ในวงการแพทย ์นำมาใช้ ทำยาต้านไวรัส HIV 1 Protease และยาต้านเชื้อแบคทีเรีย
นาโนเทคโนโลยี ถูกนิยามว่าเป็นวิทยาการประยุกต์แขนงใหม่ว่าด้วยเรื่องเทคโนโลยีในการประกอบและผลิตสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาจากการจัดเรียงอะตอมเข้าด้วยกันอย่างแม่นยำและถูกต้องในระดับ นาโนเมตร หรือขนาด 1 ใน 1,000 ล้านเมตร นาโนเทคโนโลยีดูเหมือนจะเป็นคำค่อนข้างใหม่ แต่จริง ๆ แล้วมีผู้มองเห็นความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีนี้มากว่า 40 ปีที่แล้ว โดย Richard Philip Feynman เป็นผู้เปิดศักราชของนาโนเทคโนโลยีในปี ค.ศ.1959 ซึ่งพูดถึงเทคโนโลยีในอนาคตไว้ดังนี้ "สักวันหนึ่งเราจะสามารถประกอบและผลิตสิ่งต่าง ๆขึ้นมาจากการจัดเรียงอะตอมด้วยความแม่นยำ และที่ข้าพเจ้าไม่มีกฎทางฟิสิกส์ใด ๆ แม้แต่หลักแห่งความไม่แน่นอนที่มาขัดขวางความเป็นไปได้" เขาได้รับรางวัลโนเบลในสาขาวิชาฟิสิกส์ในปี 1965
ต่อมา เค. อีริค เดร็กซ์เลอร์ ได้เป็นผู้นิยามคำว่า "นาโนเทคโนโลยี" จินตนาการของเขา "ต้องเหมือนกับต้นไม้ที่สามารถใช้ประโยชน์จากทุกสิ่ง ในกระบวนการผลิตของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรือสารต่าง ๆ ที่นำไปเลี้ยงลำต้น สร้างใบ ดอก และผลโดยไม่เหลือสิ่งตกค้างใด ๆ ที่เป็นพิษ" คำพูดที่ว่า "ผู้ใดมีเทคโนโลยีผู้นั้นครองโลก" เป็นคำกล่าวเมื่อกว่า 40 ปีแต่ยังคงใช้ได้ดีในยุคเทคโนโลยีเฟื่องฟู หนังสือเรื่อง As The Future Catches You ของ Juan Euriiquez กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยี 3 แขนง ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จคือ เทคโนโลยีดิจิตอล การสื่อสารไร้พรมแดน เทคโนโลยีชีวภาพกระแสของพันธุวิศวกรรม การโคลนนิ่งรวมถึงการตัดแต่งพันธุกรรม และนาโนเทคโนโลยี ซึ่งน่าจะเป็นกระแสที่มาแรง
บทบาทของนาโนเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์ 3 แขนงคือ วัสดุนาโน นาโนอิเลคโทรนิคส์ และนาโนชีวภาพ ตัวอย่างวัสดุนาโน เช่น ท่อนาโนคาร์บอนที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่กี่นาโนเมตรเป็นการเรียงอะตอมในรูปต่าง ๆ ทำให้ได้วัสดุที่แตกต่าง สามารถสร้างให้แข็งแกร่งกว่าเหล็กถึง 6 เท่า เบากว่า 100 เท่า สามารถทำให้เป็นตัวนำ หรือชนวนไฟฟ้าได้ ซึ่งมาประยุกต์ทำสายไฟฟ้าขนาดเล็ก ใช้ผลิตสายใยนาโนทำเป็นเสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติไม่ยับง่าย นอกจากนั้นยังทำเป็นครีมบำรุงผิว ที่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ง่าย และลดรอยเหี่ยวย่นได้ดีกว่าครีมธรรมดา การผลิตฟิล์มที่บางเฉียบไวแสงมากกว่าปรกติ นาโนอิเลคทรอนิคส์ ช่วยทำให้ชิ้นส่วนมีขนาดเล็กลง มีความไวมาก กินไฟน้อย ราคาถูกลง เช่น ไมโครโปรเซสเซอร์ในวงการแพทย์ ผลิตยาที่ลดผลข้างเคียง การตรวจรักษาที่ตรงจุด เช่นไบโอเซ็นเซอร์ ที่สามารถตรวจวัดปริมาณสารต่าง ๆ ในร่างกาย ในเลือด ในปัสสาวะ รวมทั้งการตรวจหาเชื้อโรคและฆ่ามะเร็งได้โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อส่วนอื่น
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์วงการแพทย์ที่เป็นรูปธรรมได้รับการพัฒนา เช่น บัคกี้บอล(Bucky Ball) ยามหัศจรรย์แห่งยุคนาโน เป็นสารที่มีโครงสร้างคาร์บอน 60 อะตอม เชื่อมต่อกันเป็นทรงกลมคล้ายลูกบอลจัดเป็นสารกลุ่ม Fullerenes เป็นอัญรูปแบบที่ 3 ของคาร์บอนต่อจากเพชร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นาโนเมตร นำมาใช้ทำยาต้านไวรัส HIV 1 Protease และยาต้านเชื้อแบคทีเรีย
สำหรับประเทศไทยเริ่มให้ความสนใจและพัฒนาอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2546 โดยตั้ง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอาง อาหารและยา มากกว่า
Ref. ดร.ธีรเกียรติ เกิดเจริญ (ความเป็นไปได้) ,เพ็ญธิรัตน์ อัครผลสุวรรณ