เงินตรา : สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้า อยู่หัว


เงินตราสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว



         ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  การเมืองการปกครองมีความมั่นคง  ศาสนารุ่งเรือง  เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก  และกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองแห่งการค้ากับต่างชาติ


         จดหมายเหตุของชาวโปรตุเกสผู้หนึ่งส่งถึงนายจอห์น  ครอเฟิร์ด  เจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษที่สิงคโปร์  มีข้อความสำคัญสรุปได้ว่า  เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์  พระองค์มีพระบรมราชานุญาตให้ทุกชาติที่เข้ามายังสยามสามารถค้าขายได้อย่างเสรี  โดยไม่มีข้อขัดขวาง  เพียงแต่ต้องจ่ายภาษีศุลกากรเท่านั้น

         วันที่  ๒๐  มิถุนายน  ๒๓๖๙  ไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาเบอร์นีกับอังกฤษ  ส่งผลให้ต้องยกเลิกระบบที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  และยังได้ลงนามในสนธิสัญญาแบบเดียวกันนี้กับชาติตะวันตกอื่นๆ  ทำให้การค้าเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ  มีเรือสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายเป็นจำนวนมาก  อย่างไรก็ดี  คู่ค้าสำคัญของไทยยังคงเป็นชาวจีนซึ่งมีความสัมพันธ์กันมาช้านาน

(เงินพดด้วง  ประทับตราพระแสงจักร – ปราสาท)

         เงินตราที่ผลิตขึ้นใช้ยังเป็นเงินพดด้วง  ประทับตราพระแสงจักร – ปราสาท  ตราปราสาทหมายถึงพระนามเดิมของพระองค์คือ  “ทับ”  (ที่ประทับซึ่งก็คือปราสาท  พดด้วงตราปราสาทมีทั้งสิ้น  ๘  ชนิดราคา  คือ  ตำลึง  กึ่งตำลึง  บาท  กึ่งบาท  สลึง  เฟื้อง  กึ่งเฟื้อง  และไพ  สำหรับพดด้วงราคาย่อยพบว่า  บางอันประทับตราปราสาทเพียงตราเดียว  ไม่มีตราแผ่นดิน  เพราะมีขนาดเล็กมากจนนีประทับ  ๒  ตราไม่ได้)

         นอกจากนี้ยังเริ่มมีการผลิตพดด้วงเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่างๆ อาทิ

(พดด้วงตราครุฑเสี้ยว)


         พดด้วงตราครุฑเสี้ยว  เป็นพดด้วงเงิน  ผลิตขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในงานพระเมรุพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เมื่อวันที่  ๒๙  เมษายน  ๒๓๖๘  มีราคาสิบสลึงหรือหนึ่งตำลึงจีนเพียงราคาเดียว  ด้านบนเป็นตราพระแสงจักร  ด้านหน้าเป็นครุฑเสี้ยว

(พดด้วงตราใบมะตูม)

 

         พดด้วงตราใบมะตูม  มีทั้งชนิดทองคำและเงิน  ผลิตเป็นที่ระลึกในงานพระศพกรมสมเด็จพระศรีลุลาลัย  พระราชชนนี  เมื่อวันที่  ๖  พฤษภาคม  ๒๓๘๑  มี  ๖ ชนิดราคาคือ  บาท  กึ่งบาท  สลึง  เฟื้อง  กึ่งเฟื้อง  และไพ

         “ใบมะตูม”  ถือกันว่าเป็นใบไม้มงคล  อันเป็นเครื่องหมายแทนตรีศูล  ซึ่งพราหมณ์ถวายแด่พระมหากษัตริย์ในงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ

(พดด้วงตราเฉลว)

         พดด้วงตราเฉลว  เป็นพดด้วงเงิน  มีราคาเดียวคือ  ชนิดราคาหนี่งบาท  ประทับตราเฉลวอยู่ด้านบน  ด้านหน้าไม่มีตราประทับ

         เครื่องหมาย “เฉลว”  มีหลายความหมาย  เช่น  ใช้บอกอาณาบริเวณหรือบอกเขต  ใช้ในการโฆษณาขายสิ่งของหรือใช้เป็นเครื่องรางให้หายจากโรค  โดยนำเฉลวมาปักไว้บนปากหม้อยาไทย  เชื่อว่าจะทำให้ผู้รับประทานยาหายจากอาการของโรคได้เร็วขี้น  ความหมายหลังสุดนี้  น่าจะตรงกับพระราชประสงค์ในการผลิตพดด้วงตราเฉลว  เนื่องจากมีราษฎรล้มตายเป็นจำนวนมากจากอหิวาตกโรคระบามเมื่อ  พ.ศ. ๒๓๙๒  นอกจากนี้  ยังมีผู้สันนิษฐานว่าโปรดฯ  ให้พระราชทานแก่ราษฎรคนละบาท  ตั้งแต่วันศุกร์  เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ  ปีจอ  โทศก  จ.ศ. ๑๒๑๒ (พ.ศ. ๒๓๙๓)  ซึ่งเป็นเวลาที่พระองค์ทรงพระประชวร

(พดด้วงตราปราสาทชนิดทองคำ)

         พดด้วงตราปราสาทชนิดทองคำ  ผลิตขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในงานฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  เมื่อวันที่  ๑๒  พฤษภาคม  ๒๓๙๑  ด้านบนเป็นตราพระแสงจักร  ด้านหน้าเป็นตราปราสาทมีกรอบล้อม  และในงานเดียวกันนี้ยังโปรดฯ  ให้ผลิต  พดด้วงตราดอกไม้  ทั้งชนิดทองคำและเงินด้วย

(เหรียญทองแดงในรัชกาลที่ ๓)

         พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง  ตลอดรัชกาลของพระองค์  โปรดฯ  ให้มีการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดเป็นจำนวนมาก  พระราชศรัทธานี้ส่งผลถึงด้านการผลิตเงินตราด้วย  ทรงเล็งเห็นว่าการใช้เบี้ยซึ่งทำมาจากเปลือกหอยที่เป็นสัตว์มีชีวิตนั้นเป็นบาป  จึงมีพระราชดำริที่จะทำเหรียญทองแดงขึ้นใช้แทนเบี้ยโดยโปรดฯ  ให้นายโรเบิร์ต  ฮันเตอร์  พ่อค้าชาวอังกฤษสั่งทำเหรียญลักษณะกลมแบน  เข้ามาถวายทอดพระเนตร ๒ แบบคือ  ตราช้าง – เมืองไท  ๑๑๙๗  และตราดอกบัว – เมืองไท  ๑๑๙๗  อย่างละ  ๕๐๐  เหรียญ  แต่เมื่อทอดพระเนตรแล้วไม่โปรดฯ  และถึงแม้ไม่ได้นำออกใช้แต่นับว่าพระองค์ทรงเริ่มมีแนวพระราชดำริที่จะผลิตเงินตราลักษณะกลมแบนตามแบบสากลออกใช้เป็นครั้งแรก

   
วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

ข้อมูลจาก


ธนาคารแห่งประเทศ

โดย เพื่อนนักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

หมายเลขบันทึก: 353991เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2010 18:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณข้อมูลดีๆมีประโยชน์ในการเรียนรู้ประวัติเงินตรามากค่ะ..นำเหรียญเก่าพระรูปรัชกาลที่หนึ่ง เนื่องในวันจักรี พ.ศ.๒๕๑๐ มาฝากค่ะ..

          

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท