กฎหมายจารีตประเพณีเกี่ยวกับคนเข้าเมือง : สิทธิในการเข้าเมืองของคนต่างด้าวภายใต้กฎหมายจารีตประเพณี


กฎหมายจารีตประเพณีเกี่ยวกับคนเข้าเมือง

           

            สิทธิในการเข้าเมืองของคนต่างด้าวภายใต้กฎหมายจารีตประเพณี[1]

            จะต้องตระหนักว่า ในหลวงไม่กำหนดให้ต้องขออนุญาตเข้าเมืองไทย ดังนั้น การเข้าเมืองของคนต่างด้าวก่อนวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๐ >>>จึงเป็นการเข้าเมืองที่ชอบด้วยกฎหมายแม้ไม่มีเอกสารแสดงการให้อนุญาตเข้าเมืองของรัฐไทย

            ตัวอย่างที่ ๑ กรณีนายฮั้ว คนสัญชาติจีน เข้าเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๓ (ดัดแปลงจากฎ.๑๕๓/๒๕๐๕[2])

            ฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นายฮั้วเป็นคนต่างด้าวได้เข้ามาในประเทศไทย โดยเรือเดินทะเลจากประเทศจีน เข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา แล้วเดินทางไปอาศัยอยู่ที่ตำบลแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ในราวปี พ.ศ.๒๔๖๓

            นายฮั้วถูกจับในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๒ โดยเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาว่า นายฮั้วเป็นคนต่างด้าวได้บังอาจเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้ผ่านการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน ทั้งที่ไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้อง

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล  ถามว่า

             (๑) จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดในการกำหนดสิทธิในการเข้าเมืองไทยของนายฮั้ว  เพราะเหตุใด

            (๒) หากว่าจะต้องใช้กฎหมายไทย จะต้องนำเอากฎหมายไทยลักษณะใดหรือฉบับใดมาใช้ในการกำหนดสิทธิในการเข้าเมืองไทยของนายฮั้ว ? เพราะเหตุใด ?

            (๓) โดยกฎหมายดังกล่าว นายฮั้วจะมีสถานะบุคคลเป็น “คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย” หรือไม่  เพราะเหตุใด

           

           ตัวอย่างที่ ๒ กรณีนายอำมาดาส คนสัญชาติอินเดียที่เข้าเมืองก่อน พ.ศ.๒๔๗๐ (ดัดแปลงมาจาก  ฎ. ๑๖๕๑/๒๕๓๔[3])

           นายอำมาดาสเป็นคนสัญชาติอังกฤษ เชื้อชาติซิกซ์(อินเดีย) ซึ่งเดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศไทยมา

            ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๔๗๐ กล่าวคือ ในช่วงเวลาระหว่างที่ประเทศไทยมีสนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างประเทศไทยและประเทศอังกฤษอันทำให้คนในบังคับอังกฤษจำนวนมากมายเข้าตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทย

            ใน พ.ศ.๒๔๗๑ นายอำมาดาสได้สมรสกับนางฮัดบัสซึ่งเกิดที่จังหวัดน่านจากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษ เชื้อชาติซิกซ์(อินเดีย)

            ภายหลังจากการประกาศเอกราชของประเทศอินเดียจากประเทศอังกฤษ นายอำมาดาสก็ยังคงยืนยันที่จะตั้งรกรากในประเทศไทย ไม่กลับไปอินเดีย นายอำมาดาสถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๘ จนถึงปัจจุบัน

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

            (ก.) การเข้าเมืองไทยของนายอำมาดาสเป็นการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? ถ้าชอบ กฎหมายใดเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิเข้าเมืองแก่นายอำมาดาส ? เพราะเหตุใด ?

            (ข.) นายอำมาดาสมีลักษณะการเข้าเมืองแบบถาวรหรือไม่ถาวร ? เพราะเหตุใด ?

 

 

 

 

 

 

 



[1] เอกสารประกอบการสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศประเทศคดีบุคคล: สิทธิเข้ามาในประเทศไทยของคนต่างด้าว โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร http://www.archanwell.org/autopage/show_all.php?t=23&s_id=&d_id  ,วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2547

[2] คำพิพากษาศาลฎีกาที่  153/2505 อัยการจังหวัดตราด โจทก์ - นายฮ่วยเกี๊ยกหรือฮั้ว แซ่ลี้ จำเลย

พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2493 มาตรา 3

        โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเมื่อ พ.ศ. 2463 โดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 ปรากฏว่าพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองได้ประกาศในประเทศไทย เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2470 จำเลยเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เมื่อ พ.ศ. 2493 ซึ่งยังไม่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองในขณะนั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน การเข้ามาในราชอาณาจักรไทยของจำเลยในปี พ.ศ. 2463 เป็นการเข้าได้โดยเสรี จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามฟ้อง

________________________________

         โจทก์ฟ้องว่า วันเดือนใดไม่ปรากฏในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ จำเลยเป็นคนต่างด้าวได้บังอาจเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๑๕, ๒๑, ๕๘ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓

        จำเลยให้การปฏิเสธ

        ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง

        จำเลยอุทธรณ์

        ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

        โจทก์ฎีกา

        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองได้ประกาศในประเทศไทย เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๗๐ จำเลยเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งยังไม่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองในขณะนั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน การเข้ามาในราชอาณาจักรไทยของจำเลยในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นการเข้าได้โดยเสรี จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษายืน

( สนิท สุมาวงศ์ - สุทธิวาทนฤพุฒิ - สุทธิวาทนฤพุฒิ )

ศาลจังหวัดตราด - นายช่วง ไชยกุมาร

ศาลอุทธรณ์ - นายเรือง กาเล็ก

[3] คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1651/2534 นาง กีอันหรือเกียนหรือซัดนาม กอร์ ผู้ร้อง - พนักงานอัยการ กรมอัยการ ผู้คัดค้าน

พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 57

          การพิสูจน์สัญชาติไทยนั้นกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฯ มาตรา 57

________________________________

            ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2473 โดยเป็นบุตรของนายอำมาดาส จำปีและนางฮัดบัส กอร์ จำปี ซึ่งบิดาผู้ร้องอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2470 ส่วนมารดาผู้ร้องเดิมมีสัญชาติไทย เกิดที่จังหวัดน่านผู้ร้องได้อยู่ในราชอาณาจักรไทยตลอดมาจนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2491 ได้สมรสกับนายอาวตาร์ ซิงห์และเปลี่ยนชื่อจากกีอัน กอร์หรือเกียน กอร์ เป็นซัดนามกอร์หลังจากนั้นสามีผู้ร้องได้พาผู้ร้องไปอยู่ที่ประเทศพม่า เพื่อประกอบการค้า ต่อมา พ.ศ. 2508 ประเทศพม่าได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม ผู้ร้องกับสามีจึงหลบหนีไปประเทศอินเดีย จนกระทั่ง พ.ศ. 2528 ผู้ร้องจึงเดินทางกลับประเทศไทย และมาถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2528ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจได้แจ้งว่าผู้ร้องเป็นคนต่างด้าว ให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ชั่วคราวและต้องออกไปภายใน 3 เดือน ผู้ร้องจึงขอพิสูจน์สัญชาติต่อทางราชการ ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2529 ทางการได้ยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องเป็นคนมีสัญชาติไทยตามกฎหมายไม่เคยสละสัญชาติไทยไม่เคยถูกรัฐมนตรีสั่งเพิกถอนสัญชาติไม่เคยรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และไม่เคยแปลงสัญชาติเป็นคนต่างด้าว ผู้ร้องมีสิทธิอยู่ในประเทศไทย การที่กรมตำรวจยกคำร้องของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องผู้ร้องจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอพิสูจน์สัญชาติของผู้ร้อง ขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทยและมีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทย

              ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่บุคคลเดียวกับเด็กหญิงกีอัน กอร์ ตามที่ปรากฎในสำเนาทะเบียนคนเกิดหากจะฟังว่าเป็นคนเดียวกันก็ปรากฎว่า เด็กหญิงกีอัน กอร์นั้นมีสัญชาติอังกฤษ เชื้อชาติซิกซ์ (อินเดีย) มิได้มีสัญชาติไทย ผู้ร้องมิใช่บุคคลมีสัญชาติไทย ผู้ร้องบรรลุนิติภาวะแล้วและได้ออกจากประเทศไทยไปอยู่ประเทศอินเดียอันเป็นประเทศสัญชาติของบิดาตั้งแต่ พ.ศ. 2508 จนถึง พ.ศ. 2528 รวมเป็นเวลา 20 ปี แล้วและตามหนังสือเดินทางก็ระบุว่าผู้ร้องได้สัญชาติของบิดาอันเป็นการฝักใฝ่อยู่ในสัญชาติของบิดาแล้วผู้ร้องจึงต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2508 มาตรา 17

              ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่านางกีอัน กอร์ผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทยและมีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้

              ผู้คัดค้านอุทธรณ์

              ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

              ผู้คัดค้านฎีกา

              ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "จึงเชื่อไม่ได้ว่า ผู้ร้องเป็นคนเดียวกันกับเด็กหญิงกีอัน กอร์ ตามทะเบียนคนเกิด เอกสารหมาย ร.1 และข้อเท็จจริงได้ความจากคำของผู้ร้องเองว่าอยู่ในประเทศไทยถึงอายุ 18 ปี จึงเดินทางไปประเทศพม่ากับสามีแต่ผู้ร้องก็ไม่มีหลักฐานการเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรมาแสดงและผู้ร้องเบิกความอีกว่าเมื่อประมาณ 4-5 ปี มาแล้วผู้ร้องเคยเดินทางกลับประเทศไทยแต่ก็ไม่ได้ขอพิสูจน์สัญชาติการขอพิสูจน์สัญชาติไทยนั้นกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 57 ดังนั้นผู้ร้องจึงต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าตนมีสัญชาติไทย แต่พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมา ตามที่ได้วินิจฉัยข้างต้นนั้น ศาลฎีกาไม่เชื่อว่าผู้ร้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย"

          พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

 ( อุดม เฟื่องฟุ้ง - ก้าน อันนานนท์ - อากาศ บำรุงชีพ )



ความเห็น (1)

ยังไม่เสร็จนะครับ จะแก้ไขเร็วๆนี้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท