
                   * การผลักดันนโยบาย ใช้ evidence-based
                   * กระบวนการทำงาน
                   * การประเมิน
                   * การบริหารโครงการ
                   * การจัดระบบข้อมูล (MIS)
                   * แนวคิดใหม่ๆ - นวัตกรรม

                   ตอนบ่าย มารวมกลุ่มกันใหม่  โดยช่วยกันให้ข้อคิดเห็นในประเด็นที่เป็นไปได้ แต่ไม่สรุป ขอให้ สสส. นำประเด็นไปพิจารณาและดำเนินการต่อ (ซึ่งขอต่อตอนที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ค่ะ)

                    

คำสำคัญ (Tags): #สสส.
หมายเลขบันทึก: 36814เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2006 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอบคุณคุณแกบครับ  ที่บันทึกอย่างฉับพลัน     อย่าลืมบันทึกประเด็นจาก AAR วันพรุ่งนี้ด้วยนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท