การจัดการปัญหาสถานะบุคคล และ การให้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย


ประเทศไทยมีหน้าที่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าวในการขจัดปัญหาให้แก่คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลทั้งหลายที่ปรากฏตัวบนผืนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็น การให้สถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือ การให้สัญชาติไทย ในกรณีที่คนเหล่านี้อยู่มานานในประเทศไทย ไม่มีประเทศต้นทางที่จะสามารถกลับได้ หรืออาจจะเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทย หรืออาจจะเป็น การแสวงหาความร่วมมือกับประเทศต้นทางเพื่อทำข้อตกลงในการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางให้แก่คนที่มีปัญหาสถานะบุคคล ในกรณีที่คนเหล่านี้ยังมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศต้นทางและสามารถกลับไปยังมาตุภูมิได้

ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2491 ประเทศไทยยอมรับที่จะผูกพันตนเองกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเพื่อรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Right, 1948) หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา โดยอาศัยหลักสิทธิมนุษยชนที่วางไว้ในปฏิญญาสากลฯ จึงปรากฏกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศอีก 7 ฉบับ[1] ซึ่งประเทศไทยได้ให้การรับรองและเข้าเป็นรัฐภาคี อันส่งผลให้พันกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้มีสภาพบังคับในทางปฏิบัติต่อการคุ้มครองสิทธิของมนุษย์ทุกคนที่ปรากฏตัวบนผืนแผ่นดินไทยจนกระทั่งปัจจุบัน

โดยสรุปจากกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศฯ ทั้งหมดที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริม สิทธิมนุษยชน ในทั้งสิ้น 21 ประเด็นสิทธิ ซึ่งสิทธิเหล่านี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กล่าวคือ สิทธิที่เกี่ยวข้องกับสถานะบุคคล และ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ในส่วนที่เป็นสิทธิที่เกี่ยวข้องกับสถานะบุคคลนั้น ประกอบไปด้วย (1) สิทธิในการได้รับการจดทะเบียนการเกิด (Right to Birth registration) (2) สิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย (Right to Legal Recognition) และ (3) สิทธิในสัญชาติ (Right to a Nationality) ซึ่งสิทธิที่เกี่ยวข้องกับสถานะบุคคลทั้งสามนี้ เป็นหนึ่งในสิทธิของมนุษย์ที่ควรจะได้รับการคุ้มครองโดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้เคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิเหล่านี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายและจัดหามาตรการที่จะทำให้คนที่เกิดในประเทศไทยได้รับการจดทะเบียนการเกิด และสำหรับคนที่มีแนวโน้มว่าจะตกอยู่ในสภาวะไร้รัฐก็จะได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของไทย

อย่างไรก็ตาม ยังพบความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้างในประเด็นของสิทธิในสัญชาติ กล่าวคือ ประเทศไทยมิได้มีพันธกรณีที่จะต้องให้สัญชาติไทยกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติทุกคนที่พบในประเทศไทย แต่หน้าที่ของประเทศไทยในฐานะประเทศเจ้าของภูมิลำเนาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ คือ การจัดหามาตรการที่เหมาะสมที่จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่ตกอยู่ในสภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ อาจจะโดยการได้สัญชาติของประเทศต้นทาง อย่างเช่นที่ประเทศไทยพยายามผลักดันให้เกิดการพิสูจน์สัญชาติกับแรงงานต่างด้าวจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา เป็นต้น หรืออาจจะโดยการได้สัญชาติของประเทศที่สาม อย่างเช่นที่ประเทศไทยยอมให้ผู้หนีภัยความตายมาอยู่ในพื้นที่พักพิงและพยายามเจรจากับประเทศที่สามเพื่อส่งคนเหล่านี้ไปเป็นพลเมือง เป็นต้น

นั่นย่อมหมายความว่า ประเทศไทยมีหน้าที่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าวในการขจัดปัญหาให้แก่คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลทั้งหลายที่ปรากฏตัวบนผืนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็น การให้สถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือ การให้สัญชาติไทย ในกรณีที่คนเหล่านี้อยู่มานานในประเทศไทย ไม่มีประเทศต้นทางที่จะสามารถกลับได้ หรืออาจจะเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทย หรืออาจจะเป็น การแสวงหาความร่วมมือกับประเทศต้นทางเพื่อทำข้อตกลงในการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางให้แก่คนที่มีปัญหาสถานะบุคคล ในกรณีที่คนเหล่านี้ยังมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศต้นทางและสามารถกลับไปยังมาตุภูมิได้

สำหรับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นสิทธิที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานะบุคคลโดยตรง แต่ก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมีในระหว่างที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลได้ สิทธิเหล่านี้ประกอบไปด้วย (1) สิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ (Right of Non-Discrimination) (2) สิทธิในชีวิต เสรีภาพ และความปลอดภัยของร่างกาย (Right to Life, Liberty and Security of Persons) (3) สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน ถูกปฏิบัติหรือลงโทษอย่างทารุณ ไร้มนุษยธรรม และต่ำช้า (Non-torture and Cruel, Inhuman and degrading Treatment or Punishment) (4) สิทธิในสุขภาพ (Right to Health) (5) สิทธิในการศึกษา (Right to Education) (6) สิทธิในสวัสดิการสังคม (Right to Social Security) (7) สิทธิในการทำงาน (Right to Work) (8) สิทธิในการพักผ่อนและการมีเวลาว่าง (Right to Rest and Leisure) (9) สิทธิในการเคลื่อนไหว (Right to Movement) (10) สิทธิในทรัพย์สิน (Right to Property) (11) สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว (Right to Family Creation) (12) สิทธิในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว เคหะสถาน การติดต่อสื่อสาร และชื่อเสียง (Right to Privacy, Family, Home, Correspondence and Reputation) (13) สิทธิในเสรีภาพทางความคิด ความเชื่อทางศาสนา(Right to Freedom of Thought, Conscience and Religion) (14) สิทธิในเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก(Right to Freedom of Opinions and Expression) (15) สิทธิในเสรีภาพทางการชุมนุมอย่างสันติและการรวมตัวเป็นสมาคม (Right to Freedom of Peaceful Assembly and Association) (16) สิทธิทางวัฒนธรรมของชุมชน (Right to Culture Life of the Community) (17) สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง (Right to Political Participation) และ (18) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม (Right to Justice)

นั่นก็หมายถึง คนที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาการให้สถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือ การให้สัญชาติไทย หรือ การพิสูจน์สัญชาติอื่นๆ ประเทศไทยมีหน้าที่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าวในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน 18 ประการดังกล่าว โดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม


[1] 1. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม 3. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 4. อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ 5. อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ 6. อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติ หรือ การลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี 7. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ

หมายเลขบันทึก: 350477เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2010 07:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท