การบริหารจัดการทรัพยากรการศึกษา...สู่การพัฒนาการเรียนการสอน


ทรัพยากรทางการศึกษา

การบริหารจัดการทรัพยากรการศึกษา...สู่การพัฒนาการเรียนการสอน

           ประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาทุกประเทศได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชน  หากสามารถใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนให้มีขีดความสามารถ  มีศักยภาพเต็มสมบูรณ์ตามอัตภาพของแต่ละบุคคลแล้ว  การพัฒนาชุมชน  สังคม  และประเทศก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เพราะมีทรัพยากรบุคคลที่ดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมโลกในอนาคตที่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และเป็นสังคมแห่งปัญหา  ดังนั้น  ประเทศที่มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ได้ดีมีทรัพยากรบุคคลที่ทรงปัญญาและมีความดีเท่านั้น  ที่จะยืนอยู่ในตำแหน่งประเทศแนวหน้าได้อย่างมั่นคงและสง่างาม  ในขณะเดียวกันประเทศที่มีทรัพยากรบุคคลที่ด้อยประสิทธิภาพ  ด้อยปัญญาย่อมตกเป็นประเทศผู้ตาม  และย่อมได้รับผลกระทบในทางลบโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง  ประเทศไทยมีทรัพยากรอยู่ในปริมาณที่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ  มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์กว่าหลายๆ ประเทศในโลกแต่ยังไม่สามารถใช้การศึกษา  เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนให้เต็มตามศักยภาพ  เพราะการศึกษาไทยยังมีข้ออ่อนด้อยที่กลายเป็นปัญหาฉุดรั้งหลายประการ  เช่น  เรื่องคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มีผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อม  ด้านการเมือง  ด้านเศรษฐกิจ  และด้านสังคม  (สำนักงานการปฏิรูปการศึกษา 2544 : 4)

            การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาบุคคลให้มีคุณภาพ  เป็นทรัพยากรทางปัญญาที่มีค่าของประเทศชาติ  ดังนั้นการศึกษาจึงนับเป็นรากฐานสำคัญที่สุดในปัจจัยหนึ่งของการพัฒนาประเทศ  ให้เจริญก้าวหน้า  สามารถช่วยแก้ปัญหาด้านต่างๆ  ในสังคมได้  เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการที่ช่วยให้คนได้พัฒนาตนเองในด้านต่างๆ  ตลอดชีวิต  (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  2541 : 117)  ดังนั้น  ในการเตรียมเด็กไทยเข้าสู่สังคมฐานความรู้  (Knowledge-Based  Society)  จึงต้องมีการปฏิรูปการเรียนรู้เกิดขึ้น  เพื่อที่จะทำให้มีการพัฒนาปัญญาของเด็กไทยให้เกิดขึ้นอย่างเต็มตามศักยภาพให้มีแนวคิดแบบใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงบูรณาการสิ่งต่างๆ  ได้อย่างมีเหตุผล  (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  2545 : 7)

            พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.2542  และที่แก้ไขเพิ่มเติม  พ.ศ.2545  หมวด 8  ทรัพยากรและการลงทุนการศึกษา  มาตรา 58  ระบุว่า  ให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุนด้านงบประมาณ  การเงินและทรัพย์สิน  ทั้งจากรัฐ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  บุคคล  ครอบครัว  ชุมชน  องค์กรชุมชน  เอกชน  องค์กรเอกชน  องค์กรวิชาชีพ  สถาบันศาสนา  สถานประกอบการ  สถาบันสังคมอื่นและต่างประเทศมาใช้ในการจัดการศึกษา  ดังนี้

              1. ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาโดยอาจจัดเก็บภาษาเพื่อการศึกษาได้ตามความเหมาะสม  ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

              2. ให้บุคคล  ครอบครัว  ชุมชน  องค์กรชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เอกชนองค์กรเอกชน  องค์กรวิชาชีพ  สถาบันศาสนา  สถานประกอบการ  และสถาบันทางสังคมอื่น  ระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาโดยเป็นผู้จัดและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาบริจาคทรัพย์สินและทรัพยากรอื่นให้แก่สถานศึกษาตามความเหมาะสมและความจำเป็น

            ทั้งนี้  ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ส่งเสริมและให้แรงจูงใจในการระดมทรัพยากรดังกล่าว  โดยการสนับสนุนการอุดหนุนและใช้มาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี  ตามความเหมาะสมและความจำเป็น  (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ 2542  ข : 54-55) ดังนั้น  การจัดการศึกษาจะให้มีคุณภาพได้  จะต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกันทุกฝ่ายในสังคม  มีการระดมทรัพยากรเพื่อใช้ในการจัดการศึกษาอย่างหลากหลาย  แต่จากสภาพปัญหายังมีการระดมทรัพยากรที่เกิดจากแหล่งอื่นๆ  เพื่อนำมาใช้ในการจัดการศึกษา  เช่น  เงินอุดหนุนจากท้องถิ่น  การบริจาคจากชุมชนยังมีอยู่น้อย  (นางราม  เศรษฐพานิช และคนอื่นๆ  2541 : 54)  

การบริหารทรัพยากรทางการศึกษา  หมายถึง สิ่งต่างๆที่ทำให้การจัดการศึกษาบรรลุวัตถุประสงค์ ทรัพยากรทางการศึกษาจึงครอบคลุมอยู่ในความหมายต่างๆไม่ว่าจะมองในแง่ของทางเศษฐศาสตร์ หรือทางการบริหารก็ตาม การดำเนินการกับทรัพยากรเหล่านี้ต้องมีหลักการ วิธีการ และแนวคิดเป็นกรอบเพื่อให้เกิดผลและมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่เนื่องจากการศึกษาเป็นงานใหญ่ ขอบข่ายกว้างขวางครอบคลุมหลายส่วน ทรัพยากรจึงมีเป็นจำนวนมากและกลากหลายรูปแบบ เช่น ทรัพยากรทางการเงิน วัสดุอุปกรณ์ และการบริหารจัดการ รวมทั้งทรัพยากรบุคคลด้วย   

หลักการบริหารทรัพยากรทางการศึกษา ต้องมุ่งตอบสนองเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่เน้นความสำคัญของตัวผู้เรียน และเน้นการบริหารที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน ตามโครงสร้างการกระจายอำนาจ  การบริหารทรัพยากรจะเป็นกลไกหรือเครื่องมือสำคัญที่กระตุ้นให้สถานศึกษาดำเนินการเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการจัดการศึกษาดังกล่าว จึงกำหนดหลักการสำคัญดังนี้  หลักความเป็นธรรม  (Equity)  หลักความเสมอภาค  (Equality)  หลักประสิทธิภาพและประสิทธิผล  (Efficiency and Effectiveness)  หลักความพอเพียง  (Adequacy) หลักการกระจายอำนาจ  (Decentralization) หลักเสรีภาพ  (Freedom  of Choice)  หลักการปฏิบัติได้จริง (Practicality)

แนวปฏิบัติในการบริหารทรัพยากรทางการศึกษา

            สถานศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไปจะอยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพราะฉะนั้นการดำเนินการด้านงบประมาณหรือทรัพยากร  ที่จะได้รับจากทางรัฐบาลจึงต้องดำเนินการผ่านเขตพื้นที่การศึกษา  ยกเว้นรายได้ที่สถานศึกษาสามารถหาได้เองไม่ต้องส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินเช่นที่เคยเป็นมา แต่สถานศึกษาจะมีฐานะเป็นหน่วยงบประมาณและหน่วยบริหารการเงินของตนเองด้วยแต่ยังต้องมีเขตพื้นที่ดูแลอีกชั้นหนึ่งเนื่องจากสถานศึกษาไม่ได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล  จึงไม่สามารถรับงบประมาณโดยตรงจากสำนักงานงบประมาณได้และแนวคิดทางการบริหารการศึกษาที่ต้องการให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด การให้เขตพื้นที่การศึกษาเป็นตัวกลางประสานระหว่างสถานศึกษาต่างๆจึงเป็นการดี

การบริหารทรัพยากรทางการศึกษาในแนวทางการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นั้นต้องตอบสนองต่อนโยบายที่สำคัญดังนี้  การระดมทรัพยากรและการลงทุนด้านงบประมาณ การเงินและทรัพย์สินจากทุกส่วนของสังคมเพื่อนำมาใช้จัดการศึกษา

ให้รัฐจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้กับการศึกษา  โดยจัดสรรเงินอุดหนุนรายบุคคลให้แก่ผู้เรียนการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดโดยรัฐและเอกชนให้เท่าเทียมกันและจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้แก่ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ให้สถานศึกษามีอิสระในการบริหารงบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษาควบคู่กับระบบการบริหารการเงินและบัญชี ระบบการตรวจสอบ ติดตามและประเมินประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ

แนวปฏิบัติในการนำระบบการบริหารจัดการทรัพยากรทางหารศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษามีดังนี้ พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารทรัพยากร,ระบบงบประมาณและบัญชีของส่วนกลาง,ระบบการตรวจสอบ ติดตามประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผล,ระบบการตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษาและพัฒนาระบบบริหารบุคคลทางการศึกษา

ดังนั้นสถานศึกษาจะต้องปฏิบัติในเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้ การจัดทำระบบสารสนเทศของสถานศึกษาเพื่อการตรวจสอบและรองรับการประเมินภายในและภายนอก  ควรมีคณะกรรมการหรือหน่วยงานเฉพาะเรื่องเพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์พัฒนารูปแบบวิธีคำนวณค่าใช้จ่ายรายบุคคล สถานศึกษาต้องจัดให้มีมาตรฐานการจัดการทางการเงิน 7 ประการ คือ การวางแผนงบประมาณ  การคำนวณต้นทุนของกิจกรรม  การจัดระบบการจัดซื้อจัดจ้าง  การบริหารทางการเงินและการควบคุมงบประมาณ  การรายงานทางการเงินและผลการดำเนินงาน  การบริหารสินทรัพย์  การตรวจสอบภายใน  เปลี่ยนระบบบัญชีจากเกณฑ์เงินสดและต้องมีระบบตรวจสอบ ความโปร่งใส

การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรทางการศึกษา  โดยการลดค่าใช้จ่ายต่อหน่วยในการดำเนินการโดยไม่เปลี่ยนรูปแบบขององค์กร  การเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อลดค่าใช้จ่าย  ให้ครุอาจารย์ 1 คนรับผิดชอบนักเรียน 20-25 คน   กำหนดมาตรฐานของห้องเรียน และรายวิชา  ลดอัตราบุคลากร  เพิ่มจำนวนชั่วโมงสอนของอาจารย์  ใช้วิธีการศึกษาด้วยตัวเอง  ต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้น  ต้องจำกัดและควบคุมค่าใช้จ่ายต่อหน่วยงาน

การบริหารสถานศึกษาต้องเน้นประสิทธิภาพมากขึ้นและต้องให้ความมั่นใจว่าทรัพยากรถูกใช้ออกไปอย่างคุ้มค่า  ควรเปลี่ยนแปลงการบริหารแบบเดิมที่รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางมาเป็นการกระจายอำนาจ  นำเอาระบบงบประมาณและวิธีการเงินที่ยืดหยุ่นมาใช้  จัดตั้งระบบ MIS ช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารสถานศึกษาเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรและสถานการณ์ทางทรัพยากร

มีระบบการคัดเลือกนักศึกษาที่เหมาะสมเพื่อใหม่ให้ศูนย์เปล่าจากการเรียนไม่จบหรือลาออกกลางคัน  มีการยุบรวมภาควิชา คณะหรือโปรแกรมที่ไม่คุ้ม  ลดความซับซ้อนของการใช้ทรัพยากรบุคคลและเครื่องมือ  หาแหล่งเงินภายนอกเพิ่ม  สนับสนุนให้เอกชนเข้ามามากขึ้น

ความจำเป็นในการบริหารทรัพยากรทางการศึกษา  เพื่อสนับสนุนในการดำเนินกิจกรรมทุกๆกิจกรรมไม่ว่าจะเป็น คน วัสดุ หรือสิ่งอื่นๆ  เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานในการจัดสรรทรัพยากรให้แก่หน่วยงานนั้นๆ  การควบคุมการดำเนินงานขององค์การหรือผู้รับผิดชอบการบริหารทรัพยากร  การส่งเสริมกิจกรรมใหม่ๆและเพื่อเป็นการกระจายทรัพยากร

หลักในการบริหารทรัพยากรทางการศึกษา  หลักความเสมอภาค ในการบริหารทรัพยากรต้องถือหลักความเสมอภาคอย่างเคร่งครัดคือต้องมีความเสมอภาคในด้านคุณภาพและความเสมอภาคในด้านโอกาส

การวางแผนการใช้ทรัพยากรทางการศึกษา เป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมทางหารศึกษาที่สำคัญยิ่ง ผู้บริหารสถานศึกษามีบทบาทภารกิจในการวางแผนและการบริหารทรัพยากรทางการศึกษาโดยกำหนดนโยบายและแผนของสถานศึกษา โดยการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานต่างๆทั้งปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน มาวิเคราะห์กำหนดเป็นนโยบายและแผนของสถานศึกษาให้สนองกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ซึ่งในแผนงานควรมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้  วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน  ขั้นตอนการดำเนินงานระยะเวลาของการดำเนินงาน  ทรัพยากรที่ต้องใช้ในการดำเนินงาน  ตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินงาน  การนิเทศกำกับติดตามการดำเนินงาน  การประเมินผลการดำเนินงาน  การบริหารทรัพยากร  โดยการรวบรวมทรัพยากรต่างๆที่ต้องใช้ในการดำเนินงานจากแผนงาน นำมาจัดเรียงลำดับความสำคัญก่อน-หลังเพื่อจัดสรรและใช้ทรัพยากรที่ได้มาอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด  การประเมินผลการใช้ทรัพยากร เพื่อตรวจสอบความสามารถในการนำทรัพยากรไปใช้ว่าตรงกับความต้องการหรือไม่เพียงไร เกิดผลสำเร็จอย่างไร

การนำผลการประเมินไปใช้  เมื่อประเมินผลการใช้ทรัพยากรจะได้รับข้อมูลย้อนกลับ ซึ่งสามารถนำไปปรับปรุง พัฒนาบริหารทรัพยากรในด้านต่างๆ เช่น การจัดสรร การใช้และควบคุม ตรวจสอบเป็นต้น

แหล่งทรัพยากรทางการศึกษา  ได้แก่  งบประมาณแผ่นดิน  เงินนอกงบประมาณ  เงินจากการลงทุน  ทรัพยากรจากชุมชน แบ่งเป็น 2 รูปแบบ  รูปแบบที่ 1 เป็นการให้แก่บุคลากรโดยตรง เช่นให้ทุนอุดหนุนในการศึกษา การศึกษาวิจัยค้นคว้า  รูปแบบที่ 2 ให้การอุดหนุนแก่สถาบันโดยส่วนรวม เช่นการให้วัสดุอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ  แหล่งทรัพยากรต่างประเทศ  จากภาครัฐ ได้จากงบประมาณแผ่นดิน เงินอุดหนุนจากภาครัฐบาล  จากเอกชน เช่น การลงทุน การบริจาคช่วยเหลือสนับสนุนจากทั้งชุมชนหรือหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ รายได้จากการดำเนินงาน เช่น เงินค่าบำรุงการศึกษา  ค่าจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์การศึกษาที่ผลิตจากสถาบันการศึกษา

การระดุมทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการศึกษา เป็นกิจกรรมสำคัญที่ผู้บริหารสถานศึกษาควรตระหนัก และให้ความสำคัญมาเป็นพิเศษ เนื่องจากว่า  สถานศึกษาต่างมีข้อจำกัดเกี่ยวกับทรัพยากรทางการศึกษาที่ใช้ในการบริหารสถานศึกษาที่จะได้รับจากรัฐคำนึงถึงการมีประสิทธิภาพ ในการใช้ทรัพยากรทางการบริหาร

อย่างที่ทราบกันว่าทรัพยากรท้องถิ่นมีมากมาย ดังนั้นการที่ผู้บริหารควรดำเนินการโดยคำถึงสิ่งต่อไปนี้  นโยบายและแผนงานที่ชัดเจนของสถานศึกษา ผู้บริหารต้องตอบให้ได้ว่า

เป้าหมายของการผลิตและการบริการคืออะไร จะดำเนินการอย่างไร จึงมีประสิทธิภาพ จะใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง ระดมจากแหล่งไหนและจะใช้อย่างไร  การดำเนินงานของสถานศึกษา เป็นยุทธวิธีที่ผู้บริหารจะต้องใช้ในการระดมทรัพยากรท้องถิ่น ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การติดตามและประเมินผล เป็นกิจกรรมทางการบริหารที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่สถานศึกษาต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้รับทราบผลการดำเนินงานว่ามีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายหรือไม่

            การระดมสรรพกำลังและทรัพยากรทางการศึกษา ผู้บริหารควรตระหนักและความสำคัญดังนี้ ความชัดเจนในเป้าหมาย การใช้กระบวนการอย่างผสมกลมกลืน ความเป็นสากลของการบริหาร  คือความเมาะสมระหว่างลักษณะของงานหรือภารกิจ ทักษะทางการบริหารและระดับชั้นของผู้บริหาร

พบปัญหาการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาว่า  สถานศึกษายังขาดงบประมาณการเดินทางไปศึกษาในท้องถิ่น  บุคลากรในท้องถิ่นที่มีความรู้ไม่มีเวลาว่างมาให้การศึกษา  แหล่งทรัพยากรในท้องถิ่นมีสภาพไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้งาน  เวลาในการจัดกิจกรรมในท้องถิ่นไม่สอดคล้องกับเวลาเรียนและผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้ได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน  งบประมาณจากท้องถิ่นค่อนข้างน้อย  ซึ่งสอดคล้องกับขวัญยืน  แปลงแดง  (2544 : 75) ที่ศึกษาพบว่า  ปัญหาของการใช้ทรัพยากรบุคคลในท้องถิ่นเพื่อการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนประถมศึกษาที่ประสบอยู่ในระดับมาก  คือ  การประสานงานไม่ชัดเจน  ทรัพยากรบุคคลที่เชิญมาไม่มีเวลาว่างพอ  ขาดแคลนงบประมาณสนับสนุน  ทรัพยากรบุคคลที่เชิญมามีความรู้และประสบการณ์ไม่เพียงพอ  และขาดการวางแผนงานร่วมกัน  ในเมื่อทรัพยากรต่างๆ  ที่จะนำมาใช้ในการจัดการศึกษามีน้อย  ไม่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาที่จะสามารถทำให้พัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้  จึงเห็นว่า  การบริหารทรัพยากรทางการศึกษาจึงมีความจำเป็นและมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะสามารถจัดการและบริหารทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้ได้ประโยชน์อย่างสูงสุด  จึงได้ทำการศึกษาถึงการบริหารทรัพยากรทางการศึกษาในสถานศึกษาว่ามีการดำเนินการอย่างไร  การบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษามีประสิทธิภาพหรือไม่  เพื่อใช้เป็นข้อมูลสารสนเทศเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษาต่อไป

หมายเลขบันทึก: 357010เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอขอบคุณในความอนุเคราะห์ข้อมูล

มีประโยชน์มากครับ

ได้ประโยชน์มากๆค่ะขอบคุนมากนะคะ

การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา สามารถเก็บเงินค่าพัฒนาบริบท่โรงเรียนได้หรือไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท