เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2549 ผม , คุณเชิงชาย เรือนคำปา นักส่งเสริมการเกษตรของตำบลนาบ่อคำ และคุณสมพร จันทร์ประทักษ์ นักส่งเสริมการเกษตรของตำบลลานดอกไม้ อำเภอเมืองกำแพงเพชร ได้ร่วมกับเกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตศูนย์ข้าวชุมชน บ้านหนองกอง หมู่ที่ 4 ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 19 คน ได้เดินทางไปศึกษาดูงานการปลูกข้าว ณ บ้านของคุณผดุง เครือบุบผา หมู่ที่ 6 ตำบลคลองคูณ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เครือข่ายเกษตรปลอดสารพิษของจังหวัดพิจิตร
ในกระบวนการเรียนรู้โดยการศึกษาดูงานนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมของกลุ่ม เพื่อหารูปแบบหรือหากระบวนการผลิตสินค้าเพื่อให้ปลอดภัยและได้มาตรฐาน และกลุ่มนี้ทีมงานได้คัดเลือกให้ดำเนินการเพื่อผลิตข้าวให้ปลอดภัยโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม คือเราทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องเดียวกันใช้ KM เป็นเครื่องมือขับเคลื่อน(อย่าพึ่งงงนะครับ)
การศึกษาดูงานในครั้งนี้ เกิดจากการต้องการค้นหาองค์ความรู้เพื่อนำมาใช้ในการผลิตข้าวของกลุ่มเพื่อให้ได้ข้าวที่ปลอดภัย ที่เลือกไปศึกษาที่พิจิตรก็เนื่องมาจากทีมงานเคยได้มา ลปรร.ในครั้งที่ร่วม KM สัญจรกับ สคส. เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เห็นว่ามีสภาพการผลิตที่คล้ายๆ กัน นำเสนอที่ประชุมกลุ่มเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมากลุ่มจึงตกลงและนัดหมายกัน การศึกษาดูงานในครั้งนี้จึงเกิดขึ้น... กิจกรรมในการศึกษาดูงานมีดังนี้ครับ
การพบปะทักทาย เปิดใจก่อนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
เริ่มจากตัวผมเองซึ่งเป็นผู้ประสานงานในการศึกษาดูงานในครั้งนี้ (ใช้โทรศัพท์เพียงอย่างเดียวในการติดต่อ) แนะนำเจ้าหน้าที่คือนักส่งเสริมการเกษตรที่ร่วมมาในครั้งนี้ หลังจากนั้นตัวแทนกลุ่มได้เล่าความเป็นไปเป็นมาของกลุ่ม กิจกรรมที่ดำเนินอยู่ สิ่งที่อยากมา ลปรร.ในครั้งนี้แก่คุณผดุง เครือบุบผา
เล่าเรื่องโดยคุณผดุง เครือบุุบผา
หลังจากนั้นคุณผดุง เครือบุบผา ได้เล่าอดีตของการทำนา จากการทำนาที่ใช้สารเคมี จนถึงการปรับเปลี่ยนมาใช้สารธรรมชาติทดแทน เล่าถึงกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง และกลุ่ม ตลอดจนปัจจุบันว่าทำการผลิตข้าวกันอย่างไรจนทำให้ไม่มีหนี้สิน
เรียนรู้วิธีการคัดเมล็ดพันธุ์และการเพาะพันธุ์ข้าว
เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรที่มาศึกษาดูงานในครั้งนี้ เป็นเกษตรกรที่ทำการผลิตพันธุ์ข้าวอยู่แล้ว และมีความสนใจที่จะเรียนรู้การเพาะพันธุ์ข้าวเอง คุณลุงผดุง ก็ไม่ได้หวงความรู้ สอนและให้ทุกคนได้ลงมือคัดเมล็ดพันธุ์กันจริงๆ ส่องดูว่าเมล็ดใดที่ใช้ได้/ไม่ได้ โดยได้จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการคัดพันธุ์ข้าวไว้จำนวน 6 ชุด และให้แบ่งกลุ่มกันลงมือฝึก ซึ่งอุปกรณ์ประกอบไปด้วย
เมล็ดข้าวเปลือก
แว่นขยาย และ
ถาดสำหรับใส่เมล็ดพันธุ์ข้าว
การศึกษาการเพาะพันธุ์ข้าว
นอกจากการฝึกคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้ว กลุ่มฯ ยังได้ศึกษาการเพาะพันธุ์ข้าวในกระถามของคุณผดุง และสอบถามเทคนิควิธีเพิ่มเติมกันเป็นการใหญ่
เพื่อนช่วยเพื่อน
นอกจากเกษตรกรจะได้มาเรียนรู้กับเกษตรกรแล้ว นักส่งเสริมการเกษตรของจังหวัดพิจิตร และจากกำแพงเพชร ยังได้มีโอกาสพบปะพูดคุย และ ลปรร.กันเป็นอย่างดี สร้างมิตรภาพและเครือข่ายกันอย่างไม่รู้ตัว เห็นคุณสมพร จันทร์ประทักษ์จาก สนง.เกษตรอำเภอเมืองกำแพงเพชรติดต่อ ขอที่อยู่และเกริ่นไว้ล่วงหน้าขอนำเกษตรกรมาศึกษาดูงานกับคุณเสน่ห์ บุญสืบ (สนง.เกษตรอำเภอตะพานหิน จ.พิจิตร) ซึ่งคุณเสน่ห์ และคุณผดุง ก็ตอบรับและยินดีต้อนรับ มาเมื่อไรโทรประสานก็พอแล้ว...
คุณเสน่ห์,คุณผดุง,คุณเชิงชาย และคุณสมพร
AAR หลังการศึกษาดูงาน
หลังจากการศึกษาดูงาน (เลยเที่ยงแล้ว) กลุ่มก็เดินทางมารับประทานอาหารกลางวันกันที่บึงสีไฟ พักผ่อนกันสักพักก็ทำการสรุปการศึกษาดูงานในครั้งนี้ ผมเป็นคนเขียนประเด็นหลักๆ ให้คุณเชิงชายว่าจะทำ AAR กันหลังจากทานข้าวเสร็จ ซึ่งมี 5 ประเด็นคือ
สิ่งที่ท่านบรรลุความคาดหวังในการมาศึกษาดูงานในวันนี้
สิ่งที่ยังไม่บรรลุความคาดหวังของท่าน
สิ่งใดที่ได้เกินความคาดหวัง
ความรู้ใดที่ท่านจะนำกลับไปปฏิบัติในกลุ่มของท่าน
ข้อคิดเห็นอื่นๆ
บรรยากาศ AAR
ทีแรกผมนึกว่าคุณเชิงชายจะดำเนินกระบวนการเอง แต่พอเข้าไปสังเกตการณ์ใกล้ๆ พบว่าคนดำเนินกระบวนการกลับเป็นประธานกลุ่ม ซึ่งคุณเชิงชายมอบหมายให้พูดคุยกันเอง โดยมอบประเด็นที่ผมเขียนให้เป็นแนวสรุปการเรียนรู้ในครั้งนี้ ใช้เวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ และเดินทางกลับกำแพงเพชร
ในการศึกษาดูงานในครั้งนี้ กลุ่มต้องออกค่าใช้จ่ายกันเอง เพราะไม่มีงบประมาณ เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความต้องการของกลุ่มฯ พวกเรานักส่งเสริมเป็นเพียงคุณอำนวยคอยประสานงานและหาโอกาสให้แก่เกษตรได้มา ลปรร.กันเท่านั้น เพราะบางกิจกรรมหรือความต้องการจำเป็นของชาวบ้านนั้น จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาไม่นิ่ง เราต้องปรับหรือยืดหยุ่นตามสถานการณ์ หากจะทำตามโครงการที่มีอยู่แล้วเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอในการพัฒนาอาชีพการเกษตร ที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
สรุปบทเรียน
การใช้วิธีการเกษตรกรสอนเกษตรกรเช่นนี้ (ตามความต้องการจริงๆ) เกษตรกรจะมีความสนใจและซักถามกันเองดีมาก เพื่อ ปลรร.เป็นอย่างมาก ผิดกับการบรรยายโดยนักวิชาการ
เกษตรกรสามารถถ่ายทอดความรู้กันเองได้ดีมาก เพราะต่างก็มีพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ที่เหมือนกัน
เกษตรกรที่มาศึกษาดูงาน มีความเชื่อมั่นมากในการลดการใช้สารเคมี/ปุ๋ยเคมี เพราะมีเพื่อนเกษตรกรด้วยกันยืนยันและตอบข้อสงสัยได้ทุกประเด็น
นักส่งเสริมการเกษตร ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองและเข้าใจถึงการ ลปรร.ที่ใช้ความรู้ที่ฝังลึกและมีอยู่ในตัวคน มาแลกเปลี่ยนกัน(ไม่ใช้การถ่ายทอดโดยนักวิชาการอย่างที่เคยเห็นมา)
จะเกิดการใช้ความรู้ที่ได้ ลปรร.กันในทันที เพราะกลุ่มฯ บ้านหนองกอง จะกลับไปซื้อกระถางและให้คำมั่นว่า เดี๋ยวไปดูการเพาะพันธุ์ข้าวได้ที่บ้านหนองกอง...จะคอยติดตามผลงานครับ
วีรยุทธ สมป่าสัก
เรีัยน อ.ปภังกร
-ขอขอบคุณท่านนักปราชญ์ชาวบ้านที่นำความรู้มาเผยแผ่ให้ชาวแดงขาวทุกคนได้รู้ได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อนำไปประยุคใช้ในชีวิตประจำวัน