สเปน : อาณาจักรวิสิกอธ - Visigoth Kingdom


ความเป็นมา

          วิสิกอธเป็นอนารยชนเผ่าเยอรมัน (Germanic Tribes) ย้ายถิ่นฐานมาจากแถบสแกนดิเนเวียราวศตวรรษที่ ๒ เข้มมายังลุ่มแม่น้ำดานูบฝั่งตะวันออก วิสิกอธเป็นเผ่าหนึ่งของพวกกอธซึ่งแบ่งออกเป็น วิสิกอธหรือกอธตะวันตก และออสโตกอธหรือกอธตะวันออก วิสิกอธถือว่าเป็นชนเผ่าที่เป็นบรรพบุรุษของชาวสเปนชนชาติหนึ่งเลยทีเดียว 

          ในระยะแรกวิสิกอธถูกกีดกันจากพวกฮั่นจึงมาขอพึ่งใบบุญจากกษัตริย์วาเลนส์แห่งกรุงคอนสแตนติโนเปิล (โรมันตะวันออก) ในปี ค.ศ. ๓๗๖ ในปี ค.ศ. ๓๗๘ วิสิกอธจึงได้ข้ามแม่น้ำดานูบมาถึงอาณาจักรโรมันตะวันออก แล้วทำการโค้นล้มพระเจ้าวาเลนส์โดยปลงพระชนม์ที่สนามรบแอนเดียโนเปิล (Adrianople) แต่ไม่สามารถยึดกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จ

          ในปี ค.ศ. ๔๑๐ พวกวิสิกอธเข้าล้อมกรุงโรม และปล้มสดมภ์ แล้วจึงข้ามเทือกเขาแอลป์ไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนกอล (ดินแดนฝรั่งเศสในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับชนเผ่า แวนดอล (Vandals) และ ซูวี (Suevi หรือ Swabia) ข้ามเทือกเขาพีรีนีสไปปล้มสดมภ์ของโรมันในคาบสมุทรไอบีเรีย (ประเทศสเปนในปัจจุบัน)

          ค.ศ. ๔๑๕ พวกวิสิกอธในกอลรับการว่าจ้างจากอาณาจักรโรมันให้ไปขับไล่พวกซูวีและแวนดอลในสเปน โดยอาณาจักรโรมันถือว่าพวกวิสิกอธเป็นพันธมิตร เมื่อเสร็จภาระกิจอาณาโรมันก็ยกดินแดนกอธิคกอธ (Gothic Gaul) หรือ ดินแดนเซพติมาเนีย (Septimanai) เป็นการตอบแทน และในปี ค.ศ. ๔๕๖ พวกวิสิกอธซึ่งในขณะนั้นได้ตั้งฐิ่นฐานอยู่ในแค้นกอลได้ถูกเรียกให้กลับไปรักษาความสงบในสเปนอีกครั้งเพื่อปราบปรามพวกซูวีที่ก่อการกบฏขึ้นมาอีกครั้ง

          จนถึง ปี ค.ศ. ๔๖๘ พวกวิสิกอธที่นำโดย อูริค (Euric) ก็เข้ายึดดินแดนทางตอนเหนือของสเปน ประกาศการเกิดขึ้นของอาณาจักรวิสิธกอธ (Visigoth Kingdom)  ในดินแดนสเปนโดยมีเมืองหลวงอยู่ที่บาเซโลนา และแต่งตั้งตนเองเป็นปฐมกษัตริย์ อาณาจักรนี้ดำรงอยู่ได้จนถึงปี ค.ศ. ๗๑๑ ก็ถูกพวกมัวร์ (Moors ชาวมุสลิมในสเปน) ยึดไป

 

สาเหตุที่ทำให้พวกวิสิกอธหมดอำนาจากสเปน

สาเหตุโดยทั่วไป

          สภาพภูมิศาสตร์ สเปนมีภูมิประเทศที่มีเทือกเขาสูงอยู่มากมาย ยากแก่การปกครองให้มีประสิทธิภาพทั่วถึง ดังนั้นเมื่อเกิดกบฏขึ้นจึงยากแก่การป้องกันและปราบปราม เพราะพวกกบฏหลบหนีขึ้นไปยังแถบภูเขาสูงทางตอนเหนือ เช่นเทือกเขาพีรีนีส

          ปัจจัยทางสังคม วิธีการปกครองของวิสิกอธสร้างความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมให้เกิดขึ้นระหว่างชนชาติวิสิกอธกับชนพื้นเมืองที่เป็น Hispanic Roman โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการใช้กฎหมาย ก่อให้เกิดการปกครองที่กดขี่ข่มเหง สร้างความพอใจให้กับชาวพื้นเมือง

          ปัจจัยทางศาสนา พวกวิสิกอธนับถือศาสนาคริสต์ศาสนานิกายอาเรียน (Arianism) ผู้เผยแพร่ลัทธิคือ แอริอัส (Arius) พระชาวกรีกซึ่งเสนอแนวคิดว่าพรเยซูคริสต์ไม่มีสถาณภาพเท่าเทียมกับพระเจ้า (God) แต่ถือว่าพระเยซูเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่พระเจ้าเคยสร้างมา ภายหลังจากแอริอัสเสียชีวิตในปี ค.ศ. ๓๓๖ แล้ว ก็มีผู้นำเอาคำสอนมาเผยแผ่จนเป็นที่นิยมกันในหมู่ของพวกอนารยชน จากคำสอนดังกล่าวทำให้นิกายแอเรียนไม่เป็นที่ยอมรับกันในกลุ่มของพวกคริสเตียน อีกทั้งยังขัดกับหลักตรีเอกานุภาพ (Trinity) คือพระผู้เป็นเจ้ามีสามสถานภาพคือ พระบิดา (The Father) พระบุตร (The Sun) พระจิต (The Holy Spirit) ชาวสเปนที่นับถือนิกายคาธอลิกจึงไม่ยอมรับนิกายแอเรียน เพราะถือว่าเป็นนิกายของพวกนอกรีต (Heretic)

          ปัจจัยชาวยิว ชาวยิวเป็นพวกหนึ่งที่อยู่ในสเปน เป็นพวกที่ทำการค้าเก่ง ร่ำรวยมีฐานะ เป็นเจ้าหนี้ของข้าราชการและประชาชนทั้งหลาย จึงสร้างความไม่พอใจให้กับพวกวิสิกอธ การปกครองยิวจึงมีลักษณะกดขี่ไม่ต่างจากชาวพื้นเมือง เช่นบีบบังคับให้ชาวยิวเปลี่ยนลัทธิความเชื่อเดิม ยกเลิกพิธีกรรมต่าง ๆ ห้ามยิวไม่ให้ทำการค้าขาย จนเมื่อพวกมัวร์บุกสเปน ชาวยิวจึงช่วยเหลือพวกมัวร์ในการโค่นล้มกษัตริย์วิสิกอธจนเป็นผลสำเร็จ

สาเหตุปัจุบัน

          เกิดปัญหาการขัดแย้งการสืบสันตติวงศ์ระหว่างการเลือกตั้งกับการสืบสายโลหิต กล่าวคือ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๘ กษัตริย์วิติชา (Wittiza)  สถาปนาเจ้าชายอาชิลา (Achila) ขึ้นเป็นกษัตริย์ควบคู่กับตนเองสร้างความไม่พอใจให้กับราชสำนัก เมื่อพระเจ้าวิติชาสวรรคต เกิดการแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างเจ้าชายอาชิลากับเจ้าชายโรเดอริก แห่ง เบอร์กันดี (Roderick Duke of Bergandy) ผู้ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากฝ่ายราชสำนักให้เป็นกษัตริย์ เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นเจ้าชายวิชิลาจึงไปขอความช่วยเหลือจากพวกมัวร์ ให้ส่งกำลังทหารมาสนับสนุนตนเป็นกษัตริย์ เมื่อเจ้าชายวิชิลาขึ้นเป็นกษัตริย์แล้ว พวกมัวร์กลับไม่ยอมออกไปจากสเปน อีกทั้งยังยึดราชบัลลังก์จากษัตริย์วิชิลาอีกด้วย อาณาจักรวิสิกอธจึงถึงการล่มสลายลงในปี ค.ศ. ๗๑๑ ด้วยสาเหตุการชักศึกเข้าบ้านนี้เอง

 

ผลจากการที่วิสิกอธหมดอำนาจ

          ทำให้เป็นถูกยึดครองโดยพวกมัวร์ที่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้พวกคริสเตียนต้องอพยพขึ้นไปอยู่ทางตอนเหนือของคาบสมุทรไอบีเรีย พวกมัวร์ได้สถาปนาการปกครองในระบอบกาหลิบขึ้น ถึงกระนั้นก็เกิดผลดีอย่างมาหาศาลต่อประเทศสเปนคือ เกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมโรมัน-คริสต์เดิมและวัฒนธรรมอิสลามที่มาจากตะวันออก นับตั้งแต่ปี ค.ศ. ๗๑๑ เป็นต้นมา สเปนเป็นประเทศหนึ่งเดียวในยุโรปที่สู่ยุครุ่งเรื่อง ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ของยุโรปเข้าสู่ยุคมืดที่ครอบงำโดยศาสนาคริสต์และศาสนจักร เกิดวิทยาการและสภาปัตยกรรมมากมายในดินแดนสเปน สเปนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพวกมัวร์กว่า ๗๐๐ ปี  

          ยุคที่เกิดขึ้นหลังจากนี้จะเป็นยุคแห่งการทวงดินแดนคืนขอแงพวกคริสเตียนที่เรียกว่า Reconquista หรือ Reconquest เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. ๗๑๘ และสำเร็จในปี ค.ศ. ๑๔๙๒ ในรัชสมัยของกษัตริย์เฟอร์ดินานและพระนางอิสเบลล่าแห่งสเปน                                                

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล. ละตินอเมริกา. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ตรัสวิน (ซิลค์เวอร์บุคส์). ๒๕๔๕.

ศฤงคาร พันธุพงศ์,รศ..ประวัติศาสตร์สเปนยุคใหม่. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ๒๕๔๘.

หมายเลขบันทึก: 353985เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2010 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท