ต้นธารแห่งศรัธทา
นิติกรชำนาญการ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ (ปัจจุบัน) อรอนงค์ ต้นธารแห่งศรัธทา นิลธจิตรัตน์

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ตอน 7 บทที่ 2 ต่อ


อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ Conventions on the Assignment of the Receivables in International Trade

นอกจากนี้ สิทธิเรียกร้องในหนี้เงินใด แม้มีข้อจำกัดการโอนก็สามารถทำการโอนที่ขัดต่อข้อจำกัดนั้นได้[1] ถ้าสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินนั้นเกิดจากสัญญาดังจะกล่าวในข้อ 5.2 ดังต่อไปนี้ 

3.2  สัญญาจำกัดการโอน

สิทธิเรียกร้องในหนี้เงินใด แม้มีข้อจำกัดการโอนก็สามารถทำการโอนที่  ขัดต่อข้อจำกัดนั้นได้[2] ถ้าสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินนั้นเกิดจากสัญญาดังต่อไปนี้

(1)  สัญญาซื้อขายหรือเช่าสินค้า หรือสัญญาให้บริการ (แต่ไม่รวมถึงสัญญาให้บริการทางการเงิน) หรือสัญญาก่อสร้าง ซื้อขาย หรือเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์

(2)  สัญญาขาย ให้เช่า หรือให้ใช้สิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินอุตสาหกรรม หรือทรัพย์สินทางปัญญา หรือข้อมูลที่เป็นทรัพยสิทธิ

(3)  สัญญาทดรองจ่ายบัตรเครดิต

(4)  สัญญาในระบบการชำระหนี้สุทธิ (Netting Agreement) ที่สถานะของสัญญาในระบบนั้นสิ้นสุดลงแล้ว

 4.  ผลของการโอน

 4.1  ผลโดยทั่วไป

อนุสัญญาฯ ได้กำหนดถึงผลบังคับใช้ของการโอนไว้ในข้อ 8 โดยมีหลักการสำคัญดังนี้[3]

1)  การโอนไม่ถือว่าไม่มีผลระหว่างผู้โอนและผู้รับโอน หรือต่อลูกหนี้ หรือ ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องซ้อน และสิทธิของผู้รับโอนจะไม่ถูกบอกปัดสิทธิที่ดีกว่าโดยมูลเหตุ ที่ว่า สิทธินั้นเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องมากกว่าหนึ่งราย สิทธิเรียกร้องในอนาคต หรือสิทธิเรียกร้องบางส่วน หรือดอกเบี้ยที่แบ่งไม่ได้ในสิทธิเรียกร้อง หากสิทธิเรียกร้องมีลักษณะดังนี้

(1)  สิทธิเรียกร้องส่วนบุคคลซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการโอน

(2)  ในลักษณะอื่นใด หากในเวลาโอนนั้น หรือในกรณีของสิทธิเรียก-ร้องอนาคตในเวลาที่ทำสัญญาเดิม สิทธิเรียกร้องนั้นสามารถชี้ได้ว่า เป็นสิทธิเรียกร้อง      เกี่ยวเนื่องกับการโอน

2)  เว้นแต่จะมีการตกลงเป็นอย่างอื่น การโอนสิทธิเรียกร้องในอนาคตมาก กว่าหนึ่งราย ให้มีผลบังคับใช้โดยไม่ต้องมีการขอโอนใหม่ ในการโอนสิทธิเรียกร้องแต่ละราย

3)  นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในวรรค 1 ของข้อนี้ ข้อ 9 และข้อ 10 วรรค 2 และวรรค 3 อนุสัญญานี้ไม่กระทบต่อข้อจำกัดของการโอนที่เกิดขึ้นจากกฎหมาย

เมื่อพิจารณาจากข้อบัญญัติจากข้างบนแล้ว สรุปผลของการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินดังนี้

เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินที่สมบูรณ์ การโอนนั้นย่อมต้องผูกพันผู้โอนและผู้รับโอน รวมทั้งสามารถยกการโอนนั้นขึ้นกล่าวอ้างต่อลูกหนี้แห่งสิทธิและบุคคลภายนอกได้ ลูกหนี้แห่งสิทธิจะปฏิเสธไม่ชำระหนี้ที่มีอยู่ตามสัญญาเดิม (Original Contract) ให้แก่ผู้รับโอนไม่ได้หากได้มีการบอกกล่าวการโอนหรือมีคำสั่งให้มีการ  ชำระหนี้ต่อผู้รับโอนที่ถูกต้องตามหลักที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาแล้ว

เว้นแต่ในกรณีที่มีข้อจำกัดการโอนสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากสัญญาที่อนุสัญญามิได้รองรับให้โอนกันได้ กรณีเช่นนี้ลูกหนี้สามารถปฏิเสธการชำระหนี้ต่อ     ผู้รับโอนได้

นอกจากผลโดยทั่วไปที่กล่าวข้างต้นแล้ว อนุสัญญายังได้กำหนดผลของการโอนในเรื่องดังต่อไปนี้ไว้ด้วย 

4.2  ผลต่อหลักประกันที่มีอยู่กับสิทธิเรียกร้อง

อนุสัญญาฯ ข้อ10 ได้กำหนดผลบังคับใช้การโอนในเรื่องผลต่อหลักประกันที่มีอยู่กับสิทธิเรียกร้องไว้โดยมีใจความสำคัญดังนี้[4]

1)  บุคคลสิทธิ หรือทรัพยสิทธิที่ประกันการชำระหนี้ของสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่โอนมาให้แก่ผู้รับโอน โดยไม่ต้องมีการโอนใหม่ภายใต้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่นั้น หากสิทธินั้นสามารถโอนได้ด้วยเฉพาะการทำการโอนใหม่ ผู้โอนจำเป็นที่จะต้องโอนสิทธิเช่นว่า และรายได้ใด ๆ ให้แก่ผู้รับโอน

2)  สิทธิที่ประกันการชำระหนี้ในสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่ได้รับโอนมา จะโอนไปตามวรรคแรกของข้อนี้ แม้ว่าจะมีข้อตกลงใดระหว่างผู้โอนและลูกหนี้ หรือบุคคลอื่น ๆ ผู้ให้สิทธินั้น ซึ่งจำกัดสิทธิของผู้โอนสิทธิเรียกร้องทางการเงิน หรือสิทธิที่ประกันการชำระหนี้ของสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่โอนมา

3)  ไม่มีความในข้อนี้กระทบต่อหนี้หรือความรับผิดของผู้โอน สำหรับ       การละเมิดข้อตกลงใด ๆ ภายใต้วรรค 2 ของข้อนี้ แต่คู่สัญญาอื่น ๆ ของข้อตกลงนั้น        ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสัญญาเดิมหรือสัญญาการโอนสิทธิโดยเหตุแห่งมูลละเมิดเพียง  เหตุเดียว บุคคลที่มิใช่คู่สัญญาของข้อตกลงนั้นไม่ต้องรับผิดในเหตุว่า ได้รู้ถึงข้อตกลงนั้น

4)  วรรค 2 และวรรค 3 ของข้อนี้ใช้บังคับเฉพาะการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงิน

(1)  ที่เกิดจากสัญญาเดิมซึ่งเป็นสัญญาสำหรับส่งหรือเช่าซื้อสินค้าหรือบริการอื่นนอกเหนือจากบริการทางการเงิน สัญญาก่อสร้าง หรือสัญญาขายหรือเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์

(2)  ที่เกิดจากสัญญาเดิมสำหรับการขาย เช่าซื้อ หรือใบอนุญาต ข้อสนเทศอุตสาหกรรม หรือทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ หรือข้อสนเทศทางทรัพย์สิน

(3)  ที่แสดงถึงการชำระหนี้ธุรกรรมบัตรสินเชื่อ หรือ

(4)  ที่เป็นหนี้ของผู้โอนในการชำระเงินเป็นสุทธิตามความตกลงเป็นสิทธิซึ่งเกี่ยวข้องกับคู่สัญญามากกว่าสองฝ่าย

5)  การโอนทรัพย์สินในครอบครองตามวรรค 1 ของข้อนี้ไม่กระทบต่อ    ข้อผูกพันใด ของผู้โอนที่มีต่อลูกหนี้ หรือบุคคลที่ให้ทรัพยสิทธิในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์ที่ถูกโอนภายใต้กฎหมายที่บังคับทรัพยสิทธินั้น

6)  วรรค 1 ของข้อนี้จะไม่กระทบต่อข้อกำหนดภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายอื่น นอกเหนือจากอนุสัญญานี้ในเรื่องแบบหรือการจดทะเบียนการโอนของสิทธิใด ๆ ที่ประกันการชำระหนี้ของสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่โอนได้

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อบัญญัติดังกล่าแล้ว

สรุปผลของการโอนสิทธิเรียกร้องต่อหลักประกันที่มีอยู่กับสิทธิเรียกร้อง

1)  หลักประกันที่มีอยู่กับสิทธิเรียกร้อง ย่อมติดตามไปกับสิทธิเรียกร้อง    ในหนี้เงินที่มีการโอนนั้น แม้จะมีข้อจำกัดมิให้มีการโอนสิทธิเรียกร้องหรือข้อจำกัดมิให้หลักประกันตกติดไปกับการโอนสิทธิเรียกร้องก็ตาม แต่หากเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินหรือเป็นหลักประกันตามสัญญาที่อนุสัญญารองรับให้ทำได้แม้มีข้อจำกัดดังกล่าว หลักประกันก็ยังติดตามไปกับการโอนสิทธิเรียกร้องนั้น ทั้งนี้ อนุสัญญารองรับให้    หลักประกันติดตามการโอนไปแม้มีข้อจำกัดดังกล่าวเฉพาะในสัญญาที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินที่เป็นประเภทเดียวกับสัญญาที่ได้กล่าวไว้แล้วในวรรคสองของหัวข้อ ที่ 2

หลักประกันที่เป็นประกันการชำระหนี้ต่อสิทธิในหนี้เงิน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสิทธิ หรือทรัพยสิทธิย่อมตกได้แก่ผู้รับโอนสิทธิในหนี้เงินนั้นด้วย แต่ถ้าตามกฎหมายที่ใช้บังคับหลักประกัน กำหนดให้การโอนหลักประกันต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อการโอนหลักประกันนั้นด้วย ผู้โอนย่อมมีหน้าที่ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ผู้รับโอนได้ไปซึ่งหลักประกันดังกล่าว และรวมทั้ง Proceeds ด้วย อีกทั้งหากมีกฎหมายอื่นกำหนดเกี่ยวกับเรื่องแบบและการจดทะเบียน การโอนหลักประกันก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย     นั้น ๆ ด้วย  ดังนั้น กรณีนี้หากเรื่องอสังหาริมทรัพย์ต้องมีการจดทะเบียนตามแบบและ   ตั้งอยู่ในประเทศไทยเมื่อกฎหมายของไทยห้ามโอนแก่คนต่างชาติก็ย่อมโอนไม่ได้ตามหลักทั่วไป

2)  ความรับผิดของผู้โอนในกรณีที่มีการโอนโดยฝ่าฝืนข้อจำกัด ผู้โอนที่     ทำการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินซึ่งฝ่าฝืนข้อจำกัดการโอนหรือข้อจำกัดการให้หลักประกัน ย่อมต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้หรือผู้ให้หลักประกัน

 4.3  ผลต่อความรับผิดของผู้โอนในกรณีที่มีการโอนโดยฝ่าฝืนข้อจำกัด

ข้อ 9 อนุสัญญาฯ ได้กำหนดถึงผลต่อความรับผิดของผู้โอนในกรณีที่มี    การโอนโดยฝ่าฝืนข้อจำกัดไว้ดังนี้[5]

1)  การโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินมีผล แม้ว่าจะมีความตกลงระหว่างผู้โอนรายแรก หรือผู้โอนต่อ และลูกหนี้ หรือผู้รับโอนต่อ ที่จำกัดสิทธิผู้โอนในการโอนสิทธิเรียกร้องของตน ไม่ว่าโดยวิธีการใด

2)  ไม่มีความใดในข้อนี้กระทบต่อหนี้ หรือความรับผิดของผู้โอนสำหรับการละเมิดข้อตกลงนั้น แต่คู่สัญญาอื่นของข้อตกลงนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงสัญญาเดิม หรือสัญญาโอนบนมูลแห่งละเมิดนั้นแต่เพียงประการเดียว บุคคลซึ่งมิใช่คู่สัญญาของข้อตกลงนั้นไม่ต้องรับผิดโดยเหตุที่รู้ถึงข้อตกลงเช่นว่าเพียงประการเดียว

จากบทบัญญัติ เห็นได้ว่า การโอนที่ฝ่าฝืนข้อจำกัดนั้น ผู้โอนที่ทำการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินซึ่งฝ่าฝืนข้อจำกัดการโอนหรือข้อจำกัดการให้หลักประกัน ย่อมต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้หรือผู้ให้หลักประกัน

ข้อสังเกต เห็นได้ว่า อนุสัญญาได้อนุญาตให้มีการโอนกันได้แม้จะมีข้อจำกัดการโอนกันก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ให้การเยียวยาลูกหนี้โดยการที่ผู้โอนที่ทำการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินที่ฝ่าฝืนข้อจำกัดการโอนต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกหนี้

 5.  สิทธิและหน้าที่ของผู้โอนและผู้รับโอน 

อนุสัญญาฯ ได้กำหนดถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนและผู้รับโอน ดังนี้

1)  สิทธิและหน้าที่ของผู้โอนและผู้รับโอนสัญญาโอนให้เป็นไปตามที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ทำไว้ในสัญญา และ

2)  ให้คำนึงถึงทางปฏิบัติที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้เคยปฏิบัติต่อกันมา

3)  ในกรณีที่เป็นการโอนระหว่างประเทศก็จะต้องพิจารณาถึงทางปฏิบัติทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับกันในวงการธุรกิจนั้น ๆ ด้วย[6]

นอกจากนี้อนุสัญญาได้วางหลักเกี่ยวกับสิทธิระหว่างผู้โอนและผู้รับโอนที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ดังนี้

 5.1  สิทธิจะแจ้งลูกหนี้

อนุสัญญาได้กำหนดสิทธิของผู้โอนและผู้รับโอนที่จะแจ้งลูกหนี้หรือ บอกกล่าวการโอนและคำสั่งให้ชำระหนี้ดังนี้

1)  เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่นระหว่างผู้โอนและผู้รับโอน ผู้โอน หรือ   ผู้รับโอน หรือทั้งสองฝ่ายสามารถส่งคำบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ถึงการโอน และวิธีการชำระหนี้ แต่ภายหลังจากที่ได้มีการส่งคำบอกกล่าวไปแล้ว เฉพาะเพียงผู้รับโอน  เท่านั้นที่สามารถส่งวิธีการชำระหนี้ เช่นว่า

2)  คำบอกกล่าวการโอน หรือวิธีการชำระหนี้ที่ถูกส่งโดยขัดต่อข้อตกลง ใด ๆ ที่อ้างถึงใน วรรค 1 ของข้อนี้ ไม่ถือว่าไม่มีผลใช้บังคับสำหรับความมุ่งประสงค์ของข้อ 17 โดยผลของการฝ่าฝืนนั้น อย่างไรก็ดี ไม่มีความใดในข้อนี้ที่กระทบต่อหน้าที่ หรือความรับผิดของคู่สัญญาฝ่ายที่ฝ่าฝืนข้อตกลงเช่นว่าสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น อันเป็นผลของการฝ่าฝืนนั้น[7]  

5.2  สิทธิที่จะชำระหนี้

อนุสัญญาได้กำหนดสิทธิระหว่างผู้โอนและผู้รับโอนไว้เกี่ยวกับสิทธิที่จะชำระหนี้ดังนี้ โดยอนุสัญญาได้วางหลักเกี่ยวกับสิทธิระหว่างผู้โอนและผู้รับโอนที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างกันในประเด็นดังกล่าว ข้างบนโดยกำหนดให้เป็นไปตามหลักที่ว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้มากกว่าสิทธิที่ ตนพึ่งมีจากการรับโอนสิทธินั้นจากผู้โอน” ดังนี้

ระหว่างผู้โอนและผู้รับโอน เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่น และไม่ว่าคำบอกกล่าวการโอนถูกส่งไปแล้วหรือไม่

1)  หากมีการชำระหนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่ได้โอนมาให้แก่ผู้รับโอน ผู้รับโอนมีสิทธิยึดหน่วงรายได้ และสินค้าที่ถูกส่งคืนในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่โอนมา และ

2)  หากมีการชำระหนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่โอนมาให้แก่อีกบุคคลหนึ่งแทนผู้รับโอนซึ่งมีสิทธิดีกว่า ผู้รับโอนมีสิทธิที่ได้รับการชำระหนี้ด้วยรายได้ และสินค้าที่ถูกส่งคืนให้แก่บุคคลเช่นว่า ในส่วนของสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่ได้รับโอนมา ผู้รับโอนไม่สามารถยึดหน่วงสิทธิเกินค่าของสิทธิเรียกร้องทางการเงิน

นอกจากนี้อนุสัญญากำหนดหลักการตกลงระหว่างผู้โอนและผู้รับโอนเกี่ยวกับสิทธิที่จะชำระหนี้โดยกำหนดไว้ในข้อ 12 ของอนุสัญญาฯ ว่าด้วยคำรับรองของผู้โอนไว้ดังต่อไปนี้[8]

1)  เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่นระหว่างผู้โอนและผู้รับโอน ผู้โอนรับรองว่าในขณะที่ทำสัญญาโอนสิทธินั้น

(1)  ผู้โอนมีสิทธิที่จะโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินนั้น

(2)  ผู้โอนยังมิได้ทำการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินนั้นให้แก่ ผู้รับโอนคนอื่นมาก่อน และ

(3)  ลูกหนี้ไม่มีและจะไม่มีข้อต่อสู้ หรือสิทธิหักกลบลบหนี้

2)  เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่นระหว่างผู้โอนและผู้รับโอน ผู้โอนไม่รับรองว่าลูกหนี้มีหรือจะมีความสามารถในการชำระหนี้[9]

การบอกกล่าวลูกหนี้

ข้อ 16[10] ของอนุสัญญาฯ ได้กำหนดไว้ว่า คำบอกกล่าวการโอน หรือวิธีการชำระหนี้มีผลใช้บังคับเมื่อลูกหนี้ได้รับ ถ้าคำบอกกล่าวนั้นเป็นภาษาที่คาดว่าจะเป็นที่ เข้าใจแก่ลูกหนี้เกี่ยวกับเนื้อหาของคำบอกกล่าวนั้น ถ้าคำบอกกล่าวการโอน หรือวิธีการชำระหนี้เป็นภาษาที่ใช้ในสัญญาเดิมก็ถือว่าเป็นการเพียงพอแล้ว คำบอกกล่าวการโอน หรือวิธีการชำระหนี้ อาจเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่เกิดขึ้นภายหลังการบอกกล่าวและให้ถือว่า คำบอกกล่าวการโอนภายหลังเป็นการบอกกล่าวการโอนทั้งหมดที่มีอยู่ก่อน

จากหลักกฎหมายข้างต้น อธิบายดังนี้ การบอกกล่าวให้ลูกหนี้ทราบถึงการโอนสิทธิเรียกร้องและการออกคำสั่งให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้น ผู้โอนและผู้รับโอนอาจ ตกลงให้ผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิในการบอกกล่าวหรือออกคำสั่งก็ได้ หากไม่ได้ตกลงกันไว้ อนุสัญญาให้ถือว่า การบอกกล่าวการโอนเป็นสิทธิของทั้งสองฝ่าย และถ้าได้มีการบอกกล่าวการโอนให้ลูกหนี้ทราบแล้ว สิทธิในการออกคำสั่งให้ลูกหนี้ชำระหนี้ย่อมเป็นสิทธิของผู้รับโอนแต่ฝ่ายเดียว

สำหรับการบอกกล่าวการโอนจะทำด้วยวิธีการใดก็ได้ที่จะทำให้สามารถ เข้าใจถึงข้อความที่บอกกล่าวและทราบถึงหนี้ที่มีการโอนรวมทั้งบุคคลที่เป็นผู้รับโอนด้วย ทั้งนี้ คำบอกกล่าวที่จะถือว่าผูกพันลูกหนี้ได้ จะต้องเป็นคำบอกกล่าวด้วยภาษาที่ลูกหนี้เข้าใจได้ ซึ่งคำบอกกล่าวการโอน (รวมทั้งคำสั่งให้ชำระหนี้) จะมีผลใช้บังคับได้ต่อเมื่อลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าว (หรือคำสั่ง) นั้นแล้ว

ในกรณีที่การบอกกล่าวการโอนหรือคำสั่งให้ชำระหนี้ไม่เป็นไปตามหลักข้างต้น ซึ่งเป็นผลทำให้มีการชำระหนี้ที่ไม่ถูกต้องจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้โอนหรือผู้รับโอนฝ่ายใด ฝ่ายนั้นย่อมเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นได้ 


[1]สำหรับผลจากการที่ผู้โอนฝ่าฝืนข้อจำกัดการโอน โปรดดูในหัวข้อที่ 2.6.3 (2).

[2]สำหรับการเยียวยาลูกหนี้ที่ได้รับความเสียหายจากการที่ผู้โอนฝ่าฝืนข้อจำกัดการโอน โปรดดูในหัวข้อที่ 2.6.3.

[3]กระทรวงการต่างประเทศ, เรื่องเดิม, หน้า 10.

[4]กระทรวงการต่างประเทศ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 12.

[5]กระทรวงการต่างประเทศ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 10.

[6]อนุสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ข้อ 11.

[7]เรื่องเดียวกัน, ข้อ 13.

[8]กระทรวงการต่างประเทศ, เรื่องเดิม, หน้า 15.

[9]อนุสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ข้อ 14.

[10]กระทรวงการต่างประเทศ, เรื่องเดิม, หน้า 20.

หมายเลขบันทึก: 359189เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2010 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 12:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท