การใช้ทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกันในการจัดการศึกษา


ทรัพยากรทางการศึกษา
การใช้ทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกันในการจัดการศึกษา
                ทรัพยากร  เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่มีต่อการบริหารจัดการในทุกกิจการ  เพราะทรัพยากรเป็นตัวกลางหรือตัวกระตุ้นที่ทำให้กิจกรรมขององค์การหรือหน่วยงานดำเนินไปได้  และทรัพยากรจะมีบทบาทต่อกิจกรรมหรือการดำเนินภารกิจขององค์การหรือหน่วยงานทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ 
                พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน  2545 (2545:561)  ได้ให้ความหมายของคำว่า  ทรัพยากร  หมายถึง  ทรัพย์สิ่งของทั้งปวง  และคำว่า  ทรัพย์  หมายถึง  เงินตรา  สมบัติ  เงิน   ของมีค่า
                ชัยอนันต์  สมุทรวณิช  (2541:1)  ให้ความหมายทรัพยากรทางการศึกษาไว้ว่า  หมายถึง  ทรัพยากรที่มิใช่เงิน  (Non-Financial Resources)  และทรัพยากรทางการเงิน  (Financial  Resources) 
                สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  (2546:1)  ทรัพยากรทางการศึกษา  หมายถึง  ทรัพย์ทิ่ใช่เงิน  (Non-Financial Resources)  และทรัพยากรทางการเงิน  (Financial  Resources)  ในความหมายแรก  ทรัพยากรที่มิใช่การเงินครอบคลุมปัจจัยหลัก ๆ  คือ  ที่ดิน  อาคาร  สิ่งก่อสร้าง  วัสดุ  อุปกรณ์การเรียนการสอนและการผสมผสานการใช้ปัจจัยต่าง ๆ  เข้าด้วยและยังให้ความหมายในวงที่แคบว่า  ทรัพยากรทางการศึกษา  หมายถึง  ปัจจัยนำเข้า  (Input)  ที่นำไปใช้เพื่อการจัดการศึกษาทุกระดับและทุกประเภทภายในสังคม  ปัจจัยนำเข้านี้ส่วนใหญ่จะเป็นรูปของเงินงบประมาณทั้งด้านรายจ่ายเกี่ยวกับการปฏิบัติงานประจำ  เช่น  เงินเดือนและค่าตอบแทน  ค่าใช้จ่ายวัสดุอุปกรณ์กับรายจ่ายด้านการลงทุน
                ปรีชา  คัมพรปกรณ์  (2541:8-10)  กล่าวว่า  Bender  ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับทรัพยากรไว้  2  แนวคิด  คือ  แนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์และแนวคิดทางด้านการบริหาร  ซึ่งสรุปได้ดังนี้
                1.  แนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์  แบ่งทรัพยากรออกเป็น  4  ประเภท  คือ
                                1. ทรัพยากรมนุษย์
                                2. ทรัพยากรทางกายภาพ ประกอบด้วย ที่ดิน เครื่องอำนวยความสะดวก เครื่องมือ และ วัสดุ/หรือพลังงาน
                                3. ทรัพยากรการเงิน
                                4. ข้อสนเทศ เช่น ข้อมูล ความรู้ Software Hardware
                2.  แนวคิดทางด้านการบริหาร          มีแนวคิดที่แตกต่างกัน 3 แนวคิด คือ
                                แนวคิดที่หนึ่ง มี 4 ประการ เรียกว่า “4 Ms” ได้แก่ คน (Men) เงิน (Money) วัสดุสิ่งของ (Materials) และ การจัดการ (Management)
                                แนวคิดที่สอง มี 3 ประการ เรียกว่า “3 Ms” ได้แก่ คน (Men) เงิน (Money) และ การจัดการ (Management)
                                แนวคิดที่สาม มี 6 ประการ เรียกว่า “6 Ms” ได้แก่ คน (Men) เงิน (Money) วัสดุสิ่งของ (Materials) วิธีการ (Method) ตลาด (Market) และ เครื่องจักรกล (Machine)
             ทรัพยากรการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการศึกษา  ทำให้สถานศึกษาดำเนินการเรียนการสอนหรือพัฒนาคนให้มีคุณภาพและได้ผลตามความมุ่งหมายของการจัดการศึกษา  ช่วยส่งเสริมงานวิชาการให้มีคุณภาพ   ช่วยส่งเสริมการดำเนินงานด้านอื่นๆในสถานศึกษา   เป็นตัวกลางหรือตัวกระตุ้นที่ทำให้กิจกรรมของสถานศึกษาดำเนินไปได้และมีบทบาทต่อกิจกรรมหรือการดำเนินภารกิจของสถานศึกษาทั้งด้านของปริมาณและคุณภาพ  ผู้บริหารมีส่วนสำคัญในการบริหารทรัพยากรทางการศึกษา  ซึ่งมีหน้าที่ในการการกำหนดนโยบาย และแผนของสถานศึกษา  โดยจัดให้มีการทำแผนงานของสถานศึกษาของตนขึ้น เพื่อจะได้ทราบว่าจะต้องทำกิจกรรมอะไรบ้าง   กำหนดทรัพยากรที่ต้องการ โดยรวบรวมความต้องการด้านทรัพยากรจากแผนงาน มีการจำแนกเป็นหมวดหมู่ที่ต้องการอย่างชัดเจน   การแสวงหาทรัพยากร โดยแสวงหาจากแหล่งทรัพยากรต่างๆ เช่น งบประมาณ เงินรายได้ เงินบริจาค ทรัพยากรจากชุมชน    การจัดสรรทรัพยากร โดยจัดเรียงลำดับความสำคัญ หรือความพร้อมของโครงการที่จะทำ   การใช้ทรัพยากร โดยมีการวางแผนการใช้ เช่นจะใช้กระดาษในกิจกรรมใด  เพื่อมิให้เก็บไว้โดยเปล่าประโยชน์ และควบคุมการใช้อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ   การประเมินการใช้ เช่นประเมินผลประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความเพียงพอ ปัญหาและอุปสรรค  ซึ่งต้องอาศัยหลักการบริหารทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกัน  ในการบริหารระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ต้องมุ่งตอบสนองเจตนา-รมณ์แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  ที่เน้นความสำคัญของตัวผู้เรียน  และเน้นการบริหารที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน ตามโครงสร้างการกระจายอำนาจ  การบริหารทรัพยากรจะเป็นกลไกหรือเครื่องมือสำคัญที่กระตุ้นให้สถานศึกษาดำเนินการเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการจัดการศึกษาดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยหลักการสำคัญหลายประการ  ได้แก่  หลักความเป็นธรรม  (Equity)  หลักความเสมอภาค  (Equality)  หลักประสิทธิภาพและประสิทธิผล  (Efficiency and Effectiveness)  หลักความพอเพียง  (Adequacy)  หลักการกระจายอำนาจ  (Decentralization)  หลักเสรีภาพ  (Freedom  of Choice)  หลักการปฏิบัติได้จริง (Practicality) 
             ในการส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกันนั้น  จำเป็นต้องอาศัยแนวคิดและทฤษฎีการบริหารมาใช้ในการในการบริหารเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริงอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดังนี้
            1.  การบริหารแบบบูรณาการ  (Integration  Management) 
             สถาบันดำรงราชานุภาพ  กระทรวงมหาดไทย  และสำนักการศึกษาต่อเนื่อง  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  (ม.ป.ป. :37-38)  ได้กล่าวถึงลักษณะการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการไว้ดังนี้ 
                 1.1  ระบบบริหารจัดการในแนวราบ  (Horisontal  Manament)  ใช้การบูรณาการในลักษณะพื้นที่ – พันธกิจ – การมีส่วนร่วม  (Area – Function – Participation : A-F-P)  เพื่อสร้างหุ้นส่วน  (Partnership)  และทำงานในลักษณะเครือข่าย  (Networking)
                 1.2  ระบบบริหารจัดการที่มีเป้าหมายตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ  (Customer Driven)  โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์  (Result-Based)
                 1.3  ระบบบริหารจัดการภายใต้กรอบของหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี  (Good Govemamce)
             2.  การบริหารแบบเครือข่าย  (Network  Management) 
             กวินทร์เกียรติ  นนธ์พละ (2551:25-31)  กล่าวว่า  เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์  (2537:27)  ได้ให้ความหมายของเครือข่ายไว้ว่า  มีความหมายแตกต่างไปตามมุมมองของแต่ละคน  สำหรับเครือข่ายเพื่อการปฏิรูปการศึกษานั้น  หมายถึง  การที่ปัจเจกบุคคล  องค์กร  หน่วยงาน  หรือสถาบันใด ๆ  ได้ตกลงกันที่จะประสาน  เชื่อมโยงเข้าหากันภายใต้วัตถุประสงค์หรือข้อตกลงอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกันอย่างเป็นระบบ  โดยมีจุดหมายเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  กลุ่มเครือข่ายนี้ต้องมีการแสดงออกเป็นการลงมือกระทำกิจกรรมร่วมกัน  จากความหมายดังกล่าวนี้  จึงอาจกำหนดรูปแบบเครือข่ายได้  4  ลักษณะ  คือ 
                2.1  เครือข่ายการเชื่อมโยงของปัจเจกต่อปัจเจก  เช่น  ข้าราชการต่อข้าราชการ  หรือสถานศึกษาต่อสถานศึกษา
                2.2  เครือข่ายการเชื่อมโยงของปัจเจกต่อกลุ่ม  เช่น  ข้าราชการต่อกลุ่มผู้ปกครองนักเรียน  หรือสถานศึกษาต่อกลุ่มผู้ปกครองนักเรียน
                2.3  เครือข่ายการเชื่อมโยงของกลุ่มต่อกลุ่ม  เช่น  กลุ่มผู้ปกครองต่อกลุ่มข้าราชการ
                2.4  เครือข่ายการเชื่อมโยงของเครือข่ายต่อเครือข่าย  เช่น  เครือข่ายองค์กรประชาชนต่อเครือข่ายสถานศึกษา 
                3.  การบริหารแบบมีส่วนร่วม  (Participatory  Management) 
                การบริหารแบบมีส่วนร่วม  (Participatory  Management)  คือ  สิ่งที่มาแทนการบริหารในรูปแบบของระบบราชการ  (Bureaueratic  Model)  ซึ่งมีความเข้มงวดสูง  และยึดถือตัวบุคคลเป็นหลัก  จึงทำให้การบริหารแบบมีส่วนร่วมได้รับความสำใจ  ทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับองค์การจึงได้เน้นความสำคัญของขวัญและกำลังและความพึงพอใจของเจ้าหน้าที่  การบริหารแบบมีส่วนร่วมจึงเน้นความสำคัญของการจูงใจ 
                ทรัพยากรการศึกษาที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการศึกษาตามที่  ปรีชา  คัมพรปกรณ์  (2541:8-10)  กล่าว  ก็คือ  คนหรือมนุษย์ (Man)   เงินหรืองบประมาณ (Money)   วัสดุสิ่งของ (Materials)  การจัดการ (Management)  โดยมีแหล่งทรัพยากรทางการศึกษาจาก งบประมาณแผ่นดิน เงินนอกงบประมาณ รายได้ของสถานศึกษา เช่น เงินบำรุงการศึกษา เงินบริจาค ขายผลิตผลของสถานศึกษา  เงินจากการลงทุน สถานศึกษาเอกชนได้จากเจ้าของกิจการลงทุน อาจเป็นเอกชน มูลนิธิ สมาคม  ทรัพยากรจากชุมชน เช่น บุคคล ภูมิปัญญาชาวบ้าน องค์กรต่าง ๆ เช่น บริษัท ธนาคาร สมาคม มูลนิธิ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผลิตภัณฑ์   การบริหารทรัพยากรทางการศึกษาในแนวทางการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นั้นต้องตอบสนองต่อนโยบายที่สำคัญดังนี้
                1.  การระดมทรัพยากรและการลงทุนด้านงบประมาณ การเงินและทรัพย์สินจากทุกส่วนของสังคมเพื่อนำมาใช้จัดการศึกษา
                2.  ให้รัฐจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้กับการศึกษา  โดยจัดสรรเงินอุดหนุนรายบุคคลให้แก่ผู้เรียนการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดโดยรัฐและเอกชนให้เท่าเทียมกันและจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้แก่ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ
                3.  ให้สถานศึกษามีอิสระในการบริหารงบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษาควบคู่กับระบบการบริหารการเงินและบัญชี ระบบการตรวจสอบ ติดตามและประเมินประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ 
                การวางแผนและการบริหารทรัพยากรทางการศึกษา   เป็นการกำหนดนโยบายและแผนของสถานศึกษา  การบริหารทรัพยากร   การประเมินผลการใช้ทรัพยากร  การนำผลการประเมินไปใช้ ซึ่งทรัพยากรการศึกษาที่นำมาใช้ในการจัดการศึกษามี  4  ประการ  ก็คือ  คนหรือมนุษย์ (Man)   เงินหรืองบประมาณ (Money)  วัสดุสิ่งของ (Materials)   การจัดการ (Management)  และในการบริหารจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรทางการศึกษาก็จะเกี่ยวข้องกับงบประมาณทั้งสิ้น   ดังนั้นสถานศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไปจะอยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  เพราะฉะนั้นการดำเนินการด้านงบประมาณหรือทรัพยากรที่จะได้รับจากทางรัฐบาล  จึงต้องดำเนินการผ่านเขตพื้นที่การศึกษา  ยกเว้นรายได้ที่สถานศึกษาสามารถหาได้เองไม่ต้องส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินเช่นที่เคยเป็นมา  แต่สถานศึกษาจะมีฐานะเป็นหน่วยงบประมาณและหน่วยบริหารการเงินของตนเองด้วยแต่ยังต้องมีเขตพื้นที่ดูแลอีกชั้นหนึ่ง  แนวคิดทางการบริหารการศึกษาที่ต้องการให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด    การให้เขตพื้นที่การศึกษาเป็นตัวกลางประสานระหว่างสถานศึกษาต่าง ๆ  การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรทางการศึกษา   เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า  เป็นการบริหารแบบลดรายจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ   เพื่อให้การศึกษามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด    
  
บรรณานุกรม
 กวินทร์เกียรติ  นนธ์พละ. แนวทางในการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกันของสถานศึกษาในเขตพื้นที่ 
        การศึกษาเพชรบุรี  เขต 1. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชาการบริหาร
       การศึกษา  บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ขอนแก่น, 2551.
นาตยา เกตุกลิ่น.การสังเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารสถานศึกษา.
       ปริญญานิพนธ์ (กศ.ม.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กรุงเทพฯ, 2545.
บัณฑิตศึกษา สาขาวิชาบริหารการศึกษา.การบริหารทรัพยากรทางการศึกษา ในแบบฝึกรายวิชา การบริหาร
       ทรัพยากรทางการศึกษา ระดับปริญญาบัณฑิตบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี,2550.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. บัณฑิตศึกษา สาขาวิชาศึกษาศาสตร์  แนวการศึกษาชุดวิชาการบริหาร
       ทรัพยากรการศึกษาหน่วยที่ 1-15 = Educational resource
       administration / นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2541, 464 หน้า.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. บัณฑิตศึกษา สาขาวิชาศึกษา  ศาสตร์ประมวลสาระชุดวิชาการบริหาร
        ทรัพยากรการศึกษา = Educational resource administration นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัย
        ธรรมาธิราช, 2541.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.สาขาวิชาศึกษาศาสตร์,การบริหาร  บุคลากรในโรงเรียน นนทบุรี :
      มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2544.
เรวัตร์ ชาตรีวิศิษฏ์ การบริหารเวลา กรุงเทพฯ : เอ็กทรีมมีเดีย,2546.
วิทย์ชัย ล้อมวงศ์.ปัญหาการจัดทรัพยากรการศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถม
      ศึกษาอำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 2542.
สังวาลย์  วุฒิเสลา.การบริหารทรัพยากรทางการศึกษาของสถานศึกษา  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
      อุบลราชธานี  เขต 5. วิทยานิพนธ์  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี  อุบลราชธานี, 2548.
สำรวม  ธีรานันทางกูร. การศึกษาความพร้อมในการใช้ระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานของโรงเรียน
      มัธยมศึกษา  สังกัดกรมสามัญศึกษา  สหวิทยาเขตบรมราชชนนี. วิทยานิพนธ์  สถาบันราชภัฏธนบุรี 
      ธนบุรี,2546.
 
 
หมายเลขบันทึก: 357011เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท