ชีวิต "แรงงานต่างด้าว" ในพื้นที่สึนามิ


ภาพชีวิตจริงๆ ของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ ที่แทรกตัวอยู่แทบจะทุกพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ เป็นความจริงที่ไม่อาจตีกรอบไว้แค่ในจินตนาการของ "ความมั่นคงของชาติ"

ก่อนลงพื้นที่ ทีมวิจัยเราคุยกันอยู่ว่า จะไม่จับประเด็นเรื่องแรงงานต่างด้าว เพราะประการแรก โจทย์วิจัยเราอยู่ที่ คนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่สึนามิ แต่เท่าที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าแรงงานต่างด้าว คือแรงงานที่มีสัญชาติของประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่แล้ว จึงไม่ไร้รัฐไร้สัญชาติ  ประการที่สอง นโยบายของรัฐรวมถึงทัศนคติของสังคมในการแก้ไขปัญหาคนกลุ่มนี้ ก็ค่อนข้างแตกต่างกับกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เรากำลังพูดถึงอยู่มาก

 

แต่เมื่อได้ลงมาในพื้นที่และได้พูดคุยกับฝ่ายต่างๆ ทั้งนายจ้าง องค์กรต่างๆ ที่ทำงานกับคนกลุ่มนี้ ภาครัฐ  รวมทั้งตัวเจ้าของปัญหาเอง ก็ได้เห็นแง่มุมที่หลากหลายที่ตัวเองไม่ค่อยเคยหันมามอง

 

นายจ้างบางคนที่คุยด้วยมีแรงงานต่างด้าวจากพม่าที่มาทำงานในสวนหลายคน หลายคู่มากันเป็นครอบครัว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่นานนับสิบปีแล้วโดยไม่เปลี่ยนนายจ้าง มีลูกที่เกิดในประเทศไทยและกำลังเรียนหนังสือในโรงเรียนใกล้บ้าน พวกเขาบอกกับนายจ้างว่าจะไม่กลับไปพม่าแล้ว อยากอยู่ที่เมืองไทย นายจ้างเองก็เล่าให้ฟังว่าพวกที่มาอยู่เป็นครอบครัวแบบนี้ ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนนายจ้างเหมือนพวกที่มาคนเดียว 

 

ได้ไปนั่งฟังเรื่องราวชีวิตของแรงงานต่างด้าวชาวมอญ สัญชาติพม่า ในแคมป์คนงานก่อสร้างในจังหวัดภูเก็ต ฟังดูแล้วนึกถึงชีวิตของครอบครัวชาวไทยภูเขาภาคเหนือที่รู้จัก จำนวนมากที่ต้องไปทำงานต่างถิ่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไต้หวัน เป็นชีวิตที่ไม่ต่างกันเลย คือต้องทิ้งลูกไว้อยู่กับญาติ ส่วนตัวเองมาทำงานหาเงินที่ต่างประเทศ 2-3 ปี ถึงจะได้กลับบ้านสักครั้ง

 

บางรายที่พบมาได้ภรรยา หรือสามีคนไทย และมีลูกเกิดในประเทศไทย

 

อีกคนที่ได้คุยด้วยเป็นหญิงสาวอายุ 20 กว่าๆ แล้ว พูดไทยชัดเจนเพราะเกิดที่เมืองไทยตั้งแต่สมัยที่พ่อแม่เป็นแรงงานต่างด้าวชาวมอญ สัญชาติพม่า ที่เข้ามาทำเหมืองแร่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ตอนนี้น้องคนนี้ก็ถือบัตรแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ต่ออายุทุกๆ ปี

 

เด็กมอญ สัญชาติพม่าอีก 2 คน ที่ได้คุยด้วย มาจากพม่าได้หลายปีแล้วเพราะแม่ไปรับมาเรียนหนังสือ  แต่ตอนนี้ออกแล้ว ก็มาช่วยแม่ทำงาน ถือบัตรแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าเหมือนแม่

 

ภาพชีวิตจริงๆ ของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ ที่แทรกตัวอยู่แทบจะทุกพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดระนอง  พังงา  ภูเก็ต  กระบี่  เป็นความจริงที่ไม่อาจตีกรอบไว้แค่ในจินตนาการของ ความมั่นคงของชาติ 

ชาวต่างชาติคนหนึ่งที่ทำงานกับแรงงานต่างด้าวในภูเก็ต ได้สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าไล่คนพวกนี้ออกไป หลายจังหวัดเช่นภูเก็ต ระนองคงเป็นจังหวัดที่ตาย  เพราะคนเหล่านี้เป็นชีวิต เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  อย่างที่ระนองอาจจะมีจำนวนมากกว่าคนไทยในพื้นที่ด้วยซ้ำ พร้อมเสนอให้มองมุมกลับว่า คนเหล่านี้เป็นคนที่มาช่วยประเทศไทย  มาทำงานในส่วนที่คนไทยไม่ทำ  และเศรษฐกิจไทยตอนนี้ขาดคนเหล่านี้ไม่ได้ 

ปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้น และจะยิ่งมากขึ้น ทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่กำลังเติบโตในเมืองไทย  ดังนั้น หากเมืองไทยไม่ใส่ใจเรื่องคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาแล้ว คนเหล่านี้ก็จะเติบโตมาเป็นภาระ และสร้างปัญหาให้สังคมไทยในอนาคต  ยิ่งหากถูกกดขี่และไม่ได้รับความยุติธรรมด้วยแล้ว ก็จะยิ่งสร้างปัญหาใหญ่ต่อไปได้

เขาได้ยกตัวอย่างว่า คนอิตาลีจำนวนไม่น้อยที่อพยพไปเป็นแรงงานในประเทศต่างๆ แต่เมื่อพวกเด็กๆ ของพวกเขาได้รับการดูแล ให้การศึกษาอย่างดีจากประเทศปลายทาง พวกเด็กๆ เหล่านี้ก็ได้เติบใหญ่เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และช่วยพัฒนาประเทศที่ตนอยู่

 

ฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า เราควรหันมามองดูปัญหาบนความเป็นจริง เพื่อจะได้ช่วยกันหาทางออกที่สร้างสรร ไม่ใช่ซ่อนปัญหาไว้ใต้พรม ..หรือเพียงดำรงปัญหาไว้เพื่อรักษาผลประโยชน์ใครบางคน !!

 
หมายเลขบันทึก: 36516เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2006 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2012 05:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

สำหรับต้อง แรงงานต่างด้าวอาจไม่อยู่ในขอบเขตของการทำงาน แต่สำหรับอาจารย์แหวว พวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ตกเป็น "คนไร้รัฐ" ในประเทศไทย

พยายามบอกต้องหลายครั้งในการประชุมเตรียมงาน แต่ต้องไม่ได้ยิน ไม่ยอมได้ยิน

คำว่า "ไร้รัฐ" ไม่ได้แปลว่า "ชาวเขา" หรือ บุคคลบนพื้นที่สูง" หรือ "คนไทยพลัดถิ่น" หรือ "คนมอแกน"

คำว่า "ไร้รัฐ" ก็แปลว่า "ไร้รัฐ"

ความไร้รัฐของคนที่เป็นแรงงานจากพม่า เป็นความไร้รัฐที่ทั้งนักวิชาการและเอนจีโอมองไม่ค่อยเห็น

สาเหตุนี้คงอยู่ ก่อปัญหา ไม่แก้ที่สาเหตุ ก็ไม่แก้ปัญหา

ความไร้รัฐอาจเกิดขึ้นแม้ว่า "จะมีสัญชาติพม่า" หรือ "มีบัตรประจำตัวประชาชนพม่า"

เมื่อนักวิจัยเอาคำนิยามที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเพื่อกำหนดขอบเขตในการทำงาน ความเป็นจริงบางอย่างก็จะตกหายไป ทั้งที่มันเกี่ยวข้อง

อย่างที่คุยกัน ให้ต้องตี๋ทำโครงการนี้ วัตถุประสงค์ที่ซ่อนเร้น ก็คือ ส่งไปเรียนรู้ และส่งไปให้กระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ของคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแก้ปัญหาคนไร้รัฐในภาคใต้

มีอะไรให้ช่วยบอกนะครับ แต่อาจจะลงไปให้ช่วยด้วยแหละ เพราะผมยังมีงานวิจัยเรื่องการเข้าถึงการศึกษาของเด็กต่างชาติค้างอยู่เลย และพื้นที่คงเป็นพังงากับระนองนี่แหละ

ตอนนี้กำลังพยายามรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนบทความตามอาจารย์อยากให้เขียน คือมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหาในเรื่องการขอสูติบัตร คือเด็กลูกของแรงงานข้ามชาติที่เกิดก่อนปี 2547 และพ่อแม่ได้พาลูกไปจดทะเบียนผู้ติดตาม เมื่อไปขอสูติบัตรทั้ง ๆ ที่มีใบรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล (ทร.1/1)มาก็ตามแต่ก็ถูกปฏิเสธจากออกสูติบัตรให้ (ตอนนี้ยืนยันจากสองสามที่แล้วว่าเป็นจริง แต่กำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมครับ)

หาอีเมล์พี่ต้องพี่ตี๋ไม่่เจอค่ะ เลยมาเเปะ เรื่องสมุดสุขภาพเเม่เเละเด็กกับการเเจ้งเกิด เเละการขอเปลี่ยนชื่อพ่อเเม่ในสูติบัตร ตามลิ้งค์มานะคะ http://www.geocities.com/iamchut/Wor9.pdf ยังมีอีก เเต่คิดว่าจะต้องส่งอีเมลจะดีกว่า์ ถ้าไงช่วยอีเมล์กลับ มาหาจ๊อบด้วยนะคะ
แหล่งทุนงานวิจัยเชิงพัฒนาจำนวนมากในประเทศไทย โดยเฉพาะที่แหล่งทุนใหญ่คือภาครัฐไทยยังเป็นงานวิจัยที่มืดบอดกับประเด็นคนไร้รัฐ คนพลัดถิ่น ครับ อย่างถ้าพบว่าชาวบ้านเป็นคนชายขอบเหล่านี้ ก็จะไม่สามารถเสนอโครงการเข้าไปของบได้ ..................... นอกจาก "คนไร้รัฐ" "คนพลัดถิ่น" จะเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐลำบาก ในแง่ของงานวิจัย ก็เข้าถึงแหล่งทุนยากครับ

ลงไปคราวนี้ก็ตามหาตัวคุณพี่บอมไม่พบ เลยได้คุยกับ NGO แรงงานต่างด้าว ชื่อ GRASSROOT แทน ได้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายประเด็น

เรื่องแหล่งทุนงานวิจัย เห็นด้วยกับคุณยอดดอยค่ะ เพราะเท่าที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรต่างประเทศที่สนใจงานพวกนี้ในเชิงให้ทุนวิจัยค่ะ

อ้อ แต่ที่เห็นองค์กรไทยที่สนใจและเคยให้การสนับสนุนก็มีค่ะ อย่าง มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ก็เคยให้ทุนวิจัยโครงการเด็กไร้รัฐค่ะ

ยังงงๆ อยู่ดีที่อาจารย์นิยามว่า แรงงานต่างด้าวเป็น "คนไร้รัฐ" ด้วย อย่างนี้ คนไทยที่เป็นโรบินฮูด ใน USA. ก็เป็นคนไร้รัฐ ด้วยเหรอครับ

คือผมคิดว่า ถ้าจะมองคนไร้รัฐในทางข้อเท็จจริงแบบกว้าง แม้จะนำไปผูกกับความมีสัญชาติ ก็คือ บุคคลที่มีสัญชาติของรัฐนั้น แต่กลับถูกรัฐเจ้าของสัญชาติทอดทิ้งหรือทำลาย ยกตัวอย่างเช่นผู้ลี้ภัยนั่นแหละครับ ถึงจะเป็นคนไร้รัฐ (แต่ไม่ไร้สัญชาติ) แต่ถ้าแรงงานต่างด้าวที่มีสัญชาติพม่า(จริงๆ) ผมว่าไม่น่าจะใช่คนไร้รัฐครับ

ไม่อย่างนั้นทุกคนที่มีสัญชาติแต่หลบหนีเข้าไปอยู่ในอีกประเทศหนึ่งก็เป็นคนไร้รัฐหมดซิครับ

อ้อ ยังเขียนไม่หมดครับ ลูกของแรงงานต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ที่รัฐไทยไม่ยอมจดแจ้งทะเบียนการเกิดให้ และรัฐพม่าไม่ให้การยอมรับในความเป็นราษฎรของตนเอง อีกกรณีที่ผมถึงจะมองว่าเป็นคนไร้รัฐครับ

กรณีแรงงานสัญชาติพม่านั้น ไม่เหมือนแรงงานจากประเทศอื่น

ถ้าเราไม่ตระหนักในความร้ายแรงของการเมืองในประเทศพม่าต่อประชากรของเขา เราก็จะไม่เข้าใจว่า เขาไร้รัฐอย่างไร

แม้คนไทยจะหลบหนีเข้าเมืองญี่ปุ่น และไปเสียหายในญี่ปุ่น รัฐบาลไทยก็คงตามไปคุ้มครอง และรับกลับ

แต่สำหรับคนสัญชาติพม่านั้น ไม่ใช่ รัฐบาลพม่าคงไม่สนใจที่จะไปคุ้มครองคนสัญชาติพม่านั้น โดยเฉพาะหากเป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า

คนไร้รัฐ ก็คือ คนที่ไร้ความคุ้มครองของรัฐ เขาอาจจะไม่ไร้สัญชาติ แต่เขาไร้รัฐในข้อเท็จจริง

ลองคิดดูนะตี๋

โลกทั้งใบ ไม่ใช่จะหมุนไปตามที่ตี๋คิด มันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น นอกเหนือจาก "ความคิดเห็นของตี๋" ไม่ว่า ตี๋จะคิดอย่างไร ? รัฐบาลพม่าก็คงไม่มาสนใจคุ้มครองคนสัญชาติพม่าในประเทศไทย

เมื่อวานผมตอบแล้วนี่ ทำไมไม่ติดอะ

แหม พี่ต้อง ผมก็ต้องมาทำงานเป็นกรรมกรที่กรุงเทพฯบ้างดิ จะให้เที่ยวชมไข่มุกอันดามันตลอดได้อย่างไร อิอิอิ

กรณีตี๋ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นะครับ ความไร้รัฐมันน่ามีสองนัยยะ

นัยยะแรก คือปราศจากการอ้างอิงตัวเองกับรัฐใด ๆ ในที่นี้ตัวคนอาจจะบอกว่าเป็นคนของรัฐนั้น ๆ แต่ไม่มีหลักานเอกสารใดยืนยันว่าเป็น

นัยยะที่สองคือการได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ (State Protection ให้ดิ้นกระแด่วเถอะ ผมไม่ค่อยชอบคำนี้เลย ผมไม่ค่อยเชื่อว่ารัฐจะทำหน้าที่คุ้มครองได้ดีนัก ฮ่าๆ ๆ  ) คือ มีรากเหง้าอยูในพื้นที่รัฐนั้น ๆ แต่กลับไม่ได้การปกป้องคุ้มครองโดยรัฐนั้น ๆ กรณีพม่านั้นเห็นชัด เพราะแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทยส่วนหนึ่งที่เป็นชนกลุ่มน้อย ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาต้องมาทำงานในเมืองไทยน่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยจากการคุกคามโดยรัฐพม่าด้วย

พอสังคมไทยพูดถึงแรงงานข้ามชาติ มักจะคิดถึงแรงงานไทยไปทำงานไต้หวัน ตะวนออกกลางทำนองนั้น ไม่ได้มองปัจจัยผลักดันที่เกินกว่าเศรษฐกิจได้เลย ทำให้เราแก้ปัญหาผิด ๆ มาโดยตลอด

ที่สำคัยผมว่าแรงงานข้ามชาติหลายคนเป็นคนไร้รัฐทั้งสองแบบ  คือบางคนนอกจากไม่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐแล้ว ยังไม่มีเอกสารหรือหลักฐานยืนยันตัวเองว่าเป็นคนพม่า โดยเฉพาะคนที่อยู่ตามชายแดน

คงไม่ใช่เฉพาะพม่า เพราะเมื่อีการพิสูจน์สัญชาติลาวและกัมพูชาก็มีคนที่ไม่ผ่านว่าเป็นคนสัญชาติลาวและกัมพูชาส่วนหนึ่ง คนกลุ่มนี้จะเรียกว่าอะไรรับ ถ้าไม่ใช่ไร้รัฐ

ดังนั้นผมว่าการจะปฏิเสธว่าใครเป็นหรือไม่เป็นอะไรมันควรลงในรายละเอียดเป็นกรณีด้วยครับ โดยเฉพาะหลัง ๆ มาความเป็นลูกผสม (hybrid) มาแรงในประเด็นเรื่องนี้ด้วย

อือ เหมือนมันยังไม่สุด ๆ ครับ ผมขอไปนั่งทบทวนความคิดตวเองอีกหน่อย แล้วจะมาแลกเปล่ยนอีกรอบ เป็นไปได้จะลองหากรณีตัวอย่างมานั่งดูกันเลย

เฮ้อ พวกปลาเน่าเนี่ย ไม่เห็นใจเพื่อร่วมชาติร่วมชะตากรรมเลยนะ  ชอบมีข่าวมาให้คนเขาเหมารวมความน่ากลัวของ "แรงงานต่างด้าวชาวพม่า" เรื่อยเลย

เช้านี้ฟังข่าวแล้วใจหาย แวบๆ

ความเห็นล่าสุดนี้แปลว่าอะไรคะ ใครช่วยแปลความหน่อย

เห็นอาจารย์กับพี่บอมตอบ ก็ค่อนข้างเข้าใจว่าไม่เข้าใจความคิดของผม เนื่องจากอ่านทั้งของอาจารย์และพี่บอมส์แล้วก็เข้าใจว่า คิดคล้ายกันแต่ก็อาจไม่ตรงกันทั้งหมด

แต่ที่ผมสงสัยคือ ความไร้รัฐที่อาจารย์และพี่บอมส์มองในลักษณะข้อเท็จจริงคือ การไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐเจ้าของสัญชาติของตนเองถ้าอย่างนี้คนสัญชาติพม่าหลบหนีเข้ามาในไทยก็เป็นคนไร้รัฐหมดซิครับ เพราะโดยหลักเราก็ทราบสถานการณ์ในพม่ากันดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการให้ความคุ้มครองในสิทธิของความเป็นคน ภายในยังไม่แล้วข้างนอกจะมีหรือครับ ดังนั้น

 "การคุ้มครอง" คงต้องนิยามความหมายแล้วละครับว่าขนาดไหน เนื่องจากผมเข้าใจว่าหากเป็นการกระทำในลักษณะของการดำเนินคดีตามกฎหมาย เช่นการดำเนินคดีกรณีหลบหนีเข้าเมือง , การทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาติ เป็นต้น ประเเทศพม่าคงไม่สามารถแทรกแซงได้เนื่องจากเป็นกิจการตามกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งเราก็ต้องยอมรับหากคนไทยหลบหนีไปที่ญี่ปุ่นแล้วเขาดำเนินคดี

ส่วนประเด็นที่เขาต้องเสียภาษีทหารเท่าไหร่และสถานการณ์นั้นบีบบังคับเขามากน้อยเพียงใดก็เป็นอีกข้อเท็จจริงหนึ่งซึ่งนำมาสนับสนุนแนวความคิดของการไร้รัฐได้ แล้วแต่ว่าเราจะคิดในแบบมุมกว้างหรือมุมแคบครับ

แต่หากการกระทำของประเทศไทยถึงขั้นละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเขา เช่น การทำร้าย การทำลาย การริบทรัพย์สิน การไม่รับรักษาพยาบาล เป็นต้นและหากพม่าปฏิเสธว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ราษฎรของตนเองและไม่เข้ามาดูแลหรือแทรกแซงในทางระหว่างประเทศ ผมก็ถือว่าเขาไร้รัฐนะครับ

อีกแหละครับการไร้รัฐหรือไม่ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ใช่ไหมครับ และ สมช ก็กำลังพยายามดำเนินการอยู่แม้จะประสานงานกับประเทศพม่าค่อนข้างยาก ดังนั้นเราคงไม่สามารถเหมารวมได้ว่าแรงงานต่างด้าวทุกคนเป็นคนไร้รัฐโดยเฉพาะของประเทศพม่า เพราะรัฐพม่าไม่เข้ามาดูแลเขาในประเทศไทย แต่คงอาจกล่าวได้ว่าในกลุ่มแรงงานต่างด้าวนั้นก็มีคนไร้รัฐปะปนอยู่ด้วย กรณีของแรงงานต่างด้าวผมก็พอได้คลุกคลีอยู่บ้างบางคนเขาก็มีบัตรประจำตัวประชาชนพม่านะครับทำงานได้เงินเขาก็ส่งกลับบ้านบางรายโดยทางธนาคารด้วยซ้ำครับ

กลุ่มชาติพันธุ์ผมก็ทราบครับว่าปะปนอยู่ในกลุ่มแรงงานซึ่งก็อาจมีทั้งไร้รัฐและไม่ไร้รัฐครับ

ดังนั้นผมไม่ได้หมุนโลกตามความคิดของผมดังที่อาจารย์กล่าวนะครับ แต่ผมนำสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากโลกมาแบ่งปันซึ่งอาจไม่ตรงกับความคิดของอาจารย์ก็ได้ แต่นั้นก็ยิ่งดีไม่ใช่หรือครับ ความหลากหลายทางความคิดคือการสร้างปัญญาไม่ใช่หรือครับ

มองคล้ายๆ ตี๋แหละค่ะ เพราะมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมสถานการณ์เดียวกัน

ฮ่าๆ  ๆ โหพี่ต้องเล่นง่ายนะครับ

อือ ผมไม่เถียงดีกว่าว่าเราเห็นตรงหรือไม่ตรง

ปัญหาข้อเท็จจริงที่ผมห่วงคือ ภาพประทับของแรงงานข้ามชาติ คือ หากใครก็ตามที่ถือบัตรแรงงานต่างด้าว มักจะถูกเหมารวมเอาว่าเป็นคนสัญชาติตามที่ระบุในบัตรนั้น ๆ (อันที่จริงก็แปลกดีนา เพราะกระทรวงแรงงานมักจะไปอ้างอิงว่าคนนั้นเป็นพม่า คนนี้เป็นกัมพูชา เพียงเพราะ เขาว่าเป็น นายจ้างว่าเป็น หรือคิดว่าเป็น) ปัญหาคือ หากข้อเท็จจริงพบว่าคน ๆ นั้นไม่ใช่พม่า แต่อยู่ชายแดนไทย-พม่า เกิดมาก็ไม่รู้ว่าจะต้องมีสัญชาติ หากต้องดำเนินการส่งกลับ ตามกฎหมาย กรณีนี้จะเอาไง

คือ ผมไม่อยากให้ตี๋หรือพี่ต้องฟันธงไปเลยว่า แรงงานข้ามชาติ ไม่ใช่คนไร้รัฐ ยกเว้นเห็นบัตรประชาชนพม่าอะนะ ฮ่าๆ  ๆ เพราะนั่นอาจจะทำให้เราขาดข้อมูลหรือมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจไป ผมคิดว่าอาจารย์อาจมองแบบนั้นนะ เดาเอา ฮ่า ๆ ๆ

กรณีการคุ้มครองโดยรัฐนั้น (ผมก็อุตส่าห์วงเล็บแล้วนาว่าไม่เชื่อน้ำยารัฐไหนในโลกนี้เท่าไหร่ โฮ่ ๆ ๆ) กรณีตี๋ยกมานั้นผมว่ามันไม่ตรงอะ เพราะหากรัฐไทยปฏิเสธที่จะรับรองเขาว่าเป็นคนของรัฐไทย ก็เท่ากับว่าเขาเป็นคนต่างด้าว(ผมไม่ชอบคำนี้จริง ๆ)ของรัฐไทย และหากพบว่าเขายังเข้าเมืองมาโดยไม่ปรากฎหลักฐานที่ถูกต้องตามกฎหมายอีก รัฐไทยก็ย่อมมีอำนาจลงโทษตามกฎหมายของตน และหากส่งกลับรัฐพม่า รัฐพม่าก็หาใส่ใจใยดีไม่ แล้วไล่ส่ง หรือไล่ยิงราวกับว่าโกรธแค้นเสียนี่กระไร กรณีนี้จะอย่างไรครับ คือเขาปราศจากการปกป้องจากใครเลยอะ ตี๋อาจบอกว่าไม่ไร้รัฐนะ แต่หารัฐที่เป็นผู้ปกป้องไม่ได้ (อุ้ย ผมอยากกระโดดมาเถียงตัวเองจังวุ้ยว่า เราอยู่ได้โดยไม่มีรัฐ ฮ่าๆ  ๆ) เราจะเรียกว่าอะไรดี เสมือนไร้รัฐดีป่าว (บัญญัติศัพย์ใหม่เองเลยอะผม ฮ่าๆ ๆ )

ในความเห็นของผมการไร้รัฐมันคงจะต้องดูเป็นรายกรณีไป และอาจจะมีพัฒนาการหรือดิ้นไปดิ้นมาได้ เพียงแต่เรายังไม่ค้นพบหรือมองข้ามมันไปด้วยนิยามแบบเดิม ผมว่าเราอาจจะต้องลองมาช่วยกันหาดีกว่านะ

เออ ตกลงนี่ผมพูดจาเข้าใจไหมนี่ งง ตัวเองอยู่

เหนื่อยนะ คิดไปคิดมา ก็แพ้ความใจแคบของอำนาจรัฐอยู่ดี สงสัยมนุษย์ที่น่าสงสาร ปราศจากความคุ้มครองใดๆ คงเป็นกรรมที่เกิดมาไร้รัฐ มีกระดาษของรัฐหรือไม่ ก็ไม่สำคัญหรอก

ความเป็นจริงต่างหากที่สำคัญ

ยิ่งอยู่ในโลกของตัวเอง ก็จะยิ่งหลุดจากโลกของคนอื่น เมื่อต่างคนต่างอยู่ในโลกของตัวเอง ความเข้าใจกัน ความปรานีกัน ก็จะหมดไป

เข้าไม่ถึงค่ะ..............เห็นด้วยกับพี่ตี๋และทุกๆคนค่ะ

มีคำถามค่ะ

"  คนไร้รัฐ...... "  ในข้อเท็จจริง......ในทางกฎหมายหรือในความเป็นจริงของชีวิตค่ะ   

บอกให้ชาวบ้านตาดำๆอย่างนุชเข้าใจได้ไหมค่ะ  นุชเข้าไม่ถึงในสำนวนทางกฎหมายที่พี่ๆทั้งหลายคุยกันอยู่นะค่ะ 

 เพราะทีแรกเดิมนุชคิดสั้นๆเพียงแค่ว่า

ไร้รัฐ.....คือคนที่ไม่มีชื่อและเลขประจำตัวแสดงตนใดๆในประเทศใดในโลก

ไร้สัญชาติ...........คือคนที่มีชื่อหรือเลขประจำตัวแสดงตนในโลก....แต่ยังไม่ได้ระบุสัญชาติใดในประเทศนั้น

และสุดท้ายนุชก็เพิ่งทราบว่า  จำแนกผิดไป  คิดสั้นไปไม่ถูกต้อง    ....หรือค่ะ

คำว่า "ถูกต้อง" คงสำคัญเหมือนกัน

สำหรับ อ.แหวว  จะอธิบายเสมอว่า คำว่า "ไร้รัฐ" อาจมีทั้งโดยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

นุชไม่ต้องเปิด "ตำรา" ตอบเลย ถามตัวเองว่า "แรงงานที่บัตรประชาชนพม่านะ" เมื่อเข้าเมืองผิดกฎหมาย และยังไม่ได้รับสิทธิอาศัย ก็คงไม่ได้ความคุ้มครองอะไรจากรัฐไทย ซึ่งก็เข้าใจได้ ก็ดันหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยทำไม ?

แต่ถามนุชเลยว่า แล้วรัฐบาลพม่าล่ะ จะก้าวเข้ามาคุ้มครองเขาไหม ? ยิ่งถ้าเขาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ยังรบกับรัฐบาลพม่า เขาจะมีโอกาสได้รับการคุ้มครองจากรัฐใดอย่างสมบูรณ์ไหม ?

แรงงานพม่า บางคน อาจมีสัญชาติ มีบัตรประชาชน แต่ "ไร้รัฐ" ที่จะคุ้มครอง

ถามจริยธรรมในใจ ก็ตอบได้นุช อย่าเอา "ตำรา" "ทฤษฎี" หรือ "อคติ" ใดๆ มาบดบังกฎหมายธรรมชาติที่อยู่ในตัว

 

ถ้าพูดถึงตำรา หรือ ทฤษฎี ที่ว่าสำหรับคนทำงานที่อยู่ในมุมเล็กๆของสังคม  บอกตามตรงเลยค่ะว่า  น้อยคร้งมากที่จะต้องนำตำรา ตามที่เขียนบอกไว้ในตัวหนังสือมาใช้ในงาน  แม้กระทั่งตำราที่เอ็นโจโอเคยเขียนไว้ในการพัฒนา ........ เมื่อสัมผัส ณ ชีวิตของคนในแต่ละท้องถิ่น  ไม่ว่าจะเป็นเหนือ กลางใต้ อีสาน ก็ตาม    ตำราต่างๆที่เขียนบ่งชี้ไว้นั้น...ไม่สามารถทำการช่วยชาวบ้านไว้ได้ซึ่งเฉพาะหน้าทันทีได้ในคราวเดียว 

อยากเพียงสื่อแค่ว่า  จะทำอย่างไรให้ตำรามีข้อบ่งชี้ไว้ให้คนที่ถืออำนาจ ในท้องถิ่นหรือส่วนกลางนั้นได้นำมาใช้อย่างจริงจัง  และให้อยู่ในส่วนจริยธรรมในใจได้  

อยากให้อาจารย์ช่วยจำกัดความ  นิยามของคำเพื่อให้ผู้ปฏิบัติราชการท้องถิ่นได้เข้าใจมากขึ้นอีกสักนิดนะค่ะ  และนุชเองจะรวมแรงพลังทั้งหมดที่มี  นำตำรานั้นมาใช้ให้ถึงตัวตนชีวิตของประชาชนอีกนับหมื่นที่รอคอย   (ราชการท้องถิ่นนั้นนุชหมายถึงตำรวจค่ะ  เพราะไม่อยากสร้างอคติไปมากกว่านี้  นุชเชื่อเหลือเกินว่า  ข้าราชการหรือประชาชน  เพียงบางกลุ่มคนเท่านั้นที่นำตำรามาใช้ในทางที่ไม่สมควร)

นุชเอ๋ย ที่เขาเถียงกัน กับที่เธอร้องขอ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

ถ้าเธอเหยียบดิน เธอจะช่วยชาวบ้านได้มากกว่าที่เธอทำตอนนี้

การส่งเธอไปจาริกแสวงบุญในภาคใต้คราวนี้ เธอก็ลองตรึกตรองดู มากทม. ต้องมาวิปัสสนากันหน่อย

เรื่องคุณขัวญเงินนะ กฎหมายก็ชัด ตำราก็ชัด คำพิพากษาศาลฎีกาก็ชัด มาดูกันว่า อำเภอบางสะพาน เขาจะว่าอย่างไง

สรุปอีกที

"ไร้รัฐ" ในวันนี้ อาจหมายไปไกลถึงคนที่มีชื่อในทะเบียนของรัฐ แต่ไม่ได้รับ "ความคุ้มครองจากรัฐเจ้าของทะเบียน"

อาทิ แรงงานสัญชาติพม่า ที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่รัฐบาลพม่าเกลียดชัง

เหมือนจะจำได้ว่าตอนอาจารย์เเหววไประนองกับคุณจิราพร อาจารย์ได้ถ่ายรูปบัตรประจำตัวคนที่ข้ามมาจากพม่า ซึ่งหน้าตาไม่ค่อยเหมือนบัตรประจำตัวที่หนูเคยเห็นที่เเม่สอด เข้าใจว่าในพม่าก็มีบัตรสีเหมือนกัน เเละจำได้ว่าลุงประเสริฐบางบัตรอาจจะไม่ได้ระบุด้วยว่าเจ้าของบัตรเป็นคนสัญชาติพม่า เพียงเเต่อาจจะบอกว่าเป็นคนที่ได้อาศัยในที่นั้นๆ เท่านั้น

ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยเห็นบัตรมีตัวหนังสืออักษรพม่า ก็บอกว่าเขาสัญชาติพม่าเเล้ว

อันนี้ เราน่าจะหาข้อมูลอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเรื่องบัตรพม่าดูเหมือนกัน เเต่จ๊อบไม่มีคนที่อ่านภาษาพม่าออก เเต่เคยเห็นรายงานที่เขาไปสัมภาษณ์ชนเผ่าที่ไม่ใช่พม่าเรื่องบัตร ก็มีการบอกว่าบัตรที่มีตัวหนังสือพม่านั้น อาจเขียนว่า "บัตรนี้ไม่ใช่บัตรประชาชนคนสัญชาติพม่า" คนที่ถือบัตรนี้อาจมีเชื้อชาติ เช่นกะเหรี่ยง มอญ ไทยใหญ่ ฯลฯ เเต่เขาอาจจะไม่มี"สัญชาติ"ที่เเท้จริง เพราะยังไม่มีการยอมรับ หรือเกิดรัฐกระเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐไทยใหญ่ อย่างที่เป็นรัฐ(ประเทศ)พม่า

ก็คงเหมือนที่บอมบอกล่ะคะว่า 
"คือ ผมไม่อยากให้ตี๋หรือพี่ต้องฟันธงไปเลยว่า แรงงานข้ามชาติ ไม่ใช่คนไร้รัฐ ยกเว้นเห็นบัตรประชาชนพม่าอะนะ ฮ่าๆ  ๆ เพราะนั่นอาจจะทำให้เราขาดข้อมูลหรือมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจไป ผมคิดว่าอาจารย์อาจมองแบบนั้นนะ เดาเอา ฮ่า ๆ ๆ"
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท