บันทึกของนางฟ้า


หากพยาบาลทุกคนให้การพยาบาลโดยใช้ทั้งกาย จิต และจิตวิญญาณของตนอยู่กับผู้ป่วยที่ตนได้รับมอบหมายหรือรับไว้ในการดูแล และหากเราสามารถเข้าถึงจิตใจของเขาได้ ไม่ว่าเวลาใดเราก็สามารถให้การพยาบาลเขาได้เสมอ

 การฝึกปฏิบัติงานในสัปดาห์นี้ นักศึกษาให้การพยาบาลผู้ป่วยรายเดิมต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว มีประสบการณ์และเกิดการเรียนรู้เพิ่มอีกหลายประเด็น พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

  

ช่วงเช้าเมื่อไปถึงที่เตียงผู้ป่วย เห็นแม่นั่งร้องไห้อยู่ข้างเตียง เมื่อทักทายกันแล้ว แม่บอกว่า “เมื่อคืนอาการทรุดลง เมื่อกี้พยาบาลบอกว่า เริ่มมีอาการตอนตี 5” “แล้วตอนนี้อาการปรือมั้ง?”  คำว่าอาการของแม่หมายถึง ความดันโลหิตต่ำ แขนขาอ่อนแรงปวกเปียก เมื่อนักศึกษาอธิบายอาการปัจจุบันให้ฟัง ซึ่งมีความดันโลหิตต่ำ ได้รับยาเพิ่มความดันโลหิต (dopamine 2:1 iv 10 cc/hr) ขณะนี้ความดันโลหิตประมาณ 90/55 mmHg แม่พูดว่า “นี่เป็นเพราะไม่ได้แก้ไขที่สมอง ลูกเลยเป็นแบบนี้” แบบไหนหรือคะ? “สมองบวมปูดอย่างงี้ มันก็รวนไปทุกระบบ แม่พูดไม่ถูกเหมือนกัน อยากคุยกับหมอสักหน่อย” นักศึกษาจึงอธิบายสาเหตุที่ทำให้เราเห็นสมองบวมปูดและผลกระทบที่มีต่อระบบการไหลเวียนเลือด  และแจ้งพี่พยาบาลว่าญาติต้องการคุยกับแพทย์ 

 

ขณะนักศึกษามารับเวรและ pre-conference หัวหน้าตึกได้เข้าไปพูดคุย และแนะนำให้แม่หากิจกรรมทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจบ้าง แม่จึงเดินออกจาก ICU เมื่อนักศึกษาออกไปคุยด้านนอกอีกครั้ง แม่บอกว่า “แม่ขอไปวัดหน่อย ไปทำบุญ” ประมาณ 1 ชั่วโมง แม่โทรกลับมาถามอาการลูก นักศึกษาจึงเล่าอาการโดยทั่วไป และแจ้งว่าพยาบาลจะนัดให้คุยกับแพทย์เจ้าของไข้ให้      แพทย์มาตรวจผู้ป่วย ประกอบด้วยแพทย์เจ้าของไข้และทีมอีก 3 คน เมื่อมาถึงเตียงแพทย์ทดสอบการกรอกลูกตา ใช้ไฟฉายส่องรูม่านตา ปลดเครื่องหายใจเพื่อทดสอบการหายใจ แล้วพูดว่า “brain death (สมองตาย) แล้ว ตามญาติด่วน”  เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่แม่ผู้ป่วยโทรกลับมาที่เบอร์ของ ICU เมื่อรับโทรศัพท์แพทย์ได้แจ้งเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยให้แม่รับทราบ

 

หลังจากนั้นนักศึกษาพยาบาลโทรกลับไปที่แม่ แต่แม่ไม่รับโทรศัพท์ ใกล้เที่ยงแม่มาพร้อมกับเพื่อนอีกคน เมื่อมาถึงกอดลูก หอมแก้มและร้องไห้สะอื้นอย่างหนัก ใช้มือลูบใบหน้า หน้าอก ท้อง พูดอย่างแผ่วเบาว่า “อย่าถอดท่อวันนี้ได้มั้ย?” (วันนี้วันพุธ) จึงอธิบายแม่ว่า สมองตายแต่หัวใจยังเต้นอยู่ แม่ใจเย็น ๆ นะ ปล่อยแม่ร้องไห้สักครู่ นักศึกษาเอาเก้าอี้ให้แม่นั่งข้างเตียง ปรับเหล็กกั้นเตียงลง แม่ยอมนั่งลง จึงให้แม่กุมมือลูกแล้วนักศึกษากุมมืออีกชั้นหนึ่ง แล้วจึงบอกให้แม่รวบรวมกำลังใจ ความรัก ความหวังดี ความปรารถนาดี ถ่ายทอดผ่านมือเพื่อเป็นกำลังใจให้กับลูก แม่สงบนิ่งลง ไม่สะอื้นมาก นักศึกษาอีกคนเอาผ้าเช็ดตัวผืนเล็ก 2 ผืนให้แม่เช็ดหน้าให้ลูก และเช็ดหน้าตนเอง ช่วยนวดไหล่ให้แม่ แม่สงบนิ่งหลับตา แม่ใช้เวลาในการเยี่ยมครั้งนี้นานประมาณ 40 นาที แม่บอกว่าขอออกไปข้างนอกสักครู่ ไปคุยธุระเดี๋ยวมา (ไม่ยอมสบตากับใครรีบ ๆ เดินออกไป) 

 

วิเคราะห์สิ่งที่สามารถช่วยได้

                - ออกไปดูข้างนอก ICU ว่าแม่เป็นลม หรือต้องการการช่วยเหลืออย่างใดบ้าง

                - เสนอแม่ว่า ถ้ามีอะไรจะให้ช่วยขอให้บอก

                - แจ้งกับพี่พยาบาลว่า ญาติไม่พร้อมให้ถอดท่อในวันนี้

                - ร่วมเหตุการณ์หากแพทย์มาคุยกับแม่อีกครั้ง เพื่อประเมินการช่วยแม่ต่อไป

 

เมื่อออกไปครั้งแรกแม่นั่งล้อมวงคุยอยู่กับญาติ ๆ เตียงอื่น? นักศึกษาจึงไม่รบกวนแม่ สักครู่จึงออกไปอีกครั้ง แม่คุยอยู่กับแม่ของผู้ป่วย ICU neuro ที่ประสบอุบัติเหตุ มีอาการของสมองตายเช่นกัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล แม่ของผู้ป่วย ICU neuro ปลอบใจและให้กำลังใจแก่แม่ผู้ป่วย

 

เวลาเกือบ 14.00 น.  แม่บอกกับนักศึกษาว่าขอไปปรึกษาหลวงตาที่วัดก่อน เพื่อวางแผนว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี รวมถึงไปรับลูกสาวทั้งสองจากโรงเรียนก่อน แล้วค่อยกลับมาเยี่ยมอีกครั้งช่วงเย็น ระหว่างการพูดคุยแม่มีน้ำตาคลอบริเวณดวงตาทั้งสอง ไม่มีอาการสะอื้น นักศึกษาได้เสนอการทำบุญข้างเตียง เช่น การถวายสังฆทาน การบวชข้างเตียง ให้แม่ได้ปรึกษากับหลวงตาด้วย แม่บอกว่า เดี๋ยวตอนเย็นจะรับหลวงตามาด้วยและให้ผู้ป่วยถวายสังฆทาน ส่วนการบวชค่อยปรึกษาหลวงตาก่อน (ช่วงนี้แม่เริ่มสบตากับนักศึกษาบ้างแล้ว) นักศึกษาได้เสนอว่าถ้าต้องการให้ช่วยเหลืออะไรก็ให้บอกมา นักศึกษายินดีช่วยเสมอ แม้ไม่ใช่เวลาฝึกงานก็ตาม

 

                การเรียนรู้ที่เกิดขึ้น 

 

สัปดาห์ต้องขอบพระคุณอาจารย์ที่ทำให้รู้ว่า การสัมผัสนั้นหาใช่เพียงเพื่อการสัมผัสด้วยกายเท่านั้นไม่ แต่การสัมผัสนั้นเป็นถ่ายทอดพลังแห่งความรัก ความปรารถนาดี ลงไปกับการสัมผัสของเรา  การนวดที่เราเชื่อกันว่าเป็นการทำให้กายและใจผ่อนคลายได้ แต่นอกเหนือจากนั้นการนวดยังเป็นการแบ่งเบาความทุกข์ ถ่ายทอดความปรารถนาดี ได้ด้วย

หากพยาบาลทุกคนให้การพยาบาลโดยใช้ทั้งกาย จิต และจิตสังคมของตนกับผู้ป่วยที่ตนได้รับมอบหมายหรือรับไว้ในการดูแล และหากเราสามารถเข้าถึงจิตใจของเขาได้ ไม่ว่าเวลาใดเราก็สามารถให้การพยาบาลเขาได้เสมอ

 

บันทึกโดย สุพัตรา อุปนิสากร นักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่ 2

หมายเลขบันทึก: 336255เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2010 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทุกอย่างอยู่ในความทรงจำของหนูเสมอ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท