วิวัฒนาการกฏหมายการศึกษาในยุคที่ 2 ต่อจากยุคโบราณเป็นอย่างไร?


ทรงถือว่า โรงเรียนเป็นหัวใจของการปฏิรูป ส่วนระบบหรือกระบวนการและการจัดโครงสร้างกำกับสนับสนุนโรงเรียนเป็นอันดับรองลงมา หัวใจอยู่ที่โรงเรียน คือ ครูกับนักเรียน ส่วนโครงสร้างคือ กรมและกระทรวง

ผมขอเล่าถึงวิวัฒนาการกฏหมายการศึกษาในยุคถัดมายุคที่ 2 ต่อจากยุคโบราณ คือ
ยุคปฏิรูปการศึกษา    เริ่มตั้งแต่สมัย ร.5 จนถึง พ.ศ. 2475 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ
      สมัยรัชกาลที่ 5(พ.ศ.2411-2453)  เป็นสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการศึกษาอย่างมาก  จนกล่าวกันว่า เป็นสมัยปฏิรูปการศึกษา  เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไป  ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความจำเป็นที่ต้องติดต่อกับชาวต่างประเทศมีมากขึ้น  การจัดการศึกษาก็ต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  การจัดการศึกษามีระบบและระเบียบมากขึ้น  ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการปฏิรูปการศึกษาในสมัยนั้นคือการคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก อิทธิพลของตะวันตก เช่น การสอนศาสนา  การจัดตั้งโรงเรียน  การออกหนังสือพิมพ์  การรักษาโรคโดยใช้วิชาการแพทย์สมัยใหม่   การศึกษาในระบบโรงเรียน ตามที่ ร.5 ได้ทรงศึกษาและทอดพระเนตรมาจากต่างประเทศ และอิทธิพลจากความขาดแคลนบุคคลที่มีความรู้เพื่อมารับราชการ
           คำว่า
โรงเรียน มีวิวัฒนาการมาจาก โรงทาน ในสมัย ร.2 เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลในเวลาเช้า  และในสมัย ร.3 ใช้โรงทานสำหรับสอนหนังสือบุตรหลานข้าราชการในตอนบ่าย  สมัย ร.4 เปลี่ยนคำว่าโรงทาน เป็นโรงสอน  สมัย ร.5 เรียกโรงเรียน(โรงทาน-โรงสอน-โรงเรียน)
          ในสมัย ร.5 ทรงวางรากฐานการจัดการศึกษาอย่างเป็นแบบแผน ด้วยการจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง  โรงเรียนหลวงโรงเรียนแรกของทวยราษฎร์ตามพระบรมราชโองการของ ร.5 คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม  มีการตั้งโรงเรียนสำหรับทวยราษฎร์ขึ้นตามวัดพระอารามหลวงทุกๆพระอาราม  มีการตั้งหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบในการจัดการโรงเรียนคือ กรมศึกษาธิการ  ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นกรมธรรมการ และกระทรวงธรรมการตามลำดับ  ขณะเดียวกันก็ได้จัดตั้งโรงเรียนมูลศึกษามีฐานะเป็นโรงเรียนหลวง และอนุญาตให้ราษฎรจัดตั้งโรงเรียนมูลศึกษาโดยเรียกว่าโรงเรียนเชลยศักดิ์ มีฐานะเป็นโรงเรียนราษฎร์  นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อผลิตบุคคลออกมาเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียน  รวมทั้งได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการสอบวิชา พุทธศักราช 2433 เป็นครั้งแรก  โดยกำหนดให้มีการสอบวิชาในภาษาไทยเป็น 3 ประโยค คือ ประโยค 1-3 การสอบความรู้ภาษาอังกฤษเป็น 6 ชั้น และได้กำหนดให้มีโครงการศึกษา พ.ศ.2441 ขึ้นเป็นครั้งแรก  เพื่อกำหนดแบบแผนการจัดการศึกษาของไทยขึ้น  อันนับได้ว่าการจัดการศึกษาของไทยเริ่มมีการจัดระบบการศึกษา  หลักสูตร  ชั้นเรียน  และระยะเวลาที่แน่นอน  โดยมีโครงการศึกษาดังกล่าวเป็นแม่บทหลักในการจัดการศึกษาของประเทศ  และเป็นต้นเค้าของโครงการศึกษาและแผนการศึกษาแห่งชาติในสมัยต่อๆมา
         การปฏิรูปการศึกษาในสมัย ร.5  มีลักษณะสำคัญดังนี้
      1.ทรงให้จัดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาตามผลการศึกษา  เปรียบเทียบจากต่างประเทศ  โดยให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังงบประมาณและคนที่มีอยู่
     2.การปรับเปลี่ยนยึดหลักการที่แน่นอนมั่นคง 3 ประการ คือ
         2.1 ถือว่าโรงเรียนเป็นหลักของการจัดการศึกษา
         2.2 จัดระบบและกระบวนการสนับสนุนโรงเรียนให้รัดกุม
         2.3 เมื่อระบบและกระบวนการที่สนับสนุนโรงเรียนมั่นคงแล้ว  จึงพิจารณาโครงสร้างในการกำกับและเอื้ออำนวยทั้งระบบและกระบวนการ เพื่อให้โรงเรียนเป็นไปตามพระราชประสงค์
     3.ครูและนักเรียนได้รับความเกื้อกูลเป็นพิเศษจากผู้รับผิดชอบที่ทรงมอบหมายตามระบบและกระบวนการที่มีองค์กรจากโครงสร้างที่ทรงพระราชทานไว้เป็นผู้ดูแล
        กล่าวโดยสรุป  ทรงถือว่า
โรงเรียนเป็นหัวใจของการปฏิรูป  ส่วนระบบหรือกระบวนการและการจัดโครงสร้างกำกับสนับสนุนโรงเรียนเป็นอันดับรองลงมา  หัวใจอยู่ที่โรงเรียน คือ ครูกับนักเรียน  ส่วนโครงสร้างคือ กรมและกระทรวง อันมีหน้าที่กำกับระบบและกระบวนการให้โรงเรียนมีประสิทธิภาพ เป็นอันดับรองลงมา
      สมัยรัชกาลที่ 6(พ.ศ.2453-2468)   ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.2461 ขึ้น เพื่อบังคับให้โรงเรียนราษฎร์ทุกแห่งต้องจดทะเบียนและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนที่กระทรวงศึกษาธิการวางไว้   ได้ยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเป็นมหาวิทยาลัย เรียกว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ.2459  ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2464 เพื่อให้การจัดการศึกษาขยายกว้างออกไปสู่ทวยราษฎร์ และเพื่อบังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุในวัยเล่าเรียน  คือ ตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ ต้องเข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนจนอายุ 14 ปีบริบูรณ์ รวมทั้งจัดให้มีการเก็บเงินศึกษา
เพื่อนำเงินมาใช้จัดการศึกษา เรียกว่า เงินศึกษาพลี
   สมัยรัชกาลที่ 7 จนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง(พ.ศ.2468-2475)  ได้มีการยกเลิกการเก็บเงินศึกษาพลีตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา ในพ.ศ.2473  มีการขยายการฝึกหัดครูออกเป็นการฝึกหัดครูประถมและการฝึกหัดครูมัธยม

(อ่านยุคที่ 3 กับยุคที่ 4 ตอนต่อๆไปนะครับ)





หมายเลขบันทึก: 332159เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2010 07:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2020 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ขอขอบพระคุณค่ะ
  • สำหรับความรู้เกี่ยวกับกฏหมายและการปฏิรูปการศึกษา
  • มีความหวังอยู่กับโครงสร้างและนโยบายใหม่ของการผลิต..ครูค่ะ

ตอนนี้ร่าง พรบ.3 ฉบับ ได้ผ่าน ครม.เพื่อเข้าสู่สภาในสมัยประชุมนี้แล้ว คือ 1.ร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.....ซึ่งปรับแก้ให้มีเขตพื้นที่การศึกษาประถม และมัธยม แยกจากกัน 2.ร่างพรบ.ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ... ปรับโครงสร้าง ศธ.ให้เป็นไปตามร่าง พรบ.ข้อที่ 1 และ 3.ร่างพรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ....ปรับเรื่อง ผู้แทนใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ให้มีฝ่ายประถมและมัธยม ตามร่าง พรบ.ข้อ 1 นี่คือความคืบหน้าในการปรับแก้ พรบ.เท่าที่ผมได้ทราบความก้าวหน้ามาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท