องค์ประกอบด้านคุณภาพการบริหารจัดการของโรงเรียนที่มีชีวิต


     ผมได้เขียนบทความเรื่อง "ฝันถึงโรงเรียนที่มีชีวิตในบ้านเรา" ลงในวารสารวิทยาจารย์ ไปแล้ว 6 ฉบับ 6 ตอน ในฉบับปีที่ 109 ฉบับที่ 2 เดือน ธ.ค.52 ถึงฉบับที่ 7 เดือน พ.ค.53  ซึ่งได้เสนอองค์ประกอบการบริหารจัดการโรงเรียนที่มีชีวิตไว้ 5 องค์ประกอบ (43 ตัวบ่งชี้) คือ 1.บรรยากาศและสภาพแวดล้อมของโรงเรียน 2.คุณภาพการบริหารจัดการ  3.คุณภาพการจัดการเรียนรู้ และ 4.การยอมรับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
     ก็เลยอยากจะตัดตอนมานำเสนอเฉพาะบางองค์ประกอบมาแลกเปลี่ยนทางบล็อก(องค์ประกอบที่ 1 เคยนำเสนอในบทความหลายฉบับแล้ว)เริ่มตั้งแต่องค์ประกอบที่ 2 ด้านคุณภาพการบริหารจัดการ คือ...    
    
  
การบริหารจัดการให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนที่มีชีวิต  ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีภาวะผู้นำที่มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย โดยมีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนต่างมีศักยภาพและความสามารถที่แตกต่างกัน ไม่มีใครจะเพียบพร้อมสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะสมบูรณ์ได้ ถ้าร่วมกันเป็นทีม
     ดังนั้น ผู้บริหารจึงต้องเป็นผู้นำในการสร้างและพัฒนาทีมงานที่มีประสิทธิภาพ เพราะการทำงานนั้นเราทำกับคน ถ้าได้คนก็จะได้ใจคนและได้งานไปด้วย ซึ่งการพัฒนาทีมงานที่ดีควรมีองค์ประกอบ 9 ประการ คือ

  1. มีจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายร่วมกัน
  2. มีการสื่อความหมายที่ดีทั่วกัน
  3. มีผู้นำกลุ่มที่ดี
  4. มีการกระจายงานอย่างทั่วถึง  ตามความสามารถและตามความถนัดของแต่ละบุคคล
  5. มีการร่วมกันแก้ปัญหา
  6. มีความจริงใจและซื่อสัตย์ต่อกัน
  7. มีการร่วมใจกันทำงานจนสำเร็จและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
  8. มีการยอมรับซึ่งกันและกัน
  9. มีการตัดสินใจโดยสมาชิกส่วนใหญ่ มีการยืดหยุ่นตามสถานการณ์และอาศัยเหตุผลและข้อเท็จจริงเป็นหลัก

 การบริหารจัดการโรงเรียนที่มีชีวิต  จึงน่าจะมีแนวดำเนินการ ดังนี้

            1. มีการกำหนดเป้าหมายของการจัดการศึกษาของโรงเรียนร่วมกัน โดยดูทั้งนโยบาย แนวโน้ม ทิศทาง ความต้องการของทุกฝ่าย  และบริบททุกด้าน มีการสื่อสาร สร้างความเข้าใจให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมกำหนด จนตกลงปลงใจว่า  “ นี่แหละใช่เลย” จะเรียกว่า วิสัยทัศน์ หรือ เป้าหมาย หรือ อะไรก็ได้ แต่ขอให้ทุกคนเกิดความตระหนัก (Awareness) มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ พร้อมที่จะร่วมคิดร่วมวางแผน มุ่งมั่น ฟันฝ่า พยายาม (Attempt ) ลงมือทำตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ (Achievement) ให้ไปถึงธงที่ปักไว้ให้ได้       

            2. มีการบริหารจัดอย่างเป็นองค์รวม (Holistic Ideology) ที่คำนึงถึงองค์ประกอบทั้งหมด (ปัจจัยภายในและภายนอก) ที่เชื่อมโยงสอดประสานกันทุก ๆ ส่วนได้อย่างเป็นระบบ โดยไม่ดำเนินการอย่างแยกส่วน ทำเป็นเรื่อง ๆ ทำเป็นท่อน ๆ เหมือนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีเรื่องมากมายที่ต้องทำ ผู้บริหารจึงต้องจัดกระบวนทัพให้ดี ต้องทำงานแบบ Matrix มากขึ้น
           การบริหารจัดการอย่างเป็นองค์รวมจะต้องมีการจัดองค์กรโครงสร้างการบริหารและกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างเป็นระบบเพื่อมุ่งให้วิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ร่วมกันกำหนด บรรลุผลเป็นจริง โดยให้มีทั้งการบริหารที่เป็นไปตามลำดับสายงาน เชื่อมโยงกับการบริหารในรูปขององค์คณะบุคคลที่ชัดเจน มีการปรับตัวอย่างยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์อย่างเหมาะสม
          การบริหารจัดการอย่างเป็นองค์รวมนี้ อาจนำหลักการ/แนวคิด แนวปฏิบัติ 2 เรื่องมาผนวกเป็นกรอบทิศทางในการบริหารจัดการก็ได้ คือ

            2.1 การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School –Based Management : SBM) ที่ยึดหลักการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมและการร่วมคิดร่วมทำ การบริหารตนเอง การตรวจสอบถ่วงดุล การมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์และการยึดหลักธรรมาภิบาล

            2.2 การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ซึ่งมีมาตรฐานคุณภาพและตัวบ่งชี้คุณภาพเป็นแกนหลักในการบริหารจัดการ ให้การปฏิบัติงานทุกเรื่องอยู่ในมาตรฐานคุณภาพทั้งหมด แล้ววางแผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการ บุคลากรแต่ละคนต่างมีมาตรฐานการปฏิบัติงาน และดำเนินงานตามวงจร PDCA  คือ วางแผน (Plan) ดำเนินการ  (Do)  ตรวจสอบ/ประเมิน(Check)  และปรับปรุงพัฒนา (Act) อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบของโรงเรียน (Whole School Approach) 

          3. กำหนดกติกาที่เป็นวินัยในการทำงานร่วมกันว่า จะวางแผนกลยุทธ์ (แผนพัฒนาโรงเรียน) แผนปฏิบัติการ  แผนการจัดการเรียนรู้ (แผนการสอน) หรือทำอะไรก็ตาม ต้องทำให้เป็น “ชีวิตจริง” จะไม่ทำเพื่อสร้างภาพ จะทำเพื่อมุ่งประโยชน์ตามเป้าหมาย ตามมาตรฐานคุณภาพ ตามตัวชี้วัดคุณภาพเป็นสำคัญโดยมีกรอบแนวคิดหลักร่วมกันแล้วเปิดโอกาสให้แต่ละคนสร้างสรรค์ผลงานในรายละเอียดเอง  ตามพื้นฐานของตนเอง  และตามความพร้อมของปัจจัยที่มีอยู่  ภายใต้หลักการ “เขียนในสิ่งที่จะทำจริง ทำในสิ่งที่เขียนจริง และมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

        4. จัดให้มีระบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มุ่งพัฒนาสมรรถนะทั้งด้านความรู้ ทักษะ  และบุคลิกลักษณะ  พร้อมทั้งการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ ให้การพัฒนาบุคลากรเป็นเส้นทางวิชาชีพนำไปสู่การพัฒนางานที่มีการปฏิบัติจริงทั่วทั้งโรงเรียนและเกิดอานิสงส์สู่ความก้าวหน้าในวิทยฐานะที่สูงขึ้นด้วย  โดยโรงเรียนมีระบบการส่งเสริมสนับสนุน มีการนิเทศ  ให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือ และมีระบบการติดตามประเมินผลตามสภาพจริงที่มีข้อมูลนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่อง และมีข้อมูลแสดงความก้าวหน้าในการพัฒนาตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่ชัดเจน

หมายเลขบันทึก: 361969เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2010 06:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

  • เข้ามาศึกษาองค์ประกอบการบริหารจัดการโรงเรียนที่มีชีวิต
  • และเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่อาจารย์กล่าวว่า..
  • "การบริหารจัดการให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนที่มีชีวิต  
  • ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีภาวะผู้นำที่มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย"
  • ผลสรุปตอนท้ายจะได้ทั้งคน ได้ทั้งใจ และได้ทั้งงาน
  • ขอบพระคุณบันทึกดีดี ที่เปี่ยมสาระการเรียนรู้บันทึกนี้ค่ะ.

ขอบคุณครูแป๋มที่นำบล็อกผมเข้าแพลนเน็ต และสะท้อนความเห็นมาด้วย อยากให้ลองอ่านองค์ประกอบด้านการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนที่มีชีวิตในบันทึกต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท