มาตรฐานสิ่งแวดล้อมกับการกีดกันทางการค้าและข้อพิพาทที่อยู่ในความสนใจของนานาประเทศ


การกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องทั้งด้านคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์และด้านกระบวนการผลิต เนื่องด้วยแต่ละประเทศมีเงือนไขด้านกายภาพ และความสามารถในการกำจัดมลพิษตามธรรมชาติที่แตกต่างกัน จึงทำให้แต่ละประเทศมีมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน

มาตรฐานสิ่งแวดล้อมกับการกีดกันทางการค้าและข้อพิพาทที่อยู่ในความสนใจของนานาประเทศ     

      การขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมการส่งออก มีบทบาทโดยรวมที่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัว อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างการค้าระหว่างประเทศกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งในทางทฤษฎีและทางปฎิบัติ กล่าวคือ ในบางกรณีการขยายตัวทางการค้าอาจทำให้สิ่งแวดล้อมเลวลง และในบางกรณีอาจทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคมและสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นและขึ้นอยู่กับประเภทของมลพิษที่อาจมีความสัมพันธ์เชิงบวกหรือเชิงลบ กับการขยายตัวทางการค้าและทางเศรษฐกิจโดยรวม ในอีกด้านหนึ่ง มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดก็อาจส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลงได้ด้วยการจำกัดการนำเข้าสินค้าที่อาจก่อให้เกิดมลพิษ     

     การกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องทั้งด้านคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์และด้านกระบวนการผลิต เนื่องด้วยแต่ละประเทศมีเงือนไขด้านกายภาพ และความสามารถในการกำจัดมลพิษตามธรรมชาติที่แตกต่างกัน จึงทำให้แต่ละประเทศมีมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน มาตรฐานที่แตกต่างกันนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตหรือ ค่าใช้จ่ายในการในการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมกับความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและการค้าระหว่างประเทศจึงเป็นจุดสนใจของนานาประเทศ     

     มาตรฐานสิ่งแวดล้อม หมายถึง (ก) มาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดขึ้นมาเพื่อควบคุมการผลิตสินค้าและบริการ และการกำจัดขยะหรือกากของเสียให้มีการะบวนการที่เหมาะสมและไม่เป็นภัยต่อสุขอนามัยของผู้บริโภค สัตว์และพืช รวมทั้งสภาพแวดล้อม และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้เสื่อมโทรม และ (ข) มาตรฐานดังกล่าวนี้ ต้องบังคับใช้กับสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ และหรือบังคับใช้กับสินค้าและบริการที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ มาตรฐานสิ่งแวดล้อม จึงมีความเกี่ยวพันกับมาตรฐานสินค้า     

     ด้วยเหตุที่ทุกประเทศมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันนั้นเอง ที่ทำให้การค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบไปด้วย กล่าวคือ ประเทศที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมต่ำ (A) อาจจะไม่สามารถส่งสินค้าไปขายในประเทศที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูง (B) ก็ได้ ถ้าผู้ผลิตในประเทศ A ไม่ปรับปรุงมาตรฐานสินค้าของตนให้ผ่านมาตรฐานของประเทศ B แสดงว่า ผู้ผลิตในประเทศ A จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีหรือลงทุนปรับปรุงกระบวนการผลิต ตลอดจนการเปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิต เพื่อห้าอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตนั่นเอง นอกจากนี้ การบังคับใช้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นภายในประเทศยังเป็นการกีดกันสินค้านำเข้าที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมต่ำด้วย     

     การที่มาตรฐานสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันอาจทำให้สินค้าประเภทเดียวกันมีมาตรฐานสินค้า (Product Standard) แตกต่างกันได้ เช่น วัตถุดิบที่ใช้แตกต่างกัน นอกจากนี้ กระบวนการผลิตที่แตกต่างกันอาจทำให้สินค้ามีคุณสมบัติแตกต่างกันได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำมาตรการกำกับกระบวนการและวิธีการผลิต (Product Process and Methods : PPMs) ที่เกียวข้องกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณามาตรฐานสินค้า การปฏิบัติเช่นนี้อาจขัดกับหลักการของ GATT/WTO เนื่องจาก GATT มิได้คำนึงถึงมาตรฐาน PPMs แต่ประการใด และด้วยเหตุที่การควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือ ควบคุมมลพิษที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเป็นที่นิยมมากที่สุด คือ การควบคุมผ่าน PPMs ฉะนั้นการใช้หลักเกณฑ์อิง PPMs จึงย่อมนำไปสู่ประเด็นควมขัดแย้งเรื่อง มาตรฐานสิ่งแวดล้อม กับการกีดกันทางการค้าเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

ข้อพิพาทที่อยู่ในความสนใจของนานาประเทศ     

     ข้อพิพาทที่อยู่ในความสนใจของนานาประเทศ กรณี Tuna-Dolphine (ปลาทูน่า-ปลาโลมา) เนื่องจากข้อพิพาทนี้นำไปสู่ปัญหาสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

     (1)    ประเทศหนึ่งสามารถกำหนดทิศทางบทบัญญัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของประเทศอื่นว่าควรเป็นอย่างไรได้หรือไม่ และ

     (2)    กฎเกณฑ์ทางการค้าอนุญาตให้ใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อตอบโต้กระบวนการผลิตที่ใช้ในการผลิตสินค้า (มากกว่าคุณภาพสินค้า) หรือไม่ 

      คณะพิจารณาข้อพิพาท (The Panel) ได้สรุปผลการพิจารณาในกรณีปลาทูน่า-ปลาโลมาว่า มาตรฐานการปกป้องปลาโลมาของสหรัฐอเมริกา (ห้ามใช้อวนล้อมจับปลาทูน่า ในเขตบริเวณน่านน้ำ เขตร้อนฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอัตราการตายของปลาโลมา) ขัดกับหลักการผของ GATT อีกทั้งเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง สั่งการให้ประเทศอื่นต้องมีกฎหมายใหม่ เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายของตน ซึ่งนั่นหมายความว่า การค้าระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นได้ต้องมีกฎหมายภายในเหมือนกัน

     แม้ว่าผลการพิจารณากรณีปลาทูน่า-ปลาโลมา จะมิได้รับการรับรองจากประเทศภาคีของ GATT แต่อาจกล่าวได้ว่า คณะพิจารณาของ GATT ไม่อนุญาตให้ประเทศสมาชิกใด ๆ ใช้มาตรการที่มีผลกระทบต่อการค้าที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการผลิตมาเป็นเงื่อนไข ดังนั้นสินค้าที่คล้ายกัน (Like Products) จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันตามหลักการไม่เลือกปฏิบัติ และไม่อนุญาตให้ประเทศภาคี ใช้อำนาจนอกอาณาเขต

ที่มา : นิรมล สุธรรมกิจ , มาตรฐานสิ่งแวดล้อมกับการค้าระหว่างประเทศ เอกสารวิชาการปหมายเลข 2 , โครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)

พรรณทิพย์ วัฒนกิจการ , “WTO กับสิ่งแวดล้อม : เน้นการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศในประเด็นสิ่งแวดล้อม วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2546   

หมายเลขบันทึก: 35916เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2006 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ตามมาเก็บเกี่ยวความรู้ครับ
  • ต่างสาขาคงไม่ว่านะครับ
  • รออ่านอีกครับผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท