วิถีปฏิรูปสู่โรงเรียนแห่งการเรียนรู้


วิถีปฏิรูปสู่โรงเรียนแห่งการเรียนรู้

        วันที่ ๒๙ มิย. ๔๙ ผมมาอยู่ในท่ามกลางนักการศึกษาที่เชียงใหม่    ในการประชุมวิชาการ "การวิจัยเชิงปฏิบัติการ : วิถีปฏิรูปสู่โรงเรียนแห่งการเรียนรู้"    ของโครงการโรงเรียนแห่งการเรียนรู้   สนับสนุนโดย ศช. (ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ) และคณะศึกษาศาสตร์ มช.

         โจทย์ใหญ่คือการทำให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้     โรงเรียนแห่งการเรียนรู้ในสายตาของผมเป็นอย่างไรได้บันทึกไว้แล้วเมื่อวาน      ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับบ้านเมืองของเรา    และเราต้องช่วยกันทำให้สำเร็จให้ได้    เราในที่นี้หมายถึงคนในวงการศึกษา และทุกคนในสังคมไทย     ผมในฐานะคน "ข้างๆ วง" ของวงการศึกษาก็ขอแจมด้วย      

         ดูจากผลงานที่ผู้จัดการประชุมนำมา ลปรร. ในการประชุมวิชาการ     ในเอกสารประกอบการประชุม ซึ่งมีโครงการวิจัยมานำเสนอถึง ๕๒ เรื่อง  โครงการนี้มุ่งส่งเสริมการปฏิรูปสู่โรงเรียนแห่งการเรียนรู้ ผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการ    ซึ่งเป็นกิจกรรมที่น่าชื่นชมมาก   

         ผมมีความเห็นว่า วิถีปฏิรูปสู่โรงเรียนแห่งการเรียนรู้ น่าจะมีได้ ๒ แนว      คือ Research Mode  กับ KM Mode   

        ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ใช้แนวทาง Research Mode     ผมมีข้อคิดเห็นต่อการดำเนินการ Research Mode ในเชิงการจัดการคือ  (๑) น่าจะพิจารณาปรับเป็น Development Mode    คือเน้นการพัฒนา หนักกว่าการวิจัย    และมีเป้าหมายใหญ่ที่ชัดเจน   (๒)  มีกระบวนการตั้งโจทย์ใหญ่    ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่สำคัญต่อการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้     และตรวจสอบ "ความไม่รู้" ที่จะต้องเอาชนะให้ได้    เอามาเป็นโจทย์วิจัย   ทำให้เกิด "พวง" ย่อยๆ ของโจทย์วิจัย    ที่ประกอบกันเข้าเป็น "พวง" ใหญ่     ที่จะขับเคลื่อนสู่โรงเรียนแห่งการเรียนรู้    (๓) มีการจัดการงาน D&r อย่างจริงจัง     ทั้งการจัดการต้นน้ำ  การจัดการกลางน้ำ  และการจัดการปลายน้ำ     เรื่องนี้มีรายละเอียดมาก  ส่วนหนึ่งอยู่ในหนังสือ "การบริหารงานวิจัย : แนวคิดจากประสบการณ์"  

        โครงการปฏิรูปสู่โรงเรียนแห่งการเรียนรู้ ควรดำเนินการทั้ง Development Mode และ KM Mode คู่ขนานกันไปพร้อมๆ กัน     และจัดการให้ ๒ แนวนี้เสริมแรงหรือสนธิพลังซึ่งกันและกัน

        ใน KM Mode การดำเนินการควรเริ่มจาก (1) Dream หรือการวาดภาพฝัน ว่าอยากเห็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้มีสภาพอย่างไร  แล้วดำเนินการ (2) Discover หรือ  Success Mapping    มีการค้นหา "ความสำเร็จเล็กๆ" ตามภาพฝัน ที่มีอยู่แล้ว    (3) ดำเนินการ "ต่อภาพ" ขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุภาพฝันที่ชัดเจนขึ้น ครบถ้วนขึ้น    ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการหมุนเกลียวความรู้เพื่อยกระดับความรู้  เน้นที่ความรู้ปฏิบัติ      

        ความเห็นที่เสนอนี้เป็นแนวกว้างๆ ไม่ใช่รูปแบบสำเร็จรูป     ผู้ดำเนินการต้องนำไปคิดต่อและปรับวิธีการให้เหมาะสมต่อวงการศึกษา     ที่สำคัญผมไม่ทราบว่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่

วิจารณ์ พานิช
๒๙ มิย. ๔๙
โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ 

หมายเลขบันทึก: 36108เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2006 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โอกาสแลกเปลี่ยนที่ยอดเยี่ยมนี้ ดิฉันเป็นผู้หนึ่งที่มีที่อยู่ในการประชุมนี้ ขอวาดภาพฝันร่วมกับทุกหน่วยงานที่มีความฝันที่จะพัฒนาองค์กรให้เป็น LO : Learning Organization แต่เราคงต้อง Dream คือ  ร่วมกันฝัน : shared dream = shared vision , one of the five disciplines of Peter Senge's และ Discover คือ  ร่วมค้น = team learning ส่วนสิ่งที่ตามมาหากจะทำให้เป็น "Develop" (เหมือนการ develop photo ที่ท่านได้ถ่ายไว้ในกล้องที่ท่านเก็บภาพไว้รึเปล่า.......)หรือ "Draw" ที่เป็นการพัฒนา หรือ วาดภาพที่ฝัน ให้ปรากฎแก่สายตาแก่ทุกคน ซึ่งน่าจะเป็นการกระทำร่วม ขอสนับสนุนให้ทุกขั้นตอนเป็นความสุขที่ทุกคนในองค์กรได้ร่วมสร้างสรรค์

ขอสมัครเป็นแฟน(พันธุ์แท้)ของ Blog นี้ ล่ะกันค่ะ

                                               Soontaree Konthieng

                                             C&I Fac.of Ed.CMU....

เป็นคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในการประชุมนี้ ติดตามความคิดของคุณหมอมานานทั้งจากหนังสือ (ช่วงแรกๆ) มาจนใน weblog เช่นในปัจจุบัน คุณหมอเป็นคนที่จับ-จัด-เจาะ-แจกความรู้ได้ดีมากเลยครับ...ขอบคุณคุณหมอที่เสียสละอุทิศเพื่อผลักดันความฝันที่จะเห็นเมืองไทยให้กลายเป็นสังคมความรู้ให้เป็นจริง...ขอบพระคุณจริงๆครับ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท