ศิลปท้องถิ่นเพลงพื้นบ้านต้องสูญหายไปเพราะอะไรกันแน่ ตอนที่ 3 คลื่นลูกใหม่ไม่สนใจ


มีอะไรบางอย่างทำให้เยาวชนกลุ่มนี้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่กันอย่างไม่ขาดตอนในจำนวน 15-19 คน อยู่ตลอดเวลา

ศิลปะท้องถิ่นเพลงพื้นบ้าน

สูญหาย เพราะเหตุใดกันแน่

ตอนที่ 3 คลื่นลูกใหม่ไม่สนใจของเก่า

ชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547 

          โดยปกติแล้วคลื่นลูกใหม่ที่พัดเข้าหาฝั่ง ย่อมที่จะโถมกระหน่ำซัดคลื่นลูกก่อนให้จมหายไป มองเห็นแต่คลื่นลูกใหม่เข้ามาแทนที่ แต่ศิลปะท้องถิ่น ประเภทเพลงพื้นบ้านมิได้เป็นอย่างนั้น คนรุ่นก่อนรุ่นเก่าค่อย ๆ ทยอยจากเราไปปีละคนสองคนแต่เรามองหาคนมาแทนที่ไม่ค่อยพบ จะมีบ้างก็น้อยมาก เอาเป็นว่า ศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านในวันนี้ ค่อนข้างที่จะหาคนมาฝึกหัดเล่นกันแบบในสมัยก่อนได้น้อยลงไป

          เป็นที่ยอมรับว่า ยากมากในการที่จะดึงเยาวชนให้เข้ามาเรียนรู้ ฝึกหัดการแสดงเพลงพื้นบ้านจนถึงขั้นแสดงเป็นอาชีพ เพราะเป็นการฝึกหัดอาชีพทำมาหากินที่ผ่านยุคสมัยของเพลงพื้นบ้านประเภทนั้น ๆ มานาน อย่างเพลงขอทานก็ไม่มีให้เห็นอย่างเมื่อ 50-60 ปีแล้ว เพลงเรือก็ไม่มีเล่นในฤดูน้ำหลาก โดยเฉพาะคืนลอยกระทงในยุคนี้ก็ไม่มีเพลงเรือให้เห็นเสียแล้ว เพลงเต้นกำ (เพลงเกี่ยวข้าว) พอไม่มีต้นข้าวให้เกี่ยว เพลงที่มากับงานเกษตรก็หายไปด้วย ที่ยังพอมองเห็นอยู่บ้างไม่โดดเด่นนักแต่ก็พอที่จะหาดูได้ แต่ก็ไม่บ่อยนักคือ ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว

         

         

          ผมเป็นครูคนหนึ่งที่มีความมุ่งมั่นในการที่จะอนุรักษ์ สืบสานงานเพลงพื้นบ้านด้วยความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว  ผมสู้เดินทางไปพบครูเพลงหลายท่านเพื่อขอฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน หลาย ๆ ชนิด ได้แก่ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงพวงมาลัย เพลงเรือ เพลงเต้นกำ เพลงขอทาน ลำตัด ขับเสภา เพลงแหล่ ทำขวัญนาค เพลงกล่อมเด็ก นาฏดนตรี (ลิเก) ฯลฯ เมื่อผมมีความรู้ มีความสามารถในการแสดงเพลงพื้นบ้านมากขึ้น ผมได้นำเอาความสามารถไปแสดงในที่ชุมนุมหลายครั้งจนเป็นที่รู้จักทั่วไป โดยเฉพาะบนเวทีประกวดเพลงอีแซว เมื่อ ปี พ.ศ. 2525 ผมเป็นผู้ร้องนำของอำเภอดอนเจดีย์ ทีมผมได้รับโล่รางวัลชนะเลิศของจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมเงินรางวัลจำนวนหนึ่ง

          แต่ในการที่จะถ่ายทอดความรู้ไปยังคนรุ่นใหม่ ทำให้เยาวชนหันมาอยู่ข้างเรา ให้ความสนใจที่จะฝึกหัดเพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัดสัก 10 คน เป็นเรื่องที่ยากมาก นี่ไม่นับที่มีการฝึกทิ้งฝึกขว้าง โดยมีผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญอาสาดำเนินงานกันอย่างมากมาย แต่ผลผลิตที่ยั่งยืน ที่โดดเด่นอยู่บนเวทีการแสดงอาชีพยังหาไม่พบ ก็จะให้พบได้อย่างไรในเมื่อผู้ที่ดำเนินงานจับปล่อย ๆ ไม่เกาะยึดอยู่กับที่ ทำให้มีทายาทอย่างมั่นคงถาวร ร้องเป็นเล่นได้เชิญเมื่อไรไปเล่นได้ทันทีทุกสถานที่ ประเภทอย่างนี้ยังไม่มีใครทำ เพราะมันยาก ยากที่จะรักษาทีมงานให้มั่นคงและพัฒนาไปสู่ความมีมาตรฐานที่สูงขึ้น ยิ่งอาชีพรับราชการครู เดี๋ยวเด็กก็เข้าใหม่ เดี๋ยวแกก็จบการศึกษาออกไป 3 ปี บ้าง 6 ปีบ้าง อยู่ได้ไม่นาน

          ที่หนักยิ่งไปกว่านั้นเด็กบางคนเดินเข้ามาสมัครอยู่ชุมนุมศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน เราทุ่มเทฝึกหัดให้จนออกแสดงงานได้ ต่อมาแกก็ชวนเพื่อน ๆ เข้ามากันอีก พอเพื่อนแกเล่นเป็น ตัวแกเริ่มมีปัญหา หาเรื่องที่จะออกจากวงไปเสียอย่างนั้น ส่วนเจ้าเพื่อนที่มาใหม่ก็อยู่ได้ปีกว่า ๆ หาวิธีการเลิกเล่นไปอย่างไม่มีเหตุผล นี่ถ้าแกอยู่ช่วยงานความสามารถของเด็ก ๆ พวกนี้ดี-ดีมาก แต่การทุ่มเท เสียสละ รักแผ่นดินท้องถิ่นมีน้อย-ไม่มี เป็นงานหนักมาก ๆ กว่าที่จะปั้นได้ดังใจคิด ต้องดูใจกันไปนาน ๆ พฤติกรรมของเด็ก ๆ มีหลากหลาย ยากที่เราซึ่งเป็นครูจะหยั่งถึงได้ ดีก็มีมาก ปานกลางก็มี และที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมเลยก็มี

          เด็ก ๆ ในวงที่ผมฝึกหัดให้เขาแสดงเพลงพื้นบ้าน มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน คือ

          - ตั้งใจฝึกหัดการแสดงเพลงพื้นบ้าน อยู่ร่วมงานกับครู เป็นเวลานานกว่า 6 ปี

          - ตั้งใจฝึกหัดการแสดงเพลงพื้นบ้าน อยู่ร่วมงานกับครู เป็นเวลา 6 ปี เต็ม

          - ตั้งใจฝึกหัดการแสดงเพลงพื้นบ้าน อยู่ร่วมงานกับครู เป็นเวลา 4-5 ปี

          - ตั้งใจฝึกหัดการแสดงเพลงพื้นบ้าน อยู่ร่วมงานกับครู เป็นเวลา 3 ปี เต็ม

          - ฝึกหัดการแสดงเพลงพื้นบ้าน อยู่ร่วมงานกับครู เป็นเวลา 1-2 ปี

          - ฝึกหัดการแสดงเพลงพื้นบ้าน อยู่ร่วมงานกับครู เป็นเวลาไมถึง 1 ปี

          ประเภทที่อยู่ร่วมงานแสดงครบ 3 ปี คือจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่วนเด็กที่อยู่ร่วมงานแสดงถึง 6 ปี คือ เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และมีบางคนจบชั้น ม.6 ไปแล้วยังกลับมาช่วยเหลือวงอีก 2-3 ปี (ส่วนน้อยมาช่วยถึง 4 ปี หลังจากจบ ม.6 ไปแล้ว) ประเภทสนใจจริงเล่นนานมีน้อยรุ่นละ 1-2 คน ประเภทออกกลางคันมีมาก ปีละ 4-5 คน

          ด้วยพฤติกรรมอย่างนี้ อย่าว่าแต่ให้ทุ่มเททั้งกำลังกายใจเงินสิ่งของมากมายสักเพียงใดก็ซื้อหัวใจคนรุ่นใหม่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ว่า สอนทั้งชั้น ฝึกทั้งโรงเรียน ทำได้แค่ไหน ได้อะไรเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวที่ถาวร นอกจากความว่างเปล่า ผมเคยพูดกับพี่เกลียว เสร็จกิจ (ขวัญจิต ศรีประจันต์) ว่า “พี่ ถ้าเรามีเด็ก ๆ ที่สนใจมาฝึกหัดเพลงอยู่กับเราสักปีละ 20 คน สบายเลย มีตัวเลือกพอที่จะคัดคนเก่งไปออกงานได้สบาย” แต่ในความเป็นจริงกว่าที่จะได้เด็กมาฝึกหัดเพลงพื้นบ้านสักคนสองคนก็หากันไปเป็นปี ๆ ได้มาแล้วก็ยังเลิกกลางคันเสียอีก

         

          ในความเหน็ดเหนื่อย ในความสับสนวุ่นวาย ในความเป็นไปไม่ได้ บางโอกาสก็กลับเป็นไปได้ ในเมื่อวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์ กลับมีนักเพลงที่มีความสามารถ ในระดับพ่อเพลง แม่เพลงมาแทนที่กันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535 จนถึง ปี พ.ศ. 2554 (ปีหน้า) จะด้วยความที่ผมเป็นนักแสดงอาชีพหลายอย่าง หรือเป็นเพราะผมฝึกหัดการแสดงให้พวกเด็ก ๆ จนมีรายได้อย่างต่อเนื่องก็อาจเป็นไปได้ ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่กันอย่างไม่ขาดตอนในจำนวน 15-19 คน อยู่ตลอดเวลา   

(ติดตาม สาเหตุ ที่ทำให้ศิลปะท้องถิ่นต้องสูญหายไป ในตอนที่ 4)

 

หมายเลขบันทึก: 341321เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท