วันนี้ ได้รับการติดต่อจากน้องเหมียว วารินทิพย์ นาคำ ซึ่งเป็นเคสที่รัตน์ดูแลอยู่ ซึ่งดูแลในที่นี้หมายความว่าเป็นคนรับคำร้องและกรอกข้อมูลลงในฟอร์มซึ่งเราใช้กัน ๑๖ หน้า ยาวที่สุด ซึ่งรัตน์ได้รับการติดต่อจากเขามาเรื่อย ๆ ทางโทรศัพท์
เหมียวเป็นคนแม่สอด จังหวัดตาก เกิดในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๐ เกิดที่โรงพยาบาลแม่สอด จากพ่อและแม่ที่ไม่มีบัตร อะไรเลย ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
เมื่อตอนเขาเกิดที่โรงพยาบาลแม่สอด ทางโรงพยาบาลไม่ได้ให้หลักฐานการเกิดอะไรเลยกับครอบครัวเหมียวเลย เหมียวอาศัยอยู่กับยาย และ น้าสาว (ซึ่งเหมียวเรียกว่าแม่ลั้ว) ทางราชการให้บัตรสีเหลือง(บัตรพม่าเชื้อสายไทย) กับยายและน้าสาว และต่อมาก็ได้ทำการแปลงสัญชาติเป็นไทยให้น้าสาว ตอนนี้เอกสารพิสูจน์ตนของน้าสาวของเหมียวคือใบต่างด้าว (ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว)
ต่อมาตอนเหมียวอายุประมาณ ๑๔ ปี ทางราชการได้เข้ามาเพื่อทำบัตรสีเหลือง(บัตรพม่าเชื้อสายไทย)ให้กับคนในหมู่บ้าน ซึ่งเหมียวก็ไปทำด้วย เหมียวได้มาแต่บัตรสีเหลือง แต่ทางราชการไม่ได้ให้ทะเบียนบ้าน หรือ ทร. ๑๓ มาให้เหมียวด้วย ปัจจุบันก็ยังไม่ได้สถานะของเหมียวตอนนี้คือเป็นราษฎรไทย ซึ่งตามพรบ.ทะเบียนราษฎร ถือว่าเป็นคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ชั่วคราวในประเทศไทยได้
เหมียวมีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียนซึ่งทางโรงเรียนก็ออกวุฒิบัตรให้ เรียนจนถึง ม. ๓ ไม่ได้เรียนต่อเพราะโรงเรียนมีถึงแค่ ม.๓ ดังนั้นเหมียวจึงเอาวุฒิบัตร ม.๓ ออกนอกพื้นที่ มาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ โดยการออกนอกพื้นที่ของเหมียวนั้นก็ไม่ได้ขออนุญาตออกนอกพื้นที่จากอำเภอ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกตำรวจจับ
เหมียวมาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นคนทำตัวเรือนจิวเวอรี่อยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่งแถวถนนสุริยวงศ์ ซึ่งรายได้ดีพอสมควร แต่เจ้านายของเหมียวก็ถามถึงหลักฐานประจำตัวของเหมียว ได้แก่บัตรประชาชน และ ทะเบียนบ้าน ซึ่งเหมียวไม่มีให้ เหมียวไม่กล้าให้บัตรสีเหลืองแก่เจ้านายเพราะกลัวที่จะถูกไล่ออกจากงาน
เหมียวเข้ามาหาอ.พันธุ์ทิพย์ เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ เพราะได้ดูรายการโทรทัศน์ในช่วงนั้น รัตน์เลยนัดเหมียวและน้าสาว เข้ามากรอกประวัติที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัตน์ได้แนะนำให้เหมียวไปขอใบรับรองการเกิดจากอำเภอก่อน และให้ไปเอาทะเบียนบ้านมาให้ดู พร้อมกับไปสมัคร กศน. สีลม เพื่อสามารถใช้มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการศึกษาว่าสามารถออกนอกพื้นที่เพื่อศึกษาต่อได้ตลอดทั้งหลักสูตร ดังนั้นเหมียวเลยกลับบ้านที่แม่สอดช่วงก่อนเลือกตั้งครั้งแรกของปี ๒๕๔๙ เพื่อดำเนินการ ๓ เรื่อง คือ ๑.ใบรับรองการเกิด ๒. สอบถามเรื่องทะเบียนบ้านว่าทำไม่ไม่ได้รับมาพร้อมกับบัตรสีเหลือ และ ๓. ขออนุญาตออกนอกพื้นที่เพื่อมาศึกษาต่อในกรุงเทพ
วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๙เหมียวไปอำเภอ เหมียวไม่สามารถให้ทางอำเภอออกใบรับรองการเกิดให้ได้ เพราะอำเภอบอกให้เหมียวไปที่เทศบาลเพราะงานส่วนนี้อยู่ที่เทศบาลอำเภอ ดังนั้นเหมียวก็เลยไปที่เทศบาล ซึ่งระยะทางจากอำเภอไปยังเทศบาลก็มีระยะทางไกลพอสมควรต้องจ้างรถรับจ้างไป ซึ่งเทศบาลก็บอกว่าให้ไปที่โรงพยาบาลที่เหมียวเกิด หาพยาน หลักฐานมา พร้อมกับทำเรื่องขอออกนอกพื้นที่เพื่อมาศึกษาต่อ ทางเทศบาลบอกไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้ในกรณีนี้ โดยอ้างว่าทำไมไม่เรียนที่แม่สอด เพราะที่แม่สอดก็มีโรงเรียน มี กศน. เหมือนกัน และยังบอกอีกว่าการขออนุญาตออกนอกพื้นที่นั้นสามารถขอได้ ในระยะเวลา ๓ วัน และ ๗ วัน มากที่สุดคือ ๑๕ วันซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของเหมียวที่ต้องการเรียนและทำงานในกรุงเทพฯ การปฏิเสธของทางราชการในครั้งนี้ทำให้ชีวิตของเหมียวเปลี่ยนไป
วันนี้ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๙ เหมียวโทรมาอีกครั้งบอกว่าทางเทศบาลออกใบรับรองการเกิดให้แล้ว และตัวเองตัดสินใจที่จะอยู่ที่แม่สอด เพื่อเรียนหนังสือโดยสมัครเรียนที่วิทยาลัย แห่งหนึ่งเรียนในสาขาการตลาด ซึ่งเป็นการเรียนในระดับ ปวช. ประกาศวิชาชีพ หลักสูตรมีระยะเวลา ๓ ปี ทางวิทยาลัยอนุญาตให้เหมียวเรียนได้ แต่เรียกร้องเอาสำเนาทะเบียนบ้านจากเหมียวเช่นกัน ซึ่งเหมียวบอกว่าได้สอบถามกำนันแล้วกำนันบอกว่าหลังสงกรานต์จะได้ แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้
การตัดสินใจของเหมียวเพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่ตนไม่ต้องขอออกนอกพื้นที่กับทางอำเภออีกต่อไป แต่ปัญหาของเหมียวก็ยังไม่จบ เพราะการเรียนสาขานี้ก็ต้องมีระยะเวลาฝึกงาน ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาของเหมียวขอให้เหมียวไปทำใบขับขี่สำหรับการฝึกงานในปีที่ ๒ ซึ่งเหมียวก็ไม่สามารถทำใบขับขี่รถยนต์ได้เช่นกัน
และหาก ๓ ปีผ่านไป เหมียวต้องการที่จะทำงานตามวุฒิการศึกษาที่ตนได้รับ เหมียวก็ไม่สามารถทำงานตามวุฒิที่ตนเรียนจบมาได้ เพราะตามพรบ.การทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ. ๒๕๒๒ งานที่เหมียวสามารถทำได้คืองานกรรมกร ไม่สามารถทำงานเสมียนได้ในประการแรก เพื่อที่จะกำหนดสถานะบุคคลของเขา เราคงต้องทราบว่า พ่อแม่ของเขาเกิดที่ไหน เมื่อไหร่ มีพยานหลักฐานอะไรไหม รัตน์ลองโทรสอบปากคำเพิ่มเติมนะคะ อาจต้องซักถามไล่จากพยานเอกสาร พยานบุคคล ยายและน้ายังอยู่ น่าจะเป็นไปได้
ในประการที่สอง เรื่องสิทธิทางการศึกษานอกพื้นที่ ก็น่าจะได้ เป็นโอกาสทางการศึกษาของเขา เทศบาลน่าจะเข้าใจผิด สังเกตนะ เทศบาลแม่สอดอีกแล้ว แสดงว่า ทัศนคติน่าจะมีปัญหา เราคงทำได้ ดังนี้ (๑) สอนกฎหมายว่าด้วยสิทธิทางการศึกษาให้แก่น้องเหมียว ซึ่งตรงนี้ ต้องหารือเตือนล่ะ (๒) ทำจดหมายแจ้งเทศบาลแม่สอดถึงสิทธิทางการศึกษา ตรงนี้ต้องหารือชลว่า ควรทำเลยดีไหม (๓) ทำจดหมายแจ้งเรื่องนี้แก่กระทรวงศึกษาธิการ ก็คงต้องชลอีกเหมือนกัน
เรื่องนี้ ยังคงไม่ต้องตามด๋าวมาฟ้องคดี
บัตรเหลืองอันนี้
น่าจะเป็นบัตรผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยจ๊ะ
ซึ่งสถานะบุคคลตามกฎหมาย ก็คือ เป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ได้รับอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวในประเทศไทย
แต่ในวันนี้ มีมติคณะรัฐมนตรีให้สัญชาติไทยแล้ว
แต่อีกเหมือน กระบวนการแปลงมติคระรัฐมนตรีให้มีผลทางปฏิบัติยังมีปัญหามาก คงต้องปรึกษาทางบ้านพิษณุโลกค่ะ
น่าจะใช้ชื่อน้องเหมียวเป็นชื่อบันทึก เวลาค้นภายหลังจะได้เจอค่ะ