Jeh
นาย เจ๊ะเหล๊าะ ฮากิม แขกพงศ์

บุหรี่ ในมุมมองของปราชญ์มุสลิมร่วมสมัย


นักวิชาการมุสลิมร่วมสมัยมีความคิดเห็นว่าบุหรี่เป็นส่งต้องห้าม (หะรอม) โน้มเอียงไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น ผู้ที่มีความเห็นต่าง ก็เห็นพ้องที่จะให้ห้ามปรามและออกห่างจากบุหรี่

  ได้อ่านบันทึกของอาจารย์จารุวัจน์ และใครต่อใครอีกหลายคนอยู่หลายรอบ ไม่อยากเอาเปรียบ จึงเจียดเวลาบันทึกลงมาแลกเปลี่ยนด้วย คราวนี้ยังคงเป็นเรื่อง บุหรี่ เหมือนเดิมน่ะ แต่ในมุมมองของนักวิชาการร่วมสมัย (ขอแจงก่อนว่า ที่เขียนมาไม่ใช่เพราะรังเกียจหรืออคติกับบุหรี่หรือพี่น้องสิงห์อมควันหรอกน่ะครับ แต่เขียนมาเพราะรักทุกคน ด้วยใจจริง)     

 ทัศนะของนักวิชาการร่วมสมัยต่อกรณีการบริโภคยาสูบ 

ภายหลังจากที่มีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และการค้นพบสารพิษต่าง ๆ ในบุหรี่ ตลอดจนโทษภัยที่เกิดจากควันบุหรี่ในปัจจุบัน ส่งผลให้การชี้ขาดศาสนบัญญัติต่อกรณีการบริโภคยาสูบของนักวิชาการร่วมสมัยแตกต่างจากการชี้ขาดของนักวิชาการในยุคก่อนหน้า กล่าวคือส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีความเห็นว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) อย่างไรก็ตามยังมีนักวิชาการร่วมสมัยบางท่านเห็นว่าเป็นเพียงสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) และบางท่านยังเห็นว่าเป็นสิ่งอนุมัติ (มุบาฮฺ) กล่าวโดยรวมจึงยังมีลักษณะคล้ายคลึงกับความคิดเห็นของบรรดานักปราชญ์ในอดีต เพียงแต่ปัจจุบันนักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นโน้มเอียงไปด้านที่เห็นว่า บุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) เพิ่มมากขึ้น ดังนี้

          1 นักวิชาการร่วมสมัยที่มีความเห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม)  เช่น อิมาม มุฮัมมัด อิบนุ ญะอฺฟัร อัลกุตตานีย์ [الإمام محمد بن جعفر الكتاني] โดยอ้างหลักฐานและเหตุผลถึง 17 ประการไว้ในหนังสือของท่าน ชื่อ เอี๊ยะลานุ้ลหุจญะฮฺ วะอิกอมะตุ้ลบุรฮาน อะลา มันอิ มา อัมมะ วะฟะชา มินิสติอฺมาลิ อุชบะติดดุคอน”

 «إعلان الحجة وإقامة البرهان على منع ما عمَّ وفشا من استعمال عُشبة الدخان»  

            ชัยคฺ ญาดุลหัก อาลี ญาดุลหัก  [الشيخ جاد الحق علي جاد الحق][1] อดีตชัยคฺอัลอัซฮัร กล่าวว่า “ภายหลังจากข้าพเจ้าได้อ่านเอกสารทางการแพทย์หลายฉบับที่เปิดเผยถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ ภยันตรายต่าง ๆ ทั้งภัยต่อสุขภาพและต่อสังคม ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่ามันเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาดแน่นอน มุสลิมที่สูบบุหรี่จะต้องเลิกสูบ”

            ชัยคฺ อับดุลอะซีซ อิบนุ อับดุลลอฮฺ อิบนุบาซ [الشيخ عبد العزيز بن عبد الله بن باز][2] กล่าวว่า “สาเหตุที่ทำให้ยาสูบเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะด้านหนึ่งมันเป็นสิ่งที่ก่อภยันตราย และอีกด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความมึนเมา โดยพื้นฐานแล้วยาสูบจึงเป็นสิ่งที่ก่อภยันตรายอย่างกว้างขวาง...”

            ชัยคฺ มุฮัมมัด นาศิรุดดีน อัลอัลบานีย์ [الشيخ محمد ناصر الدين الألباني] [3]  ได้กล่าวตอบคำถามถึงกรณีที่บุหรี่หรือยาสูบเป็นสิ่งต้องห้ามโดยให้เหตุผลว่า “ยาสูบก่อภยันตรายต่อตัวผู้สูบเองและผู้อื่นในสังคม สมมุติท่านนั่งรถประจำทางหรือรถไฟ แล้วท่านไม่สูบบุหรี่ แต่ท่านก็ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ของคนข้างเคียง บางทีรถทั้งคันหรือทั้งห้องก็จะเต็มไปด้วยควันหรือกลิ่นบุหรี่ สร้างความเดือดร้อนให้กับทุกคนรอบข้าง ยาสูบอันน่ารังเกียจจึงกลายเป็นสิ่งที่หากจะให้พูดถึงรายละเอียดอาจต้องใช้เวลาเพื่อนำหลักฐานและเหตุผลต่าง ๆ มาประกอบยืนยันว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) โดยไม่แบ่งแยกระหว่างคนยากจนหรือมั่งมี...”[4] 

            ชัยคฺ อะฏียะห์ ศ็อกรฺ [الشيخ عطية صقر]   กล่าวว่า “การเสพบุหรี่จะโดยเหตุผลใดก็ตาม ทำให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ตามมามากมายไม่ช้าก็เร็ว ที่สำคัญ  เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ทั้งยังเป็นการใช้จ่ายทรัพย์สินไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร จึงเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ทั้งในทางศาสนาและในทางสติปัญญา…”[5]

            ชัยคฺ มุฮัมมัด อัฏฏอยยิบ อัลนัจญาร [ الشيخ الدكتور محمد الطيب النجار]  มีความเห็นว่า “บุหรี่” เป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม) เนื่องจากอัลลอฮฺ ตรัสว่า[...وَيُحِلُّ لَهُمُ الطَّيِّبَاتِ وَيُحَرِّمُ عَلَيْهِمُ الْخَبَائِثَ... الآية]  ความว่า “และจะอนุมัติให้แก่พวกเขาซึ่งสิ่งดี ๆ ทั้งหลาย และจะให้เป็นที่ต้องห้ามสำหรับพวกเขาซึ่งสิ่งเลวทั้งหลาย” (บทอัลอะอฺรอฟ อายะห์ที่ 157) ประกอบกับความเห็นพ้องของบรรดานักการแพทย์ว่าบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อัลลอฮฺตรัสว่า     [...وَلَا تُلْقُوا بِأَيْدِيكُمْ إِلَى التَّهْلُكَة...]   ความว่า  “และจงอย่าโยนตัวของพวกเจ้าสู่ความพินาศ”    (บทอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะห์ที่ 195) และแท้จริงอัลลอฮฺ ทรงห้ามการ การสุรุ่ยสุร่ายหรือฟุ่มเฟือย [التبذير] หมายถึงการใช้จ่ายไปในหนทางที่ไม่สมควรคือไม่ก่อเกิดประโยชน์ พระองค์ตรัสว่า   [إِنَّ الْمُبَذِّرِينَ كَانُوا إِخْوَانَ الشَّيَاطِينِ] ۖ  ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้สุรุ่ยสุร่ายนั้นเป็นพวกพ้องของเหล่าชัยฏอน” (อัลอิสรออฺ : 27)

            ชัยคฺ อับดุลญะลีล ชะละบีย์  [الشيخ عبد الجليل شلبي] กล่าวว่า “ศาสนบัญญัติอิสลามเกี่ยวกับบุหรี่ที่น่าจะถูกต้องที่สุด คือ การสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ทั้งนี้ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นสิ่งน่ารังเกียจ [الخبائث] เพราะมีรสขม มีกลิ่นเหม็น ก่อภัยร้ายแรง สุดท้ายคือความหายนะ จึงเป็นสิ่งต้องห้าม”[6]

            ชัยคฺ มุศฏอฟา มุฮัมมัด อัลหะดีดีย์ อัฏฏอยรฺ  [الشيخ مصطفى محمد الحديدي الطير]  กล่าวว่า “โดยเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการสูบบุหรี่ และการเสพสิ่งเสพติดทั้งหลาย เป็นอันตรายต่อชีวิต สติปัญญา และทรัพย์สิน ซึ่งอาจนำไปสู่ความตายได้ หากหยุดหรือลดปริมาณการใช้ จึงต้องถือเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด และต้องกำหนดโทษแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้นำเข้า ผู้ให้ ผู้ขาย และผู้เสพ หนักเบาตามปริมาณมากน้อยของการเข้าไปเกี่ยวข้อง” [7]

            ชัยคฺ อุษัยมีน [الشيخ ابن عثيمين]   มีความเห็นว่า : การสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม) ตลอดจนการซื้อขาย การให้เช่าร้านค้าเพื่อขายบุหรี่ก็ต้องห้ามเช่นเดียวกัน เพราะเป็นการส่งเสริมในสิ่งที่เป็นความชั่ว หลักฐานที่บ่งชี้ว่าบุหรี่ต้องห้าม เช่น โองการอัลกุรอานที่ว่า     [وَلَا تُؤْتُوا السُّفَهَاءَ أَمْوَالَكُمُ الَّتِي جَعَلَ اللَّهُ لَكُمْ قِيَامًا]   ความว่า “และจงอย่าให้แก่บรรดาผู้ที่โง่เขลา ซึ่งทรัพย์(ที่อยู่ในการครอบครอง)ของพวกเจ้า ซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงให้เป็นสิ่งค้ำจุนแก่พวกเจ้า” (ซูเราะห์อัลนิซาอฺ อายะห์ที่ 5) ในโองการนี้อัลลอฮฺ ทรงห้ามมิให้มอบทรัพย์สินให้แก่ผู้โง่เขลาหรือสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ เพราะเขาจะนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ อัลลอฮฺทรงแจ้งว่าทรัพย์สินทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งค้ำจุนมวลมนุษย์ เพื่อประโยชน์ทั้งในกิจการทางศาสนาและกิจการทางโลก การนำไปใช้ในการสูบบุหรี่มิใช่หนทางที่จะก่อประโยชน์ไม่ว่าทางโลกหรือทางศาสนา จึงเป็นการใช้จ่ายในลักษณะที่ฝ่าฝืนเจตนารมณ์แห่งพระเจ้า” [8]  

            ชัยคฺ อับดุลเญาวาด อัลอาชิก [الشيخ عبد الجواد العاشق] กล่าวถึงความเป็นมาและโทษภัยของบุหรี่ที่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ค้นพบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การอนามัยโลก จนเป็นที่ทราบและยอมรับอย่างแพร่หลายในปัจจุบันว่า ควันบุหรี่ประกอบด้วยสารพิษมากมาย และเป็นสาเหตุของโรคร้ายต่าง ๆ เช่น มะเร็ง และได้นำทัศนะความเห็นของนักปราชญ์มุสลิมในสมัยอดีตจากมัซฮับต่าง ๆ หลายท่านที่มีความเห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งต้องห้าม เช่น ชัยคฺ อัลนัจม์ อัลเฆาะซีย์  [الشيخ النجم الغزي] ชัยคฺ อัลกอลยูบีย์ [الشيخ القليوبي] ชัยคฺ อัลบุญัยรีมีย์  [الشيخ اليجيرمي]  และท่านอื่น ๆ ซึ่งในสมัยนั้นภยันตรายยังไม่เป็นที่ประจักษ์ ดังนั้นในปัจจุบันจึงไม่ต้องสงสัยว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด (หะรอม)[9]            

ชัยคฺ มะหฺมูด ชันตูต อดีตชัยคฺอัลอัซฮัร [الشيخ محمود شلتوت] กล่าวว่า “หากแม้นว่ายาสูบไม่ทำให้เกิดความมึนเมา ไม่ทำให้เสียสติสัมปะชัญญะ แต่มันก็ส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายซึ่งผู้สูบหรือผู้ไม่สูบสามารถสัมผัสได้ กอปรกับนักการแพทย์ได้ศึกษาวิเคราะห์วิจัยถึงองค์ประกอบและประจักษ์ถึงสารพิษที่ทำลายสุขภาพของมนุษย์ จึงไม่ต้องสงสัยว่ามันเป็นโทษและเป็นภัย และโทษภัยคือสิ่งน่ารังเกียจที่ต้องห้ามในอิสลาม

เมื่อมองในแง่ของทรัพย์สินที่เขาได้ใช้จ่ายเพื่อการบริโภคยาสูบแล้ว ก็จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินที่ผู้สูบยังมีความต้องการอยู่ หรือหากเขาได้นำไปใช้จ่ายอย่างอื่นก็จะเกิดประโยชน์และเป็นผลดีมากกว่า ดังนั้นการมองในแง่นี้ ก็จะเห็นว่าเป็นการใช้จ่ายทรัพย์สินไปในทางที่ต้องห้ามหรือไม่อนุมัติอีกเช่นเดียวกัน

            ด้วยข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับผลร้ายของยาสูบทั้งต่อสุขภาพและต่อทรัพย์สินเช่นนี้ ทำให้เรารู้ได้ว่ายาสูบเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และไม่พึงประสงค์ในอิสลาม การที่จะตัดสิน(หุกมฺ)สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม)หรือน่ารังเกียจ(มักรูฮฺ) นั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีหลักฐานตัวบทเฉพาะเสมอไป บางทีหลักศาสนบัญญัติ หรือกฎศาสนบัญญัติทั่วไปก็สามารถนำมาอนุมานเพื่อทราบถึงหุกมฺสำหรับกรณีดังกล่าวนั้นได้ โดยอาศัยหลักแห่งเหตุผลเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์เปรียบเทียบ และด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้อิสลามจึงมีความครบถ้วนสมบูรณ์ในการกำหนดหุกมฺหรือศาสนบัญญัติในทุก ๆ กรณีที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ในการหุกมฺจะต้องทราบถึงสาระสำคัญและผลกระทบของสิ่งดังกล่าวอย่างแน่ชัดเสียก่อน หากทราบแน่ว่าเป็นสิ่งที่ก่อภยันตราย สิ่งนั้นก็ถือเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม หรือถ้าหากเป็นสิ่งที่มีแต่จะสร้างคุณประโยชน์หรือให้คุณมากกว่าโทษ ก็จะถือเป็นสิ่งอนุมัติ และถ้าหากเท่าเทียมกันระหว่างการให้คุณและโทษ เช่นนี้การป้องกันไว้ก่อนย่อมประเสริฐกว่าการติดตามแก้ไขในภายหลัง”[10]  

ดร. นัศรฺ ฟะรีด มุฮัมมัด วาศิล [الدكتور نصر فريد محمد واصل]  กล่าวว่า : “การสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่ต้องห้ามเด็ดขาด (หะรอม) ในหลักศาสนบัญญัติอิสลาม เพราะเป็นสิ่งอันตรายร้ายแรง ดังนั้น มุสลิมที่สูบบุหรี่จึงต้องเลิกสูบ ตลอดจนการขายบุหรี่ การผลิตบุหรี่ และปลูกยาสูบล้วนเป็นสิ่งต้อง ห้าม จำเป็นจะต้องเปลี่ยนไปเพาะปลูกหรือผลิตสิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ แบบค่อยเป็นค่อยไปเท่าที่สามารถ แต่ต้องตระหนักว่าการเกี่ยวข้องกับบุหรี่นั้นเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาด แม้จะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่ในสุดท้ายต้องมีเป้าหมายที่จะขจัดออกไปให้หมดสิ้น[11]

ดร. ยุซุฟ อัลกอรอฎอวีย์ [الدكتور يوسف القرضاوي]  กล่าวว่า : “เราขอยืนยันที่จะให้คำวินิจฉัยว่า บุหรี่เป็นสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) ในหลักศาสนบัญญัติอิสลาม เพราะบุหรี่คือสิ่งอันตรายทั้งต่อสุขภาพ ทรัพย์สมบัติ และอารมณ์ สิ่งใดก็ตามที่เป็นอันตรายต่อร่างกายสิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งต้องห้ามในทัศนะของอิสลาม” ดังปรากฏหลักฐานมากมายทั้งจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ เช่น

            อัลลอฮฺ ตรัสว่า     [...وَلَا تُلْقُوا بِأَيْدِيكُمْ إِلَى التَّهْلُكَة...]   ความว่า  “และพวกเจ้าจงอย่าโยนตัวของพวกเจ้าสู่ความพินาศ”  (บทอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะห์ที่ 195)

อัลลอฮฺตรัสว่า [وَلَا تَقْتُلُوا أَنْفُسَكُمْ ۚ إِنَّ اللَّهَ كَانَ بِكُمْ رَحِيمًا] ความว่า "และพวกท่านอย่าทำลายตัวของพวกเจ้าเอง เพราะอัลลอฮฺทรงปรานีพวกเจ้าเสมอ”    (ซูเราะห์อัลนิซาอฺ อายะห์ที่ 29)  

 [وَلَا تُسْرِفُوا ۚ إِنَّهُ لَا يُحِبُّ الْمُسْرِفِينَ]                        อัลลอฮฺ  ตรัสว่า

ความว่า “เจ้าอย่าได้สุรุ่ยสุร่าย แท้จริงอัลลอฮฺทรงไม่รักผู้สุรุ่ยสุร่าย” (อัลกุราอน 6 : 141)

อัลลอฮฺ  ตรัสว่า

 [...وَلَا تُبَذِّرْ تَبْذِيرًا  إِنَّ الْمُبَذِّرِينَ كَانُوا إِخْوَانَ الشَّيَاطِينِ ۖ وَكَانَ الشَّيْطَانُ لِرَبِّهِ كَفُورًا]

             ความว่า “และพวกเจ้าจงอย่าสุรุ่ยสุร่าย เพราะแท้จริงบรรดาผู้สุรุ่ยสุร่ายนั้นเป็นพวกพ้องของเหล่าชัยฏอน และชัยฏอนนั้นเนรคุณต่อพระเจ้าของมัน”  (อัลอิสรอฮฺ : 27)

 

            ชัยคฺ มุฮัมมัด อิบนุ อิบรอฮีม [الشيخ محمد بن إبراهيم]  กล่าวว่า บรรดานักวิชาการ ผู้อาวุโส ผู้เผยแผ่ศาสนธรรมอิสลามแห่งเมืองนัจดียะห์ และเมืองอื่น ๆ มีความเห็นสอดคล้องกันว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม) เป็นเวลานานมาแล้วกระทั่งถึงยุคสมัยของเราก็มีความเห็นตรงกันเหมือนเดิมเพราะไม่เป็นที่สงสัยถึงความน่ารังเกียจของมัน กลิ่นของมัน ภยันตราย การทำให้มึนซึม อันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ จึงต้องห้ามทั้งหลักฐานอัลกุรอาน ซุนนะฮฺ และเหตุผลทางสติปัญญา รวมถึงความเห็นของแพทย์ที่เชื่อถือได้[12]  

            ชัยคฺ อับดุรเราะฮฺมาน นาศิร อัสสะอฺดีย์ [عبد الرحمن ناصر السعدي]  กล่าวว่า การสูบบุหรี่ การค้าบุหรี่ หรือการมีส่วนสนับสนุนส่งเสริมเพื่อการดังกล่าวเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ไม่อนุญาตให้มุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้อง สำหรับผู้ที่เคยเกี่ยวข้องไม่ว่าด้วยการสูบ การค้า หรือสนับสนุนส่งเสริม จะต้องเตาบะฮฺต่ออัลลอฮฺ I คือเลิกและไม่หวนกลับไปกระทำเช่นนั้นอีก เช่นเดียวกับการเลิกจากการกระทำชั่วอื่น ๆ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามภายใต้หลักฐานตัวบทที่กล่าวไว้โดยกว้าง ๆ อยู่ภายใต้ถ้อยคำที่มีความหมายรวม เพราะมันเป็นภยันตรายทั้งในด้านศาสนา ด้านร่างกาย และด้านทรัพย์สิน ซึ่งหากเพียงด้านหนึ่งด้านใดก็เพียงพอที่จะถือเป็นสิ่งต้องห้าม แต่สำหรับบุหรี่เข้าไปอยู่ภายใต้หลักฐานต้องห้ามต่าง ๆ มากมาย[13]

            ดร. อะห์มัด อุมัร ฮาชิม [الدكتور أحمد عمر هاشم]  กล่าวว่า : “ด้วยประการทั้งปวง เรามีความเห็นว่า การสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) และจำเป็น(วายิบ)เหนือมุสลิมทุกคนที่จะร่วมกันต่อต้านพฤติกรรมการทำลายและมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหาย เช่นนี้”[14]

            นอกจากคำวินิจฉัยชี้ขาดของบรรดานักวิชาการแต่ละท่านแล้ว ยังมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของสำนักฟัตวาต่าง ๆ ในโลกมุสลิม ตลอดจนสำนักจุฬาราชมนตรีในประเทศไทย ได้อธิบายคำตอบไปในทิศทางเดียวกัน คือ บุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด “หะรอม” เช่น

            คณะกรรมการฟัตวาแห่งอัลอัซฮัร อัชชะรีฟ   [لجنة الفتوى بالأزهر الشريف] มีมติว่า “การสูบบุหรี่ เป็นที่ประจักษ์แน่ชัดจากผู้เชี่ยวชาญและองค์การอนามัยโลกว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุของการเป็นโรคมะเร็งปอด และหลอดลม ทั้งส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินเพราะเป็นการใช้จ่ายที่ไม่ก่อประโยชน์ใด ๆ  การสูบบุหรี่จึงเป็นพฤติกรรมชั่วที่ต้องห้าม(หะรอม)”[15]

            สำนักฟัตวาแห่งอียิปต์ [ دار الإفتاء المصرية] อธิบายว่า “ปัจจุบันข้อมูลทางวิชาการยืนยันชัดเจนถึงภยันตรายของการใช้ยาสูบที่มีต่อชีวิตและทรัพย์สินจึงเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด เพราะอิสลามมุ่งพิทักษ์รักษาสิ่งทั้งสอง อัลลอฮฺตรัสว่า [وَلَا تَقْتُلُوا أَنْفُسَكُمْ ۚ إِنَّ اللَّهَ كَانَ بِكُمْ رَحِيمًا] ความว่า "และจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง แท้จริงอัลลอฮฺทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ”    (ซูเราะห์อัลนิซาอฺ อายะห์ที่ 29)   และอัลลอฮฺตรัสว่า      [...وَلَا تُلْقُوا بِأَيْدِيكُمْ إِلَى التَّهْلُكَة...]  ความว่า “และจงอย่าโยนตัวของพวกเจ้าสู่ความพินาศ”  (บทอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะห์ที่ 195)[16]

            คณะกรรมการถาวรเพื่อการศึกษาวิจัยและฟัตวาแห่งประเทศซาอุดิอารเบีย  [اللجنة الدائمة للبحوث العلمية والإفتاء بالمملكة العربية السعودية]  ชี้ขาดว่า การบริโภคยาสูบต้องห้ามเด็ดขาด(หะรอม) การปลูกยาสูบต้องห้ามเด็ดขาด และการค้ายาสูบก็ต้องห้ามเด็ดขาด เนื่องจากมีภยันตราย ซึ่งต้องห้ามตามนัยแห่งหะดีษของท่านนบี ที่ว่า  [لا ضرر ولا ضرار] ความว่า "ไม่มีการก่อความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น[17] และเนื่องจากเป็นสิ่งเลวหรือน่ารังเกียจ  [الخبائث] ตามนัยแห่งอัลกุรอานที่ว่า [...وَيُحِلُّ لَهُمُ الطَّيِّبَاتِ وَيُحَرِّمُ عَلَيْهِمُ الْخَبَائِثَ... الآية]  ความว่า “และจะอนุมัติให้แก่พวกเขาซึ่งสิ่งดี ๆ ทั้งหลาย และจะให้เป็นที่ต้องห้ามสำหรับพวกเขาซึ่งสิ่งเลวทั้งหลาย”[18] (บทอัลอะอฺรอฟ อายะห์ที่ 157) 

สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกคำวินิจฉัยทางศาสนา (ฟัตวา) ที่ 02/2549
เรื่อง บุหรี่ โดยระบุว่า “หลักการหนึ่งที่ศาสนาอิสลามให้การยอมรับคือ ไม่อนุญาติให้มุสลิมรับประทาน หรือ ดื่มและเสพสิ่งใด ๆ ที่จะทำให้เสียชีวิตโดยเร็วหรือช้าก็ตาม เช่น ยาพิษทุกชนิด และสิ่งที่ให้โทษหรือที่จะทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น โดยอาศัยหลักฐานจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานที่ว่า

[وَلَا تَقْتُلُوا أَنْفُسَكُمْ ۚ إِنَّ اللَّهَ كَانَ بِكُمْ رَحِيمًا]

ความว่า "และท่านทั้งหลายอย่าทำลายชีวิตตนเอง เพราะอัลลอฮฺทรงปราณีพวกท่าน”    (ซูเราะห์อัลนิซาอฺ อายะห์ที่ 29)   

อัลลอฮฺตรัสว่า      [...وَلَا تُلْقُوا بِأَيْدِيكُمْ إِلَى التَّهْلُكَة...]   ความว่า  “และจงอย่าโยนตัวของพวกเจ้าสู่ความพินาศ”    (บทอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะห์ที่ 195)

                        ประกอบกับหลักฐานจากอัลหะดีษที่ว่า  [لا ضرر و لا ضرار]   ความว่า " จะต้องไม่ทำความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น "

                        ดังนั้น อาศัยหลักการดังกล่าวเราถือว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) เพราะเป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่า การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อผู้สูบและบุคคลใกล้ชิด ประกาศ ณ วันที่ 6 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2549 ตรงกับปฏิทินอิสลามวันที่ 6 เดือน ซอฟัร ฮ.ศ. 1427 [19]

 

2. นักวิชาการร่วมสมัยที่มีความเห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งอนุมัติ (อัลมุบาหฺ)  เช่น ท่านอายาตุ้ลลอฮฺ อัลอุซมา อัลคูอีย์  [آيات الله العظمى أبو القاسم الخوئي] เป้นนักวิชาการที่ได้รับความนับถือของชาวชีอะฮฺอิมามียะฮฺ โดยท่านได้ตอบข้อคำถามเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ที่ว่าเมื่อแหล่งข้อมูลทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ ยืนยันว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ มากมาย เช่น มะเร็งปอด หลอดลม และสมอง เช่นนี้จำเป็นหรือไม่ที่จะชี้ขาดว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด(หะรอม) ในปัจจุบันทั้งนี้ไม่ว่ากรณีเริ่มสูบใหม่ครั้งแรกและการสูบครั้งถัดต่อไป ท่านคูอี้ย์ตอบว่า หากมีอันตรายที่ก่อผลร้ายได้ด้วยเพียงตัวมันเองจริงบุหรี่ก็เป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด ทั้งกรณีเริ่มต้นสูบและการสูบครั้งต่อไป แต่ตามที่ปรากฏนั้นเห็นควรว่ายังไม่ถึงขั้นก่ออันตรายร้ายแรงได้ด้วยสารพิษที่มีอยู่ในตัวของมันเอง[20]         

ชัยคฺ หะสะนัยน์ มุฮัมมัด มัคลูฟ อดีตมุฟตีย์แห่งอียิปต์ กล่าวว่า “การบริโภคยาสูบ ตลอดจนการเพาะปลูก และการค้ายาสูบเป็นสิ่งอนุมัติ (มุบาหฺ) ยกเว้นในกรณีที่มีเหตุแทรกซ้อนผันแปรที่ทำให้หุกมฺเปลี่ยนแปลงไป กรณีเช่นว่านี้อาจทำให้การบริโภคยาสูบกลายเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) หรือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ)ได้ เช่น กรณีเกิดภยันตรายต่อชีวิต หรือต่อทรัพย์สิน หรือส่งผลกระทบต่อการอุปการะเลี้ยงดูครอบครัว และผู้อยู่ภายใต้การปกครอง ในกรณีนี้ การสูบบุหรี่ก็จะกลายเป็นสิ่งต้องห้าม หรือเป็นสิ่งน่ารังเกียจได้แล้วแต่กรณี อยู่ที่ความรุนแรงมากน้อยของผลกระทบ แต่หากไม่มีผลกระทบหรือผลร้ายใด ๆ การบริโภคยาสูบก็ยังคงเป็นสิ่งอนุมัติ เพราะไม่มีหลักฐานตัวบทดังคำธิบายของอิบนุอาบิดีน และนักปราชญ์อีกหลายท่าน[21] (ในสมัยอดีต) 

 

3. นักวิชาการร่วมสมัยที่มีความเห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งน่ารังเกียจ(มักรูหฺ)

นักวิชาการร่วมสมัยที่มีความเห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งน่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) อาทิ ชัยคฺ หะสะนัยน์ มุฮัมมัด มัคลูฟ อดีตมุฟตีย์แห่งอียิปต์ โดยเฉพาะในกรณีที่ที่มีเหตุแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ต่อทรัพย์สิน หรือต่อการอุปการะเลี้ยงดูครอบครัวและผู้อยู่ภายใต้อุปการะเลี้ยงดู ไม่รุนแรงนัก การสูบบุหรี่ก็จะเป็นสิ่งน่ารังเกียจ” [22] กล่าวคือเป็นการน่ารังเกียจเฉพาะรายหรือกรณีที่ตกอยู่ในสภาพดังกล่าวเท่านั้น

ชัยคฺ หาซิม นายิฟ อะบู ฆอซาละฮฺ [الشيخ حازم نايف ابو غزالة]  ผู้อำนวยการดารุ้ลกุรอานอัลกะรีม แห่งจอร์แดน มีความเห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นเพียงสิ่งน่ารังเกียจ (มักรูฮฺ)เนื่องจากไม่ตัวบทอัลกุรอานหรือซุนนะฮฺบัญญัติไว้โดยตรง ส่วนโองการอัลกุรอานที่ว่า [...وَيُحَرِّمُ عَلَيْهِمُ الْخَبَائِثَ... الآية]  ความว่า “และจะให้เป็นที่ต้องห้ามสำหรับพวกเขาซึ่งสิ่งเลวทั้งหลาย” คำว่า “อัลเคาะบาอิษ” (สิ่งเลว)  เป็นคำที่มีความหมายกว้าง มิได้บ่งชี้ถึงการสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ แต่จะชี้ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องห้ามดังปรากฏในตัวบทที่ชัดเจน เช่น การดื่มสุราหรือสิ่งมึนเมา การเล่นการพนัน การผิดประเวณี การกินดอกเบี้ย และอื่น ๆ เราจึงไม่อาจตัดสินได้ว่าการบริโภคยาสูบหรือสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) เพียงแต่เราขอเตือนพี่น้องผู้เสพติดบุหรี่ทั้งหลายให้เลิกบุหรี่และให้ออกห่างไกลจากยาสูบ เพราะมันก่อให้เกิดผลเสียหายและภัยอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง[23]

 

4. นักวิชาการร่วมสมัยบางท่านเห็นว่าการบริโภคยาสูบไม่เป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม) หรือน่ารังเกียจ(มักรูฮฺ) แต่เป็นสิ่งชั่วร้าย (มุงกัร)

อะหมัด ศุบฮิ มันศูร [ أحمد صبحي منصور] มีความเห็นที่แตกต่างจากบรรดานักวิชาการที่กล่าวมาข้างต้น โดยเห็นว่าการกำหนดศาสนบัญญัติอิสลามหรือหุกมฺต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นเอกสิทธิ์แห่งอัลลอฮฺ I เท่านั้น มนุษย์ไม่มีสิทธิ์ที่จะกำหนดหรือแม้แต่ใช้ความคิดเห็นว่าสิ่งใดเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด (หะรอม) เป็นสิ่งต้องห้ามไม่เด็ดขาด (มักรูฮฺ) หรือสิ่งใดเป็นสิ่งอนุมัติ(มุบาหฺ) ตราบเท่าที่ยังไม่มีตัวบทระบุไว้โดยเฉพาะ แม้ว่ามนุษย์จะได้รับอนุญาตให้กระทำในส่วนที่เกี่ยวกับศาสบัญญัติบ้าง เช่น การอนุญาตให้ถือปฏิบัติตามหลักจารีตประเพณีอันดีงาม [العرف]  การให้รณรงค์กระทำในสิ่งที่เป็นความดี [المعروف] และยับยั้งสิ่งที่เป็นความชั่ว [المنكر] ซึ่งทั้งสิ่งที่ดี และชั่ว ตลอดจนจารีตประเพณีนั้นอยู่ในขอบข่ายที่มนุษย์ต่างเห็นพ้องต้องกัน และศาสนบัญญัติส่วนหนึ่งก็ได้ถูกกำหนดไปตามนั้น แต่ดังกล่าวนี้มิได้เลยเถิดไปถึงการอนุญาตให้มนุษย์กำหนดสิ่งใดเป็นสิ่งต้องห้าม หรือสิ่งใดเป็นสิ่งอนุมัติด้วยลำพังความคิดเห็นของมนุษย์เอง มนุษย์จึงต้องจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอยู่ในขอบเขต “ความดี” และ “ความชั่ว” เท่านั้น ส่วนจะเป็นสิ่งต้องห้าม [الحرام] หรืออนุมัติ [المباح] นั้น เป็นเอกสิทธิ์แห่งอัลลอฮฺ I

อย่างไรก็ตาม ท่านอะหมัด ศุบฮิ มันศูร มีความเห็นว่า  “เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องตรากฎหมายห้ามปรามเรื่องบุหรี่ โดยเพียงถือว่าเป็นสิ่งชั่วช้าที่น่ารังเกียจ [المنكر] มิใช่ถือเป็นสิ่งต้องห้าม [الحرام]  และในขณะเดียวกันกฎหมายต้องวางอยู่บนรากฐานของความเป็นกลางและความยุติธรรม เพื่อป้องกันภยันตรายและสร้างประโยชน์สุขแก่สังคมส่วนรวม ทั้งจะต้องไม่ลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล” [24]

 


[1] ดู http://web.macam.ac.il/~tawfieq/smoking.htm   (18 กรกฎาคม 2552).

[2] อิบนุ อับดุลลอฮฺ อิบนุบาซ. مجموع فتاوى ومقالات متنوعة   เล่ม 6 หน้า 30 (ออนไลน์) สืบค้นได้จาก http://www.binbaz.org.sa/books/list (18 กรกฎาคม 2552).

[3] ดู http://audio.islamweb.net/audio/index.php?page=FullContent&audioid=109270 (18 กรกฎาคม 2552)”

[4] ดู http://www.almenhaj.net/makal.php?linkid=1742 (18 กรกฎาคม 2552).

[5] ชัยคฺ อะฏียะห์ ศ็อกรฺ.  สืบค้นได้จาก http://www.islamset.com/arabic/ahip/adict/smoking.html (18 กรกฎาคม 2552).

[6] ชัยคฺ อับดุลญะลีล ชะละบีย์.  สืบค้นได้จาก http://www.islamset.com/arabic/ahip/adict/smoking.html (18 กรกฎาคม 2552).

[7] ชัยคฺ มุศฏอฟา มุฮัมมัด อัลหะดีดีย์ อัฏฏอยรฺ.  สืบค้นได้จาก http://www.islamset.com/arabic/ahip/adict/smoking.html   (18 กรกฎาคม 2552).

[8] กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม. ولا تقتلوا أنفسكم   หน้า 29-31. ประเทศกาตาร์ : อิดาเราะตุดดะวะฮฺ  2006.  ดู

    http://www.ibnothaimeen.com/all/noor/article_7804.shtml .  (19 กรกฎาคม 2552).

[9] ดู http://www.alkeltawia.com/vb/showpost.php?p=1489&postcount=1 (18 กรกฎาคม 2552).

[10] ชัยคฺ มะหฺมูด ชัลตูต. فتاوى شرعية.  หน้า 354. อ้างโดย อัลกอรอฎอวีย์ ยูซุฟ.فتاوى معاصرة  . เล่ม 1 หน้า 661. พิมพ์ครั้งที่ 7.

[11] http://www.islamonline.net/iol-arabic/dowalia/alhadath2000-may-18/alhadath3.asp.

[12] ชัยคฺ มุฮัมมัด อิบนุ อิบรอฮีม. فتوى في حكم شرب الدخان  . หน้า 1-15. กรุงริยาฎ : มักตะบะฮฺอัลมะอาริฟ. 1985.

[13] ชัยคฺ อับดุรเราะห์มาน นาศิร อัสสะอฺดีย์ .فتوى في حكم شرب الدخان .  หน้า 24-31  กรุงริยาฎ .มักตะบะฮฺอัลมะอาริฟ. 1985.

[14] อะห์มัด อุมัร ฮาชิม.  الحكم الشرعي في التدخين  (ออนไลน์) สืบค้นได้จาก http://www.islamset.com/arabic/ahip/adict /smoking2.html (10 กรกฎาคม 2552).

[15] ดู หนังสือพิมพ์ الجمهورية  . ฉบับวันที่  22 เมษายน ค.ศ. 1979.   สืบค้นได้จากhttp://www.gulfson.cm,jkkkkkkiiiiom /vb/f19/t91128/ (18 กรกฎาคม 2552).

[16] ดู  http://www.nosmoke.20m.com/r6/2.htm.

[17] บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ

[18] http://www.new7ob.com/smoking/5.php.

[19] ดู http://www.timawing.org/forum/index.php?topic=101.0.

[20] ดู http://www.al-khoei.us/fatawa1/index.php?id=385. (ออนไลน์) (21 กรกฎาคม 2552).

[21] หะสะนัยนฺ มุฮัมมัด มัคลูฟ. .فتاوى شرعية وبحوث إسلامية   เล่ม 2. หน้า 112-113. กรุงไคโร : ดารุ้ลกิตาบอัลอะรอบีย์,  1951.

[22] หะสะนัยนฺ มุฮัมมัด มัคลูฟ. .فتاوى شرعية وبحوث إسلامية   เล่ม 2. หน้า 112-113. กรุงไคโร : ดารุ้ลกิตาบอัลอะรอบีย์,  1951.

[23] ชัยคฺ หาซิม นายิฟ อะบู ฆอซาละฮฺ. (ออนไลน์)  http://www.addustour.com/ViewTopic.aspx?ac=%5COpinionAndNotes%5C2008%5C01%5 CopinionAndNotes_issue107_day25_id20772.htm    (13 พฤษภาคม 2552).

[24] ดู http://www.ssrcaw.org/ar/show.art.asp?aid=151595. (ออนไลน์) (7 เมษายน  2552).

หมายเลขบันทึก: 334672เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2010 07:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ข้อมูลชัดเจนมากครับ ขึ้นอยู่กับว่าใครอ่านแล้วเข้าใจตรงประเด็นหรือปล่าว หรือว่าพยายามหานักวิชาการที่บอกว่า แค่มักโระห์ (ไหม) ถ้าจะให้ดี อาจารย์น่าจะใช้นามจริงที่ชัดเจนกว่า เพราะถ้ามีผู้สนใจจะคัดข้อมูล การอ้างอิงจะยอมรับมากกว่าครับ แต่ถึงอย่างที่มาที่อาจารย์บอกก็หลายแหล่งพอสมควร

ขอบคุณครับอาจารย์ เขียนบทความดีๆ ให้อ่านเป็นประจำ

อ่านบทความอาจารย์แล้ว รู้สึกว่า นี้ก็เป็นเครื่องยืนยันคำพูดที่ว่า ความเห็นที่แตกต่างกันเป็นเราะมัดหนึ่ง สำหรับคนที่สุดๆ แล้วก็ยังพอมีแนวคิดที่พอจะอลุ่มอล่วยให้ได้ ทั้งนี้ดูได้จากความเห็นที่แตกต่างกันนี้มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่แน่นอนครับว่าทางที่ดีที่สุด คือ การที่บอกว่าหะรอม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท