ไปเรียนรู้การเลี้ยงแมลงช้างปีกใสในเวที DW(1)


ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวที DW(ประชุม-สัมมนาเชิงปฏิบัติการ) ครั้งที่3

 

 

เมื่อวันที่11 มิถุนายน 2553 สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ได้นำพานักส่งเสริมการเกษตรทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ รวมทั้งสิ้น 90 คน ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวที DW(ประชุม-สัมมนาเชิงปฏิบัติการ) ครั้งที่3  ตามระบบส่งเสริมการเกษตร ณ.ศูนย์บริหารศัตรูพืชพิษณุโลก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก  โดยมุ่งเน้นให้นักส่งเสริมการเกษตร ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านประสบการณ์ระหว่างนักส่งเสริม กับนักวิจัย(นักวิชาการเฉพาะด้าน)หรือระหว่างนักส่งเสริมกับเกษตรกร(ชุมชน)

 

 

 

        ประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในครั้งนี้ ได้กำหนดประเด็นในการแลกเปลี่ยนคือเทคนิคการเพาะเลี้ยงแมลงช้างปีกใส เพื่อไปดูดกินเพลี้ยแป้งที่ระบาดในไร่มันสำปะหลัง

 

       ลองมาทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า แมลงช้างปีกใส เป็นแมลงประเภทตัวห้ำ สามารถดูดกินศัตรูพืชหลายชนิดเช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ไรแดง แมลงหวี่ขาว เพลี้ยหอย หนอนตัวเล็กๆและไข่ของแมลงหลายชนิดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

        วงจรชีวิตของแมลงช้างปีกใส เมื่อตัวเต็มวัยผสมพันธุ์แล้ว จะออกไข่ เมื่อไข่มีอายุ 4 วัน ก็จะฟักเป็นตัวอ่อน ในระยะของการเป็นตัวอ่อนนี้จะแบ่งเป็น 3 ระยะ( ช่วงอายุ7-10 วัน) จากนั้นก็จะเข้าสู่ระยะดักแด้ อีก 10-15 วัน จากนั้นก็จะพัฒนาไปสู่ระยะตัวเต็มวัยอีก 20-30 วัน

 

หลักการผลิตและขยาย แมลงช้างปีกใส มีอยู่ 3 ขั้นตอนหลักๆคือ

        ขั้นที่1. ผลิตหรือหาอาหารบริสุทธิ์ เพื่อให้เพลี้ยแป้งได้กินเป็นอาหาร เช่นฟักทองแก่คุณภาพดี หรือต้นมันสำปะหลังที่สมบูรณ์ และที่อ่อนแอต่อเพลี้ยแป้ง เพื่อทำการผลิตเพลี้ยแป้งให้เพียงพอต่อปริมาณแมลงช้างปีกใส

       

       ขั้นที่2. ผลิตเพลี้ยแป้งที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อนสารเคมี เชื้อโรคหรือแมลงอื่นๆ ให้มีในปริมาณที่เพียงพอที่จะใช้เป็นอาหารเลี้ยงแมลงช้างปีกใส แมลงช้างปีกใสหนึ่งตัว จะกินเพลี้ยแป้งได้อย่างน้อย 60 ตัวต่อวัน และถ้าอาหารไม่เพียงพอจะกินกันเอง และถ้าเพลี้ยแป้งไม่สะอาด มีสิ่งปนเปื้อนหรือมือแตนเบียนทำลาย จะทำให้ได้แมลงช้างปีกใสที่ไม่สมบูรณ์ ประสิทธิภาพการควบคุมศัตรูพืชจะลดลง

 

         ขั้นที่3. ผลิตแมลงช้างที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีคุณภาพที่ดี ซึ่งจะต้องมีอาหารอย่างพอเพียง สะอาด และปล่อยในวัยที่เหมาะสม และสะดวกแก่การนำไปปล่อย วัยที่เหมาะสมที่สุดคือวัยตัวอ่อน ที่สามารถดูดกินเพลี้ยแป้งได้ทันที

 

         สรุปทั้ง 3 ขั้นดังกล่าว ต้องวางแผนให้สัมพันธ์กัน จึงจะทำให้การผลิตขยายที่มีประสิทธิภาพ ได้แมลงช้างปีกใสตามที่ต้องการ ทั้งปริมาณและคุณภาพ

 

 

 

 

         การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักส่งเสริมการเกษตร กับนักวิจัย  ในเบื้องต้นนี้จึงนับได้ว่านักส่งเสริมการเกษตรของจังหวัดกำแพงเพชร ได้รับการเติมเต็มจากประสบการณ์จริงอีกครั้งหนึ่ง ในปีงบประมาณ 2553 นี้ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ชุมชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมาก และเคยประสพปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดในแปลงมันสำปะหลังของเกษตรกรในฤดูการผลิตที่ผ่านมา ได้มีการเตรียมการจัดตั้ง ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนขึ้น รวมทั้งสิ้น19 ศูนย์ กระจายอยู่ในชุมชนต่างๆเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนั่นเองครับ

 

บทบาทและภารกิจของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน มีดังนี้

 

  1. 1.    ทำการสำรวจและติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชในชุมชน

  2. 2.    เฝ้าระวังและตรวจสอบการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง

  3. 3.    ทำการผลิตและขยายศัตรูธรรมชาติเพื่อบริการแกสมาชิกในชุมชน

  4. 4.    ทำการชุบท่อนพันธุ์แก่เกษตรกรในชุมชน

  5. 5.    ทำแปลงเรียนรู้/แปลงทดลอง ในชุมชน

  6. 6.    ฝึกอบรมให้ความรู้หรือจัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกรในชุมชน

  7. 7.    ร่วมติดตามประเมินผล/การสรุปรายงาน

    ข้อสำคัญ นักส่งเสริมการเกษตรที่รับผิดชอบศูนย์จัดการศัตรูพืชแต่ละจุดและคณะกรรมการ ประจำศูนย์ฯ จะต้องมีการวางแผนการปล่อยแมลงช้างปีกใสในพื้นที่ ปล่อยเพื่อควบคุมเพลี้ยแป้งหลังจากแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง แล้วทำการปลูก ประมาณ 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง สำหรับการกำหนดจุดปล่อยแมลงช้างปีกใสและวันที่ปล่อย คือหลังจากการสำรวจสถานการณ์และพบเพลี้ยแป้ง ทำการปล่อยแมลงช้างปีกใส ปล่อยเพื่อควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งไม่ให้มากจนถึงขั้นเสียหาย

 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

เขียวมรกต 

12 มิย.53

หมายเลขบันทึก: 365913เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2010 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท