คุณวิจัย หัวใจของวาทกรรมจัดการความรู้ (2)


คนละด้านของเหรียญอันเดียวกัน

จิตวิญญาณแบบคุณวิจัยควรอยู่ในคุณต่าง ๆ(เพราะทุกคนเป็นนักเรียนที่ต้องการพัฒนาตนเองให้เข้าถึงซึ่งศักยภาพสูงสุดที่ตนมี และแปรเป็นภาคปฏิบัตินำออกมาใช้งานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นความสามารถ) แต่ตัวแสดงที่เป็นคุณวิจัยที่ไม่ได้แฝงฝังอยู่ในคุณต่าง ๆนั้นคือใคร? ทำอะไร และเพื่ออะไร?
ผมเห็นว่าสถาบันอุดมศึกษาในฐานะประภาคารทางปัญญาควรแสดงบทบาทดังกล่าว บทบาทสำคัญมี 3 ส่วนคือ1)ส่วนที่เกี่ยวกับระบบระดับมหภาค 2)ส่วนที่เป็นรายละเอียดระดับจุลภาคและ3)ส่วนที่ว่าด้วยเครื่องมือ"จัดการความรู้"

งานวิจัยจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน ใช้โมเดล ปลาตะเพียนว่ายน้ำ อธิบายบทบาท 3 ส่วนที่ว่า

ส่วนแรกคือลำธารที่ปลาตะเพียนอาศัยอยู่หมายถึงปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแหวกว่ายของปลาตะเพียน อาจเรียกว่าปัจจัยภายนอกที่คุณวิจัยเข้าไปสัมพันธ์เพื่อเข้าใจและสร้างการเปลี่ยนแปลง (เช่นที่กำลังสร้างวงเรียนรู้ระดับนโยบาย และวงเรียนรู้ในส่วนของหน่วยสนับสนุน)
ส่วนที่ 2 คือส่วนหางที่เป็นพลังแหวกว่ายสู่เป้าหมายของปลาตะเพียน เป็นความรู้ฝังลึกจากการปฏิบัติซึ่งคุณวิจัยเข้าไปเสริม สังเคราะห์หรือจัดระบบเพื่อการขยายผลด้วยความรู้ภาคทฤษฎี รวมทั้งการขัดเกลา ปรับเปลี่ยนความรู้เดิมของตนเองเป็นความรู้หรือทฤษฎีใหม่ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน อาจเรียกว่าปัจจัยภายใน

ส่วนที่ 3 คือภาคปฏิบัติการของการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมส่วนหางให้แข็งแรงขึ้น ด้วยการให้ปลาตะเพียนเรียนรู้การพัฒนาส่วนหางด้วยตนเอง ด้วยความเข้าใจในปัจจัยที่เข้ามากระทบจากภายนอก โดยคุณวิจัยทำหน้าที่ถอดกระบวนการจัดการเรียนรู้และความรู้ที่ได้ในภาพรวม

ทั้ง 3 ส่วนขับเคลื่อนผ่านการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นพลวัต เป็นเกลียวพลังสร้างทุนทางปัญญากับทุกภาคส่วน ที่เข้ามาทำงานร่วมกัน
การจัดการความรู้กับการวิจัยจึงเป็นคนละด้านของเหรียญอันเดียวกัน และเป็นเสมือนคำถามโลกแตกว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน?
การเรียนรู้ของคุณวิจัยก็ไม่ต่างจากนักเรียนคนอื่น ๆคือ ใช้ประเด็นสำคัญ 3 ส่วนดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองเพื่อให้เป็นคุณวิจัยที่มีคุณภาพ ผลงานที่เกิดขึ้นมาจากความสามารถ  ที่เพิ่มขึ้น ของคุณวิจัย เช่นเดียวกับคุณอื่น ๆ
โครงการนี้ใช้คุณวิจัยเป็นจุดเข้า(entry point)ในการเพิ่มทุนทางปัญญาของชุมชนและระบบสนับสนุน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการแก้ปัญหาความยากจนและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

หมายเลขบันทึก: 3361เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2005 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท