สารสะเดาไล่เพลี้ย


     

   นายวิมล  บุญเงิน เกษตรกรหัวไวใจสู้  บ้านเลขที่  252  หมู่ 8 ต.วังไก่เถื่อน อ.หันคา จ.ชัยนาท กล่าวว่า หลังจากได้ร่วมเรียนรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร จึงได้นำมาใช้ในแปลงนา เพราะหวังว่าจะได้กำไรจากการทำนาด้วยการลดต้นทุนการผลิตมากกว่าความหวังว่าจะได้ผลผลิตข้าวในพื้นที่ 30 ไร่จำนวนมาก  อีกทั้งเพื่อสุขอนามัยของตัวเองและบุคคลในครอบครัว  ผลที่ได้รับชัดเจนเมื่อเกิดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่อย่างกว้างขวางจึงได้นำความรู้ที่มีอยู่และการแลกเปลี่ยนความรู้จากสมาชิกโรงเรียนเกษตรกรทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ พบว่าเชื้อราบิวเวอเรียที่เคยใช้ได้ผลพบปัญหาการผลิตที่ไม่เพียงพอแก่ความต้องการและไม่ทันต่อการเข้าทำลายเมื่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอพยพเข้ามาจำนวนมาก  เนื่องจากต้องใช้เวลานานในการบ่มเพาะ อีกทั้งแสงแดดในช่วงฤดูร้อนขณะนี้ร้อนแรงมากเชื้อราบิวเวอเรียบางส่วนถูกทำลาย แต่ที่ใช้แล้วประสบผลสำเร็จได้ดีคือ สารสกัดจากสะเดา แต่ต้องใช้อย่างถูกวิธี โดยเฉพาะเวลาของการฉีดพ้นควรเป็นเวลาเย็น เนื่องจากเป็นระยะเวลาแสงแดดอ่อนจนหมดเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจนสามารถดูดซึมเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของต้นข้าวได้เป็นจำนวนมาก  ดีกว่าเวลาเช้าซึ่งสารสะเดาที่มีประโยชน์อาจเสื่อมสลายไปพร้อมกับแสงแดดที่แรงกล้าในเวลาสายจรดเย็น

    การใช้สารสมุนไพรโดยเฉพาะสารสกัดจากสะเดาการสกัดสารสะเดา  ซึ่งใช้ในการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล นำวัสดุต่าง ๆ  ดังนี้แอลกอฮอล์ 70 % จำนวน 1ขวด (450 ซีซี)น้ำยาล้างจาน จำนวน 20 ซีซี เมล็ดสะเดาจำนวน 2 ขีด

      วิธีทำ โขลกเมล็ดสะเดาที่แห้งแล้วให้แหลกละเอียดทิ้งไว้  ผสมน้ำยาล้างจาน กับแอลกอฮอล์ให้เข้ากันก่อน นำเมล็ดสะเดาบดลงแช่ในภาชนะที่มีฝาปิดสนิทหมักไว้อย่างน้อย  7 วัน เมื่อหมักได้ตามระยะเวลาแล้ว  เทเมล็ดสะเดาหมักทั้งหมด ลงในน้ำ 10 ลิตร กวนให้กระจายตัว 2-3 นาที จึงกรองเอากากออก นำน้ำยาที่กรองได้ไปผสมเจือจางกับ น้ำ 200 ลิตร ฉีดพ้นป้องกันแมลงศัตรูพืชช่วงเย็นแดดอ่อน ให้ทั่วต้นพืช ทั้งบนใบและใต้ใบทุก 5-7 วัน

    ในกรณีที่มีการระบาดมาก ฉีดพ่นครั้งที่ 2 หลังครั้งแรก 3 วัน และ ครั้งที่ 3 หลังครั้งที่ 2  เป็นเวลา  5 วัน  ต่อไปฉีดพ่นทุก 5-7 วัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ผลจากการใช้แปลงข้าว 30 ไร่  พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ไม่ถึงกับเสียหายต้นข้าวคงจะขมจนเพลี้ยกระโดดไม่อยากดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นข้าว  เพียงอพยพมาเป็นอาหารของแมลงศัตรูธรรมชาติให้คงอยู่รักษาแปลงนาข้าวให้สามารถปลอดภัยจากแมลงศัตรูพืชด้วยต้นทุนจากค่าแอลกอฮอล์ขวดละประมาณ 35 บาท(กรณีซื้อเมล็ดสะเดาผงประมาณ กก.ละ 60 บาท)   

      แต่จากการให้คำแนะนำเพื่อนเกษตรกร  พบว่าบางส่วนคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะคิดว่า “ขนาดสารเคมีราคาแพงยังไม่สามารถกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้” เพราะ “ความเคยชิน” ดังนั้นจึงขอฝากถึงเพื่อนเกษตรกรว่าถ้าตั้งใจจะทำให้สำเร็จ อาจจะลำบากต่อการฝืนความเคยชินเหล่านี้ในตอนเริ่ม แต่หากเราทำจนมันเป็นความเคยชินใหม่แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ยากอีกต่อไป ขอให้คิดว่า "ธรรมชาติมีความสมดุลในตัวของมันเอง"

คำสำคัญ (Tags): #สะเดา
หมายเลขบันทึก: 348111เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2010 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอชมเชย ที่ค้นคว้า สาธิต ทดลองเอง นี่คือทางออกประเทศไทย

แต่เกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคกลาง มีความักง่าย เคยชิน ไม่ค่อยยอมรับ ว่าไม่ทันใจ

คงต้องสร้างความคิดกันก่อน จึงจะใช้วิธีธรรมขาติได้

ขอให้กำลังใจและชมเชยครับ

ดีมาเลยครับ ขอให้บอกต่อเป็นวิทยาทานแก่ชาวนาที่สนใจ จะได้ไม่ต้องใช้สารเคมีต่างชาติ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท