การลงแขกของชาวบ้านหนองบัว : กระบวนการเรียนรู้ ความเป็นชุมชน และการบริหารจัดการเป็นกลุ่ม


 วัฒนธรรมการลงแขกกับสังคมไทย

พื้นฐานแต่เดิมของสังคมไทยในยุคที่การเกษตรและกสิกรรมเฟื่องฟูนั้น หน่วยการผลิตที่สำคัญและมีบทบาทมากก็คือครอบครัวและชุมชน ซึ่งการที่จะบรรลุจุดหมายเพื่อแก้ปัญหาและจัดการสิ่งจำเป็นต่างๆทั้งเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวมด้วยกันหรือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่เกินกำลังของตนเองนั้น ก็จะใช้วิธี ‘การลงแขก’ มาเป็นวิธีระดมทรัพยากรแรงงานและเป็นการรวมกลุ่มสร้างชุมชนและองค์กรจัดการที่ไม่เป็นทางการให้ยืดหยุ่นไปตามความจำเป็นที่เกิดขึ้น เช่น การลงแขกเกี่ยวข้าว การลงแขกขุดสระ การลงแขกเอาแรง การลงแขกสร้างศาลาและสิ่งสาธารณะของชุมชน การลงแขกสร้างเรือนหอ เหล่านี้เป็นต้น 

กล่าวได้ว่า ในบริบทของสังคมไทยนั้น  'การลงแขก' เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือแบบเสริมพลังกัน รวมทั้งเป็นพื้นฐานวิธีรวมกลุ่มเรียนรู้เพื่อสร้างส่วนรวมด้วยกันในรูปแบบต่างๆของชุมชนทุกระดับ และเป็นทุนทางสังคมอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ความมีสุขภาวะเข้มแข็งของความเป็นส่วนรวมได้  

 วัฒนธรรมการลงแขกของชาวหนองบัว

วัฒนธรรมการลงแขกของชาวนาและชุมชนเกษตรกรของชุมชนหนองบัว ก็นับว่าเป็นทุนสร้างพัฒนาการของสังคมท้องถิ่นที่สำคัญหลายประการด้วยกัน เช่น การระดมกำลังคนลงแขกสร้างศาลาวัดขนาดใหญ่ของวัดหนองกลับ นำโดยหลวงพ่อเดิม ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ หลวงพ่ออ๋อย และคนเฒ่าคนแก่ของชุมชนหนองบัว การรวมตัวกันบวชนาคหมู่และการลงแขกระดมทรัพยากรต่างๆมาทำให้การบวชมีความสำคัญยิ่งใหญ่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของอำเภอหนองบัว  พัฒนาการของชุมชนที่สืบเนื่องกับการลงแขกจึงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจและมีคุณค่าต่อการเรียนรู้เพื่อสืบทอดทั้งเพื่อท้องถิ่นและเพื่อสังคมไทย

                             Farmersolidarity 

                             อธิบายภาพ : การเอาแรงและการลงแขกของชาวนาหนองบัวในแปลงนาข้าวขนาดใหญ่ที่ห้วยน้อยและห้วยปลาเน่า ซึ่งเป็นที่ลุ่มน้ำสำหรับการทำนาข้าวหนัก ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของชุมชนอำเภอหนองบัว อ้างอิงภาพ : Farmer Solidarity โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ใน http://gotoknow.org/file/wiratkmsr/view/379553

โดยพื้นฐานดังกล่าวนี้ หากนำประสบการณ์ทางสังคมจากกิจกรรมการลงแขกมาศึกษา ชาวบ้านที่มีประสบการณ์จากการทำมาหากิน ก็จะได้ความลุ่มลึกและความแยบคายของชีวิต เห็นพื้นฐานที่มีอยู่ในวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สามารถใช้เรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองในเงื่อนไขแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาได้อยู่เสมอ

 ‘การลงแขก’  ในฐานะอุปกรณ์และนวัตกรรมชุมชนเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวม

การใช้แรงงานเป็นเครื่องมือเพื่อจัดความสัมพันธ์ของปัจเจกกับความเป็นส่วนรวมที่ใหญ่กว่าความเป็นปัจเจกนั้น ในรูปแบบอื่นก็มีเหมือนกัน เช่น ในชุมชนหนองบัวนั้น มีวัฒนธรรมการเป็นคู่ดองซึ่งทำให้ปัจเจกสามารถไปทำงานและอุทิศตนเพื่อผู้อื่นที่ไม่ใช่กิจการตนเองและญาติพี่น้อง ซึ่งก็อาจจะมีกิจกรรมที่สืบเนื่องตามมาที่เป็นการลงแขกช่วยเหลือกันได้ด้วยเช่นกัน ทว่า จุดศูนย์กลางของการเอาแรงกับแบบนี้อยู่ที่ความเป็นคู่ดอง นอกเหนือรูปแบบนี้แล้วก็มักเรียกกันว่าการลงแขก การเอาแรง หรือในชุมชนบางแห่งเรียกว่าการเอาแขกแรง

ดังนั้น การลงแขก จึงเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวม ทำให้ปัจเจกและชุมชนสามารถจัดการความเป็นส่วนรวมมิติต่างๆด้วยกันได้ ทั้งสภาพแวดล้อม การผลิต การสร้างสังคม ตลอดจนเป็นแหล่งประสบการณ์ ให้การเรียนรู้และสร้างสมภูมิปัญญาไปด้วย

 วิธีเอาแรงและการลงแขก

โดยทั่วไปแล้ว การลงแขกและการเอาแรงกันพอจะจำแนกได้ ๒ วิธี คือ การเอาแรงและรวมแรงไว้ก่อนแล้วไปลงแขกคืนน้ำใจกัน กับการลงแขกทำงานให้เบ็ดเสร็จเป็นครั้งคราวและใช้แรงงานลงแขกกันไปเป็นครั้งคราวเช่นเดียวกัน การตระเวนไปเอาแรงคนอื่นเพื่อสะสมน้ำใจไว้ก่อนแล้วระดมไปลงแขกให้กับตนเองนั้น ในกรณีลงแขกเกี่ยวข้าว มักจะใช้สำหรับ ๒ กรณี คือ กรณีการเกี่ยวข้าวหนัก ซึ่งในอดีตนั้น ข้าวจะแก่และเกี่ยวได้สองรุ่น คือ ข้าวเบาสำหรับนาดอนซึ่งจะแก่และเกี่ยวได้ก่อนระลอกแรกประมาณเดือน ๙ เดือน ๑๐ กับข้าวหนักสำหรับนาลุ่มซึ่งข้าวจะใช้เวลาเติบโตและแก่พร้อมเกี่ยวช้ากว่า เป็นเดือน ๑๐ เดือน ๑๑ หรือหลังสารทไทย ชาวนาบ้านที่มีข้าวนาลุ่มก็มักจะไปเอาแรงเจ้าที่เกี่ยวข้าวเบาในนาดอนก่อน เมื่อถึงรุ่นที่ข้าวหนักในนาลุ่มของตนแก่พร้อมเกี่ยว ผู้คนที่ตนเองไปเกี่ยวข้าวเอาแรงไว้ก็จะพากันไปลงแขกให้แรงงานน้ำใจคืน

อีกวิธีหนึ่งคือ ชาวนาที่มีนาหลายไร่และอาจจะเกี่ยวข้าวในรุ่นเดียวกันให้เสร็จในเวลาเดียวกันด้วยแรงงานในครอบครัวตนเองอย่างเดียวไม่ทัน ก็จะต้องคำนวณว่าตนเองจะเกี่ยวในช่วงเวลาใด จากนั้น ก็จะพาคนในครอบครัวออกไปเอาแรงคนอื่นก่อน หรือหากจะต้องเกี่ยวก่อน ก็จะต้องเดินไปบอกกล่าวว่าขอแรงก่อนแล้วจะไปเกี่ยวข้าวคืนแรงให้ทีหลัง

การลงแขกจึงมีความเป็นชุมชนอยู่ในตนเอง หากเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่สามารถเดินไปเชื่อมโยงกับผู้อื่นในชุมชนได้ก็จะไม่สามารถทำงานด้วยวิธีระดมการลงแขกกับผู้อื่นได้ และภายในการลงแขก ก็จะมีหลายสิ่งก่อเกิดขึ้นมาด้วย

 การจัดการทรัพยากรและความมั่นคงทางปัจจัยการดำรงชีวิตในการลงแขก

ในประเพณีวัฒนธรรมการลงแขก ดังเช่นการลงแขกเกี่ยวข้าว ชาวบ้านจะนำเอาเครื่องมือและเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนสิ่งใช้สอยสำหรับทำงานที่กระจายอยู่ในแต่ละครอบครัวในชุมชนมารวมกัน ที่สำคัญก็คือแรงงานและเครื่องมือสำหรับการเกี่ยวข้าว คือเคียว และของใช้ส่วนบุคคลต่างๆ เช่น งอบกันแดดและเครื่องแต่งกายที่กันแดดกันการบาดทิ่มแทงของหญ้าและซังข้าว

นอกจากนี้ ในการลงแขก นอกจากเจ้าภาพจะเป็นผู้เตรียมอาหารการกินเพื่อดูแลชาวบ้านที่มาลงแขกเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวบ้านแต่ละคนก็จะนำเอาข้าวปลาอาหารของตนเองมาสมทบเหมือนกับการทำบุญโดยทั่วไป ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีอาหารการกินเพียงพอสำหรับแบ่งปันกันอย่างทั่วถึง ครอบครัวที่ยากจนก็มีกิน 

ด้วยความที่การลงแขกก่อให้เกิดสิ่งที่ได้กล่าวมาในข้างต้นนี้ ชาวบ้านจึงไม่จำเป็นต้องมีอีกหลายอย่างที่จำเป็นต้องมีในองค์กรและการจัดการที่เป็นทางการ เช่น เครื่องจักร ทรัพยากร และงบประมาณการลงทุนเป็นจำนวนมาก จึงนับได้ว่าการลงแขกเป็นการจัดการทรัพยากรและสร้างความมั่นคงต่อปัจจัยการดำรงชีวิตที่มีประสิทธิภาพมาก

 มิติการสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการลงแขก

ลักษณะการแลกเปลี่ยน สื่อสาร และการเรียนรู้ ที่บูรณาการอยู่ในกิจกรรมการลงแขกและการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเพื่อสร้างสรรค์ความเป็นส่วนรวมด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการลงแขกเกี่ยวข้าว สร้างศาลาวัด บวชนาคหมู่ ขุดสระ และสร้างสาธารณสมบัติ จะเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์เชิงสังคมแบบสองทาง (Interactive and Two ways Communication) เน้นการพูดคุยและภาษาการแสดงออกทางการปฏิบัติ  มีความเป็นบูรณาการไปกับการแก้ปัญหา มีความหมายต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นส่วนรวมของสังคม

โครงสร้างการจัดความสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์กันมีความยืดหยุ่น ไม่เป็นทางการ เป็นกระบวนการต่อเนื่องผสมผสาน ทั้งเป็นผู้ให้ ผู้รับ และเป็นสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นย่อยๆอย่างเป็นธรรมชาติ การพูดคุย สื่อสาร ส่งต่อและสืบทอดประสบการณ์ ตลอดจนสิ่งที่มีความหมายต่างๆที่มีนัยยะต่อการเรียนรู้และให้ข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน มีบทบาทมากกว่าการเป็นกิจกรรมเพื่อจุดมุ่งหมายทางการสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แต่โดยลำพัง ทว่า เป็นการปฏิบัติทางสังคม (Social action)ที่มีบทบาทต่อการรู้กาลเทศะและการจัดวางตนเองกับผู้อื่นให้เหมาะสมไปด้วย

โดยกระบวนการที่เกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าวนี้ ทำให้ปัจเจกและความเป็นชุมชนในอีกมิติหนึ่ง มีฐานะเป็นหน่วยประสบการณ์และหน่วยสะสมความรู้ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารต่างๆในความเป็นชีวิตของสังคมและของความเป็นส่วนรวมของชุมชน เมื่อรวมกลุ่มและลงแขกทำงานส่วนรวม จึงทำให้บทเรียนและข้อมูลข่าวสารจากคนหลากหลายไหลเวียนแพร่สะพัดไปทั่วทั้งกลุ่มก้อนและชุมชน ความเป็นกลุ่มประชาคมและความเป็นชุมชนจึงเป็นกระบวนการสื่อสารเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติ การได้มีส่วนร่วมกิจกรรมดังกล่าวของปัจเจกจึงนำมาซึ่งการได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนสื่อสาร ตลอดจนสะสมความรู้และสืบทอดมรดกทางปัญญาต่างๆของสังคมได้จากรุ่นต่อรุ่น

หากนักวิจัยชุมชนและคนภายนอกได้ทำงานและร่วมทำกิจกรรมลงแขกกับชุมชน ไม่นานนักก็จะได้ความเข้าใจ ได้ความรู้ และได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับชุมชนได้อย่างลึกซึ้ง เพราะในอีกมิติหนึ่ง การลงแขกมีความเป็นกลุ่มก้อนและเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ รวมทั้งเป็นหน่วยสะสมความรู้ไว้กับการปฏิบัตินั่นเอง

 ประชากรศึกษาและความเป็นพลเมือง ในการลงแขก

ในวัฒนธรรมการลงแขก ไม่ว่าจะเป็นการลงแขกเกี่ยวข้าวและการระดมแรงงานกันเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวมต่างๆ มักจะนับแรงงานกันด้วยระบบน้ำใจและอย่างไม่เป็นทางการ ไม่ถึงกับถือเป็นกฏเกณฑ์ตายตัวว่าต้องเป็นคนอายุเท่าใดขึ้นไปจึงจะนับแรงงานกัน  โดยมากแล้วก็จะพิจารณา ‘ความเป็นงาน’ เช่น เด็กชายบางคนแม้ยังไม่ถึงอายุครบบวช แต่ความที่เป็นงาน ทำการงานเก่ง มีความจริงจังและมีวุฒิภาวะสูง ก็จะนับว่าเป็นแรงงานน้ำใจกัน ๑ แรง

ขณะเดียวกัน หากเป็นชายหญิงในวัยเท่ากันกับกรณีแรก ทว่า ยังทำงานไม่เก่ง โดยมากแล้วก็จะจัดให้เป็นคนที่กำลังฝึกหัดและเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ชีวิตไปกับกลุ่มผู้ใหญ่ อาจไม่นับเป็นจำนวนเอาแรง ดังนั้น ปัจเจกและความเป็นพลเมืองในบริบทของการลงแขกจึงมีฐานะเป็น ๑ หน่วยแรงงาน  เมื่อจะใช้คืนก็ต้องเอาแรงงานน้ำใจไปลงแขกคืนอย่างน้อยก็เท่ากับหน่วยแรงงานที่ตนเองได้รับ

นอกจากใช้จำนวนหน่วยของแรงงานแล้ว วิธีเอาแรงและลงแขกก็อาจใช้หลักเกณฑ์อีก ๒ อย่างมาเป็นแนวคิดในการเอาแรงและลงแขกเกี่ยวข้าวช่วยกัน คือ ขนาดของงาน และจำนวนวันหรือระยะเวลา

ขนาดของงานก็เช่น เอาแรงกันไว้ ๑๐ งานหรือ ๑๐ ไร่ เมื่อคืนแรงงานน้ำใจ ก็จะไปลงแขกคืนโดยอาจจะระดมคนไปช่วยกันเกี่ยวมากน้อยไปตามความสะดวก โดยถือเอาการลงแขกตามเอาแรงกันไว้ ๑๐ งาน ๑๐ ไร่เป็นหลัก

จำนวนวันหรือระยะเวลาก็จะมีหลายวิธี เช่น เอาแรงกันไว้ ๑ วัน เอาแรงกันไว้  ๑ วันพระ หรือบางครั้งอาจจะไม่ได้นับจำนวนวันตายตัว ทว่า นับกันเป็นกรอบเวลากว้างๆ คือ ๑ ฤดูเก็บเกี่ยวของปีหนึ่งๆเลย เมื่อให้แรงคืนก็จะไปอย่างน้อยก็เป็นระยะเวลาเท่ากับได้เอาแรงกันไว้ อย่างนี้เป็นต้น

วัฒนธรรมการลงแขกในแง่นี้ จึงมีมิติที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมและเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางประชากรศึกษาไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ภาวะกดดันทางประชากร จำนวนแรงงาน การวิเคราะห์ปัจจัยทรัพยากรมนุษย์ การวางแผนและการจัดการด้วยวิธีการชุมชนให้เกิดความสมดุลกับปัญหา การเรียนรู้เพื่อได้ความเป็นหญิงชาย ความเป็นผู้ใหญ่ ความเป็นพลเมืองที่มีสำนึกและความรับผิดชอบต่อความเป็นส่วนรวมร่วมกับผู้อื่น

 ความเป็นชุมชนในการลงแขก

การลงแขก เป็นชุมชนและการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนของชาวบ้านที่ยึดโยงกันด้วยการใช้แรงงานและกิจกรรมการผลิต ลักษณะของกลุ่มก้อนจึงมีการคัดสรรให้เป็นกลุ่มประชากรในวัยแรงงานและมีความสามารถในการทำงานได้ การปฏิบัติที่แสดงออกเมื่อเอาแรงและลงแขกกันในชุมชน จะมีส่วนต่อการให้บทบาท ความเป็นบุคคล ตลอดจนความเป็นตัวตนของปัจเจกในขอบเขตต่างๆ รวมไปจนถึงการได้ความเป็นสมาชิกชุมชน ซึ่งจะช่วยให้ปัจเจกและสมาชิกของชุมชนรู้กาลเทศะในการวางตน สามารถสร้างความสมดุลในตนเองและปฏิบัติต่อผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม การใช้แรงงานและการแสดงน้ำใจจึงมีบทบาทต่อการจัดความสัมพันธ์กันของชุมชนในบริบทการลงแขก

นอกจากนี้ การลงแขกจะมีพลังกำกับและควบคุมทางสังคมอยู่ในตัวเอง เช่น การเป็นคนเกียจคร้านในท่ามกลางบรรยากาศการลงแขก ความไม่ซื่อตรง หรือการไม่คืนแรงงานน้ำใจให้กับผู้อื่น ก็จะถูกจดจำและไม่ได้รับการยอมรับในโอกาสอื่นๆทางสังคมจากสมาชิกของชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีวิธีอยู่ร่วมกันได้อย่างดีในชุมชน

 การบริหารจัดการเป็นกลุ่มในการลงแขก

รูปแบบความเป็นองค์กรและการบริหารจัดการปัจจัยต่างๆในวัฒธรรมการลงแขก มีลักษณะเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างแบบผสมผสานทั้งแนวดิ่ง แนวราบ และแนวพลวัตรซึ่งเลื่อนไหลและเปลี่ยนแปลงไปตามชุดของเหตุปัจจัยที่เข้ามาสู่สถานการณ์หนึ่งๆ

แนวโน้มการตัดสินใจและทิศทางการสนองตอบต่อจุดหมายต่างๆของกลุ่มก้อน มีความเป็นพหุลักษณ์ โดยมากนั้น การจัดองค์กรที่เป็นทางการโดยทั่วไปมักเน้นวัตถุประสงค์เชิงเดี่ยว แต่การรวมกลุ่มลงแขกจะมีความเป็นองค์กรจัดการที่มีหลายจุดหมายและหลายวัตถุประสงค์ (Plural and Complicate Objectives Organization)  ผสมผสานและเคลื่อนไหวไปในเวลาเดียวกันและภายใต้ปัจจัยแวดล้อมเดียวกัน กิจกรรมและกระบวนการหลายอย่างจะเกิดขึ้นไปพร้อมกัน

ภาวะผู้นำในกลุ่มก้อนของการลงแขกจึงเป็นภาวะผู้นำแบบรวมกลุ่ม (Collective Leadership) สมาชิกทุกคนมีบทบาทความเป็นผู้นำและผู้ตามผสมผสานกันไปหลายสถานการณ์ และต่างบริหารจัดการเป็นกลุ่มด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรมชาติ (Participatory Management)

 ศิลปะ สุนทรียภาพ และความบันดาลใจสร้างสรรค์ที่ผสมผสานอยู่ในการลงแขก

การเข้าถึงสุนทรียภาพและความรื่นรมย์ของชีวิตในวัฒนธรรมการลงแขกนั้น มีความเชื่อมโยงกับสถานะของปัจเจก ๒ สถานะที่สำคัญ คือ
(๑) การเข้าถึงด้วยทางตรงและประสบการณ์ตรง
(๒) การจัดความสัมพันธ์กับแหล่งประสบการณ์ที่มีความหมายเชิงสุนทรียภาพอย่างบูรณาการทั้งในฐานะผู้สร้าง ผู้สังเกตและหาความซาบซึ้งชื่นชม และในฐานะเป็นอุปกรณ์และองค์ประกอบของตัวชิ้นงาน (Art elements)

การลงแขกจึงทำให้เกิดมวลประสบการณ์และพลังความซาบซึ้งที่เข้มข้น มีพลังต่อความบันดาลใจและนำมาสู่ความสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อสะท้อนความละเอียอดอ่อนภายในจิตใจและแสดงความรื่นรมย์ในชีวิต เช่น ก่อให้เกิดการสะท้อนประสบการณ์เชิงสัมผัสถ่ายเทไปสู่การร้องเพลงเกี่ยวข้าว การตกผลึกประสบการณ์ออกมาเป็นหลักธรรมชีวิต  บทกวี เพลงแหล่ การเล่นปฏิภาณและได้ความสนุกสนานรื่นรมย์ใจไปกับการตอบโต้กัน รวมทั้งเกิดการคิดค้นดนตรีและสิ่งแสดงทางศิลปะต่างๆออกมา เช่น ปี่ซังข้าว การผิวใบข้าว การทำหุ่นไล่กาจากฟางข้าว ตลอดจนการได้ปรัชญาชีวิตเพื่อความเข้าใจโลกและชีวิตที่ลุ่มลึกแยบคาย เหล่านี้เป็นต้น

  บทสรุปและการเรียนรู้ทางสังคมจากการลงแขก

กล่าวได้ว่า การลงแขกเป็นกระบวนการเรียนรู้และจัดการความเป็นชุมชนที่มีความเป็นบูรณาการและผสมผสานหลายอย่างอยู่ในตนเอง เป็นอุปกรณ์และนวัตกรรมสร้างความเป็นส่วนรวมของชุมชน  มีขั้นตอนและวิธีจัดการอย่างเป็นระบบ มีเหตุผล สะท้อนภูมิปัญญาและความลึกซึ้งแยบคายในชีวิต เป็นหน่วยสะสมความรู้และหน่วยการแลกเปลี่ยนสื่อสารที่มีความเป็นชีวิตซึ่งการปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมกิจกรรมการลงแขกของสมาชิกจะเป็นที่มาของการเรียนรู้และการทำให้ความรู้เกิดการไหลเวียนสะพัดไปในชุมชน

ความเป็นชุมชนของการลงแขกเป็นการจัดความสัมพันธ์กันด้วยแรงงานและการแสดงออกด้วยการปฏิบัติที่สะท้อนคุณธรรมและความมีน้ำใจ ในความเป็นองค์กรและบริหารจัดการต่อปัจจัยที่ซับซ้อน การลงแขกเป็นองค์กรแบบพหุวัตถุประสงค์ นำการเคลื่อนไหวและตัดสินในด้วยภาวะผู้นำเป็นกลุ่ม เชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กันภายในกลุ่มก้อนด้วยโครงสร้างแบบผสมผสาน สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรมชาติ

ในแง่การพัฒนาด้านในและมิติสุนทรียภาพ ตลอดจนการได้ความเบิกบานแจ่มใสและรื่นรมย์ในชีวิต เป็นประสบการณ์ที่เข้มข้นมากกว่าการได้เป็นผู้ชมสิ่งสร้างสรรค์จากผู้อื่นอย่างเดียว โดยเข้าถึงผ่านประสบการณ์ทางการปฏิบัติ มีความเป็นเจ้าของและได้ความซาบซึ้ง รื่นรมย์และอิ่มปีติออกจากภายในหลายฐานะ ทั้งผู้สร้าง ผู้สังเกต ผู้ชม ตลอดจนความเป็นผู้อื่นในฐานะสภาพแวดล้อมและแหล่งบันดาลใจให้แกผู้อื่นที่ร่วมกิจกรรมการลงแขกด้วยกัน.

หมายเลขบันทึก: 348467เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2010 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

สวัสดีครับอาจารย์

การลงแขก หรือที่แถวบ้านผมเรียกว่า "เอามื้อ" เป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญมาก ๆ ครับ

ชาวปกาเกอะญอในวิถีชีวิตดั้งเดิม ปราศจากการเอามื้อกันแล้วก็ไม่มีกิจอะไรที่จะสำเร็จลุล่วงลงไปได้

แค่การถางไร่และจุดไฟเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก หากไม่มีเพื่อนบ้านมาช่วยป้องกันไฟมิให้ลามออกจากพื้นที่ทำไร่ ไฟก็อาจลุกลามเข้าผืนป่า ก่อปัญหาตามมาอีก

เกือบทุกขั้นตอนของการผลิตชาวบ้านเขาเอามื้อกันทั้งสิ้น

ชาวลาหู่ที่ผมอยู่ด้วยที่ จ.ตาก การเอามื้อ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ

ล่าสุดผมเพิ่งสร้างบ้านลาหู่เพื่ออยู่อาศัยเอง

ชาวบ้านมาช่วยจากหลายหมู่บ้าน บางคนมาใช้แรง บางคนมาเอาแรง ทั้งหมดเป็นการเอามื้อครับ

ผมเองไม่สะดวกจะไปใช้แรงหรือเอาแรงด้วยแรงกาย

แต่ก็ไปเอามื้อ ใช้แรงด้วยวิธีการอื่น

เช่นที่บ้านห้วยปลาหลด ผมเคยเข้าไปช่วยชาวบ้านเมื่อมีปัยหากับกรมป่าไม้ ก็ใช้ความสามารถทางด้านการเคลื่อนไหว จัดต้ัง ไปช่วยชาวบ้าน กระทั่งชาวบ้านผ่านวิกฤติมาได้ ชาวบ้านคิดว่านั่นเป็นการมาเอามื้อ และเมื่อมีโอกาสตัวแทนชาวบ้านก็จะมาใช้แรง แต่ผมเข้าใจว่าผทั้งผมและชาวบ้านมิได้คิดอะไร

หรือที่บ้านอีกหมู่บ้านหนึ่ง มีการจัดการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ผมเองก็มีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือให้คำแนะนำและจัดการบางอย่างให้ วันที่ผมสร้างบ้านชาวบ้านก็ส่งตัวแทนมาช่วย

ผมคิดของผมเองว่านี่อาจเป็นการเอามื้อในบริบทใหม่ครับ

ด้วยความระลึกถึงครับ...

  ดีจังเลยครับหนานเกียรติ    ผมเลยได้ความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับ 'เอามื้อ' ไปด้วย ได้สานความรู้และต่อเติมให้ได้ความรอบด้านในการนำเอาบทเรียนจากการดำเนินชีวิตของชาวบ้านมาหาบทเรียนและแนวคิดดีๆ สำหรับใช้เป็นหลักคิดเพื่อการทำงานในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆในปัจจุบัน วัฒนธรรมการลงแขกและความเป็นชุมชนที่ช่วยเหลือดูแลกันด้วยน้ำใจเป็นความเข้มแข็งที่รากฐานอย่างหนึ่งที่ชุมชนหนองบัวภูมิใจ มีกิจกรรมที่ได้รับการเชิดชูเป็นสัญลักษณ์ของความภูมิใจนี้ด้วยครับ ผมเลยช่วยเขียนทรรศนะและความรู้หลายแง่มุมที่จะช่วยเสริมกำลังสิ่งที่มีอยู่เดิมให้มีกำลังพัฒนาตัวเองให้กับชุมชนมากยิ่งๆขึ้น

ด้วยความรำลึกถึงเช่นกันครับ มีความสุขครับและมีไฟสร้างสรรค์อยู่เสมอครับ

  • บ้านผมเรียกว่า "เอามือ" ครับ เอามือคนอื่นมาช่วยงานของเรา แล้วเราก็ต้องไป "ตอบมือ" กลับไปช่วยเขาเมื่อเขามีงาน เป็นการช่วยเหลือกัน แต่วัฒนธรรมตรงนี้มีมันมากกว่าการลงแรงด้วยกัน แต่มันหมายถึงข้าวปลาอาหาร ความคิด ภูมิปัญญา การเอื้ออาทร ความสัมพันธ์ และและอีกสารพัดจริงๆ ครับ
  • แต่เสียดายปัจจุบันเริ่มมีเรื่องการจ้างงานมากขึ้น ทำให้การเอามือตอบมือเริ่มคลายลงไป กลายเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง ไปเสียนี
  • ขอบคุณอาจารย์ที่เอาเรื่องดีดีมารื้อฟื้นสร้างความหมายใหม่ครับ

อาจารย์ครับ

เรื่องการเอามื้อของชาวลาหู่นี่เคร่งครัดมาก ๆ เลยครับ ไม่เพียงแค่การผลิตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกิจอื่น ๆ อีกด้วย เช่นการสร้างบ้าน

การสร้างบ้านที่ชาวบ้านมาช่วยลงแรงและทำเสร็จไปเมื่อไม่นานมานี้ ผมก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเอามื้อมากครับ

ชาวลาหู่มีข้อบังคับที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษว่า การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันเดียว ไม่ว่าจะเป็นบ้านเล็กสำหรับครอบครัวเล็ก หรือบ้านใหญ่สำหรับครอบครัวใหญ่

การเอามื้อมิใช่สำคัญในขั้นตอนการยก/สร้างบ้านเท่านั้น แต่จะเริ่มต้นตั้งแต่การหาวัสดุอุปกรณ์สำหรับการปลูกบ้านมาตระเตรียมไว้ เพื่อให้บ้านที่จะสร้างใหม่นั้นสำเร็จภายในหนึ่งวัน ที่เริ่มต้นหลังจากพระอาทิตย์ขึ้น และสำเร็จก่อนพระอาทิตย์ตกดิน

พ่อบ้านจะต้องขอแรงจากเพื่อนบ้านไปช่วยตัดไม้ไผ่ ไม้ยืนต้น

แม่บ้านจะต้องชวนเพื่อนแม่บ้านไปเกี่ยวหญ้าคา ไพหญ้าคา เตรียมตอกเตรียมหวาย

ในวันสร้างต้องมีแรงงานมากพอที่จะให้การก่อสร้างบ้านสำเร็จลงได้

วันที่ชาวบ้านมาเอามื้อสร้างบ้านให้ผม แทบไม่น่าเชื่อว่าบ้านจะสามารถสร้างเสร็จได้ภายในวันเดียว

ผมเขียนเรื่องนี้ไว้ที่บันทึกนี้ครับ

เรือนลาหู่ ณ de' Musoi 

เรือนลาหู่ : เรือนที่เป็นมากกว่าเรือน (๑) 

เรือนลาหู่ : เรือนที่เป็นมากกว่าเรือน (๒) 

เรือนลาหู่ : เรือนที่เป็นมากกว่าเรือน (๓) 

เรือนลาหู่ : เรือนที่เป็นมากกว่าเรือน (๔) 

เรือนลาหู่ : เรือนที่เป็นมากกว่าเรือน (๕) 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรอาจารย์วิรัตน์พี่น้องชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

รู้สึกดีใจที่อาจารย์เขียนเรื่องการลงแขกของชุมชนหนองบัว การลงแขกเกี่ยวข้าวที่จริงคงมีหลายพื้นที่หลายภาคโดยทั่วไป แต่สำหรับที่หนองบัวนั้น ต้องขอบอกว่ามีความพิเศษต่างจากถิ่นอื่นอย่างเห็นได้ชัดเจนทีเดียว ต่างจากที่อื่นเพราะที่หนองบัว-หนองกลับนั้นมีคู่ดอง ปกติคู่ดองจะได้มีโอกาสเจอกันก็ต่อเมื่อมีงานประจำปี งานงิ้ว งานสวนสนุกหน้าอำเภอ หรือที่โรงหนังไทยประเสริฐ-วิกหนังหนองบัวราม่า

แต่คู่ดองที่ได้พบกันในงานดังกล่าวนั้น ฝ่ายชายไปรับคู่ดองของตนโดยมีเพื่อไปด้วยคนสองคน ส่วนฝ่ายหญิงอย่างน้อยที่สุดสองคนส่วนใหญ่จะมากกว่านี้ ถ้าเป็นงานที่ไม่ซื้อบัตรผ่านประตู ฝ่ายชายก็เบาใจหน่อยเพราะจ่ายไม่มาก แต่ถ้าพาคู่ดองไปเที่ยวงานสวนสนุกหน้าอำเภอซึ่งจัดหน้าหนาวกำลังเกี่ยวข้าวพอดี ฝ่ายชายต้องรับภาระรายจ่ายสูงมากเกือบสิบคน เรียกว่าอ่วมอรทัยเลยแหละ

ทีนี้การลงแขกเกี่ยวข้าวที่มีคู่ดองมาเกี่ยวข้องด้วย เป็นการแสดงน้ำใจอย่างมากครั้งหนึ่งในแต่ละรอบปีของคู่ดองแต่ละคู่ การรับคู่ดองไปเที่ยวงานไปในฐานะส่วนตัวของฝ่ายชาย-หญิงแม้จะมีเพื่อนไปด้วยก็ตาม แต่การพาแรงงานจำนวนมากไปช่วยฝ่ายหญิงเกี่ยวข้าว คนหนองบัว-หนองกลับมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า แขกทุ่มคู่ดอง-แขกทุ่ม แขกทุ่มนั้นไม่ใช่ไปเฉพาะคนหนุ่มสาวที่เป็นคู่ดองกันเหมือนไปเที่ยวงานเท่านั้น แต่เป็นการ ไปกันทั้งครอบครัว มีลุง ป้า น้า อา ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เพื่อนต่างหมู่บ้านที่ไปเอาแรงกัน หรือขึ้นแรงเกี่ยวข้าวกัน แขกทุ่มบางเจ้านั้นคนรวมกันทั้งสองฝ่ายเกือบจะหมดหมู่บ้าน เหมือนมีงานวัดย่อมๆคนเต็มทุ่งนาไปหมด

จะเรียกให้สวยหรูว่าเป็นงานพบญาติฝ่ายเจ้าสาว-เจ้าบ่าวเลยก็ว่าก็ได้ เพราะบางเจ้าแขกทุ่มเกี่ยวข้าวมีคนมากพอๆกับตอนแต่งงาน ยังไง ยังงั้น ฉะนั้นคนเกี่ยวข้าวแขกทุ่มไม่ค่อยเหนื่อย เพราะมีคนทุกวัย รุ่นพ่อ แม่ ป้า น้า อา ลุง หนุ่มสาว มีเด็กๆคอยช่วยเหลืองาน บริการน้ำดื่ม คล้ายกับมีงานพบปะสังสรรค์ของพ่อดอง แม่ดอง คนสูงอายุ คนวัยทำงาน วัยรุ่น งานนี้สนุกจริงๆนะจะบอกให้ ผู้เขียนก็อยู่ในบรรยากาศนี้ด้วยแหละ.

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ข้อมูลของอาจารย์ที่กล่าวว่าในพื้นที่นาดอนนั้น นาข้าวเบา ข้าวจะแก่และเกี่ยวได้ประมาณเดือน ๙ เดือน ๑๐ นาข้าวหนักในที่ลุ่มจะเกี่ยวได้ประมาณ เดือน ๑๐ เดือน ๑๑ หรือหลังสารทไทย
  • แต่นาข้าวเบาที่อาตมาทำอยู่ประจำ เป็นนาดำจะลงมือทำในเดือน ๘ เกี่ยวเดือน ๑๒ หลังลอยกระทง ส่วนนาข้าวกลาง นาข้าวหนักนั้น หว่านข้าวประมาณเดือน ๗ เกี่ยวหลังข้าวเบา คือเดือน อ้าย เดือน ยี่

สวัสดีค่ะ

  • การลงแขก  แถวคนทางบ้านนอกที่พิษณุโลก  เขาเรยกว่า...เอาแรงค่ะ และผู้ที่ถูกเอาแรงก็จะไปใช้แรงเป็นการตอบแทน
  • สมัยปัจจุบัน  การเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและสังคม  น่าจะเป็นตัวทำลายให้วัฒนธรรมการลงแขกหดหายไปจากสังคมนะคะ
  • นับว่าเป็นกิจกรรมที่เกิดจากจิตสาธารณะ  ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน น่าจะมีความสุขกว่าการจ้างและรับค่าตอบแทนเป็นเงิน
  • อ่านเม้นท์ของพระคุณเจ้า พระมหาแล  ได้ความรู้ใหม่เรื่อง "คู่ดอง" เป็นกิจกรรมที่น่าจะฟื้นฟูให้ลูกหลานในปัจจุบันได้เรียนรู้นะคะ
  • ขอขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

ความงามอย่างหนึ่งของชนบท คือ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในรูปแบบของ "การเอามือ" นี่หละครับ (บ้านผมใช้ "เอามือ" ครับ) การเอามือให้ความหมายที่มากกว่าไปช่วยกัน เเต่เป็นความพยายามในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และดำรงอยู่ของกลุ่ม ของชุมชน

เเละปรากฏการณ์ของปัจจุบันก็คือ การจ้างเหมา ทำให้วัฒนธรรมการเอามือนั้น หายไป การปะทะสังสรรค์ทางสังคมก็น้อยลงไปด้วย ความห่างเหินที่เกิดขึ้นในชนบทที่เกิดขึ้นผ่านการใช้วิถีเลียนเเบบคนเมือง ที่เน้นปัจเจกมากขึ้น

หากเรายังต้องการธำรงความงดงามของชนบท ผมว่าโจทย์ที่ท้าทายของนักพัฒนาก็คือ ต้องเร่งสร้างพื้นที่ไม่เป็นทางการ ผ่านกิจกรรมทางสังคม ในรูปแบบที่หลากหลายมาแทน วัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นทุน ที่เริ่มหายไป

----------------------------------------------------------

*** อาจารย์ครับ

ผมได้ส่งอีเมลไปเรียนปรึกษาเรื่อง

  • ประเด็นของ คุณสุเมธ ที่จะมาขอพบเพื่อขอคำปรึกษาในวันศุกร์นี้ ขอความกรุณาจากอาจารย์ด้วยครับ (คุณสุเมธจะเดินทางมาที่คณะฯ ช่วงเช้าของวันที่ ๒ เมย.๕๓) จะมาร่วมเวที วิธีวิทยา ของศึกษาศาสตร์เสวนาด้วยครับ
  • ปรึกษากระบวนการ และเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับ เวทีการถอดบทเรียน gotoknow forum 2 ที่ หาดสมิหลา สงขลา ปลาย พค.นี้ ทราบมาว่าได้มีอีเมลไปยังอาจารย์เเล้ว

 

  สวัสดีครับพ่อน้องซอมพอ   : ในรูปที่พ่อน้องซอมพอโพสต์ให้ดูนี่ เป็นการกำลังนั่งพักของชาวนา หรือปรกติแล้วเขานั่งถอนต้นกล้า-เกี่ยวข้าวกันอย่างนี้หรือครับ

ทางภาคใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงไปเขายืนเกี่ยวโดยใช้แกระ  บางส่วนในภาคเหนือก็ยืนเกี่ยวแต่ใช้เคียว ส่วนในภาคกลางและแถวบ้านผมนั้นจะใช้เคียวก้มหลังลงเกี่ยว

ผมเพิ่งได้ทราบจากชาวบ้านที่อรัญประเทศว่า คนเขมรเขานั่งเกี่ยวข้าวและเครื่องมือรูปร่างเหมือนเคียวแต่มีตะขอรวบกำข้าวติดอยู่บนสันเคียวด้วย

  สวัสดีครับหนานเกียรติ   : เลยได้ความรู้ไปด้วยมากมายนะครับ หนานเกียรติเล่าเรื่องการสร้างบ้านทั้งได้รายละเอียด ได้วิธีคิด และความเร้าใจ แต่หัวข้อ ตอน ๑,๒,๔,๕ มันไม่พบไฟล์ที่ต้องการน่ะครับ สงสัยหนานเกียรติย้ายบันทึกไปไหนหรือเปล่า

 กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ : ก็ได้ความคิดจากพระคุณเจ้านั่นแหละครับ มันเป็นข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนด้วย แล้วก็อาจจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเด็กๆและคนหนองบัวด้วย ก็เลยพยายามพัฒนาวิธีเขียนบันทึกรวบรวมไว้ครับ

 สวัสดีครับคุณครูคิมครับ : แถวบ้านผมที่เป็นชุมชนลาว ส่วนใหญ่ก็เรียกว่าเอาแรงครับ แต่บางทีก็เรียกว่าไปลงแขกเหมือนกัน แต่การลงแขก-เอาแรงในงานบวชนาคและกิจกรรมที่เกี่ยวกับคน เช่น งานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ก็จะเรียกว่า 'โฮม' ซึ่งวันที่โฮมนั้นก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นวันก่อนวันงานจริง ๑ วัน และ'การโฮม'ก็คือการเอาสิ่งของและแรงงานไปช่วยกัน ผู้ชายก็ไปซ่อมบ้าน ทำบ้าน ทำซุ้มปรัมพิธี ทำเรือนหอ ตัดฟืน ทำวัว-ทำหมู คนเฒ่าคนแก่ก็หิ้วมะพร้าว น้ำตาล ข้าวสาร ไปช่วยกัน ผู้หญิงก็ไปทำขนมจีน กับข้าว อาหารคาวหวาน

บรรยากาศในวันโฮมนี้เด็กๆจะชอบครับ เหมือนเป็นวันอภัยทาน จะเล่นเป็นลิงทะโมนอย่างไรผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยว่าเพราะมีคนช่วยกันดูเยอะ

  สวัสดีครับ คุณเอก จตุพรครับ  

  • ขอต้อนรับคุณสุเมธและคณะสู่เวทีศึกษาศาสตร์เสวนาครับ งั้นคงได้คุยกันต่อหลังจากเสวนาเลยนะครับ
  • เมื่อคืนนี้ได้รับเมล์จากทางคุณสุนทรีย์ของ GotoKnow แล้วละครับ ด้วยความยินดียิ่งครับ หากไม่ติดขัดอะไรอย่างกระทันหัน ก็จะชักชวนทีมไปช่วยกันนะครับ

สวัสดีค่ะ

แวะมาเรียนรู้ด้วยคนนะคะ

ขอบคุณค่ะ^__^

ขอให้ได้ความบันดาลใจและได้การเรียนรู้มากๆนะครับ

  • เพิ่งสังเกตอีกครั้งว่าเวทีคนหนองบัวมีแขกมาเยือนจากอเมริกา ๕ คน ญี่ปุ่น ๒ คน และออสเตรเลีย ๒ คน
  • เป็นชาวต่างประเทศเยอะกว่าหัวข้ออื่นๆของผมอีกนะครับ
  •   ขอสวัสดีทุกท่านร่วมกับชาวหนองบัวครับ  เดี๋ยวนี้คนต่างประเทศศึกษาเรื่องเมืองไทยเยอะนะครับ ผมเคยเห็นชาวญี่ปุ่นพูดและอ่านภาษาไทยใช้ได้เลยทีเดียว พอถามดูปรากฏว่าไม่เคยมาประเทศไทยเลย แต่ว่าเรียนภาษาไทยจากครูชาวญี่ปุ่นที่ประเทศของเขา น่าทึ่งจริงๆ
  • มีความรู้เรื่องลงแขกขึ้นอีกมากเลยครับ
  • เคยสงสัยว่าประชากรศึกษานี่ ศึกษาอะไร พอได้อ่านบันทึกของอาจารย์นี้ ทำให้พอนึกออกแบบไม่แน่ใจครับ ว่าคงศึกษาทุกๆเรื่องที่เป็นวิถีชีวิตของประชากรหรือชุมชน..
  • ความรู้ที่ซ่อนอยู่ในการจัดการที่ดี ประเพณี วัฒนธรรม หรือสิ่งต่างๆที่ทำให้การอยู่ร่วมกันภายในชุมชนเป็นไปด้วยความสงบสุข มีความเป็นปึกแผ่น คงมีมากมายให้เราได้เรียนรู้
  • เพิ่งจะมีความรู้ว่าการลงแขกหรือการเอาแรงกันและกันในการทำงานนั้น คำนึงถึงความเป็นงาน ขนาดของงาน และ/หรือวัน-เวลาด้วย แม้จะไม่เป็นทางการนัก
  • ขอบคุณความรู้ครับอาจารย์

 สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ครับ

  • ประชากรศึกษา เป็นการศึกษาเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรทางประชากร ที่สำคัญก็คือ การเกิด การตาย การย้ายถิ่น แล้วก็พลวัตรทางประชากรที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับตัวแปรเหล่านี้ เช่น การขยายตัว การทรงตัว การลดขนาด
  • แล้วก็ดูว่าองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาและภาวะกดดันต่อมิติต่างๆของเราในระดับต่างๆ อย่างไรบ้าง นับแต่ระดับเล็กๆในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ประเทศ รวมไปจนถึงระดับมหภาคของหน่วยสังคมต่างๆ
  • ในทางกลับกัน ก็ศึกษาไปด้วยว่า แรงกดดันดังกล่าวที่กระทบต่อเราและสังคมในระดับต่างๆนั้น โดยตัวมันเองก็ย้อนกลับไปกระทบต่อตวแปรทางประชากรอย่างไรด้วย เช่น การมีลูกและสมาชิกครอบครัวหลายคน ในอดีตก็ทำให้มีแรงงานและมีกำลังการผลิตมาก แต่ต่อมาก็เป็นแรงกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจและการขาดโอกาสต่างๆของครอบครัว เช่น การศึกษา สุขภาพ และสวัสดิภาพต่างๆในสังคม
  • เช่นเดียวกัน แรงกดดันดังกล่าว ก็ย้อนไปเป็นแรงกระต้นให้คนตัดสินใจปฏิบัติตนหลายอย่างที่ทำกระทบต่อตัวแปรทางประชากร เช่น อยู่เป็นโสดไม่แต่งงาน ยืดอายุแต่งงาน แต่งงานแล้วไม่มีลูก มีลูกก็มีลูกน้อยคน
  • ทั้งหมดนี้ อาจจะเป็นปัญหาหรือเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้และวางแผนดำเนินการต่างๆได้นับแต่ตัวเราและในหน่วยสังคมต่างๆครับ ซึ่งในด้านที่เป็นการแก้ปัญหาด้วยการใช้ความรู้ การศึกษา ตลอดจนการระบบและโครงสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพคนและพลเมืองประชากร โดยเฉพาะด้วยยุทธศาสตร์ทางการศึกษา การจัดการความรู้ สื่อสารความรู้ ที่ทำให้คนและสังคมตัดสินใจและสนองตอบต่อเรื่องเหล่านี้ได้ดีขึ้น ก็อยู่ในขอบข่ายของประชากรศึกษาครับ ในโรงเรียนระดับต่างๆก็มีสอดแทรกอยู่ในสาระการเรียนรู้ต่างๆ ครับ
  • แวะไปดูงานเขียนความคิดและถ่ายภาพของอาจารย์ ดีและให้แรงบันดาลใจดีๆได้หลายอย่างครับ
  • เรื่องในชุดนี้ของผมก็พยายามเอาความรู้และวิธีคิดในความรู้สมัยใหม่ มาผสมผสานและอ่านสังคมไทยในแง่มุมต่างๆเพื่อสร้างความคิดและสร้างความรู้ให้เชื่อมโยงกันได้ครับ คนที่ออกจากบ้านและหลุดออกจากฐานชีวิตดั้งเดิมก็จะได้กลับบ้านถูกและมีความสุข-ได้ความเชื่อมั่นมากขึ้น
  • ชาวบ้านและคนที่อยู่ในวิถีชีวิตดั้งเดิมก็จะพอเห็นแนวการถอดรหัสนัย ได้ความคิดและใช้แนวคิดจากฐานชีวิตตนเองไปเห็นความเป็นสิ่งเดียวกันและแง่มุมที่แตกต่างกันของโลกสมัยใหม่ เหมือนกับเอาสังคมของเรามานั่งทบทวน อ่าน และเขียนถ่ายทอดไปเรื่อยๆน่ะครับ
  • ประชากรศึกษาของผมผิดถนัดเลย(ฮา) แต่เป็นความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง ปัจจัย ผลกระทบ การนำไปใช้ประโยชน์ ฯลฯ อะไรประมาณนี้
  • ขอบคุณความรู้อีกครั้งครับอาจารย์
  • ไม่ผิดหรอกครับอาจารย์ นอกจากไม่ผิดแล้วยังเป็นแนวคิดอีกแนวหนึ่งที่เป็นฐานในการคิดและหาวิธีพิจารณาใหม่เกี่ยวกับประชากรและสังคมประชากรด้วยครับ คนที่มองอย่างอาจารย์ซึ่งต่อมาก็ทำให้แนวทฤษฎีการศึกษาเชิงคุณภาพ เชิงกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการทางพฤติกรรมทั้งของประชากรและของหน่วยสังคมต่างๆ ก็คือ David Kingsely มีการพัฒนาขึ้นมาในการศึกษาทางประชากรและสังคม กับทางประชากรศึกษาอีกด้วยครับ
  • แรกๆนั้นก็จะเน้นแต่เรื่องจำนวนทางประชากรครับ แต่มุมมองอย่าง David Kingsely และอย่างที่อาจารย์ลองมองตามความเข้าใจนั้น มองไปยังกระบวนการเรียนรู้และการกระทำตลอดชีวิตของคนไปด้วยว่ามีความสำคัญในเชิงคุณภาพเชิงพฤติกรรมของคนมากกว่าจำนวนและปริมาณ คล้ายๆกับคำกล่าวของ มหาตม คานธี เลยละครับที่กล่าวว่า โลกนี้มีทรัพยากรที่เพียงพอแก่การแบ่งปันกันให้กับคนทุกคน แต่ไม่พอที่จะถมความต้องการที่ไม่รู้จักพอให้กับแม้เพียงหนึ่งคน หรือในพระพุทธวจนะที่ว่า คนเกิดมา ๑๐๐ ปีแต่ไม่มีการศึกษาอบรมตนก็ไม่มีความหมายเท่าสามเณรน้อยคนหนึ่งที่เกิดมาและปฏิบัติศึกษาเพื่อพัฒนาตนเอง ๑ วัน หรือในพระบรมราโชวาทในหลวงครั้งหนึ่งที่ว่า จงคำนึงถึงการพัฒนาชีวิตที่กว้างขวาง มากกว่าการมีชีวิตที่ยืนยาว
  • การศึกษาในทุกๆเรื่องที่อยู่ในวิถีชีวิตของประชากรและชุมชน จึงไม่ผิดและใช่อย่างยิ่งครับ แม้ในปัจจุบันนี้ แนวคิดนี้ก็ยังถือว่าเป็นทรรศนะใหม่ทางประชากรศึกษาครับ
  • อย่างความสนใจของผมเองนั้นก็มาทางนี้เลยละครับ เพราะมีกรณีตัวอย่างมากมายในโลกทั้งในอดีตและปัจจุบันที่บอกว่าจำนวนประชากรที่มากหรือน้อยกว่ากันของประเทศต่างๆนั้น สรุปไม่ได้ว่าจะส่งผลต่อระดับการพัฒนาของประเทศนั้นๆ แต่จะเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพความเป็นพลเมืองและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วยกระบวนการทางการศึกษาหลากหลายที่เชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิต การทำมาหากิน การทำงานสร้างสรรค์ และการแสดงความรื่นรมย์(ความบันเทิงและหย่อนใจ) มากกว่า ผมก็เลยสนใจที่จะถือเอาคน ชุมชน การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของคน วิถีการใช้ปัญญาและความสร้างสรรค์ และการอยู่ร่วมกันของคนเป็นศูนย์กลาง ครับ
  • ดูตัวเองฉลาดขึ้นมาเลยครับ..แต่ก่อนที่เคยสอนนักเรียนเรื่องประชากรมาบ้าง ในวิชาวิทยาศาสตร์(ม.ต้น) และปัจจุบันสอนในวิชาชีววิทยาเล่มสุดท้าย(ม.6) ก็เป็นความรู้พื้นฐานในเรื่องความหมาย ความเปลี่ยนแปลง ปัจจัย ผลกระทบ อะไรต่างๆนี่แหละครับ แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าในวิชาสังคมศึกษาที่มีเนื้อหาเรื่องเหล่านี้อยู่บ้างเหมือนกัน เขาสอนอะไร เดาเอาว่าคงคล้ายที่เราสอน แต่คงเน้นไปในทางที่เกี่ยวข้องกับสังคม เศรษฐกิจ อะไรพวกนี้ แต่พอมาเห็นหรือรู้ว่าประชากรศึกษานั้น มีสอนเป็นสาขาวิชาหนึ่งในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตกันเลย จึงเริ่มสงสัยว่าเขาสอนเขาเรียนอะไรกันนะ ตั้งมากมายขนาดนั้น จนได้อ่านบันทึกนี้ และด้วยความกรุณาจากอาจารย์มากๆ ทำให้กระจ่างขึ้นครับ
  • ขอบคุณมากๆอีกครั้งครับอาจารย์

แอบมาเรียน "ประชากรศึกษา" ด้วยคนครับ...

  สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์และหนานเกียรติครับ 

  • ดูขรึมขลังเป็นเรื่องเป็นราวเชียว แต่ก็เหมาะกับเวทีคนหนองบัวดีเหมือนกันนะครับ ถือว่าแลกเปลี่ยนเป็นเกร็ดความรู้ให้กันก็แล้วกันนะครับ ในแง่อื่นผมก็ได้เรียนรู้จากอาจารย์ธนิตย์และหนานเกียรติ

                            Delivered 

                            การเกิด การอยู่ไฟ วัฒนธรรมแม่ซื้อ ในมิติหนึ่งก็อาจพิจารณาว่าเป็นการเรียนรู้ทางสังคมและเป็นประชากรศึกษาในวิถีชาวบ้านเหมือนกันครับ

  • แต่จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของคนทำงานการศึกษาและพัฒนาสังคมในขอบเขตต่างๆอยู่เหมือนกันครับ พอจะพูดให้เห็นภาพพัฒนาการกว้างๆได้อย่างนี้ครับว่า เมื่อเริ่มแรก ๓๐-๔๐ ปีก่อนโน้น การวางแผนพัฒนาทางประชากรและสังคม กับการพัฒนาทางประชากรศึกษา ก็มีศูนย์กลางอยู่ที่การวางแผนและบริหารจัดการการพัฒนาการควบคุมในเรื่องขนาดและจำนวนทางประชากร เพื่อทำให้ผู้คนมีโอกาสเข้าถึงเรื่องต่างๆได้ดีขึ้น ทั้งเรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ สุขภาพ และองค์ประกอบด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตต่างๆอย่างที่อาจารย์ธนิตย์ว่านั่นแหละครับ
  • ต่อมาศูนย์กลางก็อยู่ที่การพัฒนาคุณภาพแห่งชีวิตและคุณภาพทางประชากรกลุ่มต่างๆ การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้เพื่อให้มีผลต่อการควบคุมขนาดและจำนวนทางประชากรก็ลดบทบาทลงไปมากครับ
  • ปัจจุบันกับในอนาคตก็กำลังมีแนวในการมองความเป็นหน่วยทางสังคมด้วยแนวคิดที่เปิดกว้างและซับซ้อนมากกว่าในยุคสมัยที่ผ่านมาครับ ความเป็นกลุ่มทางประชากร ความเป็นพลเมือง และการพัฒนาทางด้านการศึกษาเรียนรู้เพื่อทำให้ปัจจัยทางประชากรเป็นทั้งเป้าหมายการพัฒนาและเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในเรื่องต่างๆ ก็มีการพัฒนาและมีความจำเป็นในเงื่อนไขแวดล้อมที่หลากหลายมากกว่าเดิมอีกหลายอย่างครับ
  • อย่างอาจารย์ธนิตย์และหนานเกียรติ ความเปลี่ยนแปลงทางประชากรและชุมชนที่เกิดขึ้นรอบๆตัว หากสังเกตอาจารย์ธนิตย์ก็จะเห็นว่าในช่วง ๑๐-๒๐ ปีที่ผ่านมาในโรงเรียนของอาจารย์และรอบๆตัว มีจำนวนเด็กเข้ามาเรียนในแต่ละรุ่นลดลงไปเรื่อยๆครับ หลายแห่งโรงเรียนทำท่าว่าจะทำบทบาทจัดการเรียนการสอนอยู่กับเด็กๆตามที่โรงเรียนอย่างในอดีตเคยทำมาแต่ไหนแต่ไร ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว และในชุมชนโดยรอบของอาจารย์ จำนวนคนที่มีอยู่ในชุมชนนั้น โครงสร้างทางอายุของคนก็เปลี่ยนไป โครงสร้างการได้รับการศึกษาพื้นฐานและการทำอาชีพการงานก็เปลี่ยนไป คุณครู ผู้นำชุมชน และคนทำงานส่วนรวม เริ่มทำงานไม่สนุก 
  • คนสูงอายุมีมากขึ้นและอยู่ในครอบครัวที่มีความหลากหลายของรุ่นวัยน้อยลง คนหนุ่มสาวทำมาหากินเพื่อหาเงินแทนทำอยู่ทำกินด้วยกันมากขึ้น
  • งานส่วนรวมในบรรยากาศเก่าก่อนก็ต้องเปลี่ยนแบบแผนปฏิบัติ อย่างที่ในเวทีคนหนองบัวกำลังช่วยกันสร้างความรู้และเรียนรู้ชุมชนตนเองไว้นี้ หากไม่รีบทำตอนนี้ อีกไม่นาน ผู้คนก็จะไม่รู้ที่มาที่ไปของตนเอง ซึ่งจะทำให้สูญเสียทักษะหลายอย่างของตนเอง ผมยังนึกดีใจที่ได้มีส่วนร่วมกับหลายท่านในเวทีนี้ที่ริเริ่มและทำหลายอย่างในเวทีนี้ขึ้น
  • ส่วนหนานเกียรติก็จะสังเกตได้ว่า เมื่อ ๑๐-๒๐ ปีที่ผ่านมานี้ ในแวดวงศาสนาก็จะขาดคนสืบสานพระศาสนาที่เป็นคนรุ่นใหม่ๆมากขึ้นเป็นลำดับ มีข้อมูลว่าเกิดขึ้นในทุกศาสนาและในขอบเขตทั่วโลกครับ ที่ใกล้ตัวเราอย่างในพุทธศาสนานั้น ก็เริ่มจากการขาดคนเอาลูกหลานเข้ามาบวชเณรและขาดเด็กวัด ต่อมาก็เริ่มขาดคนเข้ามาบวชพระ และตอนนี้ วัดและศาสนสถานหลายแห่งจะกำลังเป็นวัดร้าง ขาดพระและคนเข้าไปดูแล อย่างนี้เป็นต้นนะครับ การเรียนรู้และวางแผนเพื่อพัฒนาความสามารถของสังคมในระดับต่างๆเพื่อแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นระยะยาวที่ใช้ความรู้และงานทางปัญญาเป็นเครื่องชี้นำ ก็เป็นด้านที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นภารกิจของงานทางประชากรศึกษาได้ครับ
  • งานทางประชากรศึกษาในปัจจุบันนี้ หลายอย่างเลยมีพัฒนาการไปกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปมากและไม่เคยอยู่ในประสบการณ์ของสังคมมาก่อนครับ มีกลุ่มความจำเป็นจำเพาะที่จะต้องคิดอย่างให้เจาะจงมากกว่าคิดแบบรวมๆเป็นหน่วยสังคมแบบกว้างๆอย่างในอดีตได้หลายเรื่องครับ  เช่น งานเอดส์ศึกษา งานแรงงานย้ายถิ่นทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ กลุ่มทางสังคมในกรอบวิธีคิดใหม่ๆ กลุ่มความสนใจและกลุ่มการผลิต-บริการซึ่งเป็นหน่วยทางสังคมที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต
  • ในชุมชนก็อาจจะเป็นเรื่องผู้สูงอายุและการรวมกลุ่มคนวัยการผลิต เพราะโครงสร้างทางอายุพลเมืองของเราเปลี่ยนไปมาก หากไม่พัฒนาการเรียนรู้และสร้างทุนศักยภาพของปัจเจกและชุมชนในวันนี้ ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นแรงกระทบมากขึ้นในระยะยาวหลายอย่าง ในกลุ่มเยาวชนก็อาจเป็นการพัฒนาเชิงคุณภาพและทักษะชีวิตทุกด้านที่มากกว่าการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาตามระดับชั้นเรียน เพราะพลเมืองเรามีจำนวนน้อยลง อย่างนี้แหละครับ จะเป็นประโยชน์บ้างไหมเนี่ย ยาวเชียว 

สวัสดีครับอาจารย์

กระจ่างขึ้นมากเลยครับ...

ประสบการณ์ทำงานชุมชนของผมเห็นแนวโน้มเรื่องประชากรเปลี่ยนไปดังที่อาจารย์กล่าวจริงครับ

ในหมู่บ้านเหลือคนแก่กับเด็ก คนหนุ่มสาวออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน เด็กกับคนแก่ซึ่งอยู่กันคนละชุดความคิดขาดการเชื่อมต่อระหว่างคนสองรุ่นกลายมาเป็นปัญหาไม่น้อยสำหรับในหลายชุมชน

แม้กระทั่งในชุมชนเดียวกันที่มีคนอยู่กันหลากหลายวัย แต่กคนหลากหลายวัยก็อยู่เฉพาะที่ทางของตัวเอง เช่น อยากเจอคนแม่ก็ไปที่วัดหรือชมรมผู้สูงอายุ คนหนุ่มสาวแยกย้ายไปทำงาน เด็กอยู่ในโรงเรียนหรือไม่ก็ร้านเกมส์ แม่บ้านก็แยกตัวออกไปต่างหาก กลุ่มโน้นกลุ่มนี้ก้แยกตัวกันออกไปทำกิจของตนเอง

เวทีพบปะร่วมกันดังเช่นงานบุญต่าง ๆ ดังเช่นในอดีตหายไปมาก

จริงอยู่ว่าอาจจะมีงาน/กิจกรรมหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก้ไม่ function แล้ว

เรื่องผู้สูงอายุกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ตามมาในอนาคต

ผมมองว่าผู้สูงอายุรุ่นใหม่ มิมีความเข้มแข็งทางใจมากเท่าคนรุ่นก่อน ในขณะที่เขาจะต้องเผชิญปัญหาหนักหน่วงกว่าคนรุ่นก่อน

นอกจากนั้นกลไกทั้งในชุมชนและสังคมก็มิได้สร้างไว้รองรับกับสภาพปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

ที่พูดถึงนี่รวมถึงตัวผมเองด้วยครับอาจารย์...

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนนะครับ

                             

  • เดี๋ยวนี้สภาพการทำงานชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นอย่างประสบการณ์ของหนานเกียรติเลยละครับ หลายอย่างที่เปลี่ยนไปมากอย่างนี้ การทำงานชุมชนเลยมักจำเป็นต้องทำอย่างมีปฏิบัติการเชิงสังคม ให้ชุมชนและสังคมในท้องถิ่นเกิดกระบวนการเรียนรู้สถานการณ์ที่จำเป็นต้องเตรียมตนเองเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้จัดโครงสร้างและมีวิธีจัดการตนเองในเงื่อนไขที่จำเป็นเกิดขึ้นไปด้วย จะพัฒนากิจกรรมชุมชนอย่างในอดีตก็อาจจะไม่พอ
  • เลยขอยืมรูปของพ่อน้องซอมพอมาตั้งข้อสังเกต อย่างในรูปนี้ หากวิเคราะห์และพิจารณาองค์ประกอบทางประชากร ก็จะเห็นประเด็นโครงสร้างทางเพศและโครงสร้างทางอายุ คือ คนทำงานอย่างนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและแม่บ้าน รวมทั้งเป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์
  • การใช้คนและความเป็นชุมชนในแง่อย่างนี้เป็นตัวตั้ง ก็จะทำให้เรามีแนวทางวิจัย สร้างความรู้ พัฒนาประเด็นปฏิบัติการ ที่มีลักษณะเฉพาะอีกแบบโดยมีหน่วยทางกลุ่มประชากรเป็นกรอบการคิด เช่น หากพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแทนแรงงานคนและจัดการความรู้ที่ไม่ส่งเสริมลักษณะเฉพาะของกลุมประชาชนในชุมชนนี้ จะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับบทบาทความเป็นผู้หญิงและพลังอำนาจในการจัดการผลผลิต อาหารการกิน ทั้งของชุมชนและครอบครัว
  • ในอนาคต ๑๐-๒๐ ปีกลุ่มพลเมืองตามโครงสร้างทางเพศและโครงสร้างทางอายุอย่างนี้มีแนวโน้มจะต้องเจออะไรบ้าง บนสมมุติฐานที่ดีที่สุดจะเป็นอย่างไร  ทีแย่ที่สุดจะเป็นอย่างไร หากไม่ทำอะไรเลยจะเป็นอย่างไร
  • ตัวอย่างอย่างนี้ จะเห็นว่าจำเป็นต้องมีวิธีสร้างความรู้ จัดการความรู้ และปฏิบัติการเชิงสังคมในเรื่องที่จำเพาะบางอย่าง ลักษณะอย่างนี้แหละครับที่การทำงานโดยวิธีประชากรศึกษาจะช่วยให้คนทำงานมีนวัตกรรมเชิงสังคมอีกแบบหนึ่ง
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม สภาพสังคม โดยเฉพาะความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้อะไรๆเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย รวมทั้งโครงสร้าง ลักษณะ ความเป็นอยู่ของประชากร ประชากรจึงมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แง่มุม หรือ เรื่องราวต่างๆให้ศึกษาหลากหลายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนนั่นเอง
  • เป็นอย่างอาจารย์ว่าทุกประการครับ จำนวนนักเรียนลดลง บางโรงน้อยมาก จนต้องยุบไปรวมกับโรงเรียนอื่นที่อยู่ใกล้เคียง รูปแบบการจัดการศึกษาต้องเปลี่ยนแปลงตาม จำนวนพระเณรในวัดต่างๆก็เช่นกัน ทราบว่าปัจจุบันลดลงมาก
  • อาจารย์พูดถึงการใช้เทคโนโลยีแทนคน แล้วมันจะเป็นอย่างไรต่อไป เราควรรู้อะไรบ้าง เพื่อปรับตัวเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงซึ่งกำลังเกิดขึ้น จึงนึกถึงภาพที่ตัวเองเคยถ่ายไว้เมื่อไม่นานนี้ครับ
  • ขอบคุณความรู้จากอาจารย์มากๆครับ

  • บรรยากาศร่มรื่น ดิน น้ำ แมกไม้ อุดมสมบูรณ์ดีมากเลยนะครับ นกเป็นฝูงเลย แสดงว่าสภาพธรรมชาติยังคงดีมาก
  • ควายเหล็กเข้ามาแทนอย่างนี้ บรรยากาศการลงแขกก็หมดบทบาทไปเลย แต่การลงแขกก็อาจจะพัฒนาไปเป็นการรวมกลุ่มและร่วมมือกันทำเรื่องส่วนรวมอื่นๆได้อีกนะครับ

ผมลองต่อประเด็นของหนานเกียรติและอาจารย์ธนิตย์นะครับ มองอย่างเราๆนี่ด้านที่น่าจะเกี่ยวข้องและสามารถทำอะไรได้บ้างก็น่าจะเป็นเรื่องการศึกษา คนงานความรู้ สร้างความรู้ สร้างคน และการทำหน้าที่ให้ผู้คนมีกำลังทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองด้วยการให้การเรียนรู้

ในมุมมองอย่างคนทำงานแนวประชาสังคมนั้น อาจารย์ ผม หนานเกียรติ และหลายท่านในนี้ไม่มีอำนาจอย่างอื่นที่พอจะทำให้มีส่วนร่วมสร้างส่วนรวมได้ดีไปกว่าการใช้ปัญญา ความรู้ และการสร้างคนด้วยกระบวนการเรียนรู้ให้มีพลังอำนาจในการคิดและพึ่งตนเองได้ หากนำเอาวิธีคิดนี้มาพิจารณาดูก็พอจะช่วยให้คิดต่อสิ่งรอบตัวได้เหมือนกันครับว่า หลายอย่างที่เรากำลังเผชิญอยู่คืออะไร และทำให้เป็นโอกาสสร้างสรรค์อะไรได้บ้าง

ผมเคยได้ยินคุณครูและเพื่อนๆพี่ๆน้องๆของผมที่เป็นครูอาจารย์ ออกปากว่าเด็กๆและคนหนุ่มคนสาวรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้สอนและดูแลยาก เขาเบื่อการศึกษา การเรียน การอ่าน และการสะสมประสบการณ์ชีวิตจากการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เจือด้วยกระบวนการเรียนรู้และทำให้เติบโตภายใน โดยที่เขาก็อาจจะไม่ทราบว่าพวกผู้ใหญ่และครูอาจารย์นั้นก็ระอากับพวกเขามากเช่นกัน เมื่อก่อนเราอาจจะมีเพียงเครื่องมือช่วยการวิเคราะห์ทางจิตวิทยาการศึกษาและจิตวิทยาการเรียนการสอน แต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถนำเอาเรื่องอย่างนี้มามองเชิงระบบและวิเคราะห์ให้เห็นปัญหาเชิงระบบของสังคมได้เหมือนกันครับ

ครอบครัวขนาดเล็กและขาดคนหลายรุ่น คนมีลูกน้อยลง โครงสร้างการผลิตเพื่อกินอยู่ลดลงแต่การผลิตที่พึ่งทุน มุ่งให้ได้กำไรกับการบริโภคมากขึ้นแต่ด้วยวิธีลดต้นทุนและลงแรงตนเองให้น้อยที่สุด จะเกิดอะไรและกระทบต่องานการศึกษาและคนทำงานความรู้ในชีวิตการทำงานอย่างไร และจะต้องรับมือเรียนรู้เปลี่ยนแปลงได้อย่างไรบ้าง

แรงกดดันพวกนี้ส่งผลต่อคุณลักษณะของเด็กๆของเรา กระทบต่อวิถีปฏิบัติของครู ครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา และเครือข่ายทางสังคม มากครับ หากเป็นในอดีต ก็เพียงระบุปัญหาและพยายามแก้ปัญหาจำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน หนังสือ หลักสูตรโรงเรียน แต่ถ้าหากนำมาพิจารณาอย่างเชื่อมโยงก็จะเห็นถึงความเป็นแรงกดดันของปัญหาเชิงระบบของสังคม วิธีวิเคราะห์เป็นชุดปัจจัยอย่างบางด้านของประชากรศึกษาที่ผมยกตัวอย่าง ก็จะช่วยได้ครับ และอาจจะทำให้ได้ทรรศนะต่อปัญหาต่างๆแตกต่างออกไป

 ครอบครัวที่เล็กลงและขาดคนหลายรุ่นนั้น  เด็กๆและพลเมืองจะขาดประสบการณ์ตรงทางสังคมครับ ความรู้และความเข้าใจ ตลอดจนโลกทรรศน์และชีวทรรศน์จำนวนมากที่เป็น Concept และต้องสร้างขึ้นเองภายในปัจเจกแต่ละคนด้วยชุดประสบการณ์ที่หลากหลายจะหายไป การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์เบ็ดเสร็จที่คนอื่นสร้างและเตรียมไว้ให้ รวมทั้งประสบการณ์เสมือนจริง ณ เวลานี้ แม้จะสามารถทดแทนสิ่งที่ขาดไปได้หลายอย่าง แต่ความเป็นชีวิต ความซาบซึ้งและทักษะชีวิตที่จำเป็นหลายอย่างที่ต้องเกิดจากการลงมือเป็นผู้กระทำประสบการณ์ตรง จะไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ เช่น การเรียนรู้เพื่อรู้จักความทุกข์ยากของพ่อแม่ การเห็นใจคนทุกข์ยากเพราะเคยทำนาและอยู่ในครอบครัวที่ทำกินด้วยตนเอง เหล่านี้ ก็จะไม่มี ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงความรู้ที่เป็นประสบการณ์ทางสังคมไม่ได้ 

ให้อ่านจากหนังสือ เรียนรู้ทางสื่อ รับการถ่ายทอดจากครูสอน ก็จะได้อย่างมากแค่สอบได้คะแนนดี แต่จะอ่านสังคมและนำไปปรับใช้ในโลกความเป็นจริงไม่ได้ วิธีคิดที่มุ่งทุ่มเทชีวิตเพื่อหาเงิน แล้วค่อยเอาเงินไปซื้อสิ่งที่ต้องการอย่างเดียว ผลิตไม่เป็น เป็นแต่บริโภค และลงแรงแต่น้อย แต่ต้องการได้เงิน-ได้กำไรเยอะๆ เหล่านี้ จึงเป็นแรงกดดันที่มีเหตุมีผลและมีที่มาที่ไปมาก

 การมีลูกน้อยคน  ของพ่อแม่และครอบครัวนั้น มองในแง่ที่ต้องเข้าใจเพื่อคิดและหาทางปฏิบัติใหม่นั้น ก็จะเห็นว่ากระทบและกดดันต่อวิถีปฏิบัติของครู สถานศึกษา และการศึกษาแทบทั้งระบบ ในสังคมจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกงนั้น เมื่อก่อนมักจะเกิดจากการเลือกทั้งจำนวนและเพศบุตร ให้เหลือลูกคนเดียวและทำทุกวิถีทางที่จะได้เพศชาย เมื่อได้ลูกชายคนเดียวตามที่ต้องการแล้ว ก็จะเกิดสิ่งที่มีคำเรียกลูกชายคนเดียว อย่างนี้ว่า Little Emperor หรือ เจ้าจักรพรรดิ์น้อย คนในรุ่นนี้จะมองปัจเจกว่าเป็นพลเมือง ๑ คนหรือนับหน่วยว่าเป็นประชากร ๑ คนอาจจะไม่พอ ในบางสถานการณ์จึงจะต้องเอามิติเชิงพฤติกรรมสังคมมาช่วยมองและทำความเข้าใจ ก็จะช่วยให้เห็นสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ก็เนื่องจากในความเป็นจริงเชิงระบบนั้น เจ้าจักรพรรดิ์น้อย นี้ เป็นหน่วยทางสังคมที่จะมีบทบาทหลายอย่าง กระทบและกดดันกันไปอย่างเป็นลูกโซ่ เป็นต้นว่า การลดจำนวนบุตรและมีลูกน้อยลงทำให้ความคาดหวังความสมบูรณ์แบบของพ่อแม่และญาติใกล้ชิดที่จะเกิดขึ้นแก่ลูก เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล แรงกดดันนี้ส่งผลต่อวิธีปฏิบัติต่อเด็กของครูและสถานศึกษา

การเลือกการศึกษาเรียนรู้ไม่กี่ครั้งให้แก่ลูกที่มีคนเดียวหรือน้อยคน ก็แน่อน..ย่อมมุ่งไปเลือกสิ่งที่ดีที่สุดตามกระแสหลัก อาจารย์และหนานเกียรตินึกภาพออกไหมครับว่าอะไรย้ายขาเด็กและพ่อแม่ออกไปจากโรงเรียนในหมู่บ้านและโรงเรียนแบบทั่วไป แต่กลับดันไปแออัดเอาเป็นเอาตายเพื่อแย่งเข้าไปมีที่นั่งในโรงเรียนที่คนเขาว่าดี อีกทั้งทุ่มทุนสร้าง เล่นเส้น กดดันทางสื่อ เมื่อไม่ได้ ทั้งพ่อแม่และเด็กๆอาจฆ่าตัวตาย ทำร้ายสังคม หรือมีทางไปที่ไม่น่าจะเป็น

สภาพอย่างนี้ อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องข้อสอบเอเน็ต โอเน็ต คุณภาพครู คุณภาพโรงเรียน อย่างโดดๆเสียแล้วละครับ เพราะครอบครัวไม่ได้แค่เลือกการศึกษาที่ดีให้เด็ก ทว่า ผู้คนเดินเข้าหาแรงกดดันตนเองให้มีเดิมพันสูงและทางเลือกน้อยลง จึงคาดหวังความสมบูรณ์แบบที่เกินภาวะปรกติไปที่เด็กกับโรงเรียน และเมื่อทำงานความรู้ สอนหนังสือ ก็ต้องเผชิญกับความคาดหวังที่เกินกว่าบทบาทของงานพัฒนาการศึกษาเรียนรู้แต่เพียงลำพัง

 การมีจำนวนเด็กและผู้เรียนลดลง  ทำให้โรงเรียน สถานศึกษา และหน่วยทำงานทางการศึกษาทุกระดับเกิดผลกระทบและมีแรงกดดันให้ต้องสนองตอบสภาวการณ์ปัญหาตามมาหลายอย่างเช่นกัน ทั่วประเทศหลายแห่งมีเด็กน้อยลง และบางแห่งมีเด็กทะลักเพิ่มขึ้น ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของปัญหาที่สัมพันธ์กับปัจจัยทางประชากรศึกษาและการเรียนรู้ทางสังคมด้วยเช่นกัน

ในโรงเรียนที่มีเด็กเหลืออยู่น้อยลงมากจนแทบจะทำหน้าที่โรงเรียนไปไม่ได้นั้น ก็เป็นเด็กจากขนาดครอบครัวที่มีลูกน้อยลงเช่นเดียวกับโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนที่มีชื่อเสียงที่มีเด็กวิ่งเข้าไปแย่งกันเรียนจนล้นด้วยเช่นกัน ทว่า สิ่งที่เลือกสรรจะเป็นตรงกันข้ามกัน คือ กลุ่มหนึ่งเลือกสิ่งดีที่สุดเพื่อโอกาสที่ดีที่สุดให้กับลูกที่มีน้อยคน

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มเด็กตกค้างเพราะทั้งตนเองและครอบครัวไม่มีกำลังทุกด้านที่จะเลือก ทั้งฐานะความพร้อมของครัว พื้นฐานของเด็ก ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนที่จะสนับสนุนโอกาสเด็กๆ ทั้งสองลักษณะมีความกดดันต่างกันมาก ทว่า ประสบกับปัญหาในการจัดการศึกษาแก่เด็กให้มีคุณภาพที่ดีพอกัน เอาแค่เรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามมาตรฐานทางวิชาการต่างๆก็จอดแล้วครับ เรื่องทักษะชีวิตและความเป็นพลเมืองที่พึงประสงค์ของสังคมก็เป็นอันไม่ต้องพูดถึง

 แรกกดดันต่อโครงสร้างครู คนทำงาน และสถานศึกษา  เมื่อเด็กลดลง โรงเรียนจำนวนมากลดบทบาทลง ครูและคนทางการศึกษาจำนวนที่ปรกติก็ขาดแคลน แต่ในสภาพการอย่างนี้ก็กลายเป็นงานไม่พอมือ ในขณะที่ประสบการณ์เอย ความก้าวหน้าในชีวิตเอย ความได้มีโอกาสงอกงามเติบโต เหล่านี้ เป็นธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนพึงมีพึงได้ ครูและคนทำงานด้านการศึกษาก็เช่นกัน

ทว่า เมื่อเด็กและโรงเรียนลดลงในที่ที่ต้องการและจำเป็น แต่ไปเพิ่มขึ้นในที่ซึ่งเกินความจำเป็น หากครูมีแต่เพียงมิติจำนวนก็คงจะวางแผนและใช้วิธีเกลี่ยอย่างง่ายๆ ทว่า ในความเป็นจริงนั้น ครูมีมิติเชิงคุณภาพด้วย มีความอาวุโส มีประสบการณ์ มีความทรงคุณวุฒิ มีภาวะตัวตนที่หลากหลาย

ดังนั้น ในชุมชนเมืองแทบจะทุกจังหวัดของประเทศ เลยกลายเป็นเกิดปรากฏการ์อย่างนี้ครับ เด็กๆที่มีผลการเรียนดีกว่าก็จะไหลไปแย่งโอกาสและทรัพยกรกันเองให้แออัดและลดคุณภาพทางการศึกษา ครูที่เก่ง อาวุโส มีคุณวุฒิ มีตำแหน่ง ก็เช่นกัน ก็ไหลไปยังที่ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ขยายตัวหรือสามารถรวมกันเป็นสถานศึกษาขนาดใหญ่ขึ้น

เคยมีอาจารย์ผมท่านหนึ่งบอว่า แบบแผนนี้ในอเมริกาก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ผลก็คือ หลายแห่งเลยเป็นที่ซึ่งมีครูเก่ง อาวุโส มีตำแหน่ง เยอะจนเดินชนกัน กระทบต่อการต้องจัดโครงสร้างบริหารและจัดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นในกรอบใหม่ๆอีกหลายอย่าง มีแผนกมากขึ้น มีโครงสร้างย่อยๆมากขึ้น ใช้ทรัพยากรกระจายมากขึ้น ในขณะที่ระดมการจัดการให้มีประสิทธิภาพได้ลดลง

ส่วนในอีกด้านหนึ่งในโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท โรงเรียนก็มีเด็กลดลงและเป็นเด็กที่เสียเปรียบในสังคม ขาดครู ขาดทรัพยากร ขาดความสนใจจากสังคม ชุมชนและครอบครัวไม่ค่อยอยากแย่งกันไปใช้บริการเหมือนกับกรณีแรก สภาพที่เสียเปรียบอยู่แล้วก็ยิ่งขาดโอกาสการพัฒนามากยิ่งขึ้นไปอีกทั้งเด็ก โรงเรียน ครู ครอบครัว และชุมชน

สภาพปัญหาอย่างนี้กำลังไหลขึ้นไปสู่ระบบการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งหากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ไม่นานก็จะกระทบต่อมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ผมและนักวิจัยกลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหิดล ก็พอมีเหมือนกันครับที่มองปัญหานี้และเชื่อว่าการวิจัย รวมทั้งการทำงานเชิงเคลื่อนไหวสังคมเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ ต่อกรณีปัญหาอย่างนี้ ต้องมีส่วนหนึ่งที่สามารถมองออกไปได้กว้างกว่าในโรงเรียนและห้องเรียน อีกทั้งการเรียนรู้ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นแต่เพียงกลุ่มในวัยเรียน ทว่า ต้องขยายไปถึงพลเมืองทุกคน การวิเคราะห์และพัฒนาการศึกษาเรียนรู้พร้อมไปกับต้องไม่แยกส่วน ทว่า ต้องมีการปฏิบัติการเชิงสังคมและมิติอื่นๆที่แก้ปัญหาให้ลุล่วงได้พร้อมกับสร้างการเรียนรู้ให้ผู้คนได้ตามความจำเป็นของกลุ่มคนและกลุ่มประชากร ทั้งในกรอบท้องถิ่นและนานาชาติ เป็นแนวทางหนึ่งที่จำเป็นต้องคิดและทำ แต่แง่มุมเหล่านี้ก็เป็นวิธีมองอย่างหนึ่งน่ะครับ ซึ่งก็จะทำให้มีหนทางช่วยกันทำงานหลายแง่มุมและหลายระดับ

คุยขึงขังเชียว เพิ่มอรรถรสการเสวนากันให้หลากหลายลีลาเฉยๆหรอกนะครับ เชิญอาจารย์ธนิตย์ หนานเกียรติ และทุกท่าน แลกเปลี่ยนเสวนาหรือเอารูปภาพ-สิ่งต่างๆมาแบ่งปันกันตามอัธยาศัยได้เลยนะครับ.

  • ได้อะไรใหม่ๆมากเลยครับ การขยายความของอาจารย์ถึงผลกระทบจากครอบครัวขนาดเล็กและขาดคนหลายรุ่น คนมีลูกน้อยลง โครงสร้างการผลิตเพื่อกินอยู่ลดลง..ทำให้เข้าใจปัญหาการจัดการศึกษายิ่งขึ้น โดยเฉพาะในมุมประชากรศึกษาครับ เพิ่งรู้ว่า การแข่งขันสอบเข้าเรียนต่อต่างๆ การกวดวิชา การติว การประคบประหงมบุตรหลานอย่างเกินงามเพื่อการณ์นี้ หรือ แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลยในชีวิตประจำวันนั้น เป็นผลพวงจากความคาดหวังที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากจำนวนบุตรลดน้อยลง เคยคิดเพียงว่า สังคมและวัฒนธรรมการเลี้ยงดูบุตรหลานของคนไทยที่ต่างจากฝรั่ง ทำให้เด็กๆของเราไม่เหมือนกับเขา เขาเน้นให้ช่วยเหลือ-รับผิดชอบตัวเอง เด็กๆของเขาจึงมีวินัย มีความรับผิดชอบสูง รวมทั้งเป็นตัวของตัวเอง แต่พอฟังอาจารย์..เห็นด้วยมากเลยครับ เพราะแต่ก่อน รุ่นเรา หรือ รุ่นพ่อแม่เรา ที่แต่ละครอบครัวยังมีบุตรหลานเยอะอยู่ ก็มิได้เป็นเช่นนี้ โอกาสจะมาโอ๋ มาเอาใจกันตลอดเวลา หรือ ปรนเปรอความสะดวกสบาย จนทำอะไรไม่เป็นนั้น เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว การช่วยเหลือตัวเองของเด็กๆ จึงเป็นไปโดยอัตโนมัติ ความตั้งใจ ความพยายาม ความอดทน การรู้คุณค่าของภาระค่าใช้จ่าย เงินทอง ฯลฯ ต่อการเรียน ต่อการทำงาน หรือ สิ่งต่างๆที่ตัวเองต้องรับผิดชอบก็จะมากกว่า หรือแตกต่างจากเด็กๆปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด เพื่อนคนหนึ่งซึ่งสอนในมหาวิทยาลัย เคยเล่าว่า นักศึกษาทุกวันนี้ มักไม่ชอบเรียนรู้ ไม่สู้สิ่งยาก เอาแต่สบาย เอาแต่ง่ายๆเข้าว่า ให้ทำอะไรยากหน่อย พาลไม่ทำเอาเลย และจากการสังเกตนักเรียนซึ่งตัวเองรับผิดชอบสอนมานานพอสมควร ระยะหลังๆ สักสิบกว่าปีมานี้ ลักษณะเด็กๆมัธยมก็ใช่เลยครับ ซึ่งลักษณะเด็กๆอย่างนี้นั้น ในความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยครับ การจะสอนให้นักเรียนเรียนรู้เอง ทำเอง ค้นเอง เข้าใจเองยากครับ ถ้านักเรียนขาดความพยายาม หรือ ความตั้งใจเสียแล้ว เด็กๆของเรา ซึ่งอาจรวมถึงผู้ใหญ่ด้วย จึงคิดวิเคราะห์-สังเคราะห์ไม่เก่ง ไม่ได้กล่าวหาด้วยความคิดตัวเองนะครับ เพราะนี้คือผลการประเมินคุณภาพมาตรฐานเด็กๆใน ร.ร.ของ สมศ.ครับ
  • ประเด็นนี้ก็ชัดเจน..ขาดคนในสังคมที่มีความหลากหลายช่วงอายุ ทำให้ขาดการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง การดำเนินชีวิตที่ดี ที่เหมาะสม สอดคล้องกับธรรมชาติที่เป็นอยู่ จึงหายไปอย่างน่าเสียดาย การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อเรื่องเดียวกันนี้ อาทิ การอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ของผู้คน ดิ้นรนขนขวายเพื่อหาที่เรียน หาที่ทำงาน หาเงิน เพื่อให้ชีวิตตัวเองอยู่รอดในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว และก็ยังเกิดขึ้น แบบไม่มีทีท่าจะดีขึ้นกว่าเดิมเลย ก็ส่งผลให้ช่วงอายุของคนในชนบทขาดความหลากหลายได้เช่นกัน แล้วอย่างนี้จะเป็นอย่างไร หรือ คงต้องเปลี่ยนแปลงไป เรียนรู้สิ่งใหม่ๆในสังคม ในสภาพแวดล้อม รวมถึงธรรมชาติใหม่ๆของตัวเองใช่มั้ยครับ เพื่อให้ที่สุดแล้ว ชีวิตตัวเองต้องอยู่ได้ ต้องอยู่รอด ทำให้ประชากรศึกษายังคงต้องศึกษาในเรื่องเหล่านี้ต่อไป เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ตราบที่ความเปลี่ยนแปลงยังคงดำเนินอยู่
  • คิดตามความรู้ที่ได้รับจากอาจารย์แบบเรื่อยเปื่อย เท่าที่ตัวเองพอคิดออกครับ(ฮา) ถูกบ้าง ผิดบ้าง ขออภัยล่วงหน้าเลยนะครับอาจารย์ ฮาๆๆ
  • ขอบคุณมากๆครับ

สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ครับ

งามอีกแล้ว ผมชอบอารมณ์ในรูปถ่ายของอาจารย์จริงๆเลยนะครับ อาจารย์มีความรู้จำเพาะตนในเรื่องนี้มากเลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท