หนังสือเล่มโปรด


                หากจะพูดว่าหนังสือเล่มโปรด ก็คงจะไม่ถูกต้องนักควรจะใช้คำว่า “ชุด” จึงจะเหมาะกว่า เพราะว่าหนังสือชุดดังกล่าวนั้น เป็นวรรณกรรมที่ถูกแต่งขึ้นโดยศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ เรื่อง “เพชรพระอุมา” ซึ่งใช้นามปากกาว่า “พนมเทียน” นั่นเอง
                โดยวรรณกรรมชุดดังกล่าวนั้นเป็นที่รู้จักแพร่หลายของผู้นิยมการอ่าน เนื่องจากเป็นวรรณกรรมที่มอบความรู้สึกให้ครบทุกอารมณ์ เช่น เรื่องของความรักก็จะเป็นความรักระหว่างชายกับหญิง พี่กับน้อง นายกับบ่าว หรือ เพื่อนกับเพื่อน นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการผจญภัยในป่า ความรู้เรื่องอาวุธปืน การบอกเล่าถึงความเชื่อทางไสยศาตร์ของชาวบ้าน ความรู้เรื่องธรรมชาติและวิถีชีวิตในป่า  ซึ่งผู้แต่งใช้เวลาถึง 25 ปีในการประพันธ์เรื่องดังกล่าว โดยปัจจุบันสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรรม เป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์ในการตีพิมพ์และเผยแพร่ โดยมีความยาว 12 ตอนจำนวน 48 เล่ม
                เพชรพระอุมานั้น เป็นวรรณกรรมที่ดำเนินเรื่องส่วนใหญ่ในการเดินป่าเพื่อทำตามวัตถุประสงค์ต่างๆ โดยตัวละครหลักของเรื่องนั้น คือ พรานป่านามว่า รพินทร์ ไพรวัลย์ เป็นตัวเอก ม.ร.ว.หญิง ดาริน วราฤทธิ์ เป็นนางเอกของเรื่อง นอกจากนั้นยังมีตัวละครสำคัญอีกหลายตัว เช่น พ.ท.ม.ร.ว.เชษฐา วราฤทธิ์, พ.ต.ไชยยันต์ อนันตรัย, มาเรีย ฮอฟมัน และ แงซาย เป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่อง และประกอบด้วย เกิด เส่ย จัน และบุญคำ เป็นตัวละครที่คอยสร้างสีสันให้กับวรรรกรรมชุดดังกล่าว
                โดยในส่วนแรกนั้นเป็นเรื่องของการเดินทางเข้าไปยังเทือกเขาพระศิวะเพื่อเดินทางออกตามหา นายชด ประชากรหรือ ม.ร.ว. อนุชา วราฤทธิ์ ที่ได้หายไปในป่าโดยทราบเพียงว่ามุ่งหน้าสู่เทือกเขาพระศิวะ โดยคณะทั้งหมดนั้นไดมีการเดินทางที่หลากหลาย และชวนให้น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง และส่วนที่สองเป็นเรื่องของการกู้ระเบิดนิวเคลียร์ที่ทางสหรัฐฯได้บรรทุกมาและขาดการติดต่อไปบริเวณเทือกเขาพระศิวะ ตัวละครต่าง ๆ ที่ปรากฏในเพชรพระอุมา มีลักษณะนิสัยใจคอรวมทั้งบุคลิกภาพที่แตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน สามารถทำให้ผู้อ่านสร้างภาพตัวละครในจินตนาการของตนเองตามที่พนมเทียนได้ กำหนดเอาไว้ได้ โดยตัวละครทั้งหมดเหล่านี้พนมเทียนสร้างขึ้นจากจินตนาการและบุคคลที่มีตัวตน จริง ๆ โดยหยิบยืมลักษณะนิสัยบางส่วน นำมาแต่งเติมจนกลายเป็นตัวละครต่าง ๆ ที่ผู้อ่านเพชรพระอุมารู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งต้นแบบในการจำลองโดยอาศัยจากบุคคลที่มีตัวตนจริงนั้น เกิดจากการที่พนมเทียนได้ไปพบเจอในแต่ละแห่งตามแต่ชีวิตจริงของแต่ละคน ซึ่งแยกย้ายกันอยู่คนละแห่ง  รวมถึงการที่พนมเทียนได้สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของพรานป่าล่าสัตว์ในการดำรงชีวิตในป่า ที่ต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ในความชำนาญเกี่ยวกับถิ่นอาศัยและสภาพแวด ล้อมของป่าภายในประเทศไทย ความแตกต่างของลักษณะภูมิประเทศและสภาพอากาศตามแต่ลักษณะของป่า เช่น ป่าดงดิบและป่าผลัดใบลักษณะของรอยเท้าและหลักสำคัญในการสะกดรอยตาม โดยทักษะในเชิงพรานทั้งหมดของตัวละคร มาจากการที่พนมเทียนนำเอาทักษณะและประสบการณ์จริงของตนเองมาถ่ายทอดลงในเพชร พระอุมา เช่นเทคนิคการสังเกตตำแหน่งของการเดินป่า การสังเกตรอยเท้าของสัตว์ การสังเกตลักษณะของพืชและสัตว์ ตำแหน่งของทิศทาง รวมไปถึงศิลปะในการล่าสัตว์ของพรานป่าในสมัยก่อน
                ดังนั้นหนังสือชุดดังกล่าวจึงกลายเป็นที่นิยมของบุคคลทั่วไปได้โดยไม่ยาก ถึงแม้ว่าจะเคยอ่านไปแล้วก็ยังอยากวนกลับมาอ่านอีกครั้ง ไม่มีเบื่อนั่นเอง
หมายเลขบันทึก: 354959เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2010 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท