มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

สร้อยอักษร อ่อนพฤกษ์ภูมิ : เล่าเรื่องเหล้า...จากพื้นที่ ( ตอนที่ 5 )


ชื่อโครงการ โครงการก่อตั้งมูลนิธิอธิปุญฺโญ แจกจ่ายโค-กระบือ ให้กับผู้เลิกสิ่งเสพติด

แผนงาน สนองแนวพระราชดำริและนำนโยบายต่อต้านยาเสพติดพิชิตความยากจนของรัฐบาล

ผู้รับผิดชอบโครงการ หลวงปู่บุญรอด อธิปุญฺโญ  เจ้าอาวาสวัดถ้ำไทรทอง

หน่วยงานที่รับผิดชอบ วัดถ้ำไทรทอง  ต.ดงมูล  อ.หนองกุงศรี  จ.กาฬสินธุ์

ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๕ เป็นต้นไป  (ต่อเนื่อง)

...........................................................................................................................................

หมู่บ้านไทรทอง หรือถ้ำไทรทอง เป็นหมู่บ้านที่อยู่หลังเขาติดชายเขาดงมูล มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ห่างจากถนนดำประมาณ ๙ กิโลเมตร และคาบเกี่ยวอยู่ระหว่าง ๒ อำเภอ คือ อำเภอท่าคันโท และอำเภอหนองกุงศรี  มีประชากรทั้งหมด  ๖๔๕  คน ๑๕๙  หลังคาเรือน  


ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๓๐ บริเวณนี้เป็นไร่นาบุกเบิก ไม่มีการตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยถาวร เพราะเป็นพื้นที่ป่าที่เรียกว่า “ป่าดงมูล” ซึ่งในยุคการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ บริเวณนี้ก็เป็นสมรภูมิรบที่สำคัญ หลังจากสงครามสิ้นสุดลง พื้นที่นี้ก็เริ่มมีผู้คนจากบริเวณหมู่บ้านใกล้เคียงมาจับจองพื้นที่เพื่อ ทำนา บางครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเถียงนา


จุดเริ่มต้นของความเป็นชุมชน เริ่มจากหลวงปู่บุญรอด  อธิปุญฺโญ  ท่านได้เดินธุดงค์มาจากจังหวัดอุดรธานี เมื่อปี ๒๕๓๐ มาถึงป่าดงมูลบริเวณเทือกเขาภูโน จนกระทั่งได้พบถ้ำแห่งหนึ่งซึ่งเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนา จึงได้จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำนั้น และได้ออกบิณฑบาตกับชาวบ้านที่มาอาศัยอยู่ตามเถียงนาตามหัวไร่ปลายนา จนชาวบ้านเกิดศรัทธาและร่วมกันขุดขยายถ้ำให้มีขนาดใหญ่และเรียกถ้ำแห่งนี้ ว่า “ถ้ำไทรทอง” เนื่องจากบริเวณเหนือถ้ำมีต้นไทรขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันต้นไทรต้นนี้ยังเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่านา ๆ ชนิด 

 

เมื่อหลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ ได้มาจำพรรษา และได้ออกบิณฑบาต รวมทั้งมีปฏิปทาที่น่าเลื่อมใส ประกอบกับความต้องการที่ดินทำกินเพิ่มโดยการบุกเบิกพื้นที่ป่า หรือ คนที่มีที่ดินอยู่แล้วเริ่มอพยพ เข้ามาตั้งบ้านเรือนถาวรมากขึ้น จึงกลายเป็นชุมชนขึ้น ประมาณปี ๒๕๓๓


การทำกินทางการเกษตรของชาวบ้านได้บุกรุกป่าเพิ่มและเกิดปัญหา ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ จนกระทั่งกรมป่าไม้โดยโครงการพัฒนาป่าดงมูล๑ ได้รายงานปัญหาและทำเรื่องเสนอไปยังกรมป่าไม้ เพื่อหาแนวทางแก้ไข และขออนุญาตใช้ประโยชน์ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ จากสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ เพื่อดำเนินการจัดตั้งหมู่บ้านป่าไม้บริเวณบ้านไทรทอง 


ต่อมาในปีเดียวกัน กรมป่าไม้โดยกองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติได้จัดตั้งโครงการพัฒนาป่าดง มูล๒ ขึ้น และมอบหมายให้ดำเนินการจัดตั้งหมู่บ้านป่าไม้  เป็น บ้านไทรทอง  หมู่ที่ ๑๐  โดยให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายตามหัวไร่ปลายนาให้มาอยู่รวมกันโดย จัดที่ดินทำกินและจัดที่อยู่อาศัยให้ครอบครัวละ ๑๕ ไร่ เนื่องจากพื้นที่จัดตั้งหมู่บ้านอยู่ใกล้วัดถ้ำไทรทอง จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านไทรทอง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาหลวงปู่บุญรอด ได้ร่วมกันกับญาติ
โยมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ให้คงความอุดมสมบูรณ์ โดยการเพาะกล้าไม้เองเพื่อปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม


สภาพพื้นที่  เป็นที่ราบติดชายเขา อาชีพของประชาชนส่วนใหญ่ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และรับจ้างทั่วไป การทำนาในหมู่บ้านไทรทองทำได้ครั้งเดียว หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเลี้ยงวัว ควาย และรับจ้างปลูกบ้านภายในหมู่บ้านและตำบลใกล้เคียง  ส่วนครอบครัวที่ไม่มีเงินที่สามารถซื้อวัวและควายได้ ก็จะทำงานรับจ้างทั่วไปภายในหมู่บ้าน และบางส่วนก็เข้าไปขายแรงงานในกรุงเทพฯ 


การตั้งบ้านเรือนแบ่งการกระจุกตัวของบ้านเรือนออกได้เป็น ๓ คุ้ม โดยแต่ละคุ้มจะปลูกบ้านอยู่ติดกันยาวเป็นกลุ่ม  หมู่บ้านและวัดถ้ำไทรทองอยู่ห่างกันประมาณ ๒ กิโลเมตร 


ก่อนปี พ.ศ.๒๕๔๔ หมู่บ้านเต็มไปด้วยปัญหา 

ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแถบป่าดงมูลนี้มีการกินเหล้า ติดยาบ้า และการพนัน ซึ่งในหมู่บ้านไทรทองก็ไม่น้อยหน้าหมู่บ้านอื่น จนทำให้หลายครอบครัวล้มละลาย  บ้านแตกสาแหรกขาด และมีปัญหาทะเลาะวิวาทในหมู่บ้านเยอะมาก  เมื่อก่อนนี้ถ้าในหมู่บ้านมีงานบุญประเพณี  เช่น  ทำบุญขึ้นบ้านใหม่  งานศพ และงานบวช ต้องมีการตั้งวงกินเหล้า และมักมีปัญหาทะเลาะวิวาท มีเรื่องชกต่อยกัน ตีกัน แทบทุกงาน 


ถึงไม่มีงานบุญประเพณี ตามร้านค้าขายของชำและมีเหล้าขายในหมู่บ้านซึ่งมีอยู่จำนวน ๔ ร้าน ก็จะมีการตั้งวงกินเหล้ากันอยู่เป็นประจำ  ทั้งตอนเย็นและตอนเช้า หรือบางครั้งก็ตลอดทั้งวัน  และเมื่อกินเมาได้ที่แล้วเงินไม่มีก็ขอเซ็น หรือขอกินก่อนแล้วจ่ายทีหลัง บางครั้งบางคนติดหนี้เยอะแล้ว  เจ้าของร้านค้าไม่ให้เซ็น ก็จะทะเลาะกับเจ้าของร้าน และทำลายข้าวของในร้าน เป็นอย่างนี้อยู่ประจำ  จนทุกคนชินชากับเรื่องแบบนี้


ชาวบ้านหลายคนเล่าให้ฟังว่า  เมื่อก่อนนี้พอตกตอนเย็น ต้องคอยระวังข้างบ้านว่าจะมีบ้านไหนทะเลาะกันบ้าง พอทะเลาะกันแล้ว คนที่อยู่ข้างบ้านก็จะไปคอยห้ามปราม หรือคอยช่วยเหลือเพราะกลัวจะฆ่ากันตาย


 
กระบวนการทำให้ชุมชนห่างไกลอบายมุข
 
หลวงปู่บุญรอดได้ เห็นความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของชาวบ้านมาตั้งแต่ไม่มีชุมชน จนเป็นหมู่บ้านและมีคนจากบ้านอื่นย้ายมาอยู่เพิ่มมากขึ้น  เมื่อมีคนมาอยู่มากขึ้น ก็มีอบายมุขและเรื่องต่าง ๆ เข้ามามากขึ้น  หมู่บ้านก็เปลี่ยนไปเป็นหมู่บ้านที่ไม่สงบ มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำ ตอนบิณฑบาตตอนเช้าบางครั้งก็ได้ยินสามีภรรยาทะเลาะกัน  เพราะสามีเมาเหล้าและติดยาเสพติด  ซึ่งท่านได้เล็งเห็นปัญหาอย่างนี้มาหลายปี แม้ว่าท่านจะเทศน์ ปฏิบัติให้เห็น และสอนชาวบ้านตามหน้าที่ของพระสาวกในพระพุทธศาสนาอย่างไม่บกพร่องแล้วก็ตาม


จนเมื่อต้นปี ๒๕๔๔ ท่านได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่ามีหมู่บ้านตัวอย่าง ชื่อหมู่บ้านทรัพย์สมบูรณ์ จังหวัดพิจิตร สามารถพัฒนาเป็นหมู่บ้านสีขาว คือ มีการตั้งกฎเหล็กหมู่บ้าน มีมาตรการต่างๆ ทำให้หมู่บ้านลดปัญหาได้  จึงคิดว่า น่าจะชักชวนชาวบ้านให้เลิกเหล้ายาเสพติดและอบายมุขทุกชนิดอย่างจริงจัง ทำให้เป็นผลสำเร็จสักที่หนึ่ง  
“ตั้งใจจะทำให้ดีสักแห่งหนึ่ง อยากเน้นเรื่องคุณภาพ ทำให้ดีจริงๆ แล้วใช้เป็นตัวอย่าง ให้คนอื่นมาศึกษาดูงาน”


หลวงปู่ได้นั่งใคร่ครวญดูว่าการเทศน์สอนก็ทำมาแล้ว ก็ได้ผลในระดับหนึ่ง  ถ้าจะให้เป็นหมู่บ้านสีขาว จะใช้วิธีการแบบเดิมคงช้าและคนทำอาจจะแพ้ก็ได้ จึงคิดว่าจะทำให้คนเลิกเหล้าและยาเสพติดต้องทำงานเชิงรุกเข้าไปหาชุมชน  

นอกจากนี้ ท่านมีการวิเคราะห์พื้นฐานของคนว่า คนต้องการอาหารสองอย่าง คือ อาหารกาย และ อาหารใจ ดังนั้น จะต้องทำงานให้ได้ทั้งสองส่วน โดยควรมี “สิ่งล่อให้อยาก”  หรือ วัตถุสิ่งของทดแทนที่เขาต้องยอมอดเหล้า เป็นการล่อด้วยอาหารกายก่อน จึงได้ปรารภกับลูกศิษย์ใกล้ชิดถึงวิธีการดังกล่าว ดังนั้น ท่านจึงเริ่มจากการประกาศลูกศิษย์ใกล้ชิดก่อนว่า หากใครสามารถเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ อบายมุขทุกชนิดได้แล้ว จะมีรางวัลให้


" อาตมาก็ไม่รู้ว่าจะให้อะไร แต่ก็ประกาศไปก่อน "


เพราะเชื่อในแนวทางที่ว่าควรมีของรางวัล ให้ เป็นความตั้งใจ การประกาศแนวทางอย่างชัดเจนดังกล่าว ย่อมสร้างความไม่แน่ใจแก่ชาวบ้านว่าจะสามารถทำได้หรือไม่  จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้แนวทางของท่านเริ่มชัดเจนเป็นรูปธรรมขึ้น


ในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ เกิดลมพายุพัดบ้านของนายเจริญ วงศ์ไกล ซึ่งเป็นบ้านแฝก บ้านพังทั้งหลัง โดยที่นายเจริญยังอยู่ในสภาพที่เมาไม่รู้สติ  เมื่อลูกศิษย์ได้นำเรื่องไปแจ้งให้ท่านทราบ ท่านจึงลงมาที่บ้านและได้ดำริที่จะช่วยเหลือ โดยออกเงินให้ ชวนชาวบ้านมาทำบ้านให้ใหม่ โดยการทำบ้านนี้หลวงปู่ไปนั่งคุยด้วยทุกวัน การทำบ้านใหม่ใช้เวลา ๓ วันก็เสร็จ


" อาตมาต้องการทำให้สังคมเห็นว่า คนเมาที่สุดในหมู่บ้านก็ยังให้การช่วยเหลือได้ และนายเจริญเองก็ประกาศตนเองว่าจะเลิกเหล้า ทำอย่างนี้จะให้ชาวบ้านได้สำนึก ไม่ใช่เฉพาะคุณเจริญให้เกิดความรู้สึก เป็นคนดีของสังคม เป็นเยี่ยงอย่างของสังคม "


ต่อมาเมื่อมีการประชุมหมู่บ้าน หลวงปู่ก็เข้ามาประชุมด้วย และได้พูดเรื่องการช่วยเหลือนายเจริญ โดยให้ลูกเมียมาในที่ประชุมด้วย


" อาตมาก็ถามนายเจริญ ถามลูกเมียเขาว่า รู้สึกอย่างไร เมียเขาก็บอกว่า ดีใจมาก ไม่คิดว่าจะมีวันนี้ อาตมาก็ถามคนที่ไปช่วยสร้างบ้านให้ว่า เขาไปช่วยคนขี้เมา เขารู้สึกอย่างไร เขาก็บอกว่า พูดไม่ออก ตื้นตันใจ  วันนั้น อาตมาก็สอบถามว่า ใครอยากจะเลิกวันนี้ ก็มี ยกมือ ๓ คน คือ นายเจริญ วงศ์ไกล นายอุดร เนตรวงศ์ และนายมูลธรรม  พุทธทอน  อาตมาก็เอาน้ำเปล่าใส่ในบาตร สวดมนต์ และให้ทั้งสามคนดื่ม "


เป็นอันว่า สิ่งที่ท่านไม่แน่ใจว่าจะให้อะไรก็เกิดวิธีการขึ้นมาเอง คือ การสร้างบ้านที่อยู่อาศัยสำหรับคนที่อยากเลิกจริงๆ เป็นความต้องการที่ตรงเป้าหมายของคนในแถบนั้น และด้วยวิธีการที่ให้สมัครใจ เอาใจที่อยากจะเลิกก่อน  อีกทั้ง การให้การช่วยเหลือกับคนที่เมาที่สุดในหมู่บ้าน การเข้าไปร่วมประชุมกับชุมชนพร้อมชี้ประเด็นการช่วยเหลือว่ารู้สึกอย่างไร นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผล และเวลานี้เขาและครอบครัวก็กลายเป็น “คนวัด” ตั้งใจทำมาหากิน น้อมนำหลักศาสนามาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต 


หลังจากนั้น หลวงปู่เกิดความคิดว่าสิ่งที่น่าจะเป็นของรางวัลอีกอย่างคือ “โคกระบือ” ซึ่งได้จากผู้ที่ทำทานไถ่ชีวิต จากนั้นจึงวางหลักการว่าผู้ใดที่เลิกเหล้าได้ จะได้รับรางวัล ตั้งเป็นกฎเกณฑ์ขึ้นมา


ลูกศิษย์ใกล้ชิดทยอยเลิกเหล้าและสิ่งเสพติด พอเลิกได้ครบ ๑ ปี  หลวงปู่  ก็จัดพิธีมอบควายให้ในวันทำบุญวันเกิดของท่าน ในวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๕ เริ่มเป็นปีแรก ในเริ่มแรกบุคคลที่ได้รับรางวัลนี้ ยังมีไม่มาก แต่หลังจากนั้นเริ่มมีคนมาขอเลิกเหล้ามากขึ้น หลวงปู่จึงได้ชักชวนลูกศิษย์ก่อตั้งเป็นมูลนิธิอธิปุญโญ ขึ้น เพื่อให้เป็นองค์กรที่มั่นคง สามารถรับเงินบริจาคจากผู้ใจบุญ รวมถึงคนทำบุญที่ไถ่ชีวิตโคกระบือ ทำให้มีการจัดการเป็นระบบมากขึ้น  มูลนิธิอธิปุญฺโญ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนที่เลิกเหล้าและสิ่งเสพติดได้จนครบ ๑ ปี  โดยมอบควายให้และปลูกบ้านให้แก่คนที่เลิกเหล้าและสิ่งเสพติดได้จริง 


ขยายจากบ้านไทรทองสู่หมู่บ้านอื่นๆ


ปัจจุบันนี้หมู่บ้านไทรทอง  เป็นหมู่บ้านสีขาวแล้วเกือบ  ๙๐ %  ภายในหมู่บ้านไม่มีเหล้าขายแล้ว มีคนที่ยังดื่มอีก ๒-๓ คน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน ประกอบกับหลวงปู่ท่านได้ขยายสาขาของวัดออกไป มีพระลูกศิษย์ออกไปเป็นเจ้าอาวาส ท่านจึงสามารถขยายผลชักชวนให้คนที่อยากเลิกเหล้าออกไปในพื้นที่หมู่บ้าน อื่นๆ มากขึ้น


จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกทั้งภายในหมู่บ้านถ้ำไทรทอง และหมู่บ้านอื่นๆ ซึ่งเป็นคนที่เคยกินเหล้าอยู่ก่อนสมัครใจปฏิญาณเป็นคนเลิกเหล้าจำนวน  ๖๐๐ กว่าคน ด้วยเวลาเพียง ๕ ปี ดังนั้นการมอบควายและปลูกบ้านให้จึงใช้วิธีการจับฉลากแทนการมอบให้ตามคิว นับถึงปัจจุบันนี้ได้มอบควายให้ไปแล้วจำนวน ๖๒ ตัว  และปลูกบ้านหรือสร้างห้องน้ำให้ไปแล้วจำนวน ๗ หลัง 


กลยุทธ์ในการชวนให้ร้านค้าเลิกขายเหล้า 


การที่จะทำให้เลิกกันทั้งหมู่บ้านได้จริง ต้องทำให้ไม่มีการขายเหล้าในหมู่บ้าน เมื่อไม่มีเหล้าขายก็ไม่มีคนกิน อีกอย่างหนึ่งบ้านไทรทอง อยู่ไกลจากแหล่งชุมชนอื่นถึง ๙ กิโลเมตร  คงลำบากมากที่จะออกไปกินเหล้าไกลขนาดนั้น  โครงการนี้จึงเริ่มขึ้นในปี ๒๕๔๔


เบื้องต้นหลวงปู่คิดว่า  คงจะไปห้ามขายไม่ได้  เพราะเหล้าบุหรี่เป็นตัวกำไรของร้านค้า  ดังนั้นหลวงปู่จึงให้เกียรติร้านค้า โดยการเชิญเจ้าของร้านค้าซึ่งมีอยู่จำนวน ๔ ร้านภายในหมู่บ้านมาคุยที่วัด และได้อธิบายให้ฟังว่าการขายเหล้าและสิ่งเสพติดนี้ถือว่าเป็นความผิดศีล ธรรม  ตามหลักมิจฉาอาชีวะ คือ การค้าขายผิดศีลธรรม ๔ ประการ  ในหลักคิหิปฏิบัติ คือข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์  คือการค้าขายที่ผิดศีลธรรมจำนวน ๔ อย่าง

คือ  ๑) ค้าขายมนุษย์ 

๒) ค้าขายสุรา ของมึนเมา  

๓) ยาพิษ  

๔) ค้าขายสัตว์ให้เขาฆ่าเป็นอาหาร 


" เพราะเราขายเหล้าไป  ก็ถือว่าเราเป็นต้นตอให้คนอื่นทะเลาะกัน เป็นต้นตอให้คนอื่นขับรถชนกันตาย  เป็นต้นตอให้เด็กมีปัญหาเพราะครอบครัวแตกร้าว "


เมื่อพูดให้เจ้าของร้านค้าได้ฟังจนเข้าใจแล้วก็ให้เจ้าของร้านค้า กลับไปคิดและพิจารณาดู ทั้งนี้ หลวงปู่ก็ได้กำหนดส่งจูงใจเพิ่ม คือ ถ้าร้านไหนเลิกขายเหล้าได้ หลวงปู่ก็จะให้ควายเป็นของขวัญ และควายตัวนี้ พิเศษกว่าคนอื่น คือ คนกินเหล้าเมื่อได้ควายไปเลี้ยงแล้ว ตกลูกออกมา ลูกตัวแรกต้องคืนให้แก่มูลนิธิ  แต่คนขายเหล้าเมื่อเลิกขาย ไม่มีการเอาคืน 


" ผมเป็นคนที่ต่อต้านคนหนึ่ง ตอนที่หลวงปู่ชวนให้เลิก และที่บ้านผมก็ขายเหล้าเบียร์ด้วย ผมก็ชวนพรรคพวกไม่ใส่บาตร แต่ท่านก็ใช้วิธีการชวนผมไปพูดไปคุย ชี้ให้เห็นปัญหา จนผมละอายใจ และท่านก็ถามว่า อยากจะเป็นผู้นำหรือไม่ ผมก็ไม่ว่าอะไร รู้ว่าท่านปรารถนาดี และก็พยายามปรับตัวเอง จนสามารถเลิกได้ ปฏิญาณตนเอง และร้านค้าก็เลิกขาย "  

( นายไพบูลย์  ศรีจันทร์โคตร , ผู้ใหญ่บ้าน )


ใครอยากเลิกเหล้า มาขอออกเหล้ากับหลวงปู่


ในวิถีชนบทแล้ว พระสงฆ์มีบทบาทสูงมากทางด้านจิตใจ หลวงปู่ท่านเป็นเสาหลักให้แก่ชาวบ้านในหลายเรื่อง รวมทั้งเสาหลักยึดเพื่อช่วยให้จิตใจเข้มแข็ง ยึดเหนี่ยวไม่ให้ไหลไปกับความอยากของจิตใจ เมื่อต้องการอดเหล้า หรือภาษาบ้านนอกเรียกว่า “ออกเหล้า” หรือ “บวชเหล้า”


หลักการของหลวงปู่เน้นที่ความสมัครใจ ท่านจะสอบถามซักประวัติให้แน่ใจว่า หากอดเหล้าแล้วจะไม่เกิดอาการแทรกซ้อนมาก เพราะบางคนร่างกายติดเหล้าขาดไม่ได้แล้ว จะต้องทำการล้างพิษก่อน หรือค่อยๆ ลดปริมาณก่อน แต่โดยส่วนใหญ่จะยอมสมัครใจอดเหล้า  เสียดายที่ไม่ได้นับจำนวนคนที่มาขอออกเหล้ากับท่าน ซึ่งมีมาจากต่างจังหวัดก็มาก


ขั้นตอนในการออกเหล้ากับหลวงปู่บุญรอด

๑. ผู้ที่สมัครใจจะออกเหล้า  เตรียมขัน๕  เตรียมของ ๕ อย่าง  ได้แก่ ดอกไม้ ๕ สี , ธูป ๕ , เทียน ๕ ,หมาก และพลู มาถวายหลวงปู่และมาแจ้งความจำนงกับหลวงปู่ว่าอยากออกเหล้า

๒. หลวงปู่จะถามว่าแน่ใจหรือไม่  ให้เวลานั่งคิด

๓. หลวงปู่จะทำการสอน  พูดคุยเรื่องต่างๆ ให้ฟัง  ให้โอวาทถึงความรักของพ่อของแม่ที่มีต่อลูก  เมื่อลูกกินเหล้าพ่อแม่เป็นห่วงและลำบาก ต้องอดหลับอดนอน  คอยลูกกลับบ้าน   สอนเรื่องความรักของภรรยาและลูก  ครอบครัวจะเป็นอย่างไรถ้าเรากินเหล้า  เงินทองก็หมดไป  เป็นต้น

๔. ให้คนที่สมัครใจตั้งสัจจะ อฐิษฐานเอาเอง   ถวายขันห้าให้หลวงปู่ แล้วหลวงปู่ก็ให้พร   ไม่มียาสมุนไพรให้กิน   แต่หลวงปู่จะเน้นที่จิตใจ  ต้องเอาชนะใจตนเองให้ได้   


ตัวอย่างกลยุทธ์การจูงใจนักดื่มเพื่อให้เลิกกินเหล้า

๑) คนกินเหล้าไม่จ้างให้ทำงานภายในวัด 

โดยในวัดถ้ำไทรทองมีกิจกรรมก่อสร้างศาลาหรือทำอะไรก็ดีที่ต้องจ้าง ก็จะจ้างคนในชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้  แต่มีข้อแม้ว่า คนที่จะเข้ามาทำงานภายในวัด  ต้องเป็นคนที่ไม่กินเหล้า  ถ้ากินเหล้าไม่ให้มาทำ  ซึ่งขณะนี้ที่วัดถ้ำไทรทองมีการก่อสร้างศาลาการเปรียญอยู่ มีคนงาน ๒๐-๓๐ คน ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านที่ครั้งหนึ่งเคยกินเหล้าขนาดหนัก  แต่เดี๋ยวนี้กลับตัวกลับใจเลิกกินเหล้าตลอดชีวิต เป็นสมาชิก มูลนิธิอธิปุญฺโญ  ซึ่งบางคนได้รับแจกบ้าน  โค – กระบือ และห้องน้ำ จากมูลนิธิฯ ก็มี

๒) พระสงฆ์ร่วมกับชาวบ้านออกกฎหมู่บ้าน ตัดสิทธิคนกินเหล้าและยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ให้กู้เงินในกองทุนกลุ่ม สัจจะฯ  กองทุนเงินล้าน และกองทุน กขคจ.  หรือถ้าจะให้กู้ ก็สามารถกู้ได้น้อยกว่าคนอื่น


กิจกรรมเชิงรุกต่อเด็กเยาวชน
 
ตั้งแต่เกิดขึ้นเป็นหมู่บ้าน หลวงปู่ ได้ให้การสนับสนุนให้เกิดโรงเรียนโดยการบริจาคทรัพย์ซื้อที่ดินและสร้าง อาคารของโรงเรียนบ้านไทรทองอย่างเต็มที่ เพราะการศึกษาที่ดีจะช่วยพัฒนาบุคลากรที่ดี นอกจากท่านจะสนับสนุนกิจกรรมในโรงเรียนแล้ว ท่านยังชักชวนให้เด็กๆ มาที่วัดในช่วงวันหยุด โดยสอนให้เด็กรู้ถึงโทษภัยของเหล้า สิ่งเสพติด  และให้เด็กไปขอให้พ่อแม่ ลด ละ เลิก เหล้าและสิ่งเสพติด


พ่อแม่มาที่วัดก็พาเด็กๆ มาด้วย และเด็กๆ ชอบมาที่วัดเพราะมีขนมและอาหารจากบิณฑบาตมาแจก ก่อนที่จะแจกก็ให้มานั่งสมาธิ มาสวดมนต์ก่อน และบริเวณวัดก็กว้างขวางวิ่งเล่นได้สบาย


ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยเด็กหลายคนขอให้พ่อแม่ของตนเลิกกินเหล้าได้สำเร็จ  ซึ่งในปัจจุบันหลวงปู่จึงได้ความคิดว่า การสอนผู้ใหญ่สอนยากกว่าสอนเด็ก   เด็กสอนง่ายกว่า และถ้าสอนเด็กๆ จะไปบอกพ่อแม่ๆ ของเด็กจะเกิดจิตสำนึกอายลูกและคิดได้ถ้าลูกพูด  ดังนั้นเรื่องเหล้า บุหรี่ หลวงปู่ก็จะสอนเด็กผ่านไปถึงพ่อแม่และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ  


เรื่องการทิ้งขยะในหมู่บ้านก็เช่นกัน  ตอนเช้าหลวงปู่ออกบิณฑบาตจะถือถุง ๑ ใบ เก็บขยะตามทางไปด้วย  เพื่อทำให้ญาติโยมเห็น  เมื่อญาติโยมเห็นก็จะเกิดความละอาย เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีขยะให้เห็นในหมู่บ้านแล้ว  เมื่อวันเด็กที่ผ่านมา หลวงปู่เข้าไปในโรงเรียน ไปให้โอวาทเด็ก ๆ หลวงปู่เห็นขยะเยอะเพราะมีงานวันเด็ก  ก็เลยบอกให้เด็กเก็บขยะมาให้หลวงปู่ ถ้าใครเก็บได้มากมีรางวัลมาก  เด็กๆ ก็เก็บขยะมาเยอะมากแย่งกันเก็บเลย และมีการเก็บก้นบุหรี่มาด้วย  หลวงปู่ก็ตั้งคำถามกับเด็กว่า  ก้นบุหรี่มาจากไหน  ใครสูบ  ใครทิ้ง  ดีหรือไม่  เด็กก็จะตอบว่าไม่ดี และคนที่ทิ้งก็คือผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน  ก็คือ พ่อแม่ของเด็กๆ นั่นเอง 


หลวงปู่จึงบอกว่า กลับไปที่บ้านให้ไปบอกพ่อแม่เรากันนะว่าบุหรี่ไม่ดีอย่างไร หลวงปู่สอนมา และเมื่อสูบแล้วอย่าทิ้งก้นบุหรี่มั่วเพราะมันสกปรก  ทั้งหมดนี้คือการบูรณาการการสอน หลวงปู่บอกว่าการสอนทุกอย่างเริ่มจากเด็กและโยงไปให้ถึงเหล้า บุหรี่และอบายมุขได้ และเด็กจะได้ความรู้ว่ามันไม่ดี แล้วเด็กๆ ก็จะไปบอกพ่อแม่ต่อ เท่ากับยิงปืนนัดเดียวได้นก  ๒  ตัว

 

ชีวิตก่อนและหลังการดื่ม


นายถวาย   ชินเกตุ   อายุ ๔๑ ปี  ประสบการณ์ในการกินเหล้ามาตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี  จนถึงอายุ ๓๗ ปี ก็เลิก  ในขณะกิน กินหนักเมาแล้วก็มีปากเสียงกับภรรยาเป็นประจำ  เมาแล้วพูดไม่หยุด  จนอายุได้ ๓๓ ปี เริ่มกลับมานั่งคิดและตรึกตรองดูว่า  “เราจะกินเหล้าไปทำไม”  เมียก็บ่น   ทะเลาะกับเมียก็บ่อย  เหล้าไม่ได้หุงข้าวให้เรากิน ไม่ได้ซักผ้า ไม่ได้ดูแลบ้านให้เรา  เราจะไปกินมันทำไม  เมียเราซิทำทุกอย่าง  หุงข้าว  ซักผ้า  ดูแลเราอย่างดีทุกอย่าง ทำไมเราไม่ทำดีกับเมียเรา 

คำถามที่ว่า...เราไปกินเหล้าซึ่งเป็นสิ่งที่เมียไม่ชอบทำไม และมาคิดได้อีกว่า ผู้หญิงไม่ได้กินเหล้ายังอยู่ได้  เราเป็นผู้ชายทำไมจะหยุดกินเหล้าไม่ได้   และตอนนี้ลูกโตแล้ว ถ้ายังกินเหล้าอยู่จะทำให้สอนลูกไม่ได้  เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว  ประกอบกับพ่อแม่ก็สอน ก็บอก เมียก็บ่นและขอร้อง คนรอบข้างที่ไม่กินเหล้าก็บ่นรำคาญ หลวงปู่ก็ให้โอวาท เทศน์สอนเป็นประจำ  ก็เลยตัดสินใจไปขอออกเหล้ากับหลวงปู่

ชีวิตหลังเลิกเหล้าเป็นอย่างไร ? 

๑)  รู้สึกมีสุขภาพดีขึ้น  เมื่อก่อนถ้าทำงานหนักจะเหนื่อยง่าย  ทำงานไม่ค่อยทน รู้สึกเหนื่อยและเพลียง่าย  แม้ตอนกินเหล้าเมานั้นรู้สึกสนุกแต่พอหายเมาแล้วรู้สึกเพลีย และปวดหัวตอนเช้าเป็นประจำ ต้องดื่มซ้ำ(ถอน)ทุกเช้า   ตอนนี้น้ำหนักตัวเพิ่มหลังเลิกกินเหล้า

๒) เงินเหลือเก็บ   ซึ่งก็ไม่มาก แต่ก็มีเก็บมากกว่าตอนที่กินเหล้า เราไปรับจ้างเขามาได้มา ๕๐ บาท  ก็ถึงมือเมีย ๕๐ บาทเลย  ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะ ต้องเสียค่าเหล้าไปแล้วอย่างน้อยก็ ๒๐ บาท หรือถ้ามาเจอพวกเจอหมู่ก็หมดเลย ไม่ถึงเมีย ซึ่งทำให้คิดถึงเงินที่เสียไปในการซื้อเหล้ากินเมื่อก่อนนี้นับจนถึงวันที่ เลิกกินคงเยอะมาก  แทนที่จะได้เก็บไว้ให้ลูกเรียน หรือซื้อขนมให้ลูกกิน  เมื่อก่อนนี้มีเงิน ๒๐ บาท ลูกมาขอเงินซื้อขนมไม่ให้นะ  เอาไว้ซื้อเหล้ากิน  แต่เดี๋ยวนี้มีให้ลูกแล้ว  เหล้าไม่ได้กินแล้ว  เงินทองในครอบครัวดีขึ้น

๓) เมียไม่บ่น   ตอนที่กินเหล้าอยู่ทะเลาะมีปากมีเสียงกันเป็นประจำ  ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอยู่กันมาถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร  แต่หลังจากเลิกกินเหล้าแล้ว  ไม่มีทะเลาะกันเลย  รู้สึกว่าอารมณ์ไม่หงุดหงิด  ใจเย็น และมีเหตุมีผล  ใจดีมากขึ้น  ยอมรับฟังความคิดความเห็นของเมียมากขึ้น  ทุกวันนี้ทำให้ผมรู้สึกสงสารเมียผมว่าเมื่อก่อนตอนที่ผมเมามาแล้วบ่นบ้าง ด่าบ้าง ทำร้ายร่างกายบ้าง ทนอยู่ได้อย่างไร  แต่ทุกวันนี้ดีแล้วครับ  ไม่ทะเลาะกันเลย และรักกันมากขึ้น

๔) แม่ยาย พ่อตารัก  ตอนกินเหล้าพ่อตาแม่ยายก็บ่น  เข้าหน้าไม่ค่อยติด  ต้องคอยหลบหรือมีเรื่องขัดใจกันอยู่เรื่อย  แต่พอเลิกกินเหล้าไม่มีปัญหาอะไรเลย  พ่อตาแม่ยายเรียกใช้เรื่อย รู้สึกดีมาก

๕) ไปไหนใครก็เรียกกินข้าว เมื่อก่อนตอนเมาเหล้าพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง พูดกับใครได้ไม่นานมักหาเรื่องขัดใจกับคนอื่นไปเรื่อย ก็เลยไม่ค่อยมีใครอยากเรียกกินข้าวเท่าไร  แต่เดี๋ยวนี้เดินไปบ้านไหนก็เรียกกินข้าว  มีคนบอกว่า  เลิกกินเหล้าแล้วเพื่อนน้อยลง   เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง  เพราะทุกวันนี้ผมก็มีเพื่อนเยอะ และรู้สึกว่าจะเยอะกว่าตอนที่กินเหล้าเสียด้วย  และเพื่อนที่ไม่กินเหล้าเป็นเพื่อนที่มีคุณภาพ เป็นเพื่อนที่จริงใจนะ ไม่ใช่เพื่อนกินอย่างเดียวด้วย

๖) สอนลูกได้  ผมมีลูกชายโตแล้ว  ซึ่งเมื่อก่อนตอนผมกินเหล้า ลูกผมก็เริ่มกินด้วย  ผมจะสอน จะบอกลูก ก็ลำบากใจ ว่าเหล้าไม่ดีอย่าไปกินเลย  ทั้งๆ ที่ผมเป็นพ่อก็ยังกินอยู่  ทำให้สอนหรือบอกลูกได้ไม่เต็มปากนัก  แต่หลังจากเลิกกินเหล้าแล้ว บอก สอนได้เต็มปาก และทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีกับลูกได้  อธิบายกับลูกได้ว่าเหล้ามันไม่ดีอย่างไร พ่อรู้และลองมาหมดแล้ว 

๗) ครอบครัวอบอุ่น    คือมีเวลาอยู่กับลูกและเมียได้ปรึกษาหารือเรื่องต่าง ๆ ในครอบครัว ลูกก็กล้าพูดกล้าคุยกับเรา  เมื่อก่อนเมามาทะเลาะกับแม่แล้วลูกไม่กล้ามายุ่ง แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป มีเวลานั่งคุยกัน  ใจเราที่ไม่กินเหล้ามันดี ก็รักลูกมากขึ้น ที่บอกว่ารักมากขึ้นนี่ไม่ใช่เมื่อก่อนไม่รักนะ แต่รักเมื่อก่อนมันไม่ค่อยเป็นรูปธรรม  จับต้องไม่ได้  แต่หลังจากเลิกกินเหล้าแล้ว ความรักที่มีต่อลูกมันเป็นรูปธรรม จับต้องได้  ลูกก็กล้าคุยกับเรา  ลูกไม่อายชาวบ้านว่าเป็นลูกคนขี้เหล้าเมายา  อารมณ์ของลูกก็แจ่มใส ทำให้เราซึ่งเป็นพ่อมีความสุขตามไปด้วย


นายอ้วน  มูลจุล  อายุ ๖๔  ปี   เคยกินเหล้าหนัก  แต่ตอนนี้เลิกกินแล้ว  สาเหตุที่เลิกกินเพราะสุขภาพไม่ดี ไม่ค่อยเข็งแรง   และรู้สึกว่าเมาแล้วพูดไม่รู้เรื่อง  เห็นคนอื่นเมาแล้ว ก็ได้คิดถึงตนเองตอนเมา  ก็เลยเลิกกินดีกว่า การเลิกเหล้านี่ประการสำคัญต้องเอาชนะใจตนเองให้ได้ เพราะไม่มีใครจับปากเราแล้วกรอกเหล้าให้เราได้  เงินก็อยู่ในกระเป๋าเรา ถ้าเราไม่เอาออกมาซื้อแล้วเราจะมีเหล้ากินได้อย่างไร  เหล้าก็มีอยู่ที่ร้านค้า ที่บ้านเราก็ไม่มี เราต้องเดินต้องขี่รถไปซื้อ  เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ใจ ถ้าใจเราไม่เอาก็เลิกกินเหล้าได้แน่นอน   ทุกวันนี้ไม่อยากคุย ไม่อยากคบกับคนกินเหล้า  เพราะคนกินเหล้าแล้วพูดไม่รู้เรื่อง วกไปวันมา  เดินหน้าสามเก้าถอยหลังเจ็ดเก้า   อยากจะบอกกับคนที่ยังกินเหล้าอยู่ทุกคนนะว่า  “การกินเหล้า เหมือนกินน้ำตาเมีย” 


นายไพบูลย์ ศรีจันทร์โคตร  ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน  ก่อนหน้าที่จะมาเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นคนทำงานช่วยเหลือคนอื่นอยู่บ้าง แต่โชกโชนในเรื่องเหล้าและยาเสพติดมาเกือบทุกอย่าง เมื่อก่อนมีปากเสียงกับภรรยาบ่อยมาก เพราะกินเหล้าเมาแล้วไม่ค่อยอยู่บ้านเที่ยวไปเรื่อย เงินทองก็ไม่มีเก็บ  มีเท่าไร กินหมด 


จนมาอยู่วันหนึ่งภรรยาได้ถามว่า “กล้าออกเหล้าบ่ รักลูกรักเมียบ่ ”  ภรรยาพูดตอนไม่เมานะ  และก็พูดคุยและถามอยู่หลายวัน  ประกอบกับนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล และนโยบายหมู่บ้านสีขาวของมูลนิธิอธิปุญฺโญ โดยหลวงปู่บุญรอดชวนไปคุยหลายครั้ง ชักจูงหว่านล้อมรวมถึงท้าทายว่าอยากเป็นผู้นำคนไหม ผู้ใหญ่บ้านก็เลยตัดสินใจไปขอออกเหล้าและยาเสพติดทุกชนิดกับหลวงปู่บุญรอด  และเมื่อปฏิบัติตนในทางที่ดีแล้ว นายไพบูลย์ ก็ถูกเสนอชื่อและเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน


เมื่อถามถึงสาเหตุที่ผู้ใหญ่บ้านตัดสินใจเลิกเหล้าและยาเสพติดทุกชนิด ได้รับคำตอบว่า...

๑) เพราะหลวงปู่บุญรอด หมู่บ้านถ้ำไทรทองเกิดขึ้นมาเป็นกลุ่มเป็นก้อนมีที่อยู่ที่ทำกินที่ถูก กฎหมายได้นั้นส่วนหนึ่งมาจากบารมีของหลวงปู่ที่ช่วยเหลือ เมื่อหลวงปู่มีนโยบายทำให้หมู่บ้านเป็นสีขาวปลอดเหล้าและยาเสพติดทุกชนิด และมาพูดคุยชักชวนจึงเห็นประโยชน์

๒) เพราะภรรยาพูด  ภรรยาเป็นคนฉลาดพยายามพูดตอนที่ไม่เมาและพูดบ่อย และพูดทุกครั้งก็จะมีเหตุมีผล และพูดดี ๆ ไม่บ่นไม่ด่าทอ  จึงรู้สึกเห็นใจ

๓) สงสารภรรยา   ที่ต้องเป็นห่วงเวลาเดินทางไปทำงานรับอ้อยต่างจังหวัด  ภรรยาจะเป็นห่วงมากก็เลยนึกสงสาร เป็นแรงจูงใจให้เลิกเหล้าได้

๔) ได้คิดเปรียบเทียบดูคนที่เมา  คือใช้โอกาสเวลาว่าง ๆ พยายามนั่งคิดถึงตอนเราเมาและเห็นใครเมาก็คิดเปรียบเทียบกับตัวเราตอนที่ เมา  ก็เลยรู้สึกถึงความแตกต่าง ได้เห็นพฤติกรรมของคนเมาหลาย ๆ อย่างแล้วดูมันน่าเบื่อ เช่นพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง  เสียงดัง  อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย มีปัญหาครอบครัวแทบทุกวัน  เมื่อคิดเปรียบเทียบได้อย่างนี้แล้วจึงเลิกเหล้าดีกว่า


หลังจากเลิกเหล้าแล้ว สุขภาพดีขึ้นและครอบครัวอบอุ่น  เงินทองพอกินพอใช้  ไม่ต้องลำบากหรือทะเลาะกันในเรื่องเงินเหมือนเมื่อก่อน และความคิดตอนนี้ก็เปลี่ยนไป เมื่อก่อนตอนกินเหล้าจะคิดแต่เรื่องหาเงินมาซื้อเหล้ากิน ได้เงินมาก็ต้องฉลองด้วยการซื้อเหล้ากิน ที่บ้านขายของและขายเหล้าด้วย ก็แอบเอาเหล้าที่ขายมากินเอง แต่เดี๋ยวนี้มีความคิดจะหามาสมทบให้ครอบครัวมีกินมีใช้ มีนิสัยประหยัดเห็นคุณค่าของเงินมากขึ้น  รู้สึกเสียดายเงินที่เมื่อก่อนไปเสียกับเหล้าและยาเสพติดไปเยอะ  ถ้าคิดได้เหมือนตอนนี้คงสบายมากกว่านี้


ในเรื่องการปกครองในฐานะผู้ใหญ่บ้านหลังจากที่หมู่บ้านไม่มีเหล้า แล้ว  ทำให้ปกครองง่าย  ชาวบ้านอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข  ไม่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันเลย  และถ้าหากในหมู่บ้านยังมีเหล้าอยู่การพนันก็จะตามมา เพราะมันเป็นของที่จะมาคู่กัน เมื่อร้านค้าไม่ขายเหล้าคนที่อยากก็หากินยาก  คนก็ขี้เกียจไปซื้อเพราะไกล  และเคยมีคนที่อยากกินแต่ไม่มีเหล้าขาย ก็เลยขับรถมอเตอร์ใซค์ไปซื้อนอกหมู่บ้าน แต่ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ  จึงทำให้หลายคนไม่กล้าไปซื้อเหล้ามากินในหมู่บ้าน


นายสมหมาย จันทร์ดวง  เมื่อก่อนเป็นลูกค้าประจำร้านเหล้า  แต่เดี๋ยวนี้เลิกหมดแล้ว  ส่วนสาเหตุที่เลิกได้ เพราะ

๑) ลูกคนเล็กกลัว  ถ้าเมากลับมาบ้านแล้ว ลูกจะกลัวจนร้องไห้ไม่กล้าเข้าใกล้ เวลาไม่เมาไม่เป็นไร   ก็ทำให้เรามานั่งคิดว่าทำไมลูกจึงกลัว  สุดท้ายก็เลยเลิกเหล้าดีกว่า 

๒) นโยบายหลวงปู่ เพราะหลวงปู่เป็นผู้มีส่วนสร้างให้หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่สมบูรณ์ขึ้นมา และหลวงปู่ก็อยู่ที่นี่มานาน เป็นที่เคารพของคนเยอะ รวมทั้งตัวผมเองด้วย 

เมื่อหลวงปู่มีนโยบายแบบนี้ออ

หมายเลขบันทึก: 35143เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2006 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
นายสมหมาย จันทร์ดวง  เมื่อก่อนเป็นลูกค้าประจำร้านเหล้า  แต่เดี๋ยวนี้เลิกหมดแล้ว  ส่วนสาเหตุที่เลิกได้ เพราะ

๑) ลูกคนเล็กกลัว  ถ้าเมากลับมาบ้านแล้ว ลูกจะกลัวจนร้องไห้ไม่กล้าเข้าใกล้ เวลาไม่เมาไม่เป็นไร   ก็ทำให้เรามานั่งคิดว่าทำไมลูกจึงกลัว  สุดท้ายก็เลยเลิกเหล้าดีกว่า 

๒) นโยบายหลวงปู่ เพราะหลวงปู่เป็นผู้มีส่วนสร้างให้หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่สมบูรณ์ขึ้นมา และหลวงปู่ก็อยู่ที่นี่มานาน เป็นที่เคารพของคนเยอะ รวมทั้งตัวผมเองด้วย 

เมื่อหลวงปู่มีนโยบายแบบนี้ออกมา และเรานำมาคิดว่าเป็นความจริงอย่างที่ท่านพูดว่า ปัญหาต่าง ๆ ภายในครอบครัวและหมู่บ้าน มีต้นตอมาจากเหล้าเกือบทั้งนั้น  ก็เลยเลิกเหล้า พอเลิกเหล้าแล้วก็เป็นอย่างที่ท่านพูดจริง ๆ  ปัญหาภายในครอบครัวก็ไม่มี  ปัญหาในหมู่บ้านก็เงียบ ไม่มีทะเลาะกันเหมือนเมื่อก่อน  กลับมีความสามัคคีกันมากขึ้น

๓) เงินทองไม่พอให้ลูกไปโรงเรียน  ก็เลยตัดสินใจเลิกดีกว่า  เงินที่ไปซื้อเหล้า  เอามาซื้อขนมให้ลูกกินดีกว่ามีประโยชน์มากกว่า

๔) เปลือง เพราะวันหนึ่ง ๆ เสียเงินซื้อเหล้าเยอะ  ยิ่งถ้าเป็นเทศกาลสงกรานต์  ปีใหม่  ฯลฯ  ซื้อเหล้ากินหมดหลายพัน เพราะกินแล้วเมาแล้ว ไม่รู้จักพอ  ร้านค้าก็ลำบากใจ  เพราะเมาแล้วจะกินก่อนจ่ายทีหลัง  บางทีร้านค้าไม่ให้ ก็มีปัญหากับร้านค้า ด่าทอทำร้ายข้าวของ

หลังจากเลิกได้แล้วเสื้อผ้าเดิมใส่ไม่ได้  ต้องซื้อใหม่  รู้สึกอ้วนขึ้นเยอะ สุขภาพ การเจ็บป่วย  การเป็นหวัด ปวดหัวก็ไม่ค่อยเป็นเหมือนตอนกินเหล้านะ  ตอนกินเหล้าจะเป็นหวัด ปวดหัวบ่อย ซึ่งแก้โดยกินเหล้าเข้าไป เดี๋ยวมันก็หาย  แต่หายไม่นานกลับมาเป็นใหม่อีก   ตอนกินเหล้าทำงานไม่ค่อยไหว  เพลีย  แต่เดี๋ยวนี้ทำงานสบาย   ลูกและภรรยาสบายใจขึ้น ไม่มีปัญหาทะเลาะกัน ครอบครัวอบอุ่นขึ้น  มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น    มีเงินเก็บมากขึ้น   เพราะไม่ต้องเปลืองไปกับการซื้อเหล้ากิน  ลูกก็มีเงินไปโรงเรียน ไม่ต้องอายคนอื่นเขา

 

นายสวัสดิ์ หาริสา อายุ  ๕๘ ปี  เมื่อก่อนกินเป็นคู่ขากันกับนายสมหมาย  เจอกันที่ไหนก็ชวนกันกินที่นั่น  ไม่เลือกเวลาสถานที่ และกินไม่รู้จักพอ  ตอนกินเหล้าร่างกายผอมเหลือง  ไม่ค่อยอ้วนอย่างนี้หรอก  แต่หลังจากเลิกเหล้าได้แล้ว  อ้วนขึ้น  กำลังวังชาดีขึ้น  ทำสวนปลูกผักขายสบาย และเงินที่ได้จากการขายผักก็อยู่เต็มจำนวนไม่ต้องหมดไปเพราะเหล้า    ครอบครัวก็มีความสุข 


เมื่อก่อนเหมือนมีไฟอยู่ในครอบครัว ไฟคือเหล้า ส่วนสาเหตุที่ทำให้เลิกกินเหล้าได้อย่างเด็ดขาดนั้น  เพราะเป็นเชื้อราที่เท้าไม่ยอมหาย  ตอนแรกเป็นน้อย ๆ ก็กินเหล้าและไปหาหมอ  ซื้อยามากินมาทาตามปกติ  มันก็ไม่หาย ยิ่งเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องเข้าไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ไปนอนอยู่หลายวัน และเชื้อราที่เป็นอยู่นั้นก็ยุบและหายไป  จึงคิดว่าเป็นเพราะเหล้าหรือเปล่า จึงเลิกกินเหล้าตั้งแต่บัดนั้นเลย พอดีในหมู่บ้านมีนโยบายเป็นหมู่บ้านสีขาวปลอดเหล้าและอบายมุขด้วย ก็เลยพอดีกัน


นายเจริญ  วงษ์ไกร      อายุ  ๔๘  ปี บุตร  ๒ คน  เป็นชาย ๑ คน  หญิง  ๑ คน


นายเจริญ คือ บุคคลแรกที่ทำให้หลวงปู่ ได้เปิดประเด็นคนเลิกเหล้าตลอดชีวิต ดังประวัติที่ได้กล่าวถึงมาตั้งแต่ต้น เขาคือคนที่ไม่มีใครเอา ไม่อยากเข้าใกล้ แต่ตอนนี้เขาเปลี่ยนไปแล้ว


เริ่มดื่มเหล้าเมื่ออายุ  ๑๕  ปี   สาเหตุเพราะอยากลอง  และเพื่อนชวน    ประวัติในการดื่มก่อนที่จะเลิก  กินทุกวัน วันละ ๑ ขวด เป็นอย่างน้อย (เหล้าขาว) แต่ถ้ามีเพื่อนกินด้วยก็จะกินจนเมาไม่รู้เรื่อง  กินแล้วไม่สนใจจะทำงาน  กินแล้วไม่สนใจใคร ไม่ห่วงอะไรทั้งสิ้น ถ้าไม่ได้กิน  จะมีอาการมือสั่น  และหงุดหงิด  “เหล้าเป็นยาเสพติด” เหล้าเป็นน้ำเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนคนได้จริง


สุขภาพในระหว่างกิน  ร่างกายไม่ค่อยจะแข็งแรง  ตอนเมาสติสัมปชัญญะไม่มี (คนในหมู่บ้านจะบอกว่าเป็นคนเสียสติเลย ตอนเมาจะถอดเสื้อผ้า เดินตามหมู่บ้าน) นอนได้ทุกที่ ข้างทางก็นอนได้ หัวสมองคิดอะไรไม่ออก  ทะเลาะกับภรรยาและลูกแทบทุกวัน ครอบครัวไม่ค่อยมีความสุข  มีเหล้าเหมือนมีไฟอยู่ในครอบครัว


สาเหตุที่เลิก  ครอบครัวแย่โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ไม่ค่อยมีเงินใช้จ่าย เป็นหนี้เขาจนไม่ค่อยมีคนอยากให้ยืมเงิน คนดูถูก  ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดีทะเลาะกันแทบทุกวัน   คิดสงสารลูก เพราะตอนกินเหล้าเมาลูกสาวจะคอยไปเฝ้าและพากลับบ้านแทบทุกวัน  และสงสารลูกชายด้วย เพราะลูกชายก็กินเหล้าเหมือนกัน  ทำงานเท่าไรก็ไม่เห็นมีเงินเก็บ กินวงเดียวกันกับพ่อ บางครั้งก็ทะเลาะกับพ่อในวงเหล้า จึงคิดว่าอยากจะเลิกกินเหล้า เพื่อจะได้สอนลูกชายได้ และลูกชายก็บอกด้วยว่า ถ้าพ่อเลิกได้ ก็จะเลิกกินเหล้าเหมือนกัน  (ตอนนี้ลูกชายก็เลิกแล้ว)


วิธีการเลิกเหล้า สมัครเข้าร่วมโครงการกับหลวงปู่เป็นคนแรกเลย  จากที่กินเหล้ามากที่สุดในหมูบ้าน แต่เป็นคนแรกที่ร่วมโครงการเลิกเหล้ากับหลวงปู่บุญรอด  นำขัน ๕ ไปขอออกเหล้ากับหลวงปู่ หลวงปู่ก็สอนก่อน และถามความสมัครใจว่า เลิกได้แน่นะ เอาจริงนะ ย้ำอยู่หลายครั้ง ก็รับปากกับท่านว่าเอาจริงหลังจากนั้นมา ก็เลิกได้    เพราะไปขอออกเหล้ากับหลวงปู่แล้วไม่ค่อยรู้สึกหิว (อยาก) เหล้า  เมื่อก่อนเคยคิดอยากจะเลิกกินเหล้า และเลิกเองหลายครั้ง แต่ทนกับความหิว (อยาก) เหล้าไม่ไหวก็กลับไปกินใหม่อีก กำลังใจจากลูกเมียก็มีความสำคัญมากต่อการเลิกเหล้า


เลิกแล้วเป็นอย่างไร    ชีวิตครอบครัวดีขึ้นมากไม่ทะเลาะกันเลย  เงินทองที่รับจ้างได้ก็เหลือเก็บลูกชายก็ตั้งตัวได้  มีเวลาพูโคคุยกับภรรยามากขึ้น  คนในหมู่บ้านนับหน้าถือตา พูดคุย และเรียกกินข้าว  ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนตอนกินเหล้า หน้าเขายังไม่อยากมองเลย ตอนนี้สุขภาพร่างการก็แข็งแรงขึ้น ทำมาหากินก็ได้ดี คิดแต่การทำมาหากินอยากได้ เมื่อก่อนตอนเมาไม่สนใจทำมาหากิน  กินแต่เหล้า

 

งดเหล้าเข้าพรรษาในเครือข่ายหลวงปู่...ตามโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ปี ๒๕๔๖ สสส. มีโครงการ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ซึ่งมีทั้งการทำสื่อโฆษณา และการส่งเสริมให้กลุ่มองค์กรภาคประชาชนได้ร่วมรณรงค์ ซึ่งหลวงปู่ ทีมงานและเครือข่ายมีโอกาสร่วมโครงการด้วย ผ่านเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา เพราะท่านได้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต ตามแนวทางของพระอาจารย์สุบิน ปณีโต ท่านจึงเป็นเครือข่ายพระสงฆ์ที่ทำงานดังกล่าว ในนามของ “เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา”  ซึ่งมีสมาชิกร่วมกันประมาณ ๒๐๐ รูปทั่วประเทศ


การดำเนินการงดเหล้าเข้าพรรษา ๒ ปีที่ผ่านมา (๒๕๔๖-๔๗) ขยายผลเลิกเหล้าตลอดชีวิต


ด้วยความที่วัดถ้ำไทรทอง โดยการนำของหลวงปู่บุญรอด มีทุนเดิมอยู่แล้วในเรื่องการรณรงค์เรื่องยาเสพติดและอบายมุข  มีการจัดตั้งมูลนิธิ อธิปุญฺโญ  เพื่อคนเลิกเหล้าอยู่แล้ว  จึงสอดคล้องกับโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา  ซึ่งการดำเนินการก่อนมีโครงการงดเหล้าเข้าพรรษานั้น ก็ดำเนินการโดยลำพัง เน้นการเลิกตลอดชีวิต และไม่ค่อยได้มีการประชาสัมพันธ์ แต่เมื่อมีโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาเข้ามาแล้ว มีการประชาสัมพันธ์ดีขึ้น  เพราะมีสื่อช่วยสนับสนุน และมีการโฆษณาผ่านสื่อทีวีด้วย  และโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาไม่ได้เน้นเฉพาะการเลิกตลอดชีวิตเท่านั้น  แต่เน้นให้เลิกแค่ในช่วงเข้าพรรษา  จึงทำให้มีคนเข้าร่วมโครงการมาก และได้ส่งผลให้คนที่ตอนแรกตั้งใจจะงดแค่ในช่วงเข้าพรรษาเท่านั้นเปลี่ยนใจ มาเป็นเลิกตลอดชีวิตก็มีหลายคน 


ซึ่งหลวงปู่ให้ความคิดเห็นต่อโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา  ว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ช่วยสนับสนุนการทำงานของพระสงฆ์ได้มาก และถือว่าการแก้ปัญหาความยากจน การแก้ปัญหาของประเทศมาถูกทางแล้ว  เพราะโครงการงดเหล้าเข้าพรรษานี้ ได้มาแก้ที่ต้นตอของปัญหาคือการดื่มเหล้า  ปัญหาที่เกิดจากการดื่มเหล้านั้นมากมาย รวมทั้งปัญหาความยากจนของคนไทยที่รัฐบาลกำลังแก้ไขอยู่ในขณะนี้ด้วย

...........................................................................................................................................

วัตถุประสงค์ของโครงการที่หลวงปู่ทำให้แก่ชาวหมู่บ้านวัดถ้ำไทรทอง

๑. เพื่อให้การสนับสนุนช่วยเหลือและเป็นกำลังใจ เสริมรายได้ให้กับผู้เลิกยาเสพติดตลอดชีวิต

๒. เพื่อสร้างแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม เป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหันมา มุ่งมั่นประกอบสัมมาชีพที่บริสุทธิ์

๓. เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พิชิตความยากจน


เป้าหมาย

ดำเนินการมอบโค – กระบือ ให้กับผู้ที่เข้าสาบานตนที่จะเลิกยาเสพติดตลอดชีวิต ในเขตพื้นที่อำเภอท่าคันโท  และอำเภอหนองกุงศรี อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของ มูลนิธิอธิปุญฺโญ ได้


ขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญ

๑. กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งมูลนิธิ ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบอย่างทั่วถึง

๒. ประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริหารโครงการ และบริจาคทรัพย์เข้ากองทุนมูลนิธิ

๓. กำหนดเงื่อนไขสำหรับผู้ที่จะได้รับมอบโค-กระบือ จากมูลนิธิ

๔. แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ร่วมโครงการทำหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ

๕. มอบโค – กระบือ สำหรับผู้ที่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข

๖. กำกับ ติดตาม ประเมินผล  สรุป และรายงานผล


สถานที่ดำเนินการ

วัดถ้ำไทรทอง  ตำบลดงมูล  อำเภอหนองกุงศรี  จังหวัดกาฬสินธุ์ ๔๖๑๙๐  โทร. ๐๑-๙๖๕๗๑๐๒ , ๐๑-๒๒๐๑๙๘๓


งบประมาณ

ได้รับจากกองทุน “มูลนิธิอธิปุญฺโญ” วัดถ้ำไทรทอง เพื่อจัดซื้อโค – กระบือ

- ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบเข้ามูลนิธิ เพื่อจัดซื้อโค-กระบือ


ระยะเวลาดำเนินการ

เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕ และในวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๖ จะมีพิธีมอบโค – กระบือ จำนวน ๔๐ ตัว โดยใช้งบประมาณจากมูลนิธิ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท  (สองแสนบาทถ้วน) และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องสืบต่อไป


การประเมินผล

๑. สังเกต สอบถาม ความพึงพอใจจากผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ เลิกยาเสพติดตลอดชีวิต

๒. สำรวจสถิติจำนวนผู้เข้าสาบานตนที่จะเลิกยาเสพติดตลอดชีวิต

๓. การกำกับ ติดตามพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมโครงการ

๔. ประเมินสถานภาพวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้เข้าร่วมโครงการ

๕. สรุป และรายงานผลการดำเนินโครงการ


ผลที่คาดว่าจะได้รับ

ประชาชนที่กลับใจไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรือผู้เข้าร่วมโครงการมีกำลังใจในการประกอบสัมมาชีพที่บริสุทธิ์ตามอัตภาพ มีทุนสำรองในการสร้างฐานะความเป็นอยู่  มีอาชีพเสริม ครอบครัวมีรายได้พออยู่ พอกิน ชุมชนปลอดยาเสพติด การอยู่ร่วมกันในชุมชนมีความสันติสุข ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศชาติมีความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองวัฒนา

                             หลวงปู่บุญรอด   อธิปุญโญ 
                              ( ผู้รับผิดชอบโครงการ )
  เจ้าอาวาสวัดถ้ำไทรทอง / ประธานมูลนิธิอธิปุญฺโญ


เงื่อนไขการสมัครเข้าเป็นสมาชิก

๑. ต้องเป็นเพศชายหรือหญิง

๒. อายุต้องไม่ต่ำกว่า  ๑๘  ปี บริบูรณ์

๓. ภูมิลำเนาต้องอยู่ในพื้นที่ที่กรรมการสามารถตรวจสอบได้

ก่อนเข้ารับใบประกาศเกียรติคุณต้องให้คำสัตย์สาบานต่อหน้าพระประธานเสียก่อน


...........................................................................................................................................


รายละเอียดเกี่ยวกับข้อบังคับต้องห้าม

ข้อที่ ๑  สุราหรือเหล้าแบ่งออกเป็นหลายชนิด เช่น   ๑)สุรา   ๒)เบียร์  ๓)วิสกี้  ๔)ไวน์  ๕)ยาดองเหล้า  ๖)สาโท ทั้ง ๖ อย่างนี้ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม

แต่มีข้อยกเว้น  ที่สมาชิกสามารถดื่มได้  คือ  ๑)ต้องมีใบสั่งแพทย์ ๒)สมาชิกได้รับอุปัทวะเหตุตกจากที่สูงลงที่ต่ำจนได้รับความบอบช้ำ หรือถูกกระแทกอย่างแรงจนร่างกายได้รับความบอบช้ำ

ข้อที่ ๒  ยาเสพติดที่ต้องห้าม เช่น ๑)ยาบ้า  ๒) เฮโรอีน ๓)ฝิ่น ๔)กัญชา ๕)สารเสพติดต่าง ๆ ที่กฎหมายควบคุม (ยกเว้นยาสูบที่ไม่มีสารเสพติดเจือปน)

ข้อที่ ๓ สมาชิกที่ได้รับโค-กระบือไปห้ามมิให้ขายแม่พันธุ์โค-กระบือที่ได้รับ ถ้าจะมีการซื้อ-ขายหรือแลกเปลี่ยนจะต้องแจ้งต่อกรรมการเสียก่อนเพื่อเป็น พยานรู้เห็น ถ้ามีการฝ่าฝืนมีโทษปรับตามราคาซื้อ-ขาย ๒ เท่า

ข้อที่ ๔  กรณีที่สมาชิกได้รับโค-กระบือไปแล้วนั้น  ภายหลังคณะกรรมการทราบว่า สมาชิกได้กระทำผิดกฎข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่งจะต้องคืนโค-กระบือให้กับมูลนิธิ พร้อมใบประกาศเกียรติคุณโดยไม่มีข้อแม้

ข้อที่ ๕  กรณีสมาชิกได้รับใบประกาศเกียรติคุณไปแล้ว  แต่ภายหลังคณะกรรมการทราบว่า สามาชิกได้กระทำผิดกฏข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่งจะต้องคืนประกาศเกียรติบัตรให้ กับมูลนิธิทันที เมื่อกรรมการชี้ถึงความผิด

ข้อที่ ๖  กรณีสมาชิกได้คืนใบประกาศเกียรติคุณไปแล้ว  แต่ภายหลังได้สำนึกผิดอยากจะเข้าใหม่จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ เสียก่อนว่าเห็นสมควรหรือไม่

ข้อที่ ๗ กรณีโค-กระบือของสมาชิกล้มตายด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ ห้ามชำแหละเนื้อมาเป็นอาหาร ให้นำไปฝังกลบดินและทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้
      
ประกาศ ณ วันที่ ๓ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


...........................................................................................................................................

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท