กบฏซีปอย (Sepoy Mutiny of 1857 – 1857)


กบฏซีปอย (Sepoy Mutiny of 1857 – 1857)

 

ภาพกองทหารซีปอยก่อกบฏ

(ที่มา : http://hubpages.com/hub/Sepoy-Mutiny)

ซีปอย เป็นทหารพื้นเมืองที่อังกฤษนำมาฝึกทหารแบบยุโรป ให้รู้จักระเบียบวินัยและใช้อาวุธที่ทันสมัยโดยมีเครื่องแบบและเงินเดือน ซีปอยมีความสามารถในการบ เป็นที่นิยมของเจ้านครอินเดีย อังกฤษจึงให้เจ้าครองนครต่าง ๆ เช่าทหาร เช่น เจ้าครองนครแห่งแคว้นไฮเดอร์ราบัค เป็นต้น

                กบฏซีปอยเป็นการก่อกบฏของทหารอินเดียที่อยู่ในแคว้นเบงกอล เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๕๗ – ๑๘๕๘ โดยมีสาเหตุโดยทั่วไป เช่น

                ๑. ความไม่พอใจที่บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (British East India Company) พยายามเปลี่ยนแปลงสังคมอินเดียให้เป็นสังคมแบบตะวันตก

                ๒. ความไม่พอใจต่อนโยบายของลอร์ด ดัล เฮาซี (Lord Dalhousie) ผู้สำเร็จราชการ (Governor – General) ของอังกฤษในอินเดียระหว่าปี ค.ศ. ๑๘๔๘ – ๑๘๕๖ ที่ออกประกาศ Doctrine of Lapse โดยให้ผนวก ๗ รัฐของอินเดีย ซึ่งไม่มีผู้ปกครองเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ทำให้กลุ่มชาตินิยม ทั้งพวกมุสลิม ซึ่งต้องการฟื้นฟูอำนาจของราชวงศ์โมกุล และพวกมาราธา ซึ่งต้องการเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐฮินดู (Hindu States) ไม่พอใจ

                ๓. อังกฤษไม่เอาใจใส่ต่อข้อเรียกร้องเงินพิเศษที่กองทหารซีปอยต้องเดินทางออกไปรบยังดินแดนไกล

                ๔. ความไม่พอใจอันเกิดจากการที่มีทหารต่างวรรณะ ต่างศาสนา เข้ามาอยู่รวมกัน

                ๕. ทหารซีปอยเชื่อว่า คนมีกำลังทหารและอำนาจมาก เป็นที่พึ่งของของกองทัพและชาวอังกฤษในอินเดียซึ่งมีขนาดเล็กกว่า

สาเหตุปัจจุบัน

                 อังกฤษนำเอาปืนแบบใหม่เข้ามาใช้ในกองทหารซีปอยคือ Enfield Rifle ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าแบบเก่า ปืนชนิดนี้ต้องมีการหล่อลื่นลูกปืนด้วยน้ำมัน มีการปล่อยข่าวลือว่า อังกฤษได้ใช้น้ำมันหมูและน้ำมันวัวมาใช้ในการหล่อลื่นและทำความสะอาดปืน จึงทำให้ทหารซีปอยในแคว้นบองกอลชาวฮินดูและชาวมุสลิมไม่พอใจ เพราะชาวมุสลิมมีความคิดว่า หมูเป็นสัตว์สกปรก ส่วนพวกฮินดูเชื่อว่า วัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นกองทหารเบงกอลจึงร่วมมือกันก่อกบฏขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๕๗ 

เหตุการณ์โดยย่อ

                 เริ่มมีการก่อกบฏที่บาร์รักปอร์ (Barrack Pore) ในกัลกัตตา และที่เมียรุท (Meerut) ใกล้กับนครเดลฮีเป็นแห่งแรก พวกกบฏเข้าไปในคุกปล่อยเพื่อนที่ถูกขัง และฆ่าเจ้าหน้าที่ชาวยุโรป นายพลเฮียวิทท์ (Hewitt) บังคับบัญชาอยู่ที่เมียรุท มีทหาร ๒,๒๐๐ นาย แต่ก็ไม่สามารถปราบปรามกบฏซีปอยได้ มีการฆ่าหมู่ชาวยุโรป ทำลายสถานที่ของชาวยุโรป แต่ท้ายที่สุดแล้วการก่อกบฏในครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะขาดการวางแผนที่ดี อังกฤษจึงสามารถปราบปรามได้ในปี ค.ศ. ๑๘๕๘ ใช้เวลาเพียง ๕ เดือน

ผลหลังจากเหตุการณ์กบฏซีปอย

                ๑. ทำให้ราชวงศ์โมกุลหมดอำนาจ

                ๒. รัฐบาลอังกฤษประกาศยกเลิกกิจการของบริษัทอินเดียตะวันออกที่ดำเนินงานมา ๒๕๘ ปี

                ๓. รัฐบาลอังกฤษปกครองอินเดียโดยตรงตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๕๘ และในปี ค.ศ. ๑๘๗๗ อังกฤษได้สถาปนาพระราชินีวิคตอเรียเป็นจักรพรรดิแห่งอินเดีย

                ๔. ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๗๗ อินเดียกลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษอย่างสมบูรณ์โดยมีอุปราชชาวอังกฤษเป็นตัวแทนของกษัตริย์เข้ามาทำหน้าที่เป็นประมุขของอินเดียแทนกษัตริย์ราชวงศ์โมกุล

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

บรรณานุกรม

ศฤงคาร พันธุพงศ์, รศ.. ประวัติศาสตร์ยุโรป ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ๒๕๔๗.

ประภัสสร บุญประเสริฐ, รศ.. ประวัติศาสตร์เอเชียใต้. พิมพ์ครั้งที่ ๘. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ๒๕๔๔.

http://hubpages.com/hub/Sepoy-Mutiny (สืบค้นเมื่อ ๓ มีนาคม ๒๕๕๓)

หมายเลขบันทึก: 341530เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พอเป็นอุทาหรณ์สำหรับบ้านเมืองในปัจจุบันได้มั้ยเนอะ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท