บทเรียน ลำปาง (4) คุณค่าของงาน


คำถามข้อหลังนี้เกี่ยวข้องกับหน่วยสนับสนุนต่างๆที่เข้าไปหนุนช่วยขบวนนี้อยู่ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนขบวนสวัสดิการวันละบาทซึ่งเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของเครือข่ายองค์กรชุมชนลำปางเป็นไปเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนอย่างแท้จริง

ว่างเว้นจากการถอดบทเรียนลำปางไปหลายวัน มีเรื่องใหม่เข้ามาตลอด เริ่มจากไปร่วมประชุม ทิศทางงานสกว.และดูงานที่แพรกหนามแดงกับสกว.ฝ่ายชุมชนและสังคมที่จังหวัดสมุทรสงคราม วันที่ 22-23 มิ.ย. วันที่ 26 ไปฟังรายงานความก้าวหน้าโครงการวิจัยเครือข่ายองค์กรชุมชนรอบเขาหลวงที่อบต.เขาพระ จ.นครศรีธรรมราชและร่วมประชุมกับพี่เลี้ยงหน่วยสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคใต้ เรื่องราว ที่รับฟังมาล้วนน่าสนใจ แต่เนื่องจากช่วงนี้ต้องเตรียมงานมหกรรม จัดการความรู้ที่สงขลา ทำให้ไม่มีเวลานอกเรื่องนัก

ขอบันทึกเรื่องราวของลำปางต่อ

โครงการลำปางมีวัตถุประสงค์ 5 ประการคือ 1)ใช้KMเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนขบวนให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ใน3ระดับคือ เครือข่าย กลุ่มและสมาชิก 2)สร้างทีมคุณอำนวยและคุณกิจที่สามารถทั้ง3ระดับ 3)หาแนวทางการทำงานร่วมกับหน่วยสนับสนุน 4) ทักษะความรู้และวิธีการของหน่วยงานสนับสนุนที่จะช่วยพัฒนาเครือข่ายสู่เป้าหมาย3ระดับอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล 5)ถอดบทเรียนการจัดการความรู้ (กระบวนการและผล) ปัจจัยความสำเร็จ อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาเครือข่ายให้เข้มแข็ง

โดยมีอ.วิไลลักษณ์ อยู่สำราญ และอ.พิมพ์ฉัตร รสสุธรรมจากมธ.ลำปาง และคุณสามารถ พุทธา(ประธานเครือข่าย)เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

ตอนเริ่มงานวิจัย เครือข่ายมีสมาชิกกระจายอยู่ใน 5 อำเภอจำนวน 20 กลุ่ม ทีมวิจัยใช้เป้าหมายระดับกลุ่มลงลึกจำนวน 5 กลุ่ม โดยมีเป้าหมายระดับสมาชิกอยู่ใน 5 กลุ่มดังกล่าว

ผมเสนอว่างานวิจัยจัดการความรู้ต้องการผล2ประการคือ ความเปลี่ยนแปลงและความรู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ตัวอย่างของลำปางในส่วนของการจัดการความรู้ระดับเครือข่ายต้องการให้เกิด 1)ทีมจัดการความรู้คุณอำนวย 3 คน คุณกิจ 100 คน(กลุ่มละ2คน) 2)การพัฒนาระบบการบริหารจัดการ 3)เพิ่มกลุ่มใหม่ 4)หน่วยงานสนับสนุนในจังหวัดเข้ามาหนุนเสริมการทำงานของเครือข่าย (คนและงบประมาณ) สำหรับระดับกลุ่มใน5กลุ่มเป้าหมายก็ล้อตามกัน เป็นต้น

ปกติเครือข่ายมีการประชุมประจำเดือนๆละ1ครั้ง ซึ่งอ.อ้อมได้เล่าเหตุการณ์การประชุมอย่างมีศิลปะเสมือนกับผมได้เข้าร่วมประชุมด้วยมาโดยตลอด และเห็นได้ชัดว่าอ.อ้อมอินกับงานเครือข่ายมากจนผมคิดเสมอว่า เครือข่ายโชคดีมากที่มีทีมอาจารย์ที่ทุ่มเทและมีความสามารถมาช่วยงาน อ.อ้อมเริ่มใช้ข้อมูลและคำถามเข้ามาหนุนช่วยการทำงานของเครือข่ายซึ่งมีความฝันที่ยิ่งใหญ่พร้อมๆกับปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลง และสุดท้ายก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับขบวนอย่างขนานใหญ่

แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ตีความกันคนละมุมในทีมผู้รับผิดชอบโครงการ3คน 

ต้องบอกก่อนว่าทีมประสานงานได้เห็นอาการมาก่อนและมีการพูดคุย หารือกันมาตลอดในความไม่เข้าใจกันของทีมงาน ข้อสรุปที่ได้คือ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เป็นปัจจัยอิงอาศัยกันของเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ ที่หนุนเนื่องส่งผลต่อกัน ไม่มีมูลเหตุที่มาอะไรโดดๆ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือ 1)ทีมงานวิจัย2คนไม่อยากทำงานกับคุณสามารถซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา (เพราะใครๆก็ไม่อยากทำงานกับบางคนที่เก่งมาก ต้องเว้นระยะที่เหมาะสม) 2)เครือข่ายแยกเป็น2ส่วนคือเครือข่ายเดิมซึ่งได้งบสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆมาขยายกลุ่มเพิ่มขึ้น และกลุ่มจาก2อำเภอที่ถูกบังคับให้ต้องแยกตัวออกมาเรียกตัวเองว่าโซนใต้หรือโซนเหนือชั้นได้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายที่มีการบริหารจัดการรูปแบบใหม่

จากความเข้าใจในรูปแบบการบริหารจัดการของเครือข่ายลำปาง สำหรับผมมองว่า มีลักษณะเป็นกลุ่มมากกว่าเครือข่าย โดยที่กลุ่มสมาชิกเป็นเพียงสาขา เหมือนกับธกส.สำนักงานใหญ่และสาขาต่างๆทั่วประเทศทำนองนั้น แต่รูปแบบใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมีลักษณะเป็นเครือข่ายมากกว่า

บทเรียนเหล่านี้(ในวัตถุประสงค์ข้อ5)ทีมวิจัยคงสรุปวิเคราะห์นำเสนอในรายงานต่อไป

คำถามคือ ในช่วงท้ายของความรับผิดชอบร่วมกันจะให้จบอย่างดีที่สุดอย่างไร? และแนวทางในการสนับสนุนขบวนของลำปางควรเป็นอย่างไร?

คำถามข้อหลังนี้เกี่ยวข้องกับหน่วยสนับสนุนต่างๆที่เข้าไปหนุนช่วยขบวนนี้อยู่ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนขบวนสวัสดิการวันละบาทซึ่งเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของเครือข่ายองค์กรชุมชนลำปางเป็นไปเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนอย่างแท้จริง

บทเรียนการจัดการความรู้ที่ดำเนินการอยู่นี้ ถ้าช่วยได้ก็ถือเป็นความสำเร็จสำคัญที่นักวิจัยควรภาคภูมิใจ ขอให้ทำงานอย่างตั้งใจและมุ่งมั่นต่อไปครับ

 

หมายเลขบันทึก: 35908เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2006 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท