กระบวนการแปรธาตุเป็นขันธ์


บันทึกนี้คัดลอกจากคำบรรยายของท่านพุทธทาสภิกขุ

ที่ต้องรู้อีกอย่างหนึ่งก็ว่า ขันธ์ทั้งห้านี้มันเกิดดับ,เกิดดับ; ที่จะเรียกได้ว่าขันธ์ทั้งห้าก็ต่อเมื่อมันทำหน้าที่ : เมื่อรูปมันทำหน้าที่ของรูป ; เช่นตาเห็นรูป หูฟังเสียง ฯลฯ ก็ตามนี้ ก็เรียกว่ารูปขันธ์เกิด , ถ้าไม่ทำหน้าที่ก็เรียกว่ารูปขันธ์ดับ ไปเป็นธาตุอยู่ ยังไม่เป็นขันธ์ (หน้า32)

เพียงแต่ที่เป็นขันธ์นี้มันเป็นกลไกที่ซับซ้อนที่จะต้องทำความเข้าใจให้ดี , นี่ จะพูดย้ำอีกครั้งหนึ่ง พออายตนะนอกในมันถึงกันเข้าก็เรียกว่าเกิดรูปขันธ์ พอรูปขันธ์นอกในถึงกันเข้าก็เกิดวิญญาณขันธ์ รู้แจ้งทางอายตนะนั้นๆ ; เช่น ทางตาก็รู้ทางตา รู้แจ้งทางตาเป็นจักษุวิญญาณ นี้ยกตัวอย่างทางตาก่อน

ทีนี้ก็เกิดความจำได้หมายรู้ ว่ารูปอะไรเป็นต้น เป็นสัญญาขันธ์ สัญญาขันธ์จำได้เกิดขึ้น ต่อจากนั้นก็รู้สึกผลของการที่มากระทบนั้น เป็นสุขหรือทุกข์ พอใจหรือไม่พอใจ ก็เรียกว่าเวทนาขันธ์ได้เกิดขึ้น

พอเวทนาขันธ์เกิดขึ้นนี้ ก็เกิดสัญญา หมายมั่นในสัญญานั้นอย่างรุนแรงอีกทีหนึ่ง , หมายมั่นในอารมณ์นั้น สุขทุกข์อะไรก็ตาม หมายมั่นอย่างรุนแรงอีกทีหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องจำเฉยๆ

ฟังให้ดีนะ มันมีอยู่สองสัญญานะ ; สัญญาทีแรก เกิดขึ้นจำได้ว่าเป็นอะไร , แล้วก็เกิดเวทนา , มันเกิดสัญญาจำได้ว่าเป็นอะไร แล้วก็เกิดเวทนาที่ผลของการกระทบ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ พอใจหรือไม่พอใจ , แล้วก็หมายมั่นในเวทนานั้นอีกทีหนึ่ง

นี่ ตอนนี้ที่จะเกิดสัญญาชนิดร้ายกาจ : เป็นสุขเป็นทุกข์จริงจัง กระทั่งเป็นตัวตน , เป็นอัตตสัญญา , หรือว่าถ้ามันเกิดในฝ่ายดี มันก็เป็นฝ่ายรู้ เป็นฝ่ายอนิจจสัญญา , อนัตตสัญญา , ถ้าเป็นฝ่ายโง่ ก็เป็นนิจจสัญญา , เป็นอัตตสัญญา นี่เรียกว่าสัญญาขันธ์ชั้นลึก

เวทนานั้นถูกมโนวิญญาณสัมผัสอีกทีหนึ่ง ก็เรียกว่าวิญญาณทางมโน แล้วจึงเกิความคิด คิดอย่างนั้นอย่างนี้ เรียกว่าสังขารขันธ์ (หน้า 38-39)

" ถ้าเราจะเอาแต่สั้นๆลุ่นๆก็ได้ คือว่าพอเกิดตากระทบรูปเป็นต้น ก็เกิดรูปขันธ์ , สองอย่างนี้ ถึงกันเข้าเกิดวิญญาณขันธ์ แล้วก็มีผัสสะในขณะนั้น แล้วก็เกิดเวทนาขันธ์ รู้อารมณ์ รุ้สึกรสของอารมณ์ ถูกใจ ไม่ถูกใจ สุข หรือทุกข์ แล้วก็สัญญามั่นหมายลงไปว่าเป็นตัวตนของตน อะไรทำนองนี้ แล้วเกิดความคิดเป็นสังขารขันธ์ มันก็ครบห้าขันธ์

นี้ วิญญาณขันธ์ทำหน้าที่ตอนต้นทีหนึ่ง , มาทำหน้าที่ตอนกลางอีกทีหนึ่ง , สัญาญาขันธ์ก็เหมือนกัน ทำหน้าที่ตอนต้นจำได้เท่านั้น แล้วหมายรู้สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไรอีกทีหนึ่ง วิญญาณขันธ์เกิดอย่างน้อยสองหนในหนึ่งกรณี สัญญาขันธ์ก็เกิดอย่างน้อยสองหนในหนึ่งกรณี นี้ทำให้เกิดการเรียงลำดับลำบาก เขาจะเรียงไว้ตามที่ว่ามันมีลำดับอย่างไร ส่วนวิญญาณนั้นเรียงไว้สุดท้าย เพราะมันเกิดตรงไหนก็ได้

นี้หมวดรูป หมวดรูปที่ทำได้ด้วยตา ก็เกิดขันธ์ได้ครบทั้งห้า หรือ 6 7 อาการ เพราะมันซ้ำกันก็มี ในหมวดรูปมันก็เกิดได้อย่างนี้ หมวดเสียง หมวดกิล่น หมวดรส หมวดโผฏฐัพพะ หมวดธัมมารมณ์ ก็เกิดได้อย่างนี้ " (หน้า 40-41)

พุทธทาสภิกขุ ชีวิตคือขันธ์ 5 ธรรมสภา1 / 4-5 ถนนบรมราชชนนี กรุงเทพ

หมายเลขบันทึก: 342958เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2010 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับพี่...

แวะมาเยี่ยมครับ

ข้อคิดเหล่านี้ต้องอ่านบ่อย ๆ ครับ สติจะได้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวเรื่อย ๆ

รออ่านหนังสือพี่อยู่ครับ

สวัสดีคุณ ณัฐรดา ครับ

ขันธ์ 5 คือ ตัวทุกข์

ถ้ารู้ทันทุกข์ ก็ไม้ต้องมีอุปาทานขันธ์

ขอบพระคุณสำหรับบันทึกธรรมครับ...

สวัสดีครับพี่ณัฐรดา

แวะมาเรียนรู้ศิลป์-ธรรมกับพี่เช่นเดิมครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท