การบริหารทรัพยากรทางการศึกษาในประเทศไทย


การบริหารทรัพยากรทางการศึกษาในประเทศไทย

สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ แม้จะมีการเลิกทาสมานับร้อยปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่สังคมไทยยังแอบซ่อนแนวกั้นระหว่างชนชั้นอยู่อย่างแนบเนียน หากมองผิวเผินคนไทยทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, 2550 ) แต่ในความเป็นจริงของสังคม หลายเหตุการณ์ หลายสถานการณ์ ที่ทำให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันอย่างเด่นชัด ทั้งความคงอยู่ของระบบอุปถัมภ์ พวกใครพวกมัน ระบบเจ้าขุนมูลนาย และแม้แต่การยอมรับนับถือผู้มีฐานะร่ำรวย ล้วนแต่ทำให้เกิดระบบความไม่เสมอภาคในสังคมไทย
    หากจะเลือกมองที่ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน แม้จะมีพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2545 ระบุไว้ในหมวดที่ 1 มาตรา 6 การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข มาตรา 7 ระบุถึง “ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และมาตรา 9 (3) มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษา และจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับและประเภทการศึกษา (4) มีหลักการส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (5) ระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆมาใช้ในการจัดการศึกษาก็ตาม แต่คุณภาพครูในโรงเรียนต่างๆก็ยังไม่เท่าเทียมกัน การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาก็ยิ่งเหลื่อมล้ำมาก หากเทียบโรงเรียนดังระดับชาติ ระดับจังหวัด กับโรงเรียนขนาดกลาง ขนาดเล็กในท้องถิ่นชนบท จะเห็นถึงความไม่เทียมอย่างชัดแจ้ง ชินชา จนคนไทยต่างคิด (ผิดๆ) ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ของระบบการศึกษาไทยปัจจุบันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นธรรมดาที่โรงเรียนในอำเภอต้องดีกว่าในตำบลหมู่บ้าน โรงเรียนในจังหวัดต้องดีกว่าอำเภอ โรงเรียนในกรุงเทพต้องดีกว่าในต่างจังหวัด ถึงแม้จะมีนักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯบางคนคุยว่า คุณภาพโรงเรียนมีความเท่าเทียมกันทุกแห่งทั่วประเทศ แต่นักการเมืองกับผู้มีอันจะกินก็ยอมเสียเงินฝากลูกหลานเข้าเรียนแค่ชั้นอนุบาลโรงเรียนสาธิตดังๆโดยบริจาคเงินหลักล้าน โดยไม่มีใครกล้าส่งลูกหลานตัวเองไปเรียนในโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอแม้แต่คนเดียว

ทำไมทุกคนอยากให้ลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนดัง จะไม่กล่าวโทษพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะลูกใครๆก็อยากให้เรียนที่ดีๆ จะได้มีโอกาสเข้าเรียนคณะดีๆในมหาวิทยาลัยดีๆได้ เพื่ออนาคตของลูกหลานพ่อแม่ผู้ปกครองทำได้ทุกอย่าง แต่เราน่าจะหันมามองดูระบบการบริหารทรัพยากรทางการศึกษาของไทยเราว่ามีปัญหาอะไรบ้าง

  เริ่มจาก M แรกใน 4 M คือทรัพยากรมนุษย์ (Man) หลักๆ คือ ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารการศึกษาไทยไม่ว่าจะระดับไหนก็ยังต้องใช้ระบบเส้นสาย เครือข่ายนักการเมืองเข้ามาเป็นผู้บริหารแล้วก็ต้องตอบแทนบุญคุณกัน ทั้งการได้มาซึ่งงบประมาณ การคืนผลประโยชน์ตอบแทน ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเสื่อมและความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา อาคารสิ่งก่อสร้างจะจัดสรรให้เฉพาะสถานศึกษาที่เป็นเครือข่ายผู้มีอำนาจจ่ายเงินทอน (เปอร์เซ็นต์) ดี โดยไม่ได้คำนึงถึงความจำเป็นจริงๆ โรงเรียนที่ขาดแคลนก็จะขาดแคลนต่อไป ยิ่งโรงเรียนไหนได้ผู้อำนวยการตงฉิน ก็เลิกคิดว่าจะได้รับการจัดสรรงบประมาณ ทางแก้จริงๆคือการกระจายอำนาจไปให้องค์กรปงครองส่วนท้องถิ่นดูแลสถานศึกษาในสังกัดเอง จะได้จัดสรรทำนุบำรุงสถานศึกษาในชุมชนของตนเองได้เต็มที่และทั่วถึง แต่ด้วยความกลัวจะสูญเสียฐานอำนาจและผลประโยชน์ทั้งของนักการเมืองและกลุ่มผู้มีอำนาจในวงราชการ การถ่ายโอนสถานศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงถูกขัดขวางอ้างเหตุผลต่างๆนานา แท้จริงคือกลัวหมดอำนาจควบคุม ทั้งงบประมาณ บุคลากร ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์หลุดลอย แค่โยกย้ายคำว่า “ กิโลเมตรละหมื่น” ก็เห็นประจักษ์ว่ามันเรื่องจริง มาดูที่ตัวกลไกสำคัญในการเรียนการสอน คือ ตัว “ ครู” คงหาครูผู้เสียสละอย่าง “ ครูบ้านนอก” ในหนังได้ยากเต็มที มีแต่ครูที่อยากย้ายมาอยู่ในเมือง ยิ่งครูเก่ง สอนเก่ง ก็ยิ่งอยากมีโอกาสสอนโรงเรียนดัง จะได้ลูกหลานคนรวยมาเป็นศิษย์ โอกาสแห่งการกอบโกยจากการกวดวิชาก็จะได้ตามมา ครูโรงเรียนดังรับสอนกวดวิชาแค่ลูกศิษย์ตัวเองก็มีรายได้เดือนละ 5-6 หมื่นบาทแล้ว ยิ่งมีการกำหนดค่าคะแนน GPA,GPAX ให้มีสัดส่วนสูงขึ้นในการพิจารณาคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ( Admission ) มากเท่าไหร่ นักเรียนก็ยิ่งต้องเอาใจครูประจำวิชามากขึ้นเท่านั้น แต่ก่อนไม่มีการใช้ค่า GPA ในการEntrance ครูก็บ่นว่านักเรียนไม่ใส่ใจวิชาที่ไม่ใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย พอมาใช้GPA,GPAX ครูก็เอาเป็นเครื่องมือหาเงิน ใครไม่ไปเรียนพิเศษกับครูประจำวิชาก็จะคะแนนตก ยิ่งเดี๋ยวนี้ใช้คะแนนทุกวิชา จากเดิมนักเรียนเคยกวดวิชาแค่ 3-4 วิชา มาปัจจุบันต้องเรียนแทบทุกวิชา ทุกวันไม่หยุดจนดึกดื่น เป็นทุกข์ใหม่ของผู้ปกครอง ต้องจ่ายค่ากวดวิชาเดือนละ 2-3 หมื่น แถมลูกเรียนตั้งแต่เช้าจนดึก อาทิตย์ ละ 7 วัน ต้องรับส่งกันเป็นอาชีพ จะแก้ปัญหาอย่างไรเป็นเรื่องปัญหาโลกแตก แม้รัฐบาลปัจจุบันจะมี Tutor Channel ก็ช่วยได้ไม่มาก หรือต้องคัดครูเก่งๆไปอยู่ศูนย์กลาง ให้ผลิตสื่อสอนทางไกลไปทั่วประเทศก็อาจจะช่วยได้อีกนิดหน่อย อีกอย่าง เลิกระบบ Admission กลับไปใช้ระบบสอบ Entrance แบบเดิมเหมือนก่อนเปลี่ยนมาใช้ Admission ก็อาจช่วยได้อีกนิด อย่าทำแบบยิ่งเปลี่ยนยิ่งเละเทะแบบที่ผ่านมา

ลองหันมาดูทรัพยากรทางการศึกษา M ที่ 2 คือ Money หรืองบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการที่ปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 5 ประเภทงบรายจ่าย (หนังสือสำนักงบประมาณด่วนที่สุดที่ นร0702 /ว51 ลงที่ 20 มกราคม 2547) คือ

  • งบบุคลากร
  • งบดำเนินงาน
  • งบลงทุน
  • งบเงินอุดหนุน
  • งบรายจ่ายอื่นๆ

  งบบุคลากร ปัจจุบันมีการปรับลดตำแหน่งครู ทำให้เกิดการขาดแคลนครูผู้สอน แม้จะมีการชดเชยโดยการจ้างพนักงานราชการ หรือครูพิเศษช่วยสอน แต่ด้วยความที่ไม่มีความมั่นคง ก้าวหน้า ทำให้ครูพิเศษหรือครูที่เป็นพนักงานราชการที่มีคุณภาพมีความสามารถมักจะสอบบรรจุได้ไปบรรจุเป็นข้าราชการสังกัดอื่น ซึ่งทำให้คุณภาพของครูต่ำลง ครูที่อยู่เป็นครูจ้างนานคือครูที่ไปสอบบรรจุที่ใหนก็ไม่ได้ การไม่มีการบรรจุครูจึงทำให้โอกาสที่จะสร้าง ” ครูดี ครูเก่ง” สำหรับอนาคตหมดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูที่สอนด้านอาชีวศึกษา ซึ่งจะต้องอาศัยประสบการณ์และทักษะ ก็ยิ่งทำให้ในอนาคตจะขาดแคลนครูช่างที่มีคุณภาพ ทางแก้คือจะต้องมีการเปิดอัตราข้าราชการครูเพิ่มขึ้นไม่ให้เกิดความขาดช่วงครูที่จะมารับช่วงถ่ายทอดทักษะความรู้ต่อจากครูเก่ามากประสบการณ์

สำหรับงบดำเนินงาน ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุและค่าสาธารณูปโภค ก็ยังมีความขาดแคลน งบดำเนินงานที่รัฐจัดสรรให้ไม่เพียงพอ อีกทั้งการใช้นโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ทำให้โรงเรียนไม่สามารถเก็บเงินเพิ่มเติมจากผู้ปกครองเพื่อใช้ในการพัฒนาโรงเรียนได้จึงขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินงานโดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก ด้านงบลงทุนนั้นต้องมีการกระจายการลงทุนให้เหมาะสมกับความจำเป็นของโรงเรียน ทั้งที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งครุภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนซึ่งเป็นการบริหารทรัพยากรการศึกษา M ที่ 3 คือ Machine ให้เหมาะสมกับการใช้จัดการเรียนการสอน

  สำหรับ M ที่ 4 ของทรัพยากรทางการศึกษาคือการบริหาร(Management ) เป็นสิ่งที่จะต้องสร้างให้เกิดความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล บริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน(SBM ) โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษาเป็นที่ปรึกษา ปัญหาที่กล่าวไปแล้วข้างต้นจะต้องแก้ไขโดยการสร้างผู้บริหารยุคใหม่ควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบติดตามการทำงานและการใช้งบประมาณใหม่ เพื่อป้องปรามการทุจริตและสร้างผู้บริหารยุคใหม่ที่มุ่งเน้นคุณธรรม จริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต งบเงินอุดหนุน สถานศึกษาจะได้รับเงินอุดหนุน ที่จัดสรรค์มาให้แบบรายหัว ซึ่งในบางครั้ง บางแผนกวิชาที่จำเป็นต้องใช้งบในการจัดการเรียนการสอนสูง ก็อาจไม่ได้รับเงินอุดหนุนการศึกษาที่เพียงพอ ในทางตรงข้ามบางแผนกวิชาใช้งบเงินอุดหนุนการศึกษาน้อย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีวิสันทัศน์ที่ถูก้องเหมาะสมในการเกลี่ยใช้งบดำเนินงานให้เหมาะสมเพียงพอ

บนความสามารถบริหารที่สามารถผลักดันให้สถานศึกษาพัฒนาก้าวหน้าได้อย่างมีคุณภาพ นอกจากนั้นการใช้ข้อมูลสารสนเทศ ( ICT) ถือเป็นทรัพยากรทางการศึกษาอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้การจัดการศึกษาสามารถพัฒนาให้ทันต่อกระแสโลกาภิวัฒน์ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การรู้จักใช้ข้อมูลที่รวบรวมมาไปแปลงเป็นสารสนเทศเพื่อการศึกษาโดยใช้ทั้ง Hardware ได้แก่อุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ และ Software คือโปรแกรมต่างๆมาใช้ในการเรียนการสอนถือเป็นทรัพยากรทางการศึกษาที่มีค่าและสนับสนุนคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี

  สำหรับแนวทางการใช้ทรัพยากรจากท้องถิ่นหรือชุมชน ทั้งทรัพยากรบุคคลผู้รู้ ปราชญ์ท้องถิ่น และแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเป็นทรัพยากรเสริมการศึกษาของโรงเรียนในชุมชน สามารถสร้างความร่วมมือกับชุมชน ในการถ่ายทอดความรู้เชิงอนุรักษ์ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตเพื่อสืบทอดจิตวิญญาณของชุมชนซึ่งเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ดังเช่นที่ได้เป็นประจักษ์ในโรงเรียนหลายแห่งที่เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ หรือโรงเรียนอนุรักษ์ศิลปวัฒธรรมท้องถิ่นดีเด่น ที่ผู้บริหารใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นผสมผสานการบริหารทรัพยากรต่างๆ จนประสบความสำเร็จ

  การใช้ทรัพยากรทางการศึกษาในการบริหารสถานศึกษา ไม่มีทฤษฎีที่ตายตัวที่พึงปฏิบัติตาม แต่ต้องอาศัยความทุ่มเทและจิตสำนึกแห่งการพัฒนาของผู้บริหารที่จะผสมผสานสิ่งที่มีอยู่ให้พอเหมาะพอดีกับการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนของเราเป้นคนดี คนเก่ง และเรียนรู้อย่างมีความสุข สามารถเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ประกอบอาชีพสุจริต และดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้ประเทศชาติสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ตามวิถึวัฒนธรรมไทย

เอกสารอ้างอิง

  •  
    • พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2545
    • หนังสือสำนักงบประมาณด่วนที่สุด ที่ นร. 0702/ว51 ลงวันที่ 20 มกราคม 2548
    • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
หมายเลขบันทึก: 357015เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท