กฎหมายเพื่อเด็ก


สืบพยานเด็ก นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา

 

 

 

 

กฎหมายเพื่อเด็ก

         ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาประกาศออกมาใช้เพื่อการ “ปกป้องคุ้มครองและช่วยเหลือเด็ก” หลายฉบับด้วยกัน บางฉบับศึกษาเข้าใจได้ง่ายและหลายฉบับซับซ้อนยากต่อการทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งได้ เหตุนี้เองที่ผมจำเป็นต้องทำบทสรุปสาระสำคัญในกฎหมายเพื่อเด็กบางฉบับเผยแพร่ให้ได้รับรู้กันกว้างขวางเพิ่มขึ้น อย่างน้อยเพื่อเป็นเครื่องมือรับรู้สำหรับการปกป้องเด็กๆ ได้ โดยคราวนี้จะขอเริ่มต้นแนะนำให้รู้จักหนึ่งฉบับที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

         “พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2542” หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการสืบพยานเด็ก กฎหมายฉบับนี้คิดกันมานานและพยายามยกร่างจนเสร็จ แต่กว่าจะได้รับการยอมรับและบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ก็เนิ่นนานหลายปีและสามารถผ่านการพิจารณาจากทั้งสองสภามาบังคับใช้ได้ในปี 2542

         สำหรับการก่อเกิดของกฎหมายฉบับนี้มาจากเหตุสำคัญหลายประการ ได้แก่

              1.เกิดขึ้นเพราะที่ผ่านๆ มานั้น เมื่อ “เด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรง” เช่นถูกทำร้ายหรือ ถูกข่มขืน เมื่อเรื่องถึงตำรวจ ขั้นตอนการสืบสวนหาเท็จจริงจากเด็กก็เริ่มขึ้น สิ่งที่เป็นความสะเทือนใจก็คือ เด็กที่ถูกข่มขืนต้องถูกมุงดู ถูกโทรทัศน์ตามถ่ายภาพและถูกตั้งคำถามมากมาย  หลายคำถามที่ไม่ควรถูกถามเช่นให้ท่าเขาหรือเปล่า  หรือถูกสอดใส่เข้าลึกถึงแค่ไหน หรือถูกคาดคั้นจะเอาคำตอบให้ได้ในรายละเอียดต่างๆ  แม้จะเป็นยามที่เด็กกำลังตื่นกลัวก็ตาม ยิ่งในขั้นตอนที่พยานฝ่ายจำเลยซักถามเด็กในศาลด้วยแล้ว ยิ่งเป็นความน่ากลัวของเด็กและถูกถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง

              2.ในหลายต่อหลายคดีนั้น พบว่าฝ่ายผู้ต้องหาพยายามวิ่งเต้นล้มคดีด้วยการเข้าหาพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กเพื่อจ่ายทรัพย์สินเงินทองให้กลับคำให้การในภายหลัง จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหลุดคดีได้ง่าย ส่งผลให้ผู้กระทำต่อเด็กย่ามใจและไปจัดการกับเด็กรายอื่นๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่หวาดเกรงต่อ กฎหมายบ้านเมือง

              3.ในหลายกรณีนั้น เมื่อมีการดำเนินคดีและเข้าสู่ขั้นตอนการสืบสวน การสืบพยานซึ่งต้องใช้เวลานาน มักจะพบว่าเด็กที่เป็นเหยื่อมักจะหายตัวไป เสาะหาไม่พบ กรณีเช่นนี้จะเกิดกับบรรดาเด็กเร่ร่อนทั้งหลายที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ทำให้คดีต้องยุติลงและส่งผลให้ผู้ต้องหาพ้นคดีได้

        ด้วยสาเหตุดังกล่าวข้างต้นกฎหมายฉบับนี้จึงได้กำหนดมาตรการที่สำคัญเด่นๆ 3 ประการด้วยกันคือ

               หนึ่ง...ในการสอบสวนเด็กที่ตกเป็นเหยื่อหรือเด็กที่เป็นจำเลยนั้น ขบวนการสอบสวนต้องประกอบไปด้วยผู้ใหญ่ 4 ฝ่ายด้วยกันคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ บุคคลที่เด็กร้องขอ และนักสังคมสงเคราะห์หรือจิตวิทยา ร่วมกันสอบถามเด็ก โดยสอบถามผ่านนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยา เพื่อให้กรองเป็นคำถามที่ไม่กระทบกระเทือนใจเด็ก

               สอง...การสืบสวนและสอบถามนั้น จะถูกบันทึกไว้ด้วยกล้องวีดีโอ เมื่อสอบถามเสร็จแล้วทุกฝ่ายที่ร่วมในขบวนการสอบสวนจะลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน  วิธีการนี้จะป้องกันการวิ่งเต้นล้มคดีเพราะมีผู้รู้เห็นจำนวนมาก อีกทั้งยังป้องกันในกรณีที่เด็กหายไปหาไม่พบ  หลักฐานในม้วนวีดีโอก็จะช่วยยืนยันเรื่องราวได้

               สาม...ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล ศาลท่านอาจจะพิจารณาจากม้วนวีดีโอเทปที่บันทึกไว้เป็นหลักฐานการพิจารณาคดี โดยไม่ต้องถามเด็กซ้ำเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนจิตใจเด็ก หรือกรณีทนายความของฝ่ายจำเลยก็ไม่สามารถซักถามเด็กได้โดยตรง จะซักค้านได้ด้วยการซักถามผ่านนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยาเท่านั้น

นี่คือหลักสามประการที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้เพื่อปกป้องเด็กเป็นสำคัญ ทั้งนี้เด็กดังกล่าวจะหมายรวมทั้ง “เด็กที่ตกเป็นเหยื่อ” และ “เด็กที่กระทำความผิดด้วย” และหากท่านผู้อ่านสนใจต้องการศึกษาของกฎหมายฉบับนี้อย่างละเอียด  ติดต่อขอไปได้ที่ “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” เขาจัดพิมพ์ไว้เพื่อการเผยแพร่อยู่แล้ว

.....................................

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 357382เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2010 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สำหรับท่านที่สนใจกฎหมายที่เกี่ยวกับ "การค้าประเวณี"ว่าจะจัดการปัญหานี้อย่างไรเพื่อไม่ให้เด็กต้องตกเป็นเหยื่อทางเพศ เปิดอ่านเรื่อง "กฎหมายจับคนเที่ยวเด็ก"นะครับ เผยแพร่ไว้แล้ว ..............ขอบคุณครับ

  • เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ต้องอาศัยความละเมียดละไม โดยไม่ซ้ำเติมจิตใจเด็ก ให้เกิดช่องว่าง ช่องโหว่ทางจิต..ครับ

ใช่ครับคุณสามสัก ละเอียดอ่อนมาก จึงต้องพยายามปกป้องเด็กไม่ให้ช้ำไปกว่าเดิมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท