เมื่อพูดถึงหนังสือกฎหมายขัดกัน Conflict of law ที่นักศึกษากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลจะต้องอ่าน ทุกคนก็จะนึกถึงหนังสือคำอธิบายกฎหมายขัดกันของท่านอาจารย์ คนึง ฦๅไชย ซึ่งอาจารย์ท่านเริ่มเขียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 และนำมาตีพิมพ์ เป็นรูปเล่มโดยเนติบัณฑิตยสภา เมื่อปี พ.ศ. 2522 ซึ่งปัจจุบันก็ยังใช้เล่มเดิมนี้อยู่ เพราะเป็นหนังสือที่เขียนเข้าใจง่ายกว่าหนังสือกฎหมายขัดกันของท่านอื่น ๆ
คำถามที่อยู่ในใจตั้งแต่สมัยที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรีเมื่อ พ.ศ. 2542 คือ ทำไมอาจารย์ไม่พิมพ์เล่มใหม่ออกมาซักที ?? ตอนนั้นก็ได้คำตอบว่าอาจารย์คนึงไม่มีเวลาที่จะแก้ไขปรับปรุง และอาจารย์พันธุ์ทิพย์กำลังช่วยแก้ไขอยู่รออีกซักหน่อยนะ
หลังจากที่เราเข้ามาเรียนปริญญาโท และเป็นผู้ช่วยอาจารย์แหวว ก็ทราบว่า อาจารย์แหววไม่มีเวลาที่จะแก้ไขหนังสือ แต่ในใจก็อยากทำให้ท่าน ประกอบกับบรรดาลูกศิษย์ ปริญญาโท (โต๊ะการค้า) จบออกไปหลายคน อาจารย์แหววท่านเลยตั้งทีมขึ้นมาเพื่อปรับปรุงหนังสือคำอธิบายกฎหมายขัดกันขึ้นมาโดยประชุมทีมงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2549 และมี deadline ว่าต้องเสร็จให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1/2549 หัวหน้าทีมคือพี่วิทยา และคนอื่น ๆ พี่ปุ๋ม (ลักคณา) พี่หญิง(เบญญา) พี่อู๊ด(ศิริชัย) และพี่โก๋(อิทธิพล) แบ่งกันทำคนละบทเมื่อทำแต่ละบทเสร็จแล้ว อ.แหวว แนะนำว่า หนังสือเล่มนี้ควรจะมีคนอื่นนอกจากลูกศิษย์และหลานศิษย์ เข้ามาร่วมด้วย
ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดโครงการเสวนาจุดประกายความคิดเพื่อพัฒนากฎหมายขัดกันไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายขัดกัน พัฒนาการ และแนวคิดใหม่ ๆ เข้ามาทำเป็นเชิงอรรถของหนังสือเล่มนี้ในวันนั้นมีคนเจ้ามาร่วมงานมากกว่าที่คิด เพราะเป็นวันหยุด ส่วนผู้ที่ไม่มาก็ส่งความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือเข้ามาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้การเสวนาประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ละความคิดเห็นที่ได้รับทำให้หนังสือเล่มนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้นคือมีทั้งความคลาสสิก เพราะตกลงกันตั้งแต่แรกว่าจะไม่แตะต้องในส่วนที่ท่านเขียนเลย นอกจากปรับเลขมาตราให้ทันสมัย ทั้งนี้เพื่อรักษาแนวคิดและวิธีสอนของท่านไว้ให้คนรุ่นหลังได้สำผัส แต่ขณะเดียวกัน ก็ใส่พัฒนาการของกฎหมายขัดกันไว้ในเชิงอรรถ และภาคผนวก ทุกคนที่ทำงานนี้เพราะพวกเรารักและเคารพท่านอาจารย์คนึง และอยากให้หนังสือออกมาดีที่สุด