ทำไมช่วยแต่เด็กกรุงเทพฯ


สุรินทร์ เชียงใหม่

ทำไมช่วยแต่เด็กกรุงเทพฯ

           มีจดหมายลงทะเบียนส่งจากจังหวัดสุรินทร์มาถามผมหนึ่งคำถาม และจากเชียงใหม่อีกหนึ่งคำถาม  ซึ่งผมขอสรุปยกเอาโจทย์คำถามเหล่านั้นมาตอบเป็นข้อๆ ไป ดังนี้ครับ

               คำถามข้อที่หนึ่ง...ได้ข่าวว่าครูหยุยเป็นคนจังหวัดสุรินทร์จริงหรือเปล่าครับ  แล้วทำไมไปช่วยเด็กที่กรุงเทพฯ ไม่ช่วยเด็กที่สุรินทร์ละครับ

               ตอบ...ผมเกิดที่สุรินทร์และอยู่จนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ถึงได้เข้ามาเรียนต่อที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เมื่อจบก็ทำงานกับมูลนิธิเด็กที่มีอาจารย์หมอประเวศ วะสี เป็นผู้จัดการ โดยไปทำงานเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก กาญจนบุรี สองปีครึ่ง จากนั้นเข้ามาทำงานที่ส่วนกลางในมูลนิธิเด็กเรื่อยมาจนถึงปี 2529 ถึงได้ร่วมกับเพื่อนๆ ออกมาตั้ง “มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก”ขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ทุกคนในประเทศไทย  ดังนั้นการอยู่กรุงเทพฯ จึงอยู่เพราะมูลนิธิฯ ตั้งอยู่ที่นี่  แต่การช่วยเด็กนั้นช่วยทั้งประเทศ  เด็กสุรินทร์นั้นก็ช่วยไว้มาก ทั้งที่อพยพเข้ามาอยู่ในสลัมกรุงเทพฯ  ที่เข้ามาอยู่กับพ่อแม่ที่ทำงานก่อสร้าง ที่ถูกหลอกเข้ามาขายแรงงานและได้ช่วยออกมา  รวมถึงที่เรียนอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ในจังหวัดสุรินทร์ซึ่งได้ระดมหาทุนการศึกษาไปมอบให้กว่า 1,000 คนแล้ว  รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนแก่โรงเรียน การพัฒนาครูในระดับต่างๆ อีกมาก

           สำหรับการช่วยเหลือเด็กๆ นอกเหนือจากที่อยู่ในกรุงเทพฯ นั้น ผมและเพื่อนร่วมงานมักจะแวะไปเยี่ยมเยียนเด็กๆ ตามต่างจังหวัดอยู่เสมอ ไปแต่ครั้งก็แวะในหลายจังหวัด แบ่งเป็นโซนๆ กันไป เช่นถ้าไปทางโซนอีสานใต้ ก็แวะตั้งแต่นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์  ศรีสะเกษและไปจบลงที่อุบลราชธานี เป็นต้น  การแต่ละครั้งนั้นก็ไปแบบ “กองคาราวาน”คือนำสิ่งของ เสื้อผ้า เครื่องเล่น อุปกรณ์การเรียนการสอน   ทุนการศึกษา ไปมอบแก่เด็กๆ ที่โรงเรียนห่างไกลย่านชนบทหรือชายแดนหรือย่านสลัมในจังหวัดนั้นๆ  

           คำถามข้อที่สองมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ...ถามว่าจะทำอย่างไรกับการแก้ไขปัญหาเด็กชาวเขาที่ถูกนำลงพื้นราบ  โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีการนำเด็กชาวเขาลงมาขอทานมาก หรือให้ขายดอกไม้หาเงินจากนักท่องเที่ยว

           ตอบ...ปัจจุบันนี้ ขอทานเป็นอาชีพที่หาเงินได้ง่ายและได้มาก วันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ยิ่งถ้าเป็นเด็กด้วยแล้วจะเรียกความสงสารและหาเงินได้หลายเท่าตัว  ดังนั้นพวกเขาจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ที่กรุงเทพฯมีหลายรูปแบบ มีทั้งรูปแบบการไปเช่าเด็กเล็กๆ มาอุ้มเร่ขอทาน  มีทั้งที่ไปชักชวนมานั่งขอทานและแบ่งเงินให้  มีทั้งที่หลอกมาอยู่ด้วยและบังคับให้ขอทานหรือขายของให้ได้จำนวนเงินตามที่ตั้งเป้าไว้ และมีทั้งที่ออกขอทานเองเพราะรู้ว่าทำแบบนี้ได้เงินง่ายเพื่อเอาไปเล่นเกมส์

           การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ที่กรุงเทพฯหรือจังหวัดใหญ่ๆ ทั่วไป รวมถึงที่เชียงใหม่นั้น  คงต้องช่วยกันแก้ไขหลายวิธีครับ  เช่น หนึ่ง...ช่วยกันรณรงค์อย่างกว้างขวางคือไม่ให้เงินขอทาน เมื่อไม่มีคนให้ ผู้เร่ขอก็ต้องเลิกไปในที่สุด   แต่ต้องทำข้อที่สองควบคู่ไปด้วยคือแจ้งให้หน่วยราชการคือพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (ประชาสงเคราะห์เดิม)ทราบและกำชับให้ออกมาจัดการดูแล คือนำตัวเข้าไปไว้ในสถานสงเคราะห์หรือส่งกลับถิ่นฐานเดิม  ที่สำคัญคือข้อที่สาม นั่นคือต้องใช้กลไกใหม่ที่มีอยู่ในทุกจังหวัด  ได้แก่คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด  ที่รวมทุกส่วนราชการและองค์กรพัฒนาเอกชนมาทำงานและวางแผนร่วมกัน โดยแจ้งขอให้คณะกรรมการชุดนี้ยกเอาเรื่องเด็กชาวเขาเป็นหนึ่งเรื่องที่จะร่วมกันแก้ปัญหา ดังที่หลายจังหวัดได้ดำเนินการมาแล้ว และสามารถจับกุมแก้งค์ที่หลอกพาเด็กมาขอทานได้หลายแก้งค์แล้ว

                  ครับ..ผมได้ตอบคำถามส่งไปทางจดหมายถึงผู้ถามแล้ว  สำหรับพื้นที่นี้เป็นการนำมาเผบแพร่ซ้ำ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์บ้างเช่นกัน

.............................................

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 355712เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2010 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 12:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนครูหยุย

  • ขอทาน หากขอไปเพื่อไป ทาน จริงๆ คงต้องช่วยเหลือกัน ตามที่พอจะกระทำได้นะครับ
  • แต่ หาก นำมาทำเป็น "อาชีพ ขอ แล้ว ไป แบ่งกันทาน" นี่ อีก ระดับหนึ่ง
  • หรือ "ขอ ไปแล้วนำเงินที่ให้ ไปทาน อย่างอื่น เช่น เฮ บุหรี่" นี่ ก้ อีแบบ หนึ่
  • ประเทศไทย เรานี่ มี เรื่องให้ทำอีกเยอะ นะท่าน
  • เสียใจ ที่คนไทย มัวทะเลาะกัน เงินที่ควรนำไปใช้ กับ "ผู้ด้อยโอกาส" เลย ใช้ไปอย่างไร้ คุณค่า ครับ

ช่วยเหลือเด็ก และสังคม เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท