ต้นธารแห่งศรัธทา
นิติกรชำนาญการ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ (ปัจจุบัน) อรอนงค์ ต้นธารแห่งศรัธทา นิลธจิตรัตน์

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ตอน6 บทที่ 2 ต่อ


อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ Conventions on the Assignment of the Receivables in International Trade

(ง)  ระบบการชำระเงินระหว่างธนาคาร สัญญาชำระเงินระหว่างธนาคาร หรือระบบชำระบัญชีที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ หรือ             ตราสาร

เหตุผลในการยกเว้นภายใต้ วรรค 2 (ง) นี้ เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงการเข้าไปก้าวล่วงถึงเกณฑ์กำกับดูแลเกี่ยวกับระบบการชำระเงินระหว่างธนาคาร (Regulation of Inter-bank Payment Systems) ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องมากกว่า หรือระบบการชำระราคา หลักทรัพย์ (Securities Clearance and Settlements Systems) ซึ่งเน้นที่การยกเว้นการ ถือครองหลักทรัพย์โดยทางอ้อม (Indirect Holding Pattern) หรืออีกนัยหนึ่งคือ การ  ถือครองโดยสถาบันการเงิน และเป็นการยกเว้นหลักทรัพย์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น Securities or Other Financial Assets or Instruments[1] (หลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่น หรือตราสารทางการเงิน)

(จ)  การโอนสิทธิในหลักทรัพย์ในการขาย กู้ยืมหรือการถือครองของ หลักทรัพย์หรือความตกลงที่จะซื้อคืนหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ทางการเงินหรือตราสารซึ่งถือโดยสำนักงานกลางเช่นเดียวกับ วรรค 2 (ง) การยกเว้นไม่บังคับใช้อนุสัญญาฯ ต่อการโอนสิทธิที่มีในหลักทรัพย์ (The Transfer of Security Rights in Securities) จะรวมถึง Other Financial or Instruments (การเงินอื่น ๆ หรือตราสารทางการเงิน) ด้วย

(ฉ)  บัญชีเงินฝากธนาคาร

สาเหตุที่สิทธิเรียกร้องฯ ที่เกิดจากบัญชีเงินฝากถูกยกเว้น ทั้งนี้ เนื่องจากบทบัญญัติภายใต้อนุสัญญาในมาตรา 5 (h) 11 12 19 20 และ 24 อาจจะไม่เป็นผลดี (Upset) ต่อความสัมพันธ์ปกติระหว่างสถาบันการเงินกับเจ้าของบัญชีเงินฝาก และ

จะก้าวล่วงถึงการให้สินเชื่อ โดยมีบัญชีเงินฝากเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ[2]

(ช)  เลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit) หรือหลักประกันอื่น ๆ (Independent Guarantee)

การโอนสิทธิเรียกร้องที่เกิดภายใต้เลตเตอร์ออฟเครดิต หรือหลัก-ประกัน จะได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้อนุสัญญาฯ เนื่องจากต่างก็มีกฎเกณฑ์ในการกำกับควบคุมทั้งที่อยู่ในรูปของกฎหมาย หรือไม่ใช่กฎหมายก็ตาม

3)  อนุสัญญานี้จะไม่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนและลูกหนี้ตามกฎหมายพิเศษ ซึ่งใช้บังคับกับการคุ้มครองคู่สัญญาในธุรกรรมที่ทำขึ้นเพื่อความมุ่ง-ประสงค์ส่วนตัว ครอบครัวหรือครัวเรือน[3]

4)  อนุสัญญานี้จะไม่ กระทบต่อการใช้บังคับของกฎหมายของรัฐใดรัฐหนึ่งที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ไม่ว่า

(1)  ผลประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ถึงขนาดตามที่กฎหมายนั้น การโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ดังกล่าว หรือ

(2)  สิทธิที่ดีกว่าของสิทธิเรียกร้องทางการเงินถึงขนาดตามที่กฎหมายนั้น ผลประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์จะก่อให้เกิดสิทธิเช่นว่า หรือ

(3)  ทำให้การได้มาซึ่งผลประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ที่มิได้รับอนุสัญญาตามกฎหมายของรัฐซึ่งอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่เป็นไปโดยถูกต้องต้องกฎหมาย

ความในข้อ 5 นี้ ไม่ได้หมายถึงว่า จะยกเว้นการโอนสิทธิเรียกร้องฯ ทุกประเภทอันเกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ (To Avoid Excluding the Assignment of All and Related Receivable) ซึ่งจะทำให้หลักการในวรรคนี้เสียไป สำหรับสิทธิที่ดีกว่าที่เกี่ยวกับการเช่า หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Lent or Mortgages) จะเป็นไปตามที่กฎหมายของประเทศที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่

สำหรับกรณีของข้อ (3)[4] นั้น อนุสัญญาฯ จะไม่หักล้าง (Override) บทบัญญัติตามกฎหมายที่ห้ามไว้เกี่ยวกับการได้มาของผลประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ อนุสัญญานี้ไม่ใช้บังคับต่อสิทธิ และหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายที่ใช้บังคับกับตราสารที่เปลี่ยนมือได้

โดยอนุสัญญาฉบับภาษาอังกฤษ บัญญัติไว้ดังนี้  “Nothing in This Convention Affects the Rights and Obligations of Any Person Under the Law Governing Negotiable Instruments”[5]

ซึ่งความหมายของ “The Law Governing Negotiable Instruments” ในที่นี้มีความหมายกว้างกว่า “Negotiable Instrument Law” (ตราสารเปลี่ยนมือได้) กล่าวคือ กฎหมายที่ใช้บังคับกับตราสารเปลี่ยนมือได้ ไม่ใช่เฉพาะกฎหมายว่าด้วยตราสารเปลี่ยนมือ ดังนั้น กฎหมาย The Law of Pledge of Negotiable Instruments จึงอยู่ในวรรคนี้ด้วย นอกจากนี้ คำว่า “Negotiable Instruments” (ตราสารเปลี่ยนมือได้) จะหมายความรวมถึง B/E[6] P/N[7]และเช็ค ซึ่งโดยสรุปแล้วอนุสัญญาฯ จะไม่กระทบสิทธิ และความผูกพันภายใต้กฎหมายที่ใช้บังคับตราสารเปลี่ยนมือได้

เมื่อพิจารณาจากข้อกำหนดของอนุสัญญาฯ เบื้องต้นแล้ว เห็นได้ว่า อนุสัญญาฯ ได้กำหนดยกเว้นสิทธิเรียกร้องและการโอนสิทธิเรียกร้องบางประเภท และสิทธิเรียกร้องที่เป็นจำนวนมาก (Bulk Assignment) จากขอบเขตการบังคับใช้อนุสัญญาฯ โดย ไม่ใช้บังคับกับการโอนสิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้

(1)  สิทธิเรียกร้องที่ไม่ได้เกิดจากสัญญา ด้วยเหตุผลที่ว่า อนุสัญญาฯ ได้ยกร่างขึ้นสำหรับสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางสัญญาบางข้อบทอาจจะไม่เหมาะสมกับสิทธิเรียกร้องที่ได้เกิดจากสัญญา

(2)  สิทธิเรียกร้องที่ไม่ใช่ตัวเงิน ด้วยเหตุผลที่ว่า สิทธิเรียกร้องที่ไม่ใช่ตัวเงิน มีไม่มากนักในทางปฏิบัติ นอกจากนี้อนุสัญญาฯ ร่างขึ้นโดยคำนึงถึงสิทธิเรียกร้องที่เป็นตัวเงินเป็นหลัก จึงตกลงว่าอนุสัญญาฯ นี้ไม่ครอบคลุมถึงสิทธิเรียกร้องที่ไม่ใช่ตัวเงิน

(3)  สิทธิในการปฏิบัติตามหน้าที่สัญญาฯ (Performance Right) ด้วยเหตุผล ที่ว่า สิทธิดังกล่าวไม่เกี่ยวกับอนุสัญญาฯ นี้มากนัก สิทธิที่อนุสัญญาฯ นี้ครอบคลุม         ส่วนใหญ่ ก็คือ สิทธิเรียกร้องที่เป็นตัวเงิน และกรณีสิทธิเหล่านี้อาจกลายมาเป็นตัวเงินในภายหลัง จะทำให้เกิดปัญหามากในอนาคต

(4)  การโอนตามกฎหมาย (Statutory Assignment) ด้วยเหตุผลที่ว่า การโอนโดยผลของกฎหมายเป็นไปตามหลักกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งอนุสัญญาฯไม่เข้าไปแทรกแซงหลักการดังกล่าว

(5)  การโอนสิทธิเรียกร้องที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ส่วนตัว ในครอบครัวหรือในครัวเรือน เนื่องจากการโอนในลักษณะนี้มีความสำคัญในเชิงธุรกิจ อย่างไรก็ดี การโอนสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากธุรกรรมของผู้บริโภค (Consumer Transactions) อาทิ หนี้ที่เกิดจากบัตรเครดิต ไม่ได้รับการยกเว้นจากการบังคับใช้อนุสัญญาฯ เว้นแต่เป็นการโอนไปยังผู้บริโภคเพื่อวัตถุประสงค์ในการบริโภคส่วนตัว

(6)  สัญญาที่เป็นการขายหรือเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์หรือสถานะทางกฎหมายขององค์กรธุรกิจซึ่งก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่โอนกันได้ เช่น กรณีควบรวมกิจการ (Merger Agreement) เนื่องจากกฎหมายการควบรวมกิจการของแต่ละประเทศ ไม่เหมือนกัน ดังนั้น อนุสัญญาจึงแก้ปัญหาโดยการตัดประเด็นนี้ออกไป

(7)  สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นในตลาดซื้อขาย  แลกเปลี่ยนที่มีการกำกับดูแล (Regulated Exchange) ตัวอย่างเช่น สิทธิในหนี้เงินใน

อนาคต OTC[8] ดาวโจนส์ ฯลฯ

(8)  สิทธิเรียกร้องทางการเงินที่อยู่ในระบบการชำระหนี้สุทธิ (Netting Agreement) เว้นแต่สัญญานั้นสิ้นสุดสถานะในระบบนั้นแล้ว ตัวอย่างเช่น สิทธิในหนี้เงินที่เกิดจากธุรกรรมตามสัญญา ISDA Agreement Derivatives

(9)  สิทธิเรียกร้องในธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 

(10)  สิทธิเรียกร้องภายใต้ระบบการชำระหนี้ระหว่างธนาคาร (Inter Bank) หรือในระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินทางการเงินอื่น ตัวอย่างเช่น Clearing House (ระบบการหักบัญชี) ในทางการเงินและหลักทรัพย์

(11)  สิทธิที่มีการให้หลักประกันในการขายและรับซื้อคืน (Repurchase Agreement)

(12)  สัญญาเงินฝากกับธนาคาร

(13)  Letter of Credit (เลตเตอร์ออฟเครดิต) หรือ Independent Guarantee (หลักประกันอื่น)

(14)  ตั๋วเงิน

ข้อสังเกต

การโอนสิทธิเรียกร้องตามข้อ 8 ถึงข้อ 14 ที่ไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตอนุสัญญานี้เนื่องจากว่า สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากธุรกรรมทางการเงินประเภทเหล่านี้มีกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว

(15)  สัญญาที่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษในเรื่องส่วนตัว[9] 

 (16)  สัญญาที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์โดยสัญญาดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่[10]

เหตุที่อนุสัญญาฯ ได้ยกเว้นสิทธิทั้ง 16 ข้อ ข้างบน ไม่ให้อยู่ในขอบเขตการบังคับใช้อนุสัญญาฯ ทั้งนี้ เนื่องจากว่า การกำหนดให้มีหนี้เงินที่เกิดจากสัญญาทุกประเภทต้องอยู่ภายใต้บังคับของอนุสัญญาฯ อาจทำให้ไม่เหมาะสมกับสภาพหรือลักษณะของหนี้เหล่านั้นหรือหนี้เงินบางประเภทนั้นไม่เหมาะที่จะอยู่ภายในบังคับของอนุสัญญา เนื่องจากอาจทำให้ไม่เหมาะสมกับสภาพหรือลักษณะของหนี้เหล่านั้น หรือหนี้เงินบางประเภทมีการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบแล้ว ซึ่งการโอนหนี้เงินดังกล่าวมีความยุ่งยากหรืออาจกระทบต่อความมั่นคงของระบบในเรื่องนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้อนุสัญญาจึงได้จำกัดไว้ว่า สิทธิเรียกร้องในหนี้เงินที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาจะต้องเป็นหนี้เงินที่เกิดจากสัญญาอื่นใดที่มิใช่สัญญาดังได้กล่าวมาทั้งหมดเบื้องต้น

นอกจากข้อยกเว้นดังกล่าวข้างต้น ประเทศภาคีสามารถประกาศว่า จะยกเว้นธุรกรรมการโอนสิทธิเรียกร้องประเภทใดประเภทหนึ่งจากบังคับของอนุสัญญาฯ ได้ ซึ่งการที่อนุสัญญาฯ ได้กำหนดข้อยกเว้นดังกล่าวนี้ถือว่าอนุสัญญาฯ นี้ได้บัญญัติขึ้นเพื่อเป็นความยืดหยุ่นของอนุสัญญา ที่จะให้ประเทศภาคีมีโอกาสที่จะเลือกยกเว้นธุรกรรม   ใด ๆ ได้หากไม่พร้อมที่จะทำการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งข้อ 41 ของอนุสัญญาฯ ได้บัญญัติรองรับไว้เพื่อความยืดหยุ่นเช่นว่านี้

โดยข้อ 41 ของอนุสัญญาฯ ได้เปิดช่องให้รัฐภาคีรัฐใดรัฐหนึ่งจะแถลง  เมื่อใดก็ได้ว่าจะไม่นำอนุสัญญาฯ มาใช้บังคับกับการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินบางประเภทเป็นการเฉพาะได้ซึ่งการมีข้อยกเว้นดังกล่าวไว้ก็เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นต่อประเทศสมาชิกในการจะเลือกเข้าเป็นภาคีเนื่องจากแต่ละประเทศอาจมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของธุรกรรมการโอนสิทธิที่อยู่ในข่ายจะต้องบังคับใช้แตกต่างกันจนอาจสร้างความไม่สบายใจที่จะเข้าร่วมเป็นภาคีได้

อย่างไรก็ดี การยกเว้นในข้อ 41 จะไม่อนุญาตให้มีการยกเว้น ไม่บังคับใช้กับการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่ปรากฏตามข้อ 9 วรรคสาม ทั้งนี้ เนื่องจากธุรกรรม  ดังกล่าวถือเป็นธุรกรรมการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินขั้นพื้นฐานในทางการค้าระหว่างประเทศที่ค่อนข้างมีความแพร่หลาย ซึ่งธุรกรรมที่ไม่อนุญาตให้ยกเว้นประกอบด้วย

(1)  สัญญาซื้อขายหรือเช่าสินค้า หรือสัญญาให้บริการ (แต่ไม่รวมถึงสัญญาให้บริการทางการเงิน) หรือสัญญาก่อสร้าง ซื้อขาย หรือเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ 

(2)  สัญญาขาย ให้เช่า หรือให้ใช้สิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินอุตสาหกรรม หรือทรัพย์สินทางปัญญา หรือข้อมูลที่เป็นทรัพยสิทธิ และ

(3)  สัญญาทดรองจ่ายบัตรเครดิต

 3.  แบบการทำสัญญาโอนและสัญญาจำกัดการโอน

 3.1  แบบการทำสัญญาการโอนสิทธิ

แบบของการทำสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินนั้นอนุสัญญาฯ ได้กำหนดแบบของสัญญาว่าด้วยการโอนไว้ในข้อ 27 ดังนี้[11]

1)  สัญญาว่าด้วยการโอนที่กระทำขึ้นระหว่างบุคคลหลายคนที่ตั้งถิ่นฐาน อยู่ในรัฐเดียวกัน จะมีผลสมบูรณ์ระหว่างบุคคลเหล่านั้นหากสัญญาดังกล่าวเป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญานั้น หรือตามกฎหมายของรัฐในประเทศที่ได้ทำสัญญา

2)  สัญญาว่าด้วยการโอนที่กระทำระหว่างบุคคลหลายคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ต่างรัฐกัน จะมีผลสมบูรณ์ระหว่างบุคคลเหล่านั้น หากสัญญานั้นเป็นไปตามข้อบังคับกับสัญญานั้น หรือกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง

 ความข้อนี้จะอยู่ภายใต้ข้อบังคับข้อ 31 และ 32[12]

จากข้อบัญญัติเบื้องต้นอธิบายความดังนี้

1)  แบบการทำสัญญาโอนที่ทำขึ้นระหว่างบุคคลหลายคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐเดียวกัน

แบบของการทำสัญญาโอนระหว่างบุคคลหลายคนหรือคู่สัญญาที่ตั้ง   ถิ่นฐานอยู่ในรัฐเดียวกันจะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้ทำให้ถูกต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญา หรือกฎหมายของรัฐที่มีการทำสัญญานั้น ดังนั้น หากการทำสัญญามิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญา หรือกฎหมายของรัฐที่ได้ทำสัญญาแล้วสัญญาโอนสิทธิในหนี้เงินอันนั้นก็หาสมบูรณ์ไม่ เว้นเสียแต่เป็นไปตามกฎข้อบังคับของข้อ 31 และข้อ 32 ดังกล่าวไว้ข้างต้น

2)  แบบของสัญญาโอนระหว่างบุคคลที่อยู่ต่างรัฐกัน

แบบของสัญญาโอนระหว่างบุคคลที่อยู่ต่างรัฐกันจะมีผลสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อได้ทำให้ถูกต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญา หรือกฎหมายของรัฐใดรัฐหนึ่งทีมีการทำสัญญานั้น ดังนั้น หากการใดที่มิได้เป็นไปตาม บทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาหรือกฎหมายของรัฐใดรัฐหนึ่งที่มีการตกลงทำสัญญากันแล้วแบบของการโอนสิทธิก็หาสมบูรณ์ไม่ เว้นแต่อยู่ภายใต้ข้อยกเว้น ข้อ 31 และข้อ 32 ของอนุสัญญาฯ

จากกรณีดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า อนุสัญญาได้กำหนดแบบของการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินไว้ 2 แบบ ด้วยกัน กล่าวคือ แบบของสัญญาโอนระหว่างบุคคลหลายบุคคลที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐเดียวกัน และแบบของสัญญาโอนระหว่างบุคคลที่อยู่  ต่างรัฐกัน ซึ่งทั้งสองแบบนั้น อนุสัญญาได้กำหนดให้การโอนต้องเป็นไปตามแบบที่กำหนด คือ ต้องทำให้ถูกต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญา หรือกฎหมายของรัฐใดรัฐหนึ่งของคู่สัญญาที่ได้ตกลงกันไว้

สำหรับผู้ศึกษาเห็นว่า สาเหตุที่อนุสัญญาฯ ได้กำหนดรูปแบบของการโอนไว้ ทั้งนี้เพราะต้องการผลความสมบูรณ์ทางกฎหมายที่จะใช้ยันต่อสู้กันได้ เพราะการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นการโอนระหว่างประเทศ และเหตุที่อนุสัญญาฯ ได้กำหนดแบบไว้สองแบบก็น่าจะเนื่องจากความเป็นระหว่างประเทศและหลักเกณฑ์ถิ่น  ที่อยู่ ที่เป็นไปตามบทนิยามในหลักการของอนุสัญญานั้นเอง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันกรณีหากมีการโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้นก็จะเป็นการง่ายต่อการปฏิบัติและต่อกระบวนการทางศาล

ข้อสังเกต ในประเด็นแบบของการโอนสิทธิเรียกร้องข้อหนึ่งเห็นได้ว่าในแบบของการโอนทั้งสองแบบนั้นอนุสัญญาได้กำหนดหลักการเดียวกันว่าต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญา ซึ่งเป็นหลักทั่วไป และอีกกรณีหนึ่งที่เหมือนกันในหลักการก็คือ คู่สัญญาสามารถเลือกใช้กฎหมายของรัฐใดรัฐหนึ่งตกลงใช้บังคับกับสัญญาได้ ทั้งนี้เป็นไปตามหลัก Consent to be bound (หลักความสมัครใจหรือหลักความยินยอมตามหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ)

สรุปแบบของสัญญาการโอนหรือการทำการโอนสิทธิเรียกร้อง

โดยสรุปแล้ว สิทธิเรียกร้องในหนี้เงินที่จะโอนกันได้ อาจเป็นสิทธิเรียกร้องที่ผู้โอนมีอยู่แล้วในขณะทำสัญญาหรืออาจเป็นการทำสัญญาโอนไว้ล่วงหน้าก่อนที่สิทธิเรียกร้องนั้นจะเกิดขึ้นก็ได้ โดยแบบของสัญญาในการโอนจะใช้รูปแบบใดเพื่อให้เกิดผลสมบูรณ์ในการโอนก็ได้ตามแต่ประเทศภาคีกำหนด โดยประเทศภาคีอาจเลือกตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาที่ให้ใช้แบบของกฎหมายซึ่งใช้บังคับกับสัญญาหรือกฎหมายของรัฐที่มีการทำสัญญาโอนนั้นก็ได้


[1]Commentary A/CN. 9/489 para 52 [Online], Available URL: http://www. uncitral.org, 2001 (March, 13).

[2]Commentary A/CN. 9/489 para 51 [Online], Available URL: http://www. uncitral.org, 2001 (March, 13).

[3]อนุสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ข้อ 4.

[4]สัญญาทางการเงินที่อยู่ภายใต้สัญญาเป็นสุทธิ เว้นแต่สิทธิเรียกร้องทางการเงินที่เกิดจากการสิ้นไปของธุรกรรมที่ยังไม่มีการชำระหนี้.

[5]อนุสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ข้อ 4 (3).

[6]Bill of Exchange เป็นตราสารหนี้ชนิดหนึ่ง ถือเป็นสัญญากู้ยืมเงินระหว่างลูกหนี้ (ผู้ออกตั๋ว) และเจ้าหนี้ (ผู้ลงทุน) เช่นเดียวกับพันธบัตร หรือหุ้นกู้นั่นเอง.

[7]Promissory Note ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งมีผู้เกี่ยวข้อง คือ ผู้ออกตั๋ว (หรือผู้สั่งจ่าย) และผู้รับเงินเท่านั้น โดยมีเพียงสองฝ่าย เนื่องจากผู้สั่งจ่ายเป็นสถาบันการเงิน และคือ ผู้ที่จ่ายพร้อมกันไปในตัว.

[8]Over The Counter หมายถึง หลักทรัพย์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือกระทำการซื้อขายกันในสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นสำหรับการค้าหลักทรัพย์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์.

[9]เช่น สิทธิเรียกร้องผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ.

[10]อนุสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ข้อ 4.

[11]กระทรวงการต่างประเทศ, เรื่องเดิม, หน้า 24.

[12]อนุสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ข้อ 31, กฎข้อบังคับ

1)  ไม่มีความใดในข้อ 28 และข้อ 29 จำกัดการใช้บังคับกฎเกณฑ์ของกฎหมายของรัฐที่ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีในกรณีที่กฎเกณฑ์ของกฎหมายเหล่านั้นเป็นกฎข้อบังคับโดยไม่คำนึงถึงกฎหมายซึ่งโดยทางอื่นใช้บังคับ

2)  ไม่มีความใดในข้อ 28 และข้อ 29 จำกัดการใช้บังคับของกฎข้อบังคับของ   รัฐอื่น ที่สาระที่กำหนดในข้อเหล่านี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชดด้วย หากว่าและต่อเมื่อภายใต้กฎหมายของอีกรัฐหนึ่งนั้น กฎข้อบังคับเหล่านั้นต้องนำมาใช้บังคับโดยไม่คำนึงถึงกฎหมายซึ่งโดยทางอื่นใช้บังคับ

ข้อ 32 ของอนุสัญญาฯ นโยบายสาธารณะ โดยคำนึงถึงสาระที่ได้ตกลงไว้ในบทนี้ การใช้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายที่ระบุไว้ในบทนี้อาจถูกปฏิเสธ ถ้าการใช้บังคับบทบัญญัตินั้นขัดต่อนโยบายสาธารณะของรัฐที่ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีอย่างชัดแจ้ง.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท