เข้าพรรษา เมื่อเข้าใจก็เข้าถึง : ข้อวัตรบรรพชิตที่คฤหัสถ์ควรรู้


การเข้าพรรษา แม้จะเป็นเรื่องของภิกษุโดยตรง แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญ รักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส

เข้าพรรษา เมื่อเข้าใจก็เข้าถึง : ข้อวัตรบรรพชิตที่คฤหัสถ์ควรรู้

 สว่าง ไชยสงค์

                บุญเข้าพรรษาเป็นฮีตที่ 8  ของชาวอีสาน แต่เป็นหลักปฏิบัติของชาวพุทธทั้งมวล ทั้งในและนอกราชอาณาจักร

                บุญเข้าพรรษา หรือการจำพรรษา เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบรรพชิตมากว่าที่จะเกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ ซึ่งต่างกับบุญบั้งไฟ ที่คฤหัสถ์ต้องเป็นเจ้าภาพ จัดการตามแบบอย่างของทางโลก ไม่ควรที่บรรพชิตจะไปข้องเกี่ยวมากนัก แต่ถึงกระนั้นก็ดี คฤหัสถ์ หรือฆราวาสญาติโยมก็ไม่ควรนิ่งดูดาย หากแต่ควรที่จะช่วยส่งเสริม ช่วยคิด ช่วยทำ ร่วมอนุโมทนาสาธุการ ให้วัตรปฏิบัติของบรรพชิตบริสุทธิ์ สมบูรณ์ ตามพุทธเจตนารมณ์ เข้าทำนองที่ว่า วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย บ้านจะสวยเพราะมีวัดดัดนิสัย บ้านและวัดผัดกันช่วยยิ่งอวยชัย ถ้าขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง อะไรทำนองนั้น

                สำหรับประวัติของการจำพรรษา มีอยู่ว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษา เหล่าภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจึงต่างพากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ต่อมาชาวบ้านได้พากันตำหนิติเตียนว่า พวกสมณะไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน ในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่น พากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำถูกสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้พระสงฆ์ ประจำอยู่ที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเรียกว่า  “เข้าพรรษา”  หรือ  “จำพรรษา”  พระสงฆ์ที่จำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ ไม่เช่นนั้น จะถือว่า "ขาดพรรษา"

การเข้าพรรษาแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

      1.  ปุริมพรรษา (เขียนอีกอย่างว่า บุริมพรรษา) คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (สำหรับปีอธิกมาส คือ เดือน 8 สองหน การเข้าพรรษาจะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง)

      2.   ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน

                 แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีพระภิกษุบางรูป บางกลุ่ม ไม่ยอมเชื่อฟัง (ถ้ากล่าวตามประสาชาวโลก อาจกล่าวได้ว่า “แตกแถว”  “หัวดื้อ”  อะไรทำนองนั้น) ในสมัยพุทธกาลก็คือ พระภิกษุฉัพพัคคีย์ ซึ่งเรื่องมีดังนี้  พระภิกษุฉัพพัคคีย์  (เป็นพระภิกษุไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม  ชอบหาเรื่อง  ก่อกวนชวนทะเลาะวิวาท  มีพวกจำนวน  ๖  รูป)  ภายหลังอยู่จำพรรษาแล้ว  ยังพากันเที่ยวจาริกสัญจรในระหว่างพรรษา  คนทั้งหลายจึงพากันเพ่งโทษติเตียนว่า  “ฝูงนกทั้งหลายก็ยังรู้จักทำรังบนยอดไม้  แล้วพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน  ส่วนพวกพระสมณะเชื้อสายศากบุตรเหล่านี้เล่า  เที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว   ฤดูร้อน  ฤดูฝน  เหยียบย่ำพืชพรรณอันเขียวสด  และสัตว์เล็กๆ  จำนวนมากให้ถึงความวอดวาย”

     ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ  ติเตียน  โพนทะนาแล้ว  ต่างพากันเพ่งโทษติเตียนภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้น  จึงได้นำเรื่องทั้งหมดไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระพุทธองค์ได้ทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุจำพรรษาไม่อยู่ให้ตลอด  ๓  เดือนต้น  หรือ  ๓  เดือนหลัง  (พรรษาต้น คือ ปุริมพรรษา  พรรษาหลัง คือ ปัจฉิมพรรษา)  จาริกไปสู่ที่อื่น  ต้องอาบัติทุกกฎ”  และ  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุจะไม่จำพรรษาไม่ได้  รูปใดไม่จำพรรษาต้องอาบัติทุกกฎ” 

    แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การจำพรรษานี้ใช่ว่าพระสงฆ์จะไปที่ไหนไม่ได้เลย แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้พระภิกษุทั้งหลาย  เดินทางไปพักค้างแรมที่อื่นได้  แต่ต้องเดินทางกลับมาภายใน  ๗  วัน  เรียกว่า  สัตตาหกรณียะ  มี  ๖  ประการ  คือ

            ๑. มารดาบิดา  พระอุปัชฌาย์  ครูบาอาจารย์  เพื่อนพระภิกษุสามเณร  ญาติพี่น้อง  อุบาสกอุบาสิกาคนอุปัฏฐากรับใช้  ผู้ภักดีต่อพระพุทธศาสนา เจ็บไข้ได้ป่วย  เดินทางไปเพื่อพยาบาล  แสวงหายา  หรือคนพยาบาลรักษา  สัตตาหกรณียะไปได้ไม่เป็นอาบัติ

            ๒.อุบาสก  อุบาสิกา  มีความประสงค์จะถวายทาน  ฟังธรรมะ  เดินทางมา  ส่งทูต  หรือหนังสือนิมนต์ สัตตาหกรณียะไปเพื่อฉลองศรัทธาได้ไม่เป็นอาบัติ

            ๓.สหธรรมิก  (ภิกษุ  ภิกษุณี  สิกขมานา  สามเณร  สามเณรี)  มีความประสงค์อยากจะลาสิกขา  สัตตาหกรณียะไปเพื่อระงับได้ไม่เป็นอาบัติ

            ๔.กุฏิ  ศาลา  วิหารสงฆ์ชำรุดลง  สัตตาหกรณียะไปเพื่อหาไม้  สัมภาระมาซ่อมแซมได้ไม่เป็นอาบัติ

            ๕.สัตตาหกรณียะไปเพื่อทำสังฆกรรม  เช่น  พระภิกษุในศาสนานี้  ต้องครุอาบัติ  (อาบัติสังฆาทิเสส)  ไปเพื่อขวนขวายช่วยสวด  หรือเป็นคณะปูรกะ  (นั่งหัตถบาต)  ให้พระภิกษุออกจากครุอาบัติได้ไม่เป็นอาบัติ

            ๖.สหธรรมิก  (ภิกษุ  ภิกษุณี  สิกขมานา  สามเณร  สามเณรี)  มีความเห็นผิดเกิดขึ้น  ไปเพื่อแสดงธรรมระงับความเห็นผิดนั้นได้ไม่เป็นอาบัติ

หากอันตรายเกิดขึ้นระหว่างพรรษา ก็หนีไปได้ ในสมัยพุทธกาล  ภิกษุทั้งหลายอยู่จำพรรษา  ถูกเหล่าสัตว์ร้ายเบียดเบียน  ถูกโจรเบียดเบียน  ไม่ได้อาหารอันประณีตสบาย  ไม่มีคนดูแลเอาใจใส่ให้การอุปัฏฐาก  ฯลฯ  ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า  พระองค์ทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า 

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้ว  ถูกสัตว์ร้ายเบียดเบียน  มันจับเอาไปบ้าง  หนีรอดมาได้บ้าง  พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า  นั่นแลอันตราย  ไม่ต้องอาบัติ  พรรษาไม่ขาด”

            “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  อนึ่ง  ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้ว  พวกโจรเบียดเบียน    มันปล้นบ้าง  หนีได้บ้าง  พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า  นั่นแลอันตราย  ไม่ต้องอาบัติ  พรรษาไม่ขาด”

            “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  อนึ่ง  ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้ว  ถูกพวกปีศาจรบกวน  มันเข้าสิงบ้าง  พาเอาไปบ้าง  พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่านั่นแลอันตราย  ไม่ต้องอาบัติ  แต่พรรษาขาด”

            “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  อนึ่ง  ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้ว  เสนาสนะถูกไฟไหม้  ภิกษุทั้งหลายเดือดร้อนด้วยเสนาสนะ  พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า  นั่นแลอันตราย  ไม่ต้องอาบัติ  แต่พรรษาขาด”  ฯลฯ

ในช่วงจำพรรษาญาติโยมหลายท่านอาจเข้าใจว่าพระภิกษุโคจรไปไหนมาไนไม่ได้ ไปค้างคืนที่อื่นไม่ได้ บัดนี้ก็ขอให้เข้าใจอย่างผู้ที่เข้าถึงเสียใหม่ว่า ไปได้ แต่ต้องมีเหตุสำคัญดังที่สาธยายมา อันเปรียบเสมือนข้อยกเว้นของกฎหมายในปัจจุบัน

ทีนี้มาดูประโยชน์ของการเข้าพรรษา ซึ่ง มีดังนี้

    1.  ช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ก็จะช่วยให้พืชพรรณต้นข้าวกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์

     2.   หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 - 9 เดือน ก็เป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อนบ้าง

    3.  เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้ประชาชนเมื่อถึง วันออกพรรษา

   4.  เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

     5.  เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา

   การเข้าพรรษา แม้จะเป็นเรื่องของภิกษุโดยตรง  แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญ รักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนควรจะจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน หรือเครื่องอัฏฐบริขาร เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณรที่ตนเคารพนับถือ หรือมีการช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็ไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลที่วัด หากเป็นไปได้ก็ควรอย่างยิ่งในการตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา อย่างที่คำขวัญสมัยใหม่ที่ว่า “งดเหล้า เข้าพรรษา”  หรือ “งดฆ่าสัตว์  เข้าวัดฟังธรรม” เป็นต้น นอกจากนี้ก็อาจมีการหล่อเทียนพรรษา ให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ซึ่งเทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด 3 เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง นัยว่า เป็นแสงแห่งธรรม

   เมื่อเข้าใจ ก็ย่อมเข้าถึงการเข้าพรรษาด้วยประการฉะนี้ ขอญาติโยมสาธุชนทั้งหลายอย่าได้นิ่งดูดาย สวรรค์ นิพพานยังรออยู่.

      



    แต่งโดย  อ. สว่าง  ไชยสงค์ โรงเรียนเขาพระนอนวิทยาคม  อ.ยางตลาด
  บัดนี้ขอกล่าวกลอน        อันสุนทรตามธรรมะ         เจ้าชายสิทธัตถะ
  เสด็จออกบรรพชา         พระองค์ทรงเบื่อหน่าย       กามวิสัยเคยมีมา
โลกีย์คอยบังตา              เหมือนหมู่เมฆบังอัมพร     ปราสาทสามฤดู
  ที่เคยอยู่ไม่อาวรณ์        ดึกดื่นคนนิ่งนอน              ก็ลาจรจากพิมพา
ราหุลแม้เคยรัก               ก็ห้ามหักไม่ห่วงหา            ข้ามฝั่งอโนมา
  กับมิ่งม้าอาชาไนย        ฉันนะก็ติดตาม                 ด้วยใจงามไม่ห่างไกล
ปลงเกศด้วยขรรค์ชัย       แล้วห่มเหลืองเรืองสกล      ดั่งเทพยดา 
จากเมืองฟ้ามาเมืองคน   เทพซ้องทุกแห่งหน           ดลทุกข์ผู้ให้บูชา
พระองค์สู้กับมาร            ไม่สะท้านด้วยหาญกล้า     ตรัสรู้ได้ด้วยปัญญา 
มีดวงตาที่เห็นธรรม         รู้ทางที่ถูกผิด                  ไม่ข้องติดกับบาปกรรม
เป็นพุทธประเสริฐล้ำ        นำชาวชนพ้นสงสาร         เป็นเอกศาสดา
สอนธรรมะ มายาวนาน    พระธรรมนำใจบาน            สะอาดเอี่ยมพิสุทธิ์ใส
ควรเราผู้ชาวพุทธ           อย่านิ่งหยุดให้หม่นไหม้      รักษ์ธรรมอันอำไพ
แล้วจะไกลไปจากมาร     เว้นชั่วแล้วทำดี                 ดวงฤดีจะเบิกบาน
รักษาไตรทวาร              จะผ่านพ้นหนทางทราม      สังคมก็จะสุข
เข้าสู่ยุคสันติงาม      รักษ์ธรรมไม่ย่ำหยาม            เมืองไทยเราย่อมร่มเย็น
                                                                                                                                                                                                                                     สว่าง ไชยสงค์

 

หมายเลขบันทึก: 361739เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2010 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท