ครั้งแรกที่ได้ยินคำว่าคนไร้รากเหง้า ก็เมื่อหลายปีก่อน ที่คณะกรรมาธิการเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ ของวุฒิสภา เริ่มศึกษาปัญหาและนำเสนอนโยบายด้านสถานะบุคคลของคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ครั้งนั้น มีองค์กรด้านเด็กได้นำเสนอภาพเด็กกำพร้าในความอุปการะ ที่สืบค้นประวัติของตัวเองไม่ได้ ทั้งสถานที่เกิด ประวัติพ่อแม่ ทำให้ไม่สามารถจับองค์ประกอบการได้สัญชาติไทยตามกฎหมายได้
ครั้งนั้นฉันเองค่อนข้างมีคำถามในใจว่า เป็นไปได้หรือที่คนๆ หนึ่ง จะไม่รู้ประวัติของตนได้ อาจเป็นเพราะฉันมีภาพชาวเขาจากต่างประเทศบางคนที่มักตอบคำถามประวัติของตนว่า พ่อแม่ตายหมด จำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น รู้แต่ว่าตนเองเกิดในประเทศไทย
เมื่อได้มีโอกาสมาสำรวจสถานการณ์คนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่สึนามิครั้งนี้ ฉันจึงไม่พลาดที่จะมาขอพูดคุยกับ นางสาวไข่มุก กรณีศึกษาคนไร้รากเหง้าที่อาจารย์พันธุ์ทิพย์นำเสนอ
การได้มาพูดคุยกันหน้าต่อหน้า ตอบคำถามคำต่อคำ ทำให้สัมผัสได้ถึงความแตกต่างของการกล่าวอ้างข้อเท็จจริง กับการพยายามย้อนรำลึกอดีต และกลั่นคำตอบออกมาจากความเจ็บปวด จนฉันเองต้องเอ่ยปากขอโทษที่จะต้องรื้อฟื้นบาดแผลที่มีในจิตใจขึ้นมาอีกครั้ง
ไข่มุกจำได้เพียงว่า ตนมาจากอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่เด็กๆ พร้อมกับพี่คนหนึ่งที่ไปรับตัวมา ต่อมาอาจเป็นเพราะเธอดื้อ พี่จึงทิ้งเธอไว้ที่จังหวัดกระบี่ จากนั้นเธอก็อยู่กับป้าคนหนึ่ง ซึ่งเธอต้องช่วยทำงานบ้าน และขายของ ต่อมาเมื่อเธออายุได้ 10 กว่าขวบที่พอทำงานเลี้ยงตัวเองได้ เธอก็ออกจากบ้านป้าคนนั้นมาทำงานรับจ้าง ย้ายที่ทำงานหลายแห่ง ที่อยู่นานหน่อยก็เป็นที่ร้านฝรั่ง ซึ่งนายฝรั่งผู้หญิงใจดี จนเรื่อยมาจนถึงที่จังหวัดพังงา และได้พบสามี
ความทุกข์ยากลำบากในชีวิตคงไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่ต่างจากคนไร้สัญชาติอื่นๆ ที่ต้องอยู่อย่างหวาดกลัว ไม่กล้าเดินถนนอย่างคนปกติ แต่สำหรับไข่มุก เธอกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่า “การไม่มีทั้งพ่อแม่ญาติพี่น้องก็ เสียใจมากอยู่แล้ว ยิ่งไม่มีเอกสารด้วย ชีวิตแย่ยิ่งกว่าอีก มันมืดมนไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิต เพราะถ้าไม่มีพ่อแม่ ก็ยังอยู่กับตัวเองได้...”
จากนั้น 2-3 วันต่อมา เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมเด็กหญิงสุวิมล หรือน้องบ้อ นักเรียนชั้น ป.1 ที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ทำให้เห็นภาพไข่มุกตอนเด็กๆ หรืออาจมองเห็นภาพน้องบ้อในอนาคต หากแม่ที่อุปการะเธออยู่ในปัจจุบันเกิดทอดทิ้งไม่ดูแลเธอต่อไป
แม่อุปการะของน้องบ้อเล่าให้ฟังว่า รับเลี้ยงน้องบ้อมาประมาณ 4 ปีแล้วเพราะไม่มีลูกสาว เมื่อยายซึ่งเป็นคนเร่ร่อนอยู่ที่เกาะลันตา หอบหิ้วน้องบ้อ หลานซึ่งลูกสาวทิ้งไว้ให้ยายเลี้ยง มาขอทำงาน จึงได้ขอรับเลี้ยงน้องบ้อ เนื่องจากตนไม่มีลูกสาว ต่อมายายได้หนีหายสาบสูญไป จนถึงปัจจุบันก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ตอนนี้น้องบ้อไม่มีเอกสารอะไรเลย แม่อุปการะเองก็พยายามช่วยกับครูติดต่อขอทำเอกสารที่อำเภอให้ แต่ก็ยังไม่เป็นผล
ปัญหาการเป็นคนไร้รากเหง้าและไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน ได้เริ่มต้นก่อตัวพร้อมๆ กับการถูกทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ของเด็กกำพร้า และจะค่อยๆ เพิ่มพูนความทุกข์ลำบากในการใช้ชีวิตพร้อมๆ กับความทุกข์ในจิตใจเมื่อเด็กเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เช่นชีวิตน้องบ้อ ที่ซึมเศร้ากว่าเมื่อปีก่อนที่อยู่ชั้นอนุบาล และจะเติบโตเป็นเช่นชีวิตไข่มุก ที่อ้างว้างเดียวดาย รอคอยคนที่รักจริงสักคนหนึ่งในชีวิต....
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นางสาว สรินยา กิจประยูร ใน งานวิจัยคนไร้สัญชาติในสึนามิ 2549
อ่านแล้วล่ะ แต่เรื่องของคุณศิริชัยล่ะ เธอไม่ได้ไปคุยกับเขาหรือไร