“โรดแม็ป” แผนการปรองดอง 5 ข้อ "การปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่".... ต้องทบทวน “การจัดการทางอำนาจใหม่” ให้เป็นการปฏิรูปประเทศไทยจากฐานราก


การประชุมเชิงปฏิบัติการ "ระบบจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น เพื่อการขับเคลื่อนสู่นโยบายสาธารณะ" วันที่ 7 - 8 พ.ค. 53 ที่เชียงใหม่ หลังอาหารเย็นมีการเสวนากันต่อครับ  วงประชุมให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ บ้านเมือง กับ “โรดแม็ป”แผนการปรองดอง 5 ข้อ ของนายกอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เพื่อแก้วิกฤติประเทศเฉพาะหน้าโดยเวทีให้ความสำคัญกับข้อ 2 หัวข้อ “การปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่”  เพื่อสร้างความเป็นธรรม  ความเสมอภาคในสังคม  สวัสดิการสังคม การศึกษา สาธารณสุข อาชีพ  การมีรายได้ ที่ทำกิน หนี้สินอย่างเป็นรูปธรรม

ข้อเสนอจากเวทีชี้ให้เห็นว่าหาก“การปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่”ให้ประสบความสำเร็จ แนวคิดการกระจายอำนาจ บนฐานการจัดการตัวเองได้ของชุมชนท้องถิ่น จะต้องเป็นแนวทางที่สำคัญของ“การปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่”ในครั้งนี้

การเสวนากันต่อในช่วงเย็น คุณหมออำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้เสนอว่า  แนวคิด“การปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่”จะต้องให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ ทั้งนี้เนื่องจากปรากฎการณ์วิกฤติความแตกแยกของสังคมไทยที่เกิดขึ้นได้ทำให้ผู้คนให้ความสนใจกับเรื่องนี้   จากบทเรียนของต่างประเทศ เช่นประเทศจีนพบว่าทุกวันนี้ประเทศจีนมีการกระจายอำนาจในหลายเรื่องมากทั้งเรื่องการจัดเก็บภาษี ท้องถิ่นมีอำนาจในการใช้ภาษีก่อนถึงจะส่งส่วนกลาง

 “..แม้กระทั่งในประเทศจีนที่เราเรียกว่าเป็นเผด็จการจากที่ได้ไปศึกษาดูงานพบว่าภาษีทั้งหมดท้องถิ่นจะเป็นคนจัดเก็บ โดยจะเก็บให้รัฐบาลกลางเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เก็บเข้าท้องถิ่นถึง 80 เปอร์เซ็นต์...”(คุณทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.))

 “ เงื่อนไขความเจริญของอเมริกาคือการกระจายอำนาจ มีการกระจายเป็นมลรัฐจัดการตัวเอง  ที่ประเทศบราซิล ตอนนี้กำลังมุ่งเรื่องการกระจายอำนาจเป็นอย่างมากและก้าวหน้ามาก...” (คุณหมออำพล จินดาวัฒนะ)

  “ การปฏิรูปประเทศไทยหากจะให้ความสำเร็จที่สำคัญอยู่ที่การปฏิรูปการเมือง  การปฏิรูประบบราชการ   และการปฏิรูประบบคุณธรรม จริยธรรม.. ”(พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน)

 “เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปประเทศไทย โดยจังหวัดจัดการตัวเองเป็นจริงได้ จะต้องให้ความสำคัญกับตำบลจัดการตัวเองพร้อมๆกันไปด้วย....”(คุณสมัย  รัตนจันทร์อดีตนายก อบต.ท่าสาย อ.เมือง จ.เชียงราย)

 “แผน ฯ11 จะให้ความสำคัญเรื่องการกระจายอำนาจและความเป็นธรรมในสังคม หากจะให้เกิดผล ต้องให้แต่ละท้องถิ่นมีสภาพัฒน์ฯของตัวเอง” (อ.มุกดา  อินต๊ะสาร ผู้นำชุมชนจาก อ.ดอกคำใต้  จ.พะเยา)

 คุณสวิง ตันอุด ได้ชวนเสวนากับประเด็น“จังหวัดจัดการตัวเอง” ต่อด้วยการมีเอกสารปรกอบการนำเสนอครับ.....ผมจึงขอสรุปข้อคิดการนำเสนอของคุณสวิง ตันอุด  มานำเสนอเผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะที่G2K แห่งนี้ต่อดังนี้ครับ

 คุณสวิง ตันอุด บอกว่า เหตุที่คนเชียงใหม่สนใจเรื่อง “จังหวัดจัดการตัวเอง” ด้วยเหตุจากการที่เราได้มีการศึกษาปัญหาการเรียกร้องการมีการประท้วงต่างๆที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่  พบว่าในรอบปีที่ผ่านมาเฉพาะใน จ.เชียงใหม่มีการชุมนุมประท้วงในทั้งหมด 66 ครั้งทั้งที่เป็นปัญหาภายในและปัญหาที่ส่วนกลางมาสร้างผลกระทบและยังไม่มีปัญหาใดที่จังหวัดสามารถแก้ได้เลย การเป็นผู้ถูกกระทำของคนในท้องถิ่นนำมาซึ่งความรู้สึกอึดอัดขัดข้องเป็นอย่างยิ่งจนเป็นกระแสที่ว่าอย่างนี้ต้องได้รับการแก้ไข

เราพบว่าปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองเราเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจไปไว้ที่ส่วนกลางและการเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม  ดังนี้

 ๑.      รวมศูนย์อำนาจ ; เหตุแห่งปัญหาเหลือง - แดง

 “..คนที่สนับสนุนทั้งสีเหลือง และสีแดง ต่างก็เป็นคนในท้องถิ่นด้วยกันทั้งสิ้น ต่างก็มีความหวังดีต่อชาติบ้านเมืองด้วยกันทั้งหมด ภาษาการเมืองที่พูดก็ภาษาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคำว่าประชาธิปไตย เผด็จการ ปากท้องประชาชน...แต่เมื่อถือความจริงกันคนละชุด ก็จะประหัสประหารกันซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง..”

 วิกฤติความแตกแยกของสังคมไทยที่ปรากฏออกมาในรูปแบบการต่อสู้ทางการเมืองที่มีสัญลักษณ์เป็นสีเหลือง สีแดง ภาพของความขัดแย้ง และการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศจนไม่อาจประเมินค่าได้

 “...ความแตกแยกของสังคมไทยในครั้งนี้รุนแรงจนนำไปสู่การแบ่งขั้วความคิดในทุกองคาพยพของสังคมไทยตั้งแต่โครงสร้างบนสุดลงมาถึงโครงสร้างล่างสุดคือสถาบันครอบครัว..”

 ปรากฏการณ์การเมืองที่แบ่งเป็นเป็นเหลือง เป็นแดง เป็นขาว เป็นน้ำเงิน  ก็เป็นเพียงผลหรือผลิตผล ทั้งหมดย่อมมีเหตุ จะเห็นได้ว่า

 “....การต่อสู้ในครั้งนี้เป็นปะทะกันทางโครงสร้างทางเมืองต่อโครงสร้างทางการเมือง บางคนเรียกว่าเป็นปะทะกัน ระหว่างมหาโครงสร้าง (super structure) กับมหาโครงสร้าง การต่อสู้ครั้งนี้จะหวั่นไหวไปทั้งแผ่นดินอย่างแน่นอน ที่สุดทั้งหมดก็ต้องการยึดกุมศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง เพราะอำนาจศูนย์กลางทางการเมือง หมายถึงการยึดกุมทุกอย่าง ทั้งงบประมาณแผ่นดิน อำนาจการตัดสินใจ ดังนั้นถ้าจะวิเคราะห์และฟันธงลงไป เหตุของเรื่องนี้ทั้งหมดคือการรวมศูนย์อำนาจ อย่างล้นเหลือนั่นเอง…”

 และที่สำคัญ “........การเมืองแบบรวมศูนย์กลาง เป็นที่หาผลประโยชน์นานัปการ ทั้งเงินทอง  ตำแหน่งหน้าที่การงาน  นักการเมืองพรรคการเมืองก็รู้ด้วยว่าจะลงทุนเท่าไรถึงจะยึดกุมตำแหน่งรัฐมนตรีได้   ลงทุนเท่าไรจะได้กุมอำนาจทั้งระบบ  และที่สุดกลายเป็นการลงทุนทางการเมือง  ที่เรียกว่าธุรกิจการเมือง อย่างที่เราเห็น ๆ...”

 . จังหวัดจัดการตนเอง ทางออกของปัญหาความขัดแย้ง

 “..ธงที่แย่งชิงกันอยู่ขณะนี้คือ ธงทำเนียบ ซึ่งเป็นธงแห่งศูนย์กลางอำนาจของรัฐ หากเราทำให้ธงนี้เล็กลง หรือมีความหมายน้อยลง กระจายธงไปสู่จังหวัด จากธงเดียวจะกลายเป็น 76 ธง  ทำให้พื้นที่จังหวัดมีความหมายมากขึ้น  อำนาจจึงอยู่ที่การจัดการชุมชนท้องถิ่น  ให้ชุมชนท้องถิ่น เป็นผู้กำหนด   เราจึงจะก้าวพ้น เกมส์แห่งอำนาจนี้ได้..”

สังคมไทยเรามีการบริหาร 3 ระบบ คือ ระบบส่วนกลาง ระบบภูมิภาค และระบบท้องถิ่น ระบบส่วนกลาง และระบบภูมิภาค มีอำนาจสูงกว่าระบบท้องถิ่น(แม้จะป็นระบบท้องถิ่นภาคประชาชน  ชุมชน ภาคประชาสังคมก็ยังมีส่วนร่วมน้อย) งบประมาณกองรวมอยู่ที่ส่วนกลาง อำนาจการตัดสินใจทั้งหลายอยู่ที่ส่วนกลาง เวลาจะดำเนินการโครงการใดๆ ก็ตาม ท้องถิ่นจะเข้าไปมีบทบาทในนั้นได้น้อย นั้นหมายถึง ประชาชนเข้าไปมีส่วนในการตัดสินตรงกลางได้น้อย แทบจะเรียกว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น เมื่อท้องถิ่นตัดสินใจเลือกโครงการของตนเองไม่ได้ ส่งผลให้โครงการที่ถูกกำหนดมาจากศูนย์กลางอำนาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นหลายอย่างจะไปขัดแย้งกับ วิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคม ของชุมชนนั้นๆ

 “...ท้าทายเลยว่า ถ้าสังคมไม่หนีออกจากกรอบคิดนี้ กรอบโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่ทุกวันนี้สังคมมันแตกแยกปะทุไปสู่ความรุนแรง แล้วจะนำไปสู่สงครามการเมืองได้ในอนาคต ดังนั้นต้องกล้าที่จะคิดนอกกรอบ ทำอย่างไรถึงจะทำให้ศูนย์กลางอำนาจมันเล็กลง แล้วไปสร้างอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่น ก่อนที่สถานการณ์จะจัดการปัญหาของตัวมันเอง ความรุนแรงจะน้อยจะมากก็ขึ้นอยู่กับการจัดการนี่เอง แต่ถ้าไม่จัดการถึงที่สุดความขัดแย้งบานปลาย สังคมเราลำบากแน่ นี่คือความจำเป็นที่จะมาคิดนอกกรอบ นอกกรอบจากที่เราเคยคิด...”

ถ้าจังหวัดสามารถจัดการตนเองได้ ปัญหาในทางการเมืองที่เกิดขึ้นมันจะย่อส่วนลงมาจากเวทีระดับชาติ จะกลับมาสู้ในเวทีระดับจังหวัด คำว่า เหลือง-แดง เป็นแนวความคิดระดับชาติ ที่พูดเมื่อวาน เพราะว่าทุกแบ่งจากศูนย์กลางลงไปถึงตัวท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงประชาชนทั้งหลาย อันนี้จึงแบ่งขั้ว ปัญหาตอนนี้คือว่า ถ้าเราเสนอแนวความคิดแบบแนวตัดขวาง ไม่ใช่แนวความคิดแบบแนวตั้งแนวนอน แนวตัดขวางก็คือตรงนี้จะกลายเป็นเรื่องของท้องถิ่น ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของศูนย์กลาง ดังนั้นวิธีคิดความเป็นเหลือง-แดงจะลดตัวเองลงมาในระดับของท้องถิ่น ดังนั้นที่จริงแล้วเป้าไม่ได้เป็นการยึดอำนาจศูนย์กลางเหมือนกับเหลือง-แดง แต่ว่าเป้ามันจะดูว่าสู้กันในระดับท้องถิ่นอย่างไร

 .ท้องถิ่นจัดการตนเอง ; เปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่จังหวัด

 “..ศูนย์กลางอำนาจ หรือโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมก่อให้เกิดปัญหามากมายเกิดการแบ่งแยกทางความคิด แบ่งแยกทางสังคม เราต้องทบทวน “การจัดการทางอำนาจใหม่” เท่านั้นจึงจะเป็นทางออกของปัญหานี้ได้..”

 การจัดการทางอำนาจใหม่ มีความหมายว่า ภาคประชาชนที่อยู่ในแต่ละท้องถิ่นจะเข้าไปมีบทบาทในท้องถิ่นนั้นๆ ได้อย่างไร ดังนั้นคนจะหันความสนใจมาต่อสู้กันในระดับท้องถิ่น ซึ่งถ้ากระจายอำนาจออกไป 76 ธง เมื่อมีปัญหาก็กับไปต่อสู้กันในท้องถิ่น ดังนั้นจะทำให้ทุกคนหันมาดูเรื่องท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น

ถ้ามองหารู้แบบท้องถิ่นจัดการตนเองในเมืองไทยตอนนี้มี 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร และพัทยา แต่ก็ยังไม่ใช้ต้นแบบของการจัดการตนเองที่สมบูรณ์ ถึงแม้ว่าผู้ว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้ว่ายังอยู่ในกำกับของส่วนกลาง มันไม่มีความหมายเลย

ท้องถิ่นจะจัดการตนเอง ต้องจัดการตนเองได้แทบทุกด้าน ยกเว้น 2 เรื่อง คือ การรักษาความมั่นคง และการต่างประเทศ หมายถึง นโยบายต่างประเทศ หรือความสัมพันธ์ต่างประเทศ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง ความสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างประเทศ

ตอนนี้ประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มแบบนี้ทั้งสิ้น อาจจะยกเว้นประเทศเผด็จการบางประเทศ นอกนั้นเมืองมันจัดการตัวเองได้ทั้งสิ้นแล้ว ไม่ว่าจะญี่ปุ่น อังกฤษ ประเทศอังกฤษไม่มีภูมิภาคมีแต่ส่วนกลาง กับท้องถิ่นแม้กระทั่งประเทศฟิลิปปินส์ ถูกจัดการโดยเมืองทั้งหมด เหลือประเทศไทยที่ยังจัดการโดยศูนย์กลางอำนาจ เพราะเราดำรงว่าต้องเป็นรัฐเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้

 นี้ไม่ใช่การแบ่งแยก

มันเป็นการบริหารราชการแผ่นดินแบบกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

แต่ถ้าคุณไม่จัดการ มันจะถูกแบ่งแยกในที่สุด

๔. ขับเคลื่อน สู่ จังหวัดจัดการตนเอง ; “..ช่องทางการเคลื่อนงานจังหวัดจัดการตนเอง

 ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา78(3) กระจายอำนาจให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง...รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่โดยคำนึง ถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้นและมาตรา163 ประชาชน 10000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย...”

 ตอนนี้ถ้าจะเคลื่อนงานจังหวัดจัดการตัวเอง มี 3-4 ยุทธศาสตร์ คือ

  • ต้องทำงานเครือข่าย ต้องสำรวจต้นทุนตัวเอง ถ้าจะทำเรื่องนี้ ต้องสำรวจตัวเอง
  • งานทางด้านวิชาการ งานข้อมูล ในจังหวัดนั้นๆต้องรู้ว่าประชากรมีเท่าไหร่ สถิติ ภาษี ชาติพันธุ์ กลุ่มคนทางด้านภูมิสังคม ภูมิวัฒนธรรม เป็นอย่างไร เพราะว่าจะมีส่วนสำคัญในการยกร่าง หมายความว่า ร่างนี้ ทำอย่างไรถึงจะทำให้มันจัดการตัวเองแบบมีส่วนร่วม หมายความว่า ไม่ใช่มีส่วนร่วมเฉพาะ แต่ถ้ามันถูกปฏิบัติการไปแล้ว มันจะต้องสร้างการมีส่วนร่วม
  • ต้องทำการยกร่าง พรบ.ไปพร้อมๆกัน รวบรวมความคิดทั้งหลายขึ้นมาประกอบยกร่าง เนื้อหาก็ขึ้นอยู่กับประชาชนในจังหวัดจะเสนออย่างไร เช่นการศึกษา การสาธารณสุข การท่องเที่ยวการจัดการสิ่งแวดล้อม การค้าการขายการพาณิชย์รวมทั้งการจัดเก็บภาษี เป็นต้น เพื่อที่จะประกอบ 10,000 รายชื่อ เพื่อที่จะผลักดันเข้าไปใช้ตามรัฐธรรมนูญ

 “..การออกแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่เพียงแต่แค่การไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง ที่เรียกว่า ประชาธิปไตยสี่วินาทีเท่านั้น แต่หมายถึงการมีส่วนในการตรวจสอบ การมีส่วนร่วมในการบริหารการเมือง เช่นการเป็นกรรมาธิการจังหวัด  การเป็นคณะทำงานด้านต่างๆ  หรือการจัดกลไกการบริหารจัดการร่วมกันในรูปแบบต่างๆที่มีกฏหมายรองรับเป็นต้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับออกแบบการเมืองใหม่  การจัดการอำนาจใหม่ที่จะทำให้จังหวัดมีจัดการตนเองแบบมีส่วนร่วมนั่นเอง...”

ในเรื่องจังหวัดจัดการตัวเองที่คุณสวิง ตันอุดนำเสนอนี้ ทางสถาบันการจัดการความรู้ทางสังคมจะได้จัดพิมพ์เอกสารเป็นรูปเล่มเผยแพร่ในโอกาสต่อไป

หมายเลขบันทึก: 356799เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2010 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ขอบคุณครับคุณTanuP

ในเวทีมีการเอ่ยถึงเมืองน่านบ่อยครั้ง  มีคนเมืองน่านอยู่ในเวทีด้วย(คุณพลากร_เป็นคนน่านเมื่อนานมาแล้ว)

อยู่โพธาราม ทำไม คนเมืองราด จึงมี ส.ส. อย่างนายอริสมันต์และนายเชาวรินทร์

ภาคพลเมืองเป็นเช่นไร ทำไมจึงได้ ส.ส. เป็นเช่นนี้ครับ

คุณมนัสนันท์รครับP

  • คุณเชาวรินทร์เป็นส.ส.ระบบสัดส่วน   จากภูมิภาคของหลายๆจังหวัดครับ
  • คุณอริสมันต์ เคยเป็น ส.ส.กรุงเทพ ไม่เคยเป็นส.ส.ราชบุรี
  • แต่ทั้งสองท่านเป็นคนราชบุรี  ผมเป็นเขยราชบุรีครับ(ถึงวันนี้ก็เป็นคนราชบุรีไปแล้วหล่ะ)
  • การเมืองเรื่องการเลือกตั้งเป็นประเด็นปัญหาร่วมเชิงโครงสร้างของบ้านเรา  แต่ละจังหวัดแต่ละภูมิภาคมีที่มาที่ไปที่แตกต่างกันไปครับ การตัดสินใจอาจมีฐานคิดที่แตกต่างกันออกไปครับ
  • ขอบคุณครับที่มาแวะเยี่ยมแลกเปลี่ยนทัศนะกันครับ

ในการชุมนุมคร้งนี้ได้ข่าวว่า ส.ส. เชาวรินทร์ เกณฑ์ วินมอเตอร์ไซต์รับจ้างจากราชบุรีไปป่วนที่ กทม.ครับ

คุณกำธรครับP

  • ผมก็ได้ยินข่าวทำนองนี้เหมือนกันครับ
  • รวมทั้งได้ยินเรื่องมุมมองที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย
  • เรื่องปรากฎการณ์ทางการเมืองที่พึ่งจะเกิดขึ้นใหม่นี้มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไปเยอะเลยครับ
  • เราได้เรียนรู้ร่วมกันแล้วว่า   และมีความมุ่งมั่นร่วมกันว่าเราไม่อยากให้บ้านเมืองเราเป็นแบบนี้เลยครับ

สวัสดีครับท่านอทจารย์ สุเทพ "การจัดการทางอำนาจใหม่” ให้เป็นการปฏิรูปประเทศไทยจากฐานราก "

เห็นด้วยครับ การเมืองภาคพลเมืองที่พัทลุงก็นัดคุยกันหลายครั้ง

แต่จากการร่วมเวทีตัวแทนจากสภาองค์กรชุมชน ยังติดอยู่กับการเมืองแบบตัวแทน การเมืองภาคพลเมือง จังหวัดจัดการตัวเองต้องจัดการเรียนรู้

เราให้ความสำคัญกับคนที่เราเลือกไปมากเกินความจำเป็น (เชิญสส.มาเปิดงาน เชิญข้าราชการมาเปิดงาน ชาวบ้านมารอรวมเวลารอของคนทั้งหมด เพื่อรอคนๆเดียว)ประชาชนต้องมาก่อนทุกสมัยครับ

ท่านวอญ่าครับP

การเมืองภาคพลเมืองที่พัทลุงก็นัดคุยกันหลายครั้ง

ยินดีด้วยกับพี่น้องพัทลุงครับท่านวอญ่า

คุยไปขับเคลื่อนไปทีละคืบทีละศอก..ขอให้มีการเคลื่อนไหว...ให้กำลังใจ

จัดหวัดจัดการตนเอง คล้ายๆ กับระบบ สหรัฐ ของ อเมริกา รึป่าวครับ

สวัสดีครับคุณบีเวอร์P

จังหวัดจัดการตนเอง เป็นเพียงร่างความคิดต่อแนวทางการกระจายอำนาจหรือการคืนอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่น

รูปแบบเป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกันคิดช่วยกันออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทสังคมไทยครับ

ขอบคุณครับ

เห็นด้วยกับการปฏิรูปโฉมใหม่แบบกระจายอำนาจ หากแผนที่ว่าจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี อย่างรัดกุมรอบด้าน

เนื้อหาก็ขึ้นอยู่กับประชาชนในจังหวัดจะเสนออย่างไร เช่นการศึกษา การสาธารณสุข การท่องเที่ยวการจัดการสิ่งแวดล้อม การค้าการขายการพาณิชย์รวมทั้งการจัดเก็บภาษี

อ่านแล้วรู้สึกตื่นเต้นมากๆ เลยค่ะ ... ขอไปคิดและมองภาพนะคะว่าจะออกมาเช่นไร แบบยัง มีบางจุดที่สงสัย (จะมาใหม่อีกรอบ ขอบพระคุณค่ะ )

 

สวัสดีครับคุณปู P

การประชุมเชิงปฏิบัติการ "ระบบจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น เพื่อการขับเคลื่อนสู่นโยบายสาธารณะ" วันที่ 7 - 8 พ.ค. 53 ที่เชียงใหม่ จากการพูดคุยถึงโรดแม็ป” แผนการปรองดอง 5 ข้อนั้น  ดูเวทีจะให้ความสำคัญกับกระบวนการการปรองดองข้อที่ 2 เป็นพิเศาครับ คือหัวข้อ “การปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่”  เพื่อสร้างความเป็นธรรม  ความเสมอภาคในสังคม  สวัสดิการสังคม การศึกษา สาธารณสุข อาชีพ  การมีรายได้ ที่ทำกิน หนี้สินอย่างเป็นรูปธรรม ตามคำแถลงของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย  ถึงการแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นปัญหาอยู่กับบ้านเมืองของเราในปัจจุบัน เมื่อวันที่3 พ.ค. เวลา 21.15 น. ณ ศาลากิตติสุข กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ดังความละเอียดของเรื่องนี้ว่า

องค์ประกอบที่ 2 ของกระบวนการของการปรองดอง คือ การปฏิรูปประเทศ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนั้น อาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่ข้อเท็จจริงมีรากฐานมาจากความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในสังคม ที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายคนที่มาร่วมชุมนุมมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม มีความรู้สึกถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับโอกาส ถูกรังแกจากผู้ที่มีอำนาจ  ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราปล่อยให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ เงื่อนไขเหล่านี้จะถูกดึงเข้ามา และสามารถสร้างความขัดแย้ง ไม่ใช่เฉพาะในทางการเมือง ถึงเวลาแล้วที่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนจะได้รับการดูแลด้วยระบบสวัสดิการที่ดี และมีโอกาสเท่าเทียมกัน ทั้งเรื่องการศึกษา สาธารณสุข มีอาชีพ มีรายได้ มีความมั่นคงในชีวิต รวมไปถึงการที่พี่น้องประชาชนที่มีความทุกข์ร้อนเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่มีที่ทำกิน มีหนี้สินท่วมตัว หรือคนที่มีความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสในทางใดทางหนึ่งนั้น จะต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ

ครับ หากได้มีการข้อแถลงเช่นนี้ด้วยความจริงใจแล้ว  นายกประเทศไทย จะชื่ออะไร จะสังกัดพรรคไหน ชื่นชอบสีอะไร  จะมีเบื้องหลังความเป็นมาอย่างไร จะมือเปื้อนเลือดหรือขาวสะอาด  ผมคิดว่าก็เป็นเรื่องที่คนไทยเราทุกคนควรให้ความร่วมมือครับ มิใช่เพื่อนายกหากแต่เพื่อคนไทยทุกคนครับ

ทั้งนี้สำหรับการปฎิรูปภาคสังคม ตามกระบวนการการปรองดองข้อที่ 2 นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ เป็นวาระพิเศษ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 12-13 พ.ค. 53  เพื่อรวบรวมปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างความไม่เป็นธรรมทั้งหมด โดยคณะกรรมการชุดนี้มีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นประธานครับ ในวันนั้นจะมีตัวแทนจากภาคชุมชน ภาคประชาสังคม และภาคีการพัฒนาด้านสังคมเข้าร่วมประชุมกันอย่างกว้างขวางครับ

หากแต่ผมยังติดงานในพื้นที่แถวป่าห้วยขาแข้ง นครสวรรค์จึงไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย(จริงๆแล้วอยู่ปลายแถวครับ)

สวัสดีค่ะ พี่สุเทพ

อ่านทัศนะที่พี่เขียนเยอะเลยค่ะ "ชุมชนจัดการตัวเอง" กับการใช้แนวทางที่บอกว่า "พื้นที่เป็นตัวตั้ง "น่าจะเป็นแนวเดียวกันนะค่ะ แต่ขณะนี้แนวทางนี้ประชาชนคนไทยจะมีกระจิตกระใจคิดหาหนทางให้ประเทศเดินหน้าได้หรือเปล่านะ พอดีหยุดหลายวันค่ะได้มีโอกาสอ่านข้อความและข้อคิดเห็นจากหลาย ๆ ท่านค่อยคลายเครียดหน่อย หลายวันนี้ เห็นภาพข่าวทุกวันนึกไม่ออกว่าทำแบบนี้กันไปทำไม นี่หรือประชาธิปไตย มีลูกจะอธิบายกับลูกอย่างไรให้เข้าใจ "ประชาธิปไตยดีค่ะ"

สวัสดีครับน้องกุ้ง_วรรณา สีหาทัพP

  • แนวคิด "ชุมชนจัดการตัวเอง" "จังหวัดจัดการตัวเอง" กับ "พื้นที่เป็นตัวตั้ง" และ "การฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น" เป็นพี่น้องตระกูลเดียวกันครับ
  • ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นผลกระทบจากหลายๆปัจจัย
  • การฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่น การมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน มีเวทีการปรึกษาหารือในรูปแบบต่างๆเพื่อสร้างอนาคตที่ดีงามร่วมกัน...เป็นภาระกิจร่วม  ซึ่งแน่นอนเรามีส่วนสำคัญในการเอื้อกระบวนการเรียนรู้ครับ
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท