มะกรูดพืชสมุนไพรคูครัวรายได้ดีอนาคตใส


      มะกรูดพืชคู่สวนครัว มีความสัมพันธ์กับคนไทยมานาน เพราะมีสรรพคุณหลากหลาย ทั้งอาหารที่สามารถปรุงรส และกลิ่นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะต้มยำสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “ใบมะกรูด”  อีกทั้งยังเป็นส่วนผสมของพริกแกง ใบมะกรูดที่ไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป นิยมหั่นเป็นฝอยใส่ในยำ พร่า แกงเผ็ด ต้มโคล้ง ซึ่งบทบาทใบมะกรูด มิใช่เพียงพืชคู่ครัวเท่านั้นยังคงประโยชน์ทางยาอีกด้วย ส่วนที่ทำยาคือ ผิวมะกรูด ผล ราก น้ำมะกรูด และใบ ใช้เป็นส่วนประกอบทางยาสมุนไพร ได้หลายชนิด สรรพคุณของมะกรูดในตำรายาสมุนไพรไทย ผิวผลสดและผลแห้ง  มีสรรพคุณแก้ลมหน้ามืด แก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ ขับระดู และขับผายลม  เป็นสวนผสมของลูกประคบ ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพร ได้แก่ หัวไพรสด ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน การบูร พิมเสน ข่า ตะไคร้  ส้มป่อย ข้าวเหนียวดำ  ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ขยาย และกระตุ้นเนื้อเยื่อพังผืดของผิวหนัง ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น  จากคุณสมบัติ และการนำไปใช้ประโยชน์ที่หลากหลายจึงทำให้การผลิตมะกรูดเพื่อการตัดใบจำหน่ายจึงน่าจับตา แต่การขายพันธุ์ให้ได้รวดเร็วและมีคุณภาพคงจะไม่ทันกับความต้องการของผู้สนใจที่จะปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตร  ดังนั้นการนำความรู้ภูมิปัญญาที่ได้สะสมและประยุกต์ใช้ เพื่อการจัดการในสวนมะกรูดของเกษตรกรมาดำเนินการจึงน่ามาเผยแพร่ให้ได้รับทราบกัน

      นายจำรูญ  อินทฤทธิ์  ข้าราชการผู้พลิกผันเป็นเกษตรกรหลังเกษียณอายุวัย 64 ปี บ้านเลขที่ 195 หมู่ 3 ต.ชัยนาท  อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท  เป็นผู้ยึดกิจกรรมปลูกมะกรูดในพื้นที่ 2 ไร่ จำนวน 250 ต้น ปลูกมา 5 ปี เพื่อตัดใบ และขยายพันธุ์จำหน่ายเป็นรายได้เสริมและงานยามว่างหลังวัยเกษียณอายุราชการ โดยเฉพาะการทาบกิ่งมะกรูดด้วยต้นตอมะนาวพวง เพราะมะนาวพวงปักชำได้ง่าย มีระบบราก และการเจริญเติบโตที่เร็ว
 
       สาเหตุที่มีผู้สนใจปลูกมะกรูดเพื่อตัดใบจำหน่าย  เพราะตลาดของใบมะกรูดมีอนาคตที่มั่นคง ผลผลิตที่ได้คุ้มค่า คือ ปลูกในระยะชิด 2 X 2 เมตร ไร่ละ 400 ต้น หลังปลูก 9 เดือน ผลผลิตไม่เกิน 100 กิโลกรัม จะสามารถตัดใบได้ 3 เดือนต่อครั้ง ตัดครั้งที่ 6 ขึ้น ไป ผลผลิตประมาณ 1,000 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งถ้าอายุ 3-4 ปีขึ้นไปจะสามารถตัดใบจำหน่ายได้ต้นละประมาณ 100 บาท ในส่วนของราคาประมาณ 8 บาท/กิโลกรัม การดำเนินการจัดทำกิ่งพันธุ์มะกรูดบนกิ่งพันธุ์มะนาวพวงดำเนินการ ดังนี้

       เตรียม ขุยมะพร้าวที่ร่อนด้วยตะแกรง เพื่อนำใยมะพร้าวออกให้เหลือเฉพาะขุยมะพร้าว นำไปใส่ถุงพลาสติกใส(ถุงใส่ของร้อน) ขนาด 3 X 5 นิ้ว ก่อนที่จะจัดหากิ่งมะนาวพวง โดยใช้กิ่งที่สมบูรณ์ สภาพดี อายุที่เหมาะสม สังเกตจากกิ่งมีลายนกคุ้ม คือมีลายดำแซมขาว นำมาตัดเฉียงควรทำตำหนิโคนกิ่ง ความยาวของกิ่งประมาณ 4-5 นิ้ว ป้องกันการสับสนในการปักชำ จุ่มโคนกิ่งด้วยน้ำฮอร์โมนเร่งรากที่เตรียมไว้ ทิ้งไว้ให้แห้งก่อนที่จะชำลงไปในถุงขุยมะพร้าวที่มีความชื้นพอประมาณ ทดสอบด้วยการกำให้ขุยมะพร้าวป็นก้อน แต่ไม่ถึงกับมีน้ำไหลออกตามง่ามนิ้วมือ ผูกด้วยเชือกพลาสติก คัดกิ่งมะกรูดเป็นกิ่งพันธุ์ เลือกกิ่งที่สมบูรณ์ไม่มีโรค มีขนาดใกล้เคียงกับต้นตอ ก่อนปาดเฉียงขึ้นบนกิ่งมะกรูดที่ได้เลือกไว้ด้วยมีดที่คมไม่เป็นสนิม ลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร

       เฉือนต้นตอมะนาวพวงที่เตรียมไว้ให้เป็นปากฉลาม ขนาดแผลเท่ากับความลึกของแผลกิ่งพันธุ์ดีที่เตรียมไว้ เสียบต้นตอลงในแผลของกิ่งพันธุ์ดี ให้รอยแผลตรงกัน แล้วใช้ผ้าพลาสติกพันจากล่างขึ้นบนให้คลุมแผลจนเต็ม ก่อนพันรัดให้แน่น ทิ้งไว้ประมาณ  45 วัน  ต้นตอใช้อาหารและน้ำจากต้นของกิ่งพันธุ์ จนเกิดรากเต็มถุง  ตัดออกมาใส่ถุงดำ อบไว้ในตู้อบพลาสติกประมาณ 20 วัน จึงนำออกมาไว้ข้างนอกจนกว่ารากจะออกมาให้เห็นนอกถุงดำ ทรงต้นจะสมบูรณ์ ใช้เวลาประมาณ เดือนกว่าสามารถจำหน่ายได้ ราคาที่บ้านประมาณต้นละ 25 บาท การทาบกิ่งสามารถทาบได้ประมาณต้นละ 10 กิ่ง
        น้าจำรูญ ฝากบอกถึงผู้อ่านอีกว่า การนำไปปลูกต้องรู้ถึงเคล็ดลับการปลูก คือจะต้องให้หน้าใบหันไปทางแสงแดด  ถ้าหันหลังใบจะทำให้ลำต้นบิดไส้ลำต้นแตกต้นจะแคระแกรน   ไม่ยอมโต ราคาจำหน่ายที่เรือนเพาะชำต้นละ 25 บาท  การจะสร้างต้นพันธุ์ที่ดี จะต้องปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ ด้วยปุ๋ยคอกเก่าประมาณต้นละ 3 กก. ทุกๆ ปี อีกทั้งการฉีดพ่นด้วยฮอร์โมนไข่ที่ทำเอง โดยสังเกตที่ใบ ถ้าใบโทรมจะฉีดพ้น ประมาณเดือนละ 2 ครั้ง ควบคู่กับการใช้สารสกัดสมุนไพรไล่แมลง จะทำให้ต้นแข็งแรงสมบูรณ์
         ใบมะกรูดเป็นพืชที่จำเป็นของคนไทยแต่บางครั้งก็หายาก เกษตรกรนิยมปลูกไว้บ้านละต้นสองต้นตามบ้าน แต่ถ้าจะปลูกเพื่อการค้า จะต้องเรียนรู้เรื่องของมะกรูดอย่างดี  โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการสูง แต่ผลผลิตจะต้องสวย คือใบต้องสวย ไม่หงิกงอ หรือใบม้วนเพราะเป็นโรค  อีกทั้งการกำหนดให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงฤดูแล้ง เพราะเป็นช่วงที่ขาดแคลนผลผลิต ราคาจะสูงกว่าฤดูฝนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก  ดังนั้นเกษตรกรจะต้องเรียนรู้ถึงการปรับปรุงบำรุงดิน  การปลูก การดูแลรักษาป้องกัน–กำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน การเก็บเกี่ยวผลผลิต การใช้สารชีวภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิต และการทำการเกษตรที่ยั่งยืนต่อไป ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท 0-5642-1512 เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล ใกล้บ้าน ยินดีต้อนรับครับ
คำสำคัญ (Tags): #มะกรูด
หมายเลขบันทึก: 348104เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2010 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ติดตามอ่านอยู่เสมอ ได้รับความรู้ดีมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท