ต้นธารแห่งศรัธทา
นิติกรชำนาญการ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ (ปัจจุบัน) อรอนงค์ ต้นธารแห่งศรัธทา นิลธจิตรัตน์

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ (ตอน4) บทที่ 2


อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ Conventions on the Assignment of the Receivables in International Trade

บทที่ 2

ที่มา ความหมาย และหลักการโอนสิทธิเรียกร้องตามอนุสัญญาสหประชาชาติการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ

ในการเขียนบทที่สองนี้ ผู้ศึกษาแปลจากเอกสารภาษาอังกฤษสองฉบับ คือ Convention on the Assignment of Receivables in International Trade 2001 และ Analytical Commentary on the Draft Convention on Assignment of Receivables in International Trade (A/CN. 9/489) เป็นภาษาไทย เพื่อให้เข้าใจรากฐานและหลักการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการรับรองจากประเทศต่าง ๆ ไปบ้างแล้ว แต่เนื่องจากมีผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้เพียงไม่กี่ท่าน และส่วนใหญ่เป็นเอกสารที่ใช้ในการประชุมภายในหน่วยงาน รวมทั้งข้อความสำคัญจาก Commentary เว้นแต่การแปลจาก Convention ซึ่งผู้ศึกษาได้นำไปใส่ไว้ในภาคผนวกท้ายเล่ม ซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้โดยตรง

 

1.  ความเป็นมาของอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้อง

ทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ

 1.1  ภูมิหลัง[1] 

อนุสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในการค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นพัฒนาการทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศอีกฉบับหนึ่งในการสร้างมาตรฐานของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผลงานสำคัญของ UNCITRAL ได้แก่ กฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ อนุสัญญาว่าด้วยการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ อนุสัญญาว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเล กฎหมายแม่แบบ          ว่าด้วยการล้มละลายข้ามแดน และกฎหมายแม่แบบว่าด้วยการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง   ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ

 

1.2  ความเป็นมา[2]

ด้วยคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (United Nations Commission on International Trade Law--UNCITRAL) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ สหประชาชาติที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนากฎหมายการค้าระหว่างประเทศได้       มอบหมายให้คณะทำงานเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติด้านสัญญาระหว่างประเทศ (Working Group on International Contract Practices) เตรียมการยกร่างระเบียบหรือกฎหมายที่เป็นรูปแบบเดียวกัน (A Uniform Law) ที่เกี่ยวกับธุรกรรมว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในการค้าระหว่างประเทศ (Assignment in Receivable Financial) ซึ่งต่อมา เรียกว่า ร่างอนุสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในการค้าระหว่างประเทศ (Convention on the Assignment of Receivable International Trade)

อนุสัญญาดังกล่าวได้ใช้เวลาร่างที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย ประมาณ 4 ปี จนเสร็จสิ้น โดยกระทรวงการต่างประเทศในฐานะที่เป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับอนุสัญญา      เกี่ยวข้อง และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ คือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด-หลักทรัพย์เข้าร่วมด้วยเป็นครั้งคราว และได้ลงมติรับเอา โดยสมัชชาสหประชาชาติในการประชุมสมัชชาสมัยที่ 56 จึงยกร่างอนุสัญญาดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้ประเทศต่าง ๆ ลงนามจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 โดยจะต้องมีประเทศให้สัตยาบันจนครบ 5 ประเทศ ก่อนจะมีผลบังคับใช้ ในขณะนี้ มี 3 ประเทศที่เข้าร่วมลงนามแล้ว ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก สหรัฐอเมริกา มาดากัสการ์ และประเทศไลบีเรียที่ได้ให้สัตยาบันไป แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่กำลังพิจารณาเข้าเป็นภาคี อาทิ ประเทศในยุโรปหลายประเทศ

 สำหรับประเทศไทยนั้น เนื่องด้วยอนุสัญญาฉบับดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับ     ธุรกรรม ทางด้านการเงิน กระทรวงการต่างประเทศในฐานะที่รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ ในการนี้คณะกรรมการได้เสนอให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาถึงความเหมาะสมข้อดีข้อเสียของการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ตลอดจนทางปฏิบัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทยซึ่งหากอนุสัญญาฯ       ดังกล่าวมีประโยชน์ต่อประเทศไทย ก็จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีขออนุมัติให้มีการลงนามอนุสัญญาต่อไป กระทรวงการคลังจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานเพื่อพิจารณาอนุสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในการค้าระหว่างประเทศขึ้นเป็นการเฉพาะ

องค์ประกอบของคณะกรรมการและคณะทำงานมาจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อันได้แก่ ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อันได้แก่ สำนักนโยบายการเงิน สำนักกฎหมาย ส่วนภาคเอกชนนั้น ก็มีตัวแทนจากสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจแฟคเตอริ่งและสมาคมธนาคารไทย โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง[3] เป็นประธานกรรมการและเจ้าหน้าที่สำนักนโยบายระบบการเงินและเจ้าหน้าที่กลุ่มงานกฎหมายเป็นเลขานุการร่วม ทั้งนี้ เพื่อศึกษาผลกระทบ

ขณะนี้ คณะทำงานได้ทำงานเสร็จสิ้นแล้ว และได้มีมติสรุปออกมาว่าประเทศไทยยังไม่จำเป็นต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ฉบับนี้เพราะขณะนั้นทางภาคเอกชนกลัวขาดความคล่องตัวในการดำเนินการประกอบธุรกิจ

1.3  วัตถุประสงค์ในการยกร่างอนุสัญญา

วัตถุประสงค์ของการจัดทำอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ เพื่อให้เกิดหลักการอ้างอิง  ในการใช้กฎหมายที่ชัดเจนและทันสมัยว่า จะยึดกฎหมายของประเทศใดเป็นหลัก ในกรณีที่เกี่ยวกับธุรกรรมการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินระหว่างประเทศ หรือการโอนระหว่างประเทศซึ่งสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่เกิดในประเทศเพื่อลดข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการอ้างกฎหมายใช้บังคับ เนื่องจากมีความเกี่ยวพันถึงเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่อยู่คนละประเทศ ซึ่งความชัดเจนของหลักปฏิบัติดังกล่าว จะรวมถึงหลักการร่วมกันเกี่ยวกับสิทธิพันธะ และความคุ้มครองที่มีต่อผู้โอน ผู้รับโอน ลูกหนี้ และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุริมสิทธิ์ระหว่างเจ้าหนี้ และแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งกันระหว่างกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งภายใต้อนุสัญญาฯ นี้ จะผูกพันถึงแนวทางยึดถือหลักปฏิบัติทางกฎหมายก็ต่อเมื่อเกิดธุรกรรมระหว่างประเทศขึ้น

 1.4  ส่วนประกอบของอนุสัญญา

อนุสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องในทางการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย 6 บท รวม 47 ข้อ และภาคผนวก 4 ส่วน รวม 10 ข้อ ได้แก่

บทที่ 1 ขอบเขตการใช้บังคับ (Scope of Application)

บทที่ 2 บทบัญญัติทั่วไป (General Provision)

บทที่ 3 ผลของการโอน (Effects of Assignment)

บทที่ 4 สิทธิ หน้าที่ และข้อต่อสู้ (Right, Obligation and Defence)

บทที่ 5 ความอิสระของกฎเกณฑ์ว่าด้วยกฎหมายขัดกัน (Autonomous Conflict of Laws Rules)

บทที่ 6 บทบัญญัติสุดท้าย (Final Provision)

ส่วนภาคผนวก มี 4 ส่วนดังนี้

ส่วนที่ 1 หลักสิทธิดีกว่าโดยเหตุแห่งการจดทะเบียน

ส่วนที่ 2 การจดทะเบียน

ส่วนที่ 3 หลักสิทธิดีกว่าโดยเหตุแห่งระยะเวลาของสัญญาโอนสิทธิ และ

ส่วนที่ 4 หลักสิทธิดีกว่าโดยเหตุของการบอกกล่าวการโอน

2.  ความหมายของการโอนสิทธิเรียกร้อง

 ข้อ 2 ของอนุสัญญาฯ ได้กำหนดความหมายของการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินไว้ดังนี้[4]

1)  “การโอน”หมายถึง การโอนโดยความตกลงจากบุคคลหนึ่ง (“ผู้โอน”) ไปยังอีกบุคคลหนึ่ง (“ผู้รับโอน”) ของผลประโยชน์ที่แบ่งแยกไม่ได้ ทั้งหมดหรือบางส่วนที่มีในสิทธิตามสัญญาของผู้โอนในการชำระเงินจำนวนหนึ่ง (“สิทธิเรียกร้องทางการเงิน”) จากบุคคลที่สาม (“ลูกหนี้”) การก่อให้เกิดสิทธิในสิทธิเรียกร้องทางการเงินให้เป็น        หลักประกันสำหรับการเป็นหนี้หรือข้อผูกพันอื่นถือว่าเป็นการโอน

2)  ในกรณีของการโอนโดยผู้โอนรายแรกหรือผู้โอนรายอื่น (การโอนต่อ) บุคคลซึ่งทำการโอนนั้นเป็นผู้โอนและบุคคลที่รับการโอนเป็นผู้รับโอน

ในที่นี้อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ให้การโอนหมายถึงการโอนต่อด้วยนั้นเอง

เมื่อพิจารณาถึงความหมายของการโอนสิทธิเรียกร้องในข้อ 2 ของอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ควบคู่กันไปกับ Analytical Commentary on the Draft Convention on Assignment of Receivables in International Trade (A/CN. 9/489) แล้วนั้น

บรรดาความหมายของการโอนสิทธิเรียกร้องก็จะครอบคลุมและรวมไปถึงประการดังต่อไปนี้ด้วย

1)  แม้ว่าอนุสัญญาฯ จะรับรู้ถึงความแตกต่างระหว่าง “การโอน” กับ “สัญญาโอน” แต่จะไม่ลงไปเกี่ยวพันถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น การมีผลของสัญญา เป็นต้น รวมทั้งจะไม่สนใจไปถึงเป้าประสงค์ของการโอนว่า จะเป็นวัตถุประสงค์ทางการเงิน (Financing Purpose) หรือวัตถุประสงค์ในการพาณิชย์ (Commercial Purpose) เนื่องจากจะก่อให้เกิดปัญหาความไม่แน่นอน

2)  “การโอนโดยความตกลง” นอกจากหมายถึง การโอน (Assignment) แล้วยัง รวมถึงการโอนในรูปแบบอื่น เช่น Contractual Subrogation or Pledge[5] (สัญญารับช่วงสิทธิหรือสัญญาจำนำ) ด้วย เนื่องจากต้องการสร้างหลักเกณฑ์รูปแบบเดียวกันขึ้น (Uniform Rules) และใช้บังคับกับการโอนอื่นที่มีองค์ประกอบของความเป็นระหว่างประเทศเกี่ยวข้องด้วย

นอกจากนี้ยังตั้งใจให้ที่จะไม่ให้รวมถึงการโอนตามกฎหมาย  (Transfer by Operation of Law) และการโอนฝ่ายเดียว (Unilateral Assignments) กล่าวคือ ไม่ได้มีความตกลงจากผู้รับโอนไม่ว่าจะโดยเปิดเผยหรือไม่ก็ตาม และการโอนโดยความตกลงภายใต้อนุสัญญาฯ นี้ จะไม่มีการแยกระหว่างสัญญา Made for Security Purpose กับ Assignments by Way of Securitization are Covered[6] (การโอนสิทธิในหลักทรัพย์)

          3)  ในการเลือกเข้าสู่สัญญาตามอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ ความตกลงใด ๆ ก็จะไม่ส่ง    ผลกระทบต่อสิทธิของลูกหนี้ และบุคคลที่ 3 ที่ไม่ใช่คู่สัญญาของข้อตกลงนั้น และถ้ากรณีที่คู่สัญญาไม่ได้อยู่ในถิ่นที่อยู่ในรัฐภาคีแล้ว กฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับการเลือกใช้กฎหมายของคู่สัญญานั้นจะเป็นตัวกำหนด

ดังนั้นจะเห็นว่า การที่รัฐใดหรือบุคคลใดจะเลือกเข้าสู่สัญญาตามอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ ถือเป็นความอิสระของคู่สัญญาตามที่ข้อ 6 ในอนุสัญญาฯ ได้กำหนดไว้นั้นเอง 

โดยข้อ 6 ของอนุสัญญาฯ ได้กำหนดไว้ว่า ความอิสระของคู่สัญญาภายใต้บังคับข้อ 19 ผู้โอน ผู้รับโอน และลูกหนี้อาจทำข้อตกลงผิดแผกหรือแตกต่างจากบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ นี้ เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตน และข้อตกลงเช่นว่า จะไม่กระทบต่อสิทธิของบุคคลใด ๆ ที่ไม่ใช่คู่สัญญาของข้อตกลงนั้น

4)  ผู้โอนและผู้รับโอนเป็นได้ทั้งนิติบุคคลและบุคลธรรมดาไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า-วาณิช หรือผู้บริโภค

ดังนั้น กรณีที่ผู้โอนและผู้รับโอน ต่างก็เป็นบุคคลธรรมดาอยู่ภายใต้อนุสัญญาฯ นี้ อย่างไรก็ดี หากผู้รับโอนเป็นผู้บริโภคและการโอนมานั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภคของผู้บริโภคนั้นแล้วจะได้รับยกเว้นไม่เข้าตามอนุสัญญาฯ นี้ ตาม ข้อ 4 วรรค 1 (a)

ดังนั้น Credit Card Receivables (สิทธิเรียกร้องในบัตรเครดิต) Loan Secured by Real Estate in Securitization Transactions (การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ในการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์) หรือ Toll-rode Receipts in Project Financing Arrangements[7] (สิทธิเรียกร้องทางการเงินหรือกระแส   รายรับจากระบบการจัดการในสัญญาโปรเจ็คไฟแนนช์) จึงอยู่ภายใต้ขอบเขตของอนุสัญญาฯ นี้

นอกจากนี้กรณีผู้โอนหลายราย หรือผู้รับโอนหลายราย หรือการโอนที่มีหลายสิทธิเรียกร้อง (Receivables) ก็อยู่ภายใต้อนุสัญญาฯ ด้วยเช่นกัน

5)  อนุสัญญาฯ ใช้บังคับการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินอันเกิดจากสัญญาทุกประเภทไม่ว่าสัญญานั้นจะมีอยู่ ณ เวลาที่มีการโอนหรือไม่ (Wheater the Contract exists at the Time of Assignment or not)

อย่างไรก็ดี การโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่เกิดจากตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) เลตเตอร์ออฟเครดิต หรือบัญชีเงินฝาก (Deposit Accounts) จะได้รับ         ยกเว้นตามข้อ 4

แต่จะไม่รวมถึงการโอนสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากละเมิด (Tort Receivables) สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากภาษี  (Tax Receivables) หรือสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากคำพิพากษาของศาล สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความ (Receivables Determined in Court Judgements) สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ (Arbitral Awards) สิทธิในการคืนสินค้าของผู้ซื้อ (Incorporated in a Settlement Agreement)[8] ซึ่งถือเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากผลของกฎหมาย สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของอนุสัญญาฯ เว้นแต่จะระบุไว้ในสัญญาที่คู่สัญญาตกลงกัน

6)  การโอนสิทธิตามสัญญาประเภทอื่นที่ไม่ใช่สิทธิเรียกร้องทางการเงิน (Non-monetary) เช่น สิทธิในการดำเนินการ หรือสิทธิในการประกาศให้สัญญาเป็นโมฆะ    ไม่อยู่ภายใต้อนุสัญญาฯ การโอนสัญญา (Assignment of Contracts) ที่เกี่ยวพันกับสิทธิในการดำเนินการตามสัญญา หรือการมอบอำนาจตามสัญญาก็ไม่อยู่ในบังคับด้วยเช่นกัน[9]

7)  อนุสัญญาฯ ครอบคลุมถึงการโอนสิทธิเรียกร้องฯ เพียงบางส่วนหรือผลประโยชน์ที่แบ่งแยกไม่ได้ในสิทธิเรียกร้องฯ ซึ่งการมีผล (Effectiveness) ในผลของ   การโอนเพียงบางส่วน (Partial Assignments) นี้ ข้อ 9 บัญญัติให้การรับรอง (Validate) ไว้ ในข้อบัญญัตินี้จึงได้ระบุไว้ชัดว่า ในอนุสัญญาฯ ทั้งฉบับใช้บังคับการโอนในลักษณะดังกล่าว และจะเป็นประโยชน์ในแง่ของบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของ      ลูกหนี้ในกรณีที่สิทธิเรียกร้องการเงินเดียวกันถูกโอนไปยังผู้รับโอนหลายราย[10]

            8)  การโอนสิทธิใดที่ไม่ถูกห้ามโดยกฎหมายภายในแล้ว ก็ถือว่ามีผลบังคับ เช่น ค่าจ้างกรมธรรม์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันภัย หรือประกันชีวิต เป็นต้น (สิทธิเหล่านี้เป็นการโอนสิทธิส่วนบุคคล (Personal Rights) นั้นเอง)

แต่ทั้งนี้ถ้าถูกห้ามโดยกฎหมาย อนุสัญญาฯ ก็จะไม่กระทบกระเทือนต่อ       ข้อห้ามดังกล่าว[11]

            9)  ความครอบคลุมของอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องในทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศจะมีขอบเขตการบังคับใช้ที่กว้างกว่า Unidroit Convention on International Factoring (“The Ottawa Convention”)[12] กล่าวคือ

อนุสัญญาฯ นี้ได้รวมเอาสิทธิทางการเงินที่เกิดจากการค้า และบริการเกือบทุกประเภท ทั้งสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการค้า ซึ่งรวมแฟคเตอริ่งเข้าไว้ด้วย และนอกจากนี้ยังรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่เรียกร้องได้จากผู้บริโภค (Consumer Receivables) กระนั้นก็ดี แม้ว่าอนุสัญญาฯ จะครอบคลุมถึงสิทธิเรียกร้องที่ได้จากผู้บริโภคแต่อนุสัญญาฯ ไม่ได้ตั้งใจที่จะไปลบล้างกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค (Not Intended to Override Consumer Protection Law)[13] แต่อย่างใด ในที่นี้หมายถึง อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะไป   ลบล้างกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเอง

10)  การโอนสิทธิเรียกร้องฯ ที่มีรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐเป็นลูกหนี้จะอยู่    ภายใต้อนุสัญญาฯ ด้วย เว้นไว้แต่ว่าการโอนเหล่านั้นจะมีกฎหมายห้ามไว้

อย่างไรก็ดีรัฐใด ๆ สามารถใช้สิทธิของเจ้าหนี้ตามข้อบัญญัติ 11 เกี่ยวกับการมีผลของการโอน แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในการโอนในสัญญาก็ตาม (ดูข้อ 40)

  สิทธิเรียกร้องฯ ที่มีลูกหนี้อยู่ภายใต้สัญญาทางการเงิน (Financial Contracts) เช่น เงินกู้ บัญชีเงินฝาก Swaps[14] and Derivatives (การแลกเปลี่ยนและตราสารทางการเงิน)    ไม่อยู่ภายใต้อนุสัญญาฯ (ข้อ 4 และ Paragraph 47-54) นอกจากนี้ การโอนสิทธิเรียกร้องฯ ในผลประโยชน์อันแบ่งแยกมิได้ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน โดยมีลูกหนี้ร่วมกันหลายรายก็อยู่ในข่ายของอนุสัญญาฯ ด้วยเช่นกัน โดยมีข้อแม้ว่า ข้อสัญญาเดิม (Original Contracts) บังคับใช้โดยกฎหมายของรัฐภาคีผู้ลงนาม

11)  สิทธิเรียกร้องทางการเงินระหว่างประเทศ (International Rreceivable) จะ      เกิดขึ้น ณ วันที่มีการทำสัญญาเดิม (Original Contract) ผู้โอนและลูกหนี้อยู่คนละประเทศ ขณะที่การโอนระหว่างประเทศซึ่งสิทธิเรียกร้องทางการเงิน (International Aassignment) จะเกิดขึ้นเมื่อ ณ วันที่มีการทำสัญญาการโอน (Assignment) ผู้โอนและ    ผู้รับโอนอยู่คนละประเทศ

จากที่กล่าวมาทั้งหมด 11 ข้อ เห็นได้ว่า ความหมายของการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศตามอนุสัญญาฯ ฉบับนี้มีความหมายที่ครอบคลุมการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินทั้งที่เกิดจากการค้า เช่น การขายสินค้า การก่อสร้าง หรือการบริการระหว่างกัน และการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่ไม่ได้เกิดจากการค้า เช่น การทำ Refinancing (การเปลี่ยนพันธบัตรหรือหุ้นใหม่แทนฉบับเก่าซึ่งโดยปกติจะให้ดอกเบี้ยหรือเงินปันผลต่ำกว่า) Capital Obligations Ratio (เงินกู้เพื่อปรับปรุงฐานะเงินทุนของกิจการ) หรือ Portfolio Diversification (เพื่อการปรับปรุงการกระจายตัวของการลงทุน) รวมถึงการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่เกิดจากธุรกรรมทางการเงินบางประเภทที่จะต้องเป็นสิทธิเรียกร้องระหว่างประเทศ

 

 


[1]วิลาวรรณ  มังคละธนะกุล, เรื่องเดิม, หน้า 1.

[2]วิลาวรรณ  มังคละธนะกุล, เรื่องเดียวกัน.

[3]ในขณะนั้น นายวิสุทธิ์  ศรีสุพรรณ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจ การคลัง ปัจจุบันนายนริศ  ชัยสูตร เป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยสำนักงานเศรษฐกิจ         การคลัง

[4]กระทรวงการต่างประเทศ, คำแปลอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ (กรุงเทพมหานคร: กรมสนธิสัญญา กระทรวงการ-             ต่างประเทศ, 2545), หน้า 1.

[5]Commentary A/CN. 9/489 para 27 “Transfer by Agreement” [Online], Available URL: http://www.uncitral.org, 2001 (March, 13).

[6]Commentary A/CN. 9/489 para 28 [Online], Available URL: http://www. uncitral.org, 2001 (March, 13).

[7]Commentary A/CN. 9/489 para 30 “From One Person to Another Person” [Online], Available URL: http://www.uncitral.org, 2001 (March, 13).

[8]Commentary A/CN. 9/489 para 31 “Contractual Right to Payment of a Monetary Sum” [Online], Available URL: http://www.uncitral.org, 2001 (March, 13).

[9]Commentary A/CN. 9/489 para33 “Non-monetary Performance Rights” [Online], Available URL: http://www.uncitral.org, 2001 (March, 13).

[10]Commentary A/CN. 9/489 para 34 “Parts or Undivided Interests in Receivables” [Online], Available URL: http://www.uncitral.org, 2001 (March, 13).

[11]อนุสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ข้อ 9 วรรคสาม.

[12]The Ottawa Convention เป็นอนุสัญญาฯ ที่ใช้บังคับกับสัญญาแฟคเตอริ่งซึ่งเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องประเภทหนึ่งเช่นกัน และมีความทับซ้อนกับอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ด้วย

[13]Commentary A/CN. 9/489 para 36 “[Owed by] a Third Person (Merchant, Consumer, State or Other Public Entity”) [Online], Available URL: http://www.uncitral.org, 2001 (March, 13).

[14]Swap หมายถึง การแลกเปลี่ยนเงินตราชั่วคราวระหว่างเงินสองสกุล โดยมีการแลกเปลี่ยนเงินทั้งสองสกุลในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน (Spot Rate) และมีกำหนดเวลาคืนไว้ล่วงหน้า ในอัตราแลกเปลี่ยนอนาคต (Forward Rate) ที่ตกลงควบคู่ไว้ในเวลา     เดียวกัน ตามหลักธุรกรรม Swap จะประกอบไปด้วยนิติกรรม 2 ประเภท ในเวลาเดียวกันควบคู่กันไป คือ 1) ธุรกรรมในตลาดปัจจุบัน (Spot)  และ 2) ธุรกรรมในตลาดอนาคต

หมายเลขบันทึก: 359178เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2010 18:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ค่ะ

รักษาสุขภาพนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท