ที่มาของ "เทพวิทยาคม" หลังชื่อโรงเรียนหนองบัว และวัดเทพสุทธาวาส ของอำเภอหนองบัว


                                                  

                                                   พระเทพสิทธินายก  (ห้อง  ชาตสิริ-ท้วมเทศ ป.ธ.๖, ๒๔๓๘ - ๒๔๙๙) 
                                                   ที่มาของคำว่า "เทพวิทยาคม" ต่อท้ายชื่อโรงเรียนหนองบัว 
                                                   และชื่อ "วัดเทพสุทธาวาส"ของอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

  โรงเรียนอนุบาลหนองบัว  (เทพวิทยาคม)   เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดและจัดว่าเป็นโรงเรียนประถมศึกษาประจำอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๖ ชื่อเดิมของโรงเรียนคือ โรงเรียนหนองบัว (เทพวิทยาคม)  ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่เชื่อมโยงกับความโดดเด่นของอำเภอหนองบัวอีกหลายด้านอย่างใกล้ชิด

พื้นที่ดั้งเดิมของโรงเรียนเป็นที่ดินผืนเดียวกันและอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันกับลานวัดหนองกลับซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนและเป็นวัดที่เชื่อว่าได้ก่อตั้งเป็นศูนย์กลางของชุมชนมาแต่โบราณนับแต่ยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์......

          วัดหนองกลับสร้างเมื่อ พ. ศ. ๒๓๖๓ สมัยรัชกาลที่ ๒ ใครสร้างไม่ปรากฏประวัติ ทราบตามคำบอกเล่าว่าตรงที่สร้างวัดหนองกลับนี้ ในสมัยสงครามเวียงจันทร์เป็นที่ตั้งค่ายของชาวหนองบัว-หนองกลับ เพื่อป้องกันทัพเวียงจันทร์ที่ผ่านมา : พระมหาแล อาสโย(ขำสุข) ใน ทุนทางสังคมของอำเภอหนองบัว http://gotoknow.org/blog/civil-learning/273652

ต่อมาในปี ๒๔๖๖ พระครูนิกรปทุมรักษ์ หรือหลวงพ่ออ๋อย ศิษย์ของพระครูนิวาสธรรมขันธ์ หรือหลวงพ่อเดิม แห่งวัดหนองโพธิ์ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือและรู้จักกันอย่างแพร่หลายของประเทศ ได้มีดำริพัฒนาการศึกษาของพระสงฆ์ และพัฒนาสาธารณสถานของวัดเพื่อชุมชนหนองกลับและชุมชนหนองบัว จึงได้นิมนต์หลวงพ่อเดิมมาเป็นประธานนำชุมชนสร้างศาลาการเปรียญซึ่งต่อมาก็ถือว่าเป็นศาสนสถานและเป็นเอกลักษณ์ที่มีคุณค่าของชุมชนหนองบัวเพราะเป็นศาลาสร้างด้วยเสาไม้ขนาดใหญ่กว่า ๑๐๐ ต้น

และในปีเดียวกันนั้น ก็ได้ร่วมกันสร้างโรงเรียนเพื่อจัดการศึกษาแก่ยุวชน โดยได้นิมนต์เจ้าคุณพระเทพสิทธินายก ในขณะเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์และเป็นคนหนองบัวจากชุมชนวัดใน หรือวัดเทพสุทธาวาสในปัจจุบัน มาเป็นประธานนำชุมชนให้ร่วมกันก่อสร้างโรงเรียนขึ้นในผืนดินซึ่งเป็นลานวัดหนองกลับ

เมื่อเสร็จสิ้นแล้วประชาชนจึงตั้งชื่อโรงเรียนที่สร้างขึ้นนี้ให้เป็นอนุสรณ์และเป็นเครื่องน้อมรำลึกเป็นกตัญญูกตเวทิตาในคุณูปการของท่านว่า โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ดังปัจจุบัน

ความเป็นมาของโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม)นี้ นอกจากมีความหมายเชื่อมโยงถึงความมีวิสัยทัศน์ของพระสงฆ์ผู้นำทางจิตใจของประชาชนที่มีต่อการพัฒนาการศึกษาของสังคมแล้ว การระดมพลังชุมชนเพื่อสร้างโรงเรียนก็เป็นปรากฏการณ์แห่งความร่วมแรงร่วมใจของราชการ ชุมชน และประชาชนทุกกลุ่ม ดังบันทึกถ่ายทอดข้อมูลที่ได้จากความทรงจำของผู้ร่วมเหตุการณ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ถึงปัจจุบัน.....

               การสร้างอาคารเรียนครั้งนั้นมีทั้งหมด ๕ หลัง นายอำเภอสมัยนั้นคือนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ ...ยังนึกว่าการสร้างอาคารเรียนครั้งนี้ก่อนหรือหลังโรงเรียนบ้านตาลิน(โรงเรียนวันครู๒๕๐๔) ผู้นำท้องถิ่นสองตำบลคือตำบลหนองบัว-ตำบลหนองกลับ ตำบลหนองกลับมีกำนันยัน พวงจำปา(ชื่อของท่านสะกดถูกหรือไม่ยังไม่ได้ตรวจสอบ) ตำบลหนองบัวมีกำนันเทอญ นวลละออง ผู้นำสงฆ์คือหลวงพ่ออ๋อย(พระครูนิกรปทุมรักษ์) เจ้าอาวาสวัดใหญ่(หนองกลับ)  ....นายอำเภออรุณท่านขอแรงงานคนสองตำบล(หนองบัว-หนองกลับ)ไม่ใช่ขอแรงงานอย่างเดียวท่านขอไม้จากชาวบ้านด้วย อุปกรณ์ทั้งหมดได้รับบริจาคจากชาวหนองบัว-หนองกลับ เสา-พื้น-ฝา-เครื่องบน-สังกะสี-ตะปู ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ชาวบ้านท่านนำมารวมกันสร้างอาคารเรียนได้ ๕ หลัง ใครมีไม้ฝาก็นำมา มีพื้นก็เอามา คนละชิ้นสองชิ้น มีไม้ที่บ้านเลื่อยเสร็จแล้วก็มาบริจาคสร้างอาคารเรียนร่วมกัน ...อาคารเรียน ๕ หลังนี้ไม่ใช้เงินรัฐ แรงงานก็ได้จากชาวบ้านหนองบัว-หนองกลับ โยมพ่อก็ไปช่วยทำและนำไม้ไปบริจาคด้วย ...โยมพ่อเล่าว่าคนรุ่นโยมนั้นอายุ ๒๐ กว่า ๆ เป็นช่างไม้กันหมดทำงานสร้างบ้านเรือนชานได้สบาย ...โยมบอกว่าคนสองตำบลสามารถช่วยกันสร้างอาคารเรียน ๕ หลังเสร็จภายในวันเดียว คือสามารถใช้ประโยชน์ได้เลย.....โดย พระมหาแล อาสโย(ขำสุข) ใน ลานปัญญาของคนหนองบัว เข้าดูได้ที่ http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/322873 (หมายเหตุ : ตัวเน้นโดยผู้เขียน : วิรัตน์ คำศรีจันทร์)

นอกจากนี้ เจ้าคุณพระเทพสิทธินายก ก็เป็นผู้นำชาวบ้านและชุมชนให้ร่วมกันสร้างวัดเทพสุทธาวาส ซึ่งก็สามารถระดมความพร้อมเพรียงของประชาชนให้สามารถสร้างให้เสร็จสิ้นในวันเดียวเช่นกัน....

               .....ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้สร้างวัดเทพสุทธาวาสที่ตำบลหนองกลับ มีกุฏิ ๔ หลัง หอสวดมนต์ ๑ หลัง หอระฆัง ๑ หลัง รวมเป็น ๖ หลัง ทำเสร็จเพียงวันเดียวเท่านั้นด้วยความพร้อมเพรียงของประชาชน ภายใต้การนำของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก(ห้อง ป.ธ.๖ ท้วมเทศ)นั่นเอง ....โดย พระมหาแล อาสโย(ขำสุข) ใน ลานปัญญาของคนหนองบัว เข้าดูได้ที่ http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/322873 (หมายเหตุ : ตัวเน้นโดยผู้เขียน : วิรัตน์ คำศรีจันทร์)

โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ซึ่งปัจจุบันคือ โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม)และวัดเทพสุทธาวาส จึงมีชื่อที่พ้องกันเพราะได้นำราชทินนามพระราชาคณะของท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายกมาเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งชื่อโรงเรียนและวัดที่สร้างขึ้นด้วยการนำของท่าน อีกทั้งเป็นอนุสรณ์แห่งความสามัคคีและความร่วมแรงร่วมใจกันต่อการสร้างสรรค์ความเป็นส่วนรวมของประชาชน เสมือนการวางรากฐานของการสร้างความเป็นชุมชนซึ่งพัฒนามาเป็นอำเภอหนองบัวดังปัจจุบัน

ด้วยความเป็นมาดังกล่าวนี้ ความสามัคคี จึงเป็นหลักปรัชญาชุมชนที่สะท้อนอยู่ในคำขวัญอำเภอหนองบัวว่า ....
                                           หลวงพ่อเดิมสร้างเมือง ลือเลื่องความสามัคคี 
                                           
ประเพณีบวชนาคหมู่ หินสีชมพูคู่เขาพระ 
                                           เมืองพันสระนามกล่าวขาน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมากมี 
                                           ข้าวสารดีมีชื่อ นามระบือคือหนองบัว

     แหล่งข้อมูลและที่มา :   

[๑] ข้อมูลการสร้างวัดและโรงเรียน : พระมหาแล อาสโย(ขำสุข) และ เสวก ใยอินทร์ ใน http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/322873  และ  http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/295169 

[๒] ภาพถ่ายเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก จากทำเนียบเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ อ้างถึงใน dialogue box ๕๗๑ โดย เสวก ใยอินทร์ http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/295169

หมายเลขบันทึก: 357848เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2010 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

สวัสดี ครับ อาจารย์วิรัตน์

การได้เข้ามาอ่านและเข้ามาสวัสดีอาจารย์ ผ่านบันทึกที่อาจารย์ตั้งใจถ่ายทอดให้อ่าน

 

ผมรู้สึกถึงความอบอุ่นและความพลังความรักของคนในชุมชนแห่งนี้

...

อ่านแล้วมีความสุขในหัวใจดีแท้ ครับ

 

พลังสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวตนของคนในชุมชน ต้นแบบ เช่นนี้

 

...มาด้วยความรักและเคารพในตัวตนของอาจารย์วิรัตน์...

 

 สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ

  • ได้หนังสือแล้วหรือยังครับ น้องๆเขาช่วยส่งให้เมื่ออาทิตย์ที่แล้วแน่ะครับ อยากให้อ่านในด้านที่เป็นวิถีชีวิตและแง่งามของชีวิตในชนบท เพื่อเป็นกำลังใจและเป็นความเชื่อมั่นอย่างเห็นความเป็นตัวของตัวเองในฐานะที่เป็นคนบ้านนอกน่ะครับ
  • ดูรูปที่คุณแสงแห่งความดีนำมาให้ดูแล้วก็ต้องยิ้มะครับ ดูแล้วมีความสุขและคิดถึงบ้านที่ต่างจังหวัดเลย

สวัสดีครับอาจารย์

ผมทราบจากเอกว่าจะมีการเสวนาที่ศาลายา

กำลังพยายามจัดโอกาสให้ไปร่วมฟังด้วยครับ

ด้วยความระลึกถึงครับ

ในฐานะศิษย์เก่าหนองบัวเทพฯขอรายงานตัวเป็นคนแรก
นึกถึงบรรยากาศเวลามีกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมหนองบัวกับทีมชุมแสงฉำฉาต้นใหญ่ข้างอาคารเรียนนั้นจะช่วยเป็นร่มเงาบังแดดให้แก่ผู้ผู้ชมกีฬาเป็นอย่างดี ส่วนอีกด้านก็มีร่มเงาต้นฉำฉาเหมือนกัน คือทิศตะวันตกที่ติดกับรั้วเมรุวัดหนองกลับ
คนดูจึงอาศัยร่มเงาสองด้านนี้เป็นที่ยืนชม-เชียร์กีฬากัน

  สวัสดีครับหนานเกียรติ 

  • อยากจัดนั่งคุยกัน พบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกัน และบางเรื่องก็อยากใช้วิธีนั่งคุยกันเพื่อเขียนหนังสือของคนที่มีประสบการณ์ในแนวทางเดียวกันแต่ต่างกลุ่ม ต่างบริบท และต่างเงื่อนไขแวดล้อม แล้วก็เป็นวิธีเคลื่อนไหวชุมชนของนักปฏิบัติเชิงสังคมที่กระจายกันไปตามเรื่องที่ตนเองทำ ให้มีความเชื่อมโยงกันในเชิงความคิดกับตัวความรู้ โดยเฉพาะในด้านที่เป็นการศึกษาทางเลือก 
  • แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่คาดหวังว่าจะเป็นผลพลอยได้หรอกนะครับ ที่อยากให้มีขึ้นก่อนก็คือเวทีและกลุ่มก้อนแบบสบายๆ สำหรับเป็นวิธีตกผลึกประสบการณ์และอ่านความเป็นไปของสิ่งต่างๆให้ได้ความลุ่มลึกเร็วๆแต่มีวงรอบที่บ่อยและหลากหลาย ให้การทำงานได้มีแรงบันดาลใจและได้หูตากว้างจากการเห็นโลกผ่านสายตาของกลุ่มคนที่มี Critical Mind ชีวิตและการทำงานจะได้ไม่เฉาน่ะครับ

                           

  โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)   ที่แต่เดิมชื่อว่าโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) นั้น อาคารเรียนที่สร้างขึ้นด้วยไม้หลังเดิมในยุคก่อตั้ง เป็นอาคารเรียนสำหรับชั้นประถมต้น ข้างอาคารเรียนมีต้นฉำฉาหรือต้นจามจุรีขนาดใหญ่ ร่มรื่นและแผ่กิ่งก้านสาขาเป็นวงกว้างจน แดดไม่สามารถส่องถึงพื้น จึงเป็นลานดินทรายที่เรียบ น่านั่งเล่น เด็กๆทั้งหญิงชายใช้ร่มฉำฉานี้เป็นลานเล่น ทั้งหมากเก็บ ทอยลูกแก้ว กระโดดเชือก ริมรั้งแนวเดียวกันซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกของสนามโรงเรียนอย่างที่พระคุณเจ้ากล่าวถึง ก็มีต้นฉำฉาต่อเนื่องเป็นแนวไปตามรั้ว

สวัสดีค่ะอาจารย์

ไม่ใช่ขอแรงงานอย่างเดียวท่านขอไม้จากชาวบ้านด้วย อุปกรณ์ทั้งหมดได้รับบริจาคจากชาวหนองบัว-หนองกลับ เสา-พื้น-ฝา-เครื่องบน-สังกะสี-ตะปู ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ชาวบ้านท่านนำมารวมกันสร้างอาคารเรียนได้ ๕ หลัง ใครมีไม้ฝาก็นำมา มีพื้นก็เอามา คนละชิ้นสองชิ้น มีไม้ที่บ้านเลื่อยเสร็จแล้วก็มาบริจาคสร้างอาคารเรียนร่วมกัน ...อาคารเรียน ๕ หลังนี้ไม่ใช้เงินรัฐ แรงงานก็ได้จากชาวบ้านหนองบัว-หนองกลับ โยมพ่อก็ไปช่วยทำและนำไม้ไปบริจาคด้วย ...โยมพ่อเล่าว่าคนรุ่นโยมนั้นอายุ ๒๐ กว่า ๆ เป็นช่างไม้กันหมดทำงานสร้างบ้านเรือนชานได้สบาย ...โยมบอกว่าคนสองตำบลสามารถช่วยกันสร้างอาคารเรียน ๕ หลังเสร็จภายในวันเดียว คือสามารถใช้ประโยชน์ได้เลย.

  • ข้อความข้างบน..เป็นความงดงามมากนะคะ แสดงว่าจิตสาธารณะเกิดขึ้นกับคนไทยโดยติดตัวมาช้านาน
  • แต่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้สิ่งเหล่านี้ลดลงไปและเปลี่ยนไปด้วย
  • โรงเรียน..ในสมัยก่อนส่วนมากจะเริ่มขึ้นที่วัด  แสดงถึงความศรัทธาของการนับถือศาสนาเป็นสำคัญ
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ ผมแวะมาทักทายครับ

  สวัสดีครับคุณครูคิมครับ 

  • เป็นสิ่งยืนยันได้อย่างหนึ่งละครับว่า จิตสามารถเคลื่อนย้ายวัตถุ 
  • พัฒนาจิตใจและกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างความงอกงามออกมาจากจิตใจ จึงเป็นวิถีหนึ่งของการสร้างวัตถุและพัฒนาโลกภายนอก รวมทั้งลด สร้างความเป็นอิสรภาพหรือหยุดผลกะทบจากโลกภายนอกได้
  • ความเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อมทำให้สิ่งที่เคยมีอย่างในอดีตเปลี่ยนแปลงและสูญหายไปหลายอย่าง แต่บางส่วนที่เป็นเรื่องการพัฒนาทางจิตใจก็มีความสมบูรณ์แบบมากกว่าเดิมมากเหมือนกัน อย่างการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆโดยคุณครูคิมและเครือข่ายนี่ เป็นการสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่เน้นการพัฒนาออกจากด้านในท่ามกลางยุคที่สังคมถึงพร้อมความทันสมัยทางวัตถุ ในอนาคตน่าจะเกิดมิติใหม่ๆให้ได้เห็นนะครับ
  • อาจารย์ณัฐพัชร์และน้องๆได้ช่วยกันส่งหนังสือมาให้คุณครูคิมแล้วนะครับ คงมาถึงแถวรั้วของโรงเรียนแล้วละครับ

สวัสดีครับคุณบีเวอร์คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ขอบคุณที่แวะเข้ามาทักทายกันครับ ส่งเสวนามาจากแห่งหนไหนของประเทศไทยกันละเนี่ย พลังชีวิตมากมายดีจริงๆ ไปได้ทั่วประเทศอย่างรวดเร็วเลยเชียว

สวัสดีค่ะ

  • ขอขอบพระคุณในความกรุณาของอาจารย์และอาจารย์ณัฐพัชร์และน้องๆค่ะ
  • วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ฯคงได้สวัสดีและทักทายสนทนากับอาจารย์นะคะ
  • มีความสนใจที่จะมาเรียนรู้ เพราะอยากจะนำไปรับใช้สังคมตามโอกาสอันพึงมีค่ะ
  • ความคาดหวังไว้อย่างนั้นค่ะว่าจะพยายามให้เครือข่ายเติบโตและมีกิจกรรมต่อเนื่องไปค่ะ การจัดค่ายฯ นักเรียนมีผู้สนใจเข้ามาร่วมกิจกรรมมากค่ะทั้งเป็นสมาชิกและไม่ใช่สมาชิก
  • สวัสดีครับคุณครูคิมครับ
  • ด้วยความยินดียิ่งเด้อครับ

สวัสดี สมาชิก เวทีคนหนองบัว ทุกๆ ท่าน

                คงไม่สายและช้าไปน๊ะครับ ที่จะเข้ามา Post ใน Blog นี้ ถ้าผมจำมาไม่ผิด บางทีชาวบ้านจะเรียก โรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม ว่า โรงเรียนยาวซึ่งเข้าใจว่าจะเรียกตามลักษณะอาคาร ที่ปลูกตามแนวยาวของรั้วโรงเรียน รุ่นพ่อแม่มีแค่อาคารเดียว เรียนกันแค่ ป.๔ สมัยผมเด็กๆ จำได้ว่า เป็นอาคารเตี้ยๆ บันไดน่าจะ ๓-๔ ขั้น ขึ้นลงสะดวก พอเดินเข้าประตูโรงเรียน ผ่านตัวอาคารมา ก็จะเป็นสนามฟุตบอล มีต้นชำฉาให้ร่มเงา เวลาจัดงานกีฬา (กีฬากลุ่ม) จะมีนักกีฬาจากกลุ่มต่างๆ มาแข่งมากมาย เช่น กลุ่มธารทหาร, กลุ่มห้วยร่วม ฯลฯ เท่าที่จำได้ ตอนเด็กๆสนุกมาก ผมเป็นแค่นักกีฬาวิ่งเปรี้ยวครับ

                 ส่วนโรงเรียนหนองบัวมัธยม หรือ หนองคอกบางคนอาจจะเรียกว่าโรงเรียนแดงส่วนชื่อที่มาของทั้ง ๒ ชื่อ ผมยังไม่รู้ถึงที่มา รบกวนผู้รู้ช่วยเพิ่มเติมด้วย

ขอบคุณครับ

บุญเลิศ ทรงทอง (DekThape ชาวหนองบัวอีกคน)

ดูเหมือนท่านพระอาจารย์มหาแล คุณเสวก และคนเก่าๆที่เคยมาพูดถึงโรงเรียนในเวทีคนหนองบัวก็เคยบอกว่าเขาเรียกอย่างที่คุณบุญเลิศเรียกนี้เหมือนกันครับ คือ โรงเรียนหนองคอก เรียกโรงเรียนแดง และโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม)เรียกโรงเรียนยาว แต่ผมไม่ค่อยคุ้นทั้งสองชื่อเลยละครับ จะคุ้นโรงเรียนหนองคอก และหนองบัวเทพ ส่วนโรงเรียนวัดเทพสุทธาวาสก็เรียกโรงเรียนวัดเทพ

สนามและลานใต้ต้นฉำฉาอย่างในภาพนั้น รุ่นผมนั้นยังมีต้นฉำฉาไม่กี่ต้น ต้นที่ใหญ่และมีลานเล่นลูกแก้ว ลานเล่นฮูลาฮู ห่วงยาง ก็อยู่ด้านหลังตึกยาว และด้านข้างก็มีรั้วสังกะสี ผุพังโหว่เป็นช่วงๆ วัวหลวงพ่ออ๋อยเดินโผล่ลอดออกมากินหญ้าในสนามโรงเรียนได้เลยทีเดียว และเวลาเตะบอล บอลก็มักจะลอดรั้วออกไปในเขตแดนวัดหลวงพ่ออ๋อยซึ่งจะเป็นป่าช้า โรงทึม โรงลิเก ที่วางศพ และเมรุเผาศพ ก็ต้องอาศัยผู้กล้าเดินออกไปเอากลับมา ทั้งสนามหญ้าและลานวัด จะเต็มไปด้วยหญ้าเจ้าชู้ ชอบเกาะถุงเท้าและเสื้อผ้า เดินผ่านไปทีงี้ กลับออกมาก็นั่งแกะเป็นนานเลยถึงจะหมด

สวัสดีค่ะ

แวะมาทักทายและตามมาอ่านค่ะ ดิฉัน นักเรียนโรงเรียนวัดเทพฯ ค่ะ เดินไปโรงเรียนผ่านวัดทุกวันค่ะ

วันนี้ได้ลองชักชวนพระใหม่ ทำปฏิทิน๒๕๕๕ เพื่อถวายพระและญาติโยมในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๔ ในงานรับตราตั้งรองเจ้าคณะอำเภอหนองบัว ประมาณครึ่งร้อยกว่าๆ

เป็นปฏิทินชุมชนหนองบัว ได้นำรูปถ่ายรูปวาดจากเวทีคหนองบัวไปทำ เมื่อทำเสร็จได้นำตัวอย่างไปให้เจ้าของงานดูท่านชอบก็เลยทำให้เล็กๆน้อยๆ ในระหว่างที่ทำพระใหม่ท่านก็สอบถามบุคคลในภาพที่นำมาขึ้นปกปฏิทินว่าคือใคร(หลวงพ่อเทพสิทธินายก) ก็เลยมีโอกาสได้เล่าให้ฟังว่าเป็นใครมีความสำคัญอย่างไร

พระทั้งสองรูปนี้ก็เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคมเหมือนกัน
Large_vvjk
Large_t47314
Large_eerty
พระรูปที่นั่งขวามือนั้น โยมพ่อของท่านซึ่งเป็นรุ่นพี่อาตมา๑ปีสมัยที่บวชได้อยู่ที่กุฏิหลวงพ่ออ๋อยและเป็นผู้อุปัฏฐากดูแลท่านอย่างใกล้ชิดหนึ่งพรรษา(๑ ปี) 

สวัสดีวันดีๆค่ะพี่อาจารย์...ระลึกถึงเสมอค่ะ..

ตอนนี้คุณอัญชันกับครอบครัว
และหมู่มิตรของเวทีคนหนองบัวที่สวีเดน เป็นอย่างไรบ้าง คงสุขสบาย และลหัลงจากขับรถได้แล้ว ก็ได้พึ่งตนเอง เที่ยวหาประสบการณ์ต่างๆได้มากมายยิ่งๆกว่าเดิมอีกนะครับ มีความสุขในวันคริสตมาสและปีใหม่ครับ คิดหวังสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จ ได้ความงอกงาม และมีความแจ่มใสรื่นรมย์ในชีวิตอยู่เสมอ

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลที่เคารพครับ
พระคุณเจ้าเป็นครูของสาธารณะในทุกโอกาสดีจริงๆเลยนะครับ  ได้ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคมไปด้วยเป็นอย่างดีเลยครับ

สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก
นี่แอบไปเที่ยวหอคำหลวงมาอย่างไรนี่ เกือบถึงบ้านพี่แล้วนะครับน่ะ ขับเลยทางแยกที่เข้าถนนหน้าหอคำหลวงนี้ไปอีกนิดเดียวก็ถึงแล้ว วันหลังหากได้ไปอีกแวะไปแอ่วกันบ้างนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท