การบริหารความเสี่ยง (Risk Management)


บางครั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบและนำความเสียหายมาสู่องค์กรหรือโครงการที่กำลังดำเนินการ สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่า “ความเสี่ยง”

          เมื่อกล่าวถึงความเสี่ยง มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่คาดคิด การเกิดของเหตุการณ์เหล่านี้มักมีความไม่แน่นอนและพยากรณ์ได้ยาก บางครั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบและนำความเสียหายมาสู่องค์กรหรือโครงการที่กำลังดำเนินการ สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่า “ความเสี่ยง”

          การบริหารความเสี่ยงเป็นหลักสำคัญในการบริหารโครงการ ที่จะช่วยให้เรากำหนดแผนให้อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงกรณีต้องเผชิญกับความเสียหายหากไม่สามารถป้องกันได้ เพราะแท้ที่จริงแล้ว ความเสี่ยงก็คือ ความไม่แน่นอนนั่นเอง ส่วนที่มาของความเสี่ยงสามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้

         ด้านกายภาพ เป็นความเสี่ยงที่นำความสูญเสียหรือความเสียหายมาสู่บุคคล เครื่องมือ ข้อมูล หรือสิ่งปลูกสร้าง อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ ไฟไหม้หรือภัยธรรมชาติ

        เทคนิค เป็นความเสี่ยงอันเกิดจากเครื่องมือหรือระบบที่ไม่ทำงานหรือทำงานไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

        ด้านแรงงาน โดยเฉพาะบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อโครงการ ซึ่งอาจเกิดจากการเจ็บป่วย การสับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งงานหรือได้รับมอบหมายงานอื่นๆมากเกินไป

        ด้านการเมืองและสังคม เมื่อนโยบายภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดเหตุการณ์ประท้วงของประชาชน ตลอดจนการเสนอข่าวในแง่ลบของสื่อสารมวลชน ย่อมส่งผลกระทบต่อโครงการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

        ความเสี่ยงแต่ละประเภทมีโอกาสเกิดขึ้นแตกต่างกันและขณะเดียวกันผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีความรุนแรงแตกต่างกัน การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบจะช่วยสร้างทางเลือกในการตัดสินใจสำหรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น หากเหตุการณ์ใดมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยและมีผลกระทบต่ำ ผู้จัดการโครงการก็ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเหตุการณ์นั้นๆ หรือถ้าเหตุการณ์ใดมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงกว่าแต่ส่งผลกระทบน้อยก็อาจไม่ต้องดำเนินการใดๆ แต่ถ้าพอจะคาดคะเนได้ว่าอาจมีเหตุการณ์บางเหตุการณ์มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงและมีผลกระทบต่อโครงการมาก ผู้จัดการโครงการจำเป็นต้องวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เป็นความเสี่ยงนั้น ดังตารางต่อไปนี้

 

Low impact

Medium impact

High impact

High probability

 

 

 

Medium probability

 

 

 

Low probability

 

 

 

ตาราง Risk probability and impact

ที่มา. จาก Managing Projects in Human Resources, Training and Development. by Vivien Martin, 2006. p. 64

               กลยุทธ์สำหรับการบริหารความเสี่ยง เป็นทางเลือกเมื่อต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบที่จะเกิดกับโครงการ ซึ่งมีแนวทางดังต่อไปนี้

                การหลีกเลี่ยง (Avoiding risk) โครงการใดที่มีโอกาสเกิดความเสี่ยงสูงและส่งผลกระทบเสียหายอย่างรุนแรงควรจะหลีกเลี่ยงหรือยกเลิกในโครงการนั้น

                การลดความเสี่ยง (Reducing risk) ต้องมีการวางแผนและทบทวนแผนเป็นระยะ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียในโครงการได้รับรู้กระบวนการและยอมรับผลที่เกิดขึ้น

                การป้องกันความเสี่ยง (Protecting against risk) เป็นการประกันความเสี่ยงของโครงการโดยให้บริษัทรับประกันภัยจากภายนอก เข้ามารับความเสี่ยงแทน

                การจัดการความเสี่ยง (Managing risk) ความเสี่ยงคือ ความไม่แน่นอน ดังนั้น การทบทวนปรับเปลี่ยนแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์จึงเป็นการจัดการกับความเสี่ยงวิธีการหนึ่ง

                การถ่ายโอนความเสี่ยง (Transferring risk) การมอบหมายกิจกรรมในโครงการบางอย่างให้บุคคลหรือองค์กรอื่นที่มีความชำนาญมากกว่า จะช่วยลดความเสี่ยงมากกว่าการดำเนินการเอง

                การบริหารความเสี่ยงอาจถูกมองเป็นเรื่องนามธรรมมากกว่ารูปธรรม เพราะเป็นเรื่องของการคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคต แต่เป็นเรื่องจำเป็นในการบริหารโครงการ เพราะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงความสูญเสียได้ และหากมีความเสียหายเกิดขึ้น เราก็สามารถควบคุมให้อยู่ในระดับที่เรายอมรับได้ ซึ่งเป็นผลดีกว่าการเผชิญกับความเสี่ยงโดยที่เราไม่มีมาตรการใดๆรองรับเลย

หมายเลขบันทึก: 352532เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2010 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท