กระบวนการสัมมนาวันที่ 30 มิ.ย.-2ก.ค.ฉบับสมบูรณ์


"ได้เรียนรู้เรื่องสำคัญ กลั่นจากใจอะไรบ้าง ? หมายมั่น จะกลับไปทำสิ่งใด ?"

มหกรรมจัดการความรู้ "สถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน"

วันที่ ๓๐ มิถุนายน - ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๙

โรงแรมกรีนเวิลด์พาเลส จังหวัดสงขลา

จัดโดย หน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ร่วมกับ มูลนิธิ ดร.ครูชบ-ปราณี ยอดแก้ว สมาคมสวัสดิการภาคประชาชนสงขลา

เครือข่ายวิจัย ๕ พื้นที่ และภาคีสนับสนุน

โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

และ ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.)

---------------------------------------------------------------------

การออกแบบกระบวนการสัมมนา

การสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอรายงานวิจัยของเครือข่ายวิจัย ๕ พื้นที่ในโครงการวิจัย "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน" ซึ่งใช้เวลาดำเนินการประมาณ ๑ ปี โดยการประสานงานของหน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)และศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.)

ความเป็นมาของโครงการและกรอบในการศึกษาวิจัย

หน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้จับงานวิชาการด้านการพัฒนาชุมชนโดยใช้องค์กรการเงินชุมชนเป็นองค์กรเพื่อการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาชุมชนทั้งระบบ เนื่องจากวิเคราะห์ว่าองค์กรการเงินชุมชนเป็นกลุ่มที่มีการทำกิจกรรมที่สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องมากที่สุด โดยเริ่มงานนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ จากการประสานของสถาบันชุมชน ท้องถิ่นพัฒนา(สทพ.)ซึ่งจับงานเรื่องนี้ในระดับประเทศ สทพ.ได้เปิดพื้นที่ศึกษานำร่อง ๔ ภาค ใน ๔ จังหวัด โดยภาคใต้ได้เลือกจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อเชื่อมโยงองค์กรการเงินชุมชนที่มีอยู่อย่างหลากหลายให้มีการประสานพูดคุยกันเป็นเครือข่ายเรียนรู้ เพื่อพัฒนาไปเป็นเครือข่ายจัดการในเรื่องการเงินร่วมกัน นั่นเป็นจุดก่อเกิดของ"องค์กรเครือข่ายการเงินชาวบ้านเมืองนคร" ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มการเงินรูปแบบต่างๆในจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน ธนาคาร หมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต

การจัดตั้งองค์กรเครือข่ายการเงินชุมชนระดับจังหวัดได้รับการหนุนเสริมจากกองทุนเพื่อสังคม(SIF)ในการพัฒนาสมาชิกเครือข่าย และการขยายสมาชิกโดยการของบสนับสนุนจากSIF โดยตรงทั้งงบเรียนรู้และงบกิจกรรมโดยเฉพาะกิจกรรมการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกในชุมชน ซึ่งได้งบมาจำนวน๓๓ล้านบาท โดยSIFได้มอบหมายให้หน่วยจัดการความรู้ฯเป็นหน่วยติดตามสนับสนุน ซึ่งองค์กรเครือข่ายการเงินชาวบ้านเมืองนครและหน่วยจัดการความรู้ฯได้ร่วมกันดำเนินงานจนประสบผลเป็นที่น่าพอใจของSIFและชุมชน(โดยเปรียบเทียบกับเครือข่ายอื่นๆทั่วประเทศ)

ต่อมาหน่วยฯได้สานต่องานนี้โดยขอการสนับสนุนจากสกว.ท้องถิ่น ทำการศึกษากองทุน

ต่างๆในจังหวัดนครศรีธรรมราช และบทเรียนของกลุ่มการเงินที่เข้มแข็งในภาคใต้ ๒๐ กรณีเพื่อ วางแผนตั้งรับนโยบายกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาลซึ่งก่อรูปขึ้นทั้งแนวคิดและกลไกการจัดการ จากการศึกษาและบทเรียนการติดตามสนับสนุนองค์กรเครือข่ายการเงินชุมชนระดับจังหวัดทำให้หน่วยฯประเมินทิศทางได้ว่าภาคการเมืองจะต่อท่อเชื่อมตรงกับชุมชนระดับหมู่บ้าน ดังนั้นจึงได้เสนอให้แกนนำเครือข่ายระดับจังหวัดกลับไปยึดฐานที่มั่นในหมู่บ้าน/ตำบลเพื่อสร้างสรรค์ชุมชนของตน ไม่ควรมาเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายจัดการระดับจังหวัด ทั้งนี้ จากการทำงานสนับสนุน เครือข่ายมาอย่างต่อเนื่องพบว่า การรวมตัวเป็นเครือข่ายจังหวัดก็เพื่อเชื่อมโยงเงินงบประมาณจากรัฐแทนเงินที่ผ่านราชการส่วนภูมิภาค ดังที่ได้รับงบสนับสนุนจากSIF ซึ่งมีปัญหาในการบริหาร จัดการในระดับจังหวัดเป็นอย่างมาก และด้วยเหตุที่รัฐบาลมีแผนเชื่อมงบประมาณโดยตรงกับ หมู่บ้าน ดังนั้น องค์กรการเงินชุมชนจึงควรถอยไปจัดการเข้มข้นที่หมู่บ้าน ซึ่งหากจะเชื่อมโยงเป็น เครือข่ายจัดการ ก็ควรทำในขอบเขตตำบลเพื่อผูกโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับขอบเขตระดับจังหวัดควรเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเรียนรู้น่าจะสอดคล้องกว่า(รายงานละเอียดส่วนนี้ มีอยู่ในเอกสารสรุปและข้อเสนอแนะจากการติดตามสนับสนุนองค์กรเครือข่ายการเงินชาวบ้านเมืองนครเสนอSIF และการศึกษากองทุนการเงินจังหวัดนครศรีธรรมราชเสนอสกว.ท้องถิ่นในปี ๒๕๔๓-๒๕๔๕)

หน่วยจัดการความรู้ฯได้ถอยมาทำงานเชิงลึกในระดับหมู่บ้านตามข้อค้นพบในฐานะหน่วยประสาน(พี่เลี้ยง)เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มการเงินระดับหมู่บ้านทำวิจัยเพื่อพัฒนากลุ่ม/ชุมชนตนเอง ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยดำเนินการประสานสนับสนุนไปทั้งสิ้น ๗ ชุมชนโดยการสนับสนุนของสกว.ท้องถิ่น ซึ่งประสบการณ์จากงานนี้และที่สั่งสมมาก่อนหน้านั้นนำมาสู่ข้อสรุปและข้อเสนอของหน่วยฯเพื่อหนุนเสริมการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินชุมชนอย่างเป็นระบบ

ข้อสรุปที่ได้คือ วิถีและพลัง(เวคเตอร์)ขององค์กรการเงินชุมชนคือ การเป็นสถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชนและเป็นหน่วยจัดการการเรียนรู้ตามอัธยาศัย โดยได้จัดขบวนองค์กรการเงิน ชุมชนเป็น ๒ ฐานคิดสำคัญ คือ

๑) ฐานคิดทางศาสนาเพื่อพัฒนาคนจากด้านใน

๒) ฐานคิดทางการเมืองเพื่อการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจ

สำหรับแนวทางในการพัฒนาขบวนองค์กรการเงินชุมชนทั้ง ๒ ฐานคิดซึ่งมีอยู่นับแสนกลุ่มทั่วประเทศคือ การเข้าไปเรียนรู้เพื่อเสริมการบริหารจัดการให้กับขบวนผ่านทางกลุ่มตัวอย่าง ที่ได้ประเมินจากจำนวนและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบแวดล้อม บรรดามีที่ส่งผลกระทบกับขบวนองค์กรการเงินชุมชนในทุก ๆด้านอย่างเป็นพลวัต ซึ่งหน่วยฯได้ ข้อสรุปที่ยืนยันการค้นพบเดิมว่า ขอบเขตระดับตำบลและจังหวัดเป็นขอบเขตที่ควรให้น้ำหนักในการศึกษามากที่สุด จึงได้จัดทำเป็นกรอบในการศึกษาวิจัยของชุดโครงการนี้ โดยใช้ชื่อโครงการวิจัยว่า"การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน" ซึ่งสกว.โดยฝ่ายชุมชนและศตจ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ จึงให้การสนับสนุนงบวิจัยในระยะเวลา ๒ ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๔๗ - กันยายน ๒๕๔๙

วิธีวิทยาในการวิจัย

ในช่วงนั้น มีแนวคิดการจัดการความรู้โดยการดำเนินงานของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.)และงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นซึ่งหน่วยฯเคยมีประสบการณ์มาก่อน จึงเป็นต้นทุนและแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของหน่วยจัดการความรู้ฯซึ่งมีประสบการณ์ในงานพัฒนา(ติดตามสนับสนุนองค์กรเครือข่ายการเงินชาวบ้านเมืองนคร)และได้เห็นประโยชน์และข้อจำกัดของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงได้ประยุกต์ทั้ง ๓ บทเรียนมาใช้ในการบริหารจัดการชุดโครงการนี้ ทั้งวิธีการทำงานและเนื้อหาโครงการ โดยกำหนดกรอบแนวคิดโครงการวิจัยด้วยแบบจำลองปลาทูว่ายน้ำ โดยที่ปลาทูหมายถึงขบวนองค์กรการเงินชุมชน กระแสน้ำคือระบบแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งปลาทูจะต้องแหวกว่ายไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

งานวิจัยนี้ได้เลือกตัวอย่างศึกษาเพื่อให้ครอบคลุมขบวนองค์กรการเงินชุมชนทั้งหมดซึ่งมีเป็นจำนวนมากนับได้ ๗ รูปแบบหลักจำนวนกว่าแสนกลุ่ม โดยเลือกตัวอย่างที่เป็นประภาคารชี้ทาง คือองค์กรการเงินชุมชนที่มีฐานคิดทางศาสนาที่ต้องการพัฒนาคนจากด้านใน คือ การทำบุญ ช่วยเหลือผู้อื่น ลดความเห็นแก่ตัว พึ่งตนเองและพึ่งพาช่วยเหลือกันโดยเสนอให้รัฐเป็นหุ้นส่วน ประกอบด้วย ๑) เครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต จังหวัดตราด ๒) เครือข่ายสัจจะลดรายจ่ายวันละ ๑ บาททำสวัสดิการภาคประชาชนจังหวัดสงขลา และ ๓) เครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง (สวัสดิการวันละบาท)

สำหรับขบวนซึ่งเป็นฐานคิดทางการเมืองและงานพัฒนาทั้งการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม ได้ใช้กองทุนหมู่บ้านเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เพราะเป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุดนับกว่าครึ่งของขบวน มีการเชื่อมโยงกับภาคการเมืองอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อขบวนองค์กรการเงินชุมชนอย่างสำคัญ ถือเป็นต้นแบบของกลุ่มการเงินชุมชนที่ภาครัฐให้การสนับสนุนซึ่งนโยบายทางการเมืองมีแนวคิดที่จะบูรณาการเข้าด้วยกัน โดยใช้กองทุนหมู่บ้านเป็นแกนกลาง ประกอบด้วย ๑) เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลกะหรอ จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นตัวอย่างภาคชนบท และ๒) เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลในคลองบางปลากด จังหวัดสมุทรปราการ ถือเป็นตัวอย่างในภาคเมือง

โดยที่หน่วยจัดการความรู้ฯพิจารณาว่า ขบวนองค์กรการเงินชุมชนกว่าแสนกลุ่มจะอยู่ ภายใต้กลุ่มตัวอย่าง ๕ กลุ่มนี้ทั้งทิศทาง/เป้าหมายและสถานะภาพในการพัฒนา คือ มีทั้งที่ว่ายน้ำ ได้ฉิว ว่ายน้ำพอเอาตัวรอดได้ และถูกกระแสน้ำพัดพาไปตามยถากรรม โดยที่โครงการนี้จะลงไปสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ฝูงปลาในขอบเขตตำบล/จังหวัดตัวอย่างว่ายน้ำได้เก่งขึ้นตามสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างการเรียนรู้เพื่อขยายผลผ่านองค์กรการเงินชุมชนอื่นๆในหลากหลายช่องทาง โดยเชื่อมโยงกับภาคีสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติการในพื้นที่ รวมทั้งเก็บเกี่ยวประสบการณ์บันทึกไว้เป็นคลังความรู้เพื่อขยายผลในวงกว้างด้วย

กระบวนการวิจัยของชุดโครงการนี้สำหรับ ๕ พื้นที่ตัวอย่างจะสิ้นสุดลงในกลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙ โดยที่งานมหกรรมจัดการความรู้เรื่อง "สถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน" ที่จัดขึ้นที่จังหวัดสงขลาในวันที่ ๓๐ มิถุนายน- ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๙ จะเป็นการนำเสนอผลการวิจัย ที่ครอบคลุมทั้งเนื้อหาและกระบวนการ ด้วยแนวคิดที่ออกแบบไว้ดังนี้

๑) การจัดนิทรรศการ โดยใช้แบบจำลองปลาทูว่ายน้ำเป็นกรอบในการอธิบายแนวคิดการจัดการความรู้และผลที่ได้ซึ่งครอบคลุมองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยแยกย่อยเป็นคลังความรู้ของแต่ละพื้นที่ทั้ง ๕ พื้นที่ด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้อง รายงานสรุป ชุดความรู้เด่นของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งแบบบันทึก และเครื่องมือเรียนรู้อื่นๆ

๒) การนำเสนอรายงานผลการวิจัยของ ๕ พื้นที่

๓) จำลองกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ไม่ใช่การทดลอง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นกระบวนการวิจัยและมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานวิจัยชุดนี้จากประสบการณ์ ที่ซึมซับอยู่ในตัวคนทำงาน ทั้งการเรียนรู้ในเวทีกึ่งทางการ เวทีเรียนรู้ตามอัธยาศัย และลงพื้นที่เรียนรู้กับชุมชน

๔) การมองไปข้างหน้าด้วยการฉายภาพฝันในจินตนาการของ"สถาบันการเงินชุมชนเพื่อ สวัสดิการชุมชน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน" โดยแกนนำที่เป็นปูชนียบุคคล และการเสวนาของภาคีสนับสนุนทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติการเพื่อผุดบังเกิดความรู้ ในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินชุมชนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

โดยมีรายละเอียดตามกำหนดการดังนี้

วันที่ ๓๐ มิ.ย.เวลา๑๓.๐๐-๑๓.๓๐ ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมหกรรมจัดการความรู้

เวลา๑๓.๓๐-๑๔.๓๐ น. เปิดการสัมมนาและปาฐกถานำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการการอำนวยการโครงการเผยแพร่และขยายผลการจัดตั้งกลุ่มสัจจะลดรายจ่ายวันละ๑บาทจังหวัดสงขลา ท่านจะมาเล่าเรื่องการทำงานภาครัฐในการสนับสนุนขบวนสัจจะลด รายจ่ายจากนั้น

เวลา ๑๔.๓๐-๑๕.๐๐ นายอำเภอกระแสสินธ์ จะบอกเล่าแนวคิด/เป้าหมายและแนวทาง ในการขับเคลื่อนงานสวัสดิการลดราย่จายวันละ ๑ บาท เพื่อเป็นเครื่องมือพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนในการแก้ปัญหาความยากจนอย่างบูรณาการโดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกครัวเรือนในอำเภอ

๑๕.๐๐ - ๑๕.๓๐ น. วิทยากรผู้ดำเนินรายการ(ตลอดงาน) ดร.ประเสริฐ บัณฑิศักดิ์ แนะนำทีมเจ้าภาพ “มูลนิธิ ดร.ครูชบ-ปราณี ยอดแก้ว และสมาคมสวัสดิการภาคประชาชนสงขลา” รวมทั้ง ผู้เข้าร่วมสัมมนา (มีแบบประวัติที่ทีมประสานงานได้จัดรวบรวมในเอกสารประกอบการสัมมนา)

๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. ผู้ประสานงาน นายภีม ภคเมธาวี นำเสนอกรอบแนวคิดโครงการ “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน” ด้วยแบบจำลอง “ปลาทูว่ายฝ่ากระแสน้ำ” และแนะนำพื้นที่ วิจัย ๕ พื้นที่

ถัดจากนั้นเป็นรายการตะลอนทัวร์ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตามอัธยาศัย โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาจะมานำเที่ยวจังหวัดสงขลาผ่านVCDและการแนะนำของมัคคุเทศน์ ผู้ชำนาญการ ก่อนจะขึ้นรถชมเมืองสงขลา ชมนางเงือกที่แหลมสมิหลา ซื้อของที่ระลึกที่เกาะยอ ชมสะพานติณสูลานนท์ และทานข้าวอย่างเป็นกันเองที่ริมทะเลสาบสงขลาจนถึง ๒ ทุ่ม กลับโรงแรมที่พัก (ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก) เพื่อพักผ่อนหรือคุยกันต่อตามอัธยาศัย

 

วันที่ ๑ ก.ค. ๒๕๔๙ เริ่มรายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตามอัธยาศัยที่ห้องอาหารเช้าในโรงแรม

๘.๐๐ - ๘.๓๐น. ลงทะเบียน

๘.๓๐ - ๑๐.๑๐ น. นำเสนอการดำเนินงานของ ๕ พื้นที่ ทีมละ ๒๐ นาทีด้วยประเด็นหลัก ๔ ประเด็น คือ

๑) ก่อนเริ่มงานวิจัย เครือข่ายมีสถานะภาพอย่างไร ?
๒) การจัดการความรู้เข้ามาทำอะไร ?
๓) เกิดผลอย่างไรขึ้น
๔) จะขับเคลื่อนเครือข่ายต่อไปอย่างไร ?

๑๐.๓๐ - ๑๒.๐๐ น.นำเข้าวงเรียนรู้ตามอัธยาศัยจากประสบการณ์ของคนทำงานในหลากหลาย

บทบาทโดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ ๘-๑๐ คน เพื่อให้พูดคุยกันอย่างทั่วถึงทุกคน ในบรรยากาศ คุยกันในร้านกาแฟ มีประเด็นคุยเจาะลึกการทำงานที่เกิดผลสำเร็จ เป็นความภาคภูมิใจของแต่ละคนด้วยเรื่องเล่าเร้าพลัง ตั้งหัวข้อเป็นแนวทางไว้ ดังนี้

๑) ตัวปลา เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เป็นแกนนำในฐานะกรรมการเครือข่าย/กลุ่ม

ซึ่งใช้องค์กรการเงินชุมชนเป็นกิจกรรมในการพัฒนาสมาชิกและชุมชน

๒) ระบบแวดล้อม

๒.๑) เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ใช้

องค์กรการเงินชุมชนเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนตามภารกิจ/นโยบายอย่างไร ?

๒.๒) เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เป็นส่วนราชการและองค์กรเอกชน ได้ใช้

องค์กรการเงินชุมชนเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนตามภารกิจ/นโยบายอย่างไร ?

๒.๓) เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เป็นหน่วยสนับสนุนจากส่วนกลางด้าน

นโยบายหรือแหล่งทุนในการพัฒนาชุมชนโดยใช้องค์กรการเงินชุมชนเป็นเครื่องมือจากนั้นร่วมกันให้คะแนนเรื่องเล่ายอดเยี่ยมในกลุ่มเพื่อนำมาเล่าให้ที่ประชุมใหญ่ฟังกลุ่มละ ๑ เรื่อง (ในการเรียนรู้นี้อยากให้นั่งคุยกันตามธรรมชาติ ตามความสนใจ เพราะหัวข้อต่าง ๆมีความเชื่อมโยงกันอย่างยาก ที่จะแยกจากกันได้ โดยที่บางคนอาจเกี่ยวข้องในหลายบทบาทด้วยกัน ที่สำคัญคือ ขอให้กระจาย วงเรียนรู้ละไม่เกิน ๑๐ คน)

การเรียนรู้นี้จะเชื่อมโยงกับการนำเสนอเมื่อวานและตอนเช้า คือ เรียนรู้ลงลึกในรายละเอียดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้นำเสนอแนวทางการสนับสนุนของภาครัฐ และ พื้นที่วิจัยได้นำเสนอเป็นภาพรวมเชิงสรุปไว้เบื้องต้นแล้ว ในช่วงนี้ จึงเป็นการลงรายละเอียดของเรื่องราวที่หลากหลายและทรงคุณค่าในแนวทางและบทสรุปเหล่านั้นจากประสบการณ์ของคนทำงานถ่ายทอดให้เพื่อนฟัง ดังนั้น วิธีการเล่าเรื่อง จะเน้นการฟังเป็นหลัก สำหรับการคิดและพูดเกือบจะไม่ต้องเตรียมเลย เพราะเมื่อถึงตาเรา ก็เป็นการเล่าจากประสบการณ์ที่เราทำ ไม่ใช่ความฝันลอยๆหรือคิดจะทำ ดังนั้น ยิ่งใช้ความคิดมากจะทำให้เล่าได้ไม่ดี ที่ควรเตรียมคือรู้ว่ามีกระบวนการอย่างนี้ รู้ว่าต้องเล่าเรื่องกับเขาด้วย แต่จะเป็นเรื่องอะไร ทำใจว่างๆ ไม่ต้องเตรียมเป็นการดีที่สุด ก็เหมือนกับตอนพักกินข้าวหรือพักผ่อนตามอัธยาศัย พวกเราก็คุยกันอย่างไม่เป็นทางการอยู่แล้ว เพียงแต่ช่วงเวลานี้ทีมงานขอตั้งประเด็นเพื่อให้คุยกันแบบกึ่งทางการเท่านั้นเอง (การเรียนรู้นี้ ต้องขอการสนับสนุนจากนักวิจัยพื้นที่ประมาณ ๑๖ คนช่วยเป็นคุณลิขิตด้วยครับ)

ทานข้าวเที่ยงเสร็จแล้ว เราจะลงพื้นที่เรียนรู้จากการเห็นของจริง ทั้งสภาพชุมชน และ กิจกรรมการดำเนินงานของกลุ่มสัจจะลดรายจ่ายวันละ ๑ บาทของตำบลน้ำขาว และรับฟังจากประสบการณ์ของคนหน้างาน โดยจะเรียนรู้ว่า กระบวนการจัดการความรู้ และผลที่เกิดขึ้นของ กิจกรรมสัจจะลดรายจ่ายวันละ ๑ บาทของตำบลน้ำขาวที่ต้องการสร้างสังคมดี คนมีความสุขนั้นเป็นอย่างไร ?

กระบวนการนี้จะจัดกลุ่มเรียนรู้โดยให้ทีมงานตำบลน้ำขาวเป็นแกนในการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เข้าร่วม โดยเน้นการซักถามเรียนรู้จากเจ้าของพื้นที่ จัดเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ ๘-๑๐ คน ตามอัธยาศัย

กิจกรรมนี้เป็นการเรียนรู้กระบวนการจัดการความรู้เชิงลึกของเครือข่ายสัจจะลดรายจ่าย วันละ ๑ บาทจังหวัดสงขลา โดยใช้ตัวอย่างที่ตำบลน้ำขาว ซึ่งจะเป็นข้อมูลให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา นำไปใช้ในการสรุปผลการเรียนรู้ของแต่ละคนในลำดับต่อไป

ต่อจากนั้นจะรับฟังข้อคิดเห็นของอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ติดตาม ให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการวิจัยนี้มาตั้งแต่ต้น และเป็นผู้ที่รู้เรื่องขบวนองค์กรการเงินชุมชนดีที่สุดท่านหนึ่งของเมืองไทย

จบรายการเป็นอาหารค่ำและชมการแสดงของตำบลน้ำขาวและเครือข่ายวิจัย ๕ พื้นที่สังสรรค์พูดคุยกันในวงข้าวตามอัธยาศัย จนถึงเวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๐๐น. เดินทางกลับโรงแรมที่พัก

วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๙ เริ่มรายการยามเช้าตามอัธยาศัย บางคนอาจจะออกไปเดินเล่นชมตลาดใกล้ ๆ หรือไปดูที่ทำการมูลนิธิดร.ครูชบ -ปราณี ยอดแก้ว สถานที่ประชุมผู้ก่อการดีทุก วันที่ ๑๖ ของเดือน ซึ่งตั้งอยู่ข้างโรงแรม เริ่มอาหารเช้า คุยกันตามอัธยาศัย

๘.๐๐ - ๘.๓๐ น.ลงทะเบียน รายการวันนี้จะชวนกันมองไปข้างหน้าโดยนิมนต์พระอาจารย์สุบิน ปณีโต (ขบวนสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตและกองทุนเมตตาธรรม ทำบุญวันละ๑บาท)ครูชบ ยอดแก้ว(ขบวนสัจจะลดรายจ่ายวันละ๑บาททำสวัสดิการภาคประชาชน) และผู้ใหญ่เทพพิทักษ์ ทนทาน (ขบวนกองทุนหมู่บ้าน) นำเสนอภาพฝันในจินตนาการ "สถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน แก้จนอย่างยั่งยืน" ดำเนินรายการโดยผศ.ดร.สุกัญญา โลจนาภิวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใช้เวลาท่านละ ๒๐ นาที ต่อจากนั้นจะใช้เวลาตั้งแต่ ๙.๓๐-๑๒.๐๐ น. เสวนาในมุมมองของผู้ใช้งานวิจัยเพื่อไปขยายผลต่อ ใช้หัวข้อเสวนาว่า "แนวทางในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินชุมชนเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน" นำการเสวนาโดย ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย ผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนและสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุน การวิจัย(สกว.) และคุณสันติ อุทัยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แห่งชาติ(สทบ.)รวมทั้งผู้เข้าร่วมสร้างสรรค์งานจากภาคีสนับสนุนทั้งระดับนโยบาย ปฏิบัติการและวิชาการ ดำเนินการเสวนาโดยคุณภีม ภคเมธาวี ผู้ประสานงานหน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงิน ชุมชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

๑๒.๐๐ - ๑๓.๐๐ น.รับประทานอาหารเที่ยง

๑๓.๐๐ - ๑๕.๐๐ น. สรุปผลการสัมมนา "ได้เรียนรู้เรื่องสำคัญ กลั่นจากใจอะไรบ้าง ? หมายมั่น จะกลับไปทำสิ่งใด ?" นำเสนอคนละ๑-๒ นาที ดำเนินกระบวนการโดย ดร.ทิพวัลย์ สีจันทร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ที่ปรึกษาโครงการวิจัย "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน"

๑๕.๐๐ - ๑๕.๑๕ น. ปิดการสัมมนาโดยทีมเจ้าภาพจังหวัดสงขลา

เดินทางกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ

******************************************************************

คำสำคัญ (Tags): #มหกรรม30มิ.ย.-2ก.ค.
หมายเลขบันทึก: 36104เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2006 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท