แลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องกฏหมายการศึกษา


    มีคนบอกว่าปัญหาเรื่องการปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ พ.ศ.2542 จนมาถึงทุกวันนี้  ต้นตอจริงๆของปัญหาคือประเด็นในข้อกฏหมาย  ไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน  
ในฐานะที่อยู่ในวงการศึกษา พอมีเวลาว่างผมก็เลยทุ่มเทอ่านกฏหมายการศึกษาหลายๆฉบับอย่างคนที่ไม่ไม่ได้เรียนทางกฏหมาย พยายามจับต้นชนปลายสรุปมาบ้าง วิเคราะห์เองบ้าง ผิดถูกอย่างไรก็ช่วยเสนอแนะด้วย เผื่อผมจะได้แตกฉานมากขึ้น
ก็อยากจะเริ่มตั้งแต่แนวคิดและวิวัฒนาการเฉพาะเรื่องกฏหมายการศึกษา (ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารการศึกษา)      
แนวคิดเรื่องกฏหมายการศึกษา
      1.กฏหมายเป็นกฏเกณฑ์ข้อบังคับความประพฤติของมนุษย์  มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลานาน  มีศักดิ์และลำดับชั้นที่ต่างกัน  และมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม
      2.กฏหมายเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน  โดยเฉพาะผู้บริหารการศึกษาย่อมต้องใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือในการบริหารการศึกษาด้วย
     3.ผู้บริหารการศึกษาที่เก่งและมีประสิทธิภาพทางการบริหารสูง จะสามารถเลือกใช้กฏหมายได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ไม่นำเอากฏหมายเป็นปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงาน  แต่ไม่ปฏิบัติผิดกฏหมาย  รวมทั้งในบางโอกาสอาจขอความช่วยเหลือทางด้านการพิจารณาใช้กฏหมายจากผู้รู้หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดีด้วย
วิวัฒนาการของกฏหมายการศึกษา

        กฏหมายการศึกษาของประเทศไทยสามารถแบ่งกล่าวได้เป็น 4 ยุค คือ
1.ยุคโบราณศึกษา   คือสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ตอนต้น(ร.1-ร.4)
        สมัยกรุงสุโขทัย  การศึกษาแผนโบราณของไทยเริ่มขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ 1826 ดังปรากฏในศิลาจารึก
  ตามความเห็นของนักนิติศาสตร์เห็นว่าข้อความบางตอนเป็นกฏหมาย และเรียกกันว่ากฏหมายสี่บท  บทที่ 1 เป็นบทมรดก  บทที่ 2 เป็นบทที่ดิน  บทที่ 3 เป็นบทวิธีพิจารณา  และบทที่ 4 เป็นบทลักษณะฎีกา   อาจกล่าวได้ว่าในสมัยสุโขทัยมีกฏหมายการจัดการศึกษาทั้งที่เป็นจารีตประเพณีและลายลักษณ์อักษร คือหลักศิลาจารึก
      สมัยกรุงศรีอยุธยา  ส่วนใหญ่ก็คล้ายกับสมัยกรุงสุโขทัย  ระบบการจัดการศึกษาจึงเป็นแบบจารีตนิยมอยู่เช่นเดิม  ยังไม่มีระบบที่แน่นอน  แล้วแต่พระราชดำริของพระมหากษัตริย์ว่าจะสมควรอย่างไร   ซึ่งพอกล่าวได้ว่านโยบายการจัดการศึกษาก็ดี จุดประสงค์ของการจัดการศึกษาก็ดี รวมทั้งการใช้หนังสือจินดามณีเป็นแบบเรียน เป็นกฏหมายเกี่ยวกับการศึกษา
     สมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น(ร.1-ร.4)  การศึกษายังคงเป็นแบบโบราณศึกษา  วิธีการจัดการศึกษาไม่แตกต่างไปจากสมัยกรุงศรีอยุธยา  ต่างกันที่การศึกษาได้เริ่มเจริญขึ้นเป็นลำดับ  เช่น  สมัย ร.1 ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก เพื่อใช้เป็นหลักในการศึกษาพระปริยัติธรรม และรวบรวมกฏหมายต่างๆ เรียกว่า กฏหมายตราสามดวง  สมัย ร.2  ได้มีการสร้างโรงทานเป็นที่สำหรับเจ้าพนักงานจัดอาหารเลี้ยงพระสงฆ์ สามเณร และเป็นที่แสดงธรรมเทศนาและสอนหนังสือวิชาการต่างๆ  สมัย ร.3  ได้พยายามเผยแพร่การศึกษาให้แก่ประชาชนและทรงเอาพระทัยใส่ในการศึกษาเล่าเรียนทั้งทางโลกและทางธรรม  มีการซ่อมแซมวัดอันเป็นสถานศึกษาเล่าเรียน  เริ่มมีการเรียนภาษาอังกฤษและวิชาการต่างๆจากหมอสอนศาสนา  สมัย ร.4  เริ่มตื่นตัวเกี่ยวกับการศึกษาแบบยุโรป  เพราะอารยธรรมตะวันตกได้แพร่เข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น  แต่การศึกษายังคงจำกัดวงอยู่เฉพาะที่  เช่นการสอนภาษาอังกฤษก็ยังสอนกันอยู่ในวงศ์สกุล จ้างครูพิเศษมาสอน  การสอนภาษาไทยนั้นพวกเจ้านายก็เรียนกับเจ้านายข้างในที่เป็นผู้ใหญ่  ราษฎรชั้นสามัญก็เรียนอยู่ตามวัด  สำหรับแบบเรียนมีอยู่ 5 เล่มด้วยกันคือ  ประถม ก กา  ประถมมาลา  สุบินทกุมาร  ประถมจินดามณี เล่ม1 และประถมจินดามณี เล่ม2   มีวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรก   ด้านการศึกษาของสตรีนอกจากจะศึกษาเล่าเรียนการบ้านการเรือน เย็บปักถักร้อยแล้ว ยังเริ่มมีการศึกษาวิชาสามัญอีกด้วย โดยเฉพาะภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ยังคงเป็นแบบโบราณศึกษา คือเป็นการศึกษาที่วัดและไม่เป็นทางการ
         กล่าวโดยสรุป
การจัดการศึกษายุคโบราณศึกษา  มีลักษณะที่เด่นชัด ดังนี้
         1.รัฐมิได้จัดการศึกษาโดยตรง ไม่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการศึกษา ไม่มีแนวนโยบายการศึกษาที่ชัดเจน  ไม่มีองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษา
        2. การจัดการศึกษาเป็นเรื่องของเอกชนหรือประชาชนพลเมือง  ไม่เกี่ยวกับรัฐโดยตรง  เช่น การศึกษาภายในวัด มีพระสงฆ์เป็นผู้สอน  ส่วนการศึกษาในวัง มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตเป็นครูสอน
       3.ไม่มีกฏหมายข้อบังคับใดๆที่ใช้ในการจัดการศึกษา  การศึกษาที่ดำเนินอยู่เป็นไปตามความต้องการและความจำเป็นของบุคคลแต่ละหมู่เหล่า สุดแต่ใครจะเห็นความสำคัญ
       บันทึกเรื่องต่อไปผมจะเล่าต่ออีก 3 ยุคครับ...


หมายเลขบันทึก: 332112เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2010 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2020 09:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ครับ อยากทราบว่าอีก 10 ปีข้างหน้าการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไรครับ อาจารย์

ที่ถามเพราะอยากทราบจริงๆ ไม่มีเจตนาอื่นแต่อย่างใด

เสียงจากครูครับ "ปัจจุบันการให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่นักเรียน ให้ความรู้ทั้งวิชาสามัญและวิชาชีพตามหลักสูตรที่ถูกกำหนด ตามสภาพปัจจุบัน สภาวะโลก การเมืองการปกครอง ที่สำคัญแนวการจัดการศึกษาก็จะมาจากรัฐธรรมนูญ แต่ในฐานะครูก็เชื่อว่า ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญไม่ว่าจะจัดการสอนโดยวิธีใด ครูต้องมีการวางแผนและเตรียมการสอนเป็นอย่างดี ไม่ละทิ้งเด็ก และมีการจัดกิจกรรมเสริม เพื่อให้เด็กเข้าใจในบทเรียนยิ่งขึ้น นอกจากการสอนวิชาความรู้แล้ว ครูยังมีบทบาทในการสอนให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น สอนให้มีความรู้คู่คุณธรรม เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม และมีความสุขตามควรแก่อัตภาพ "

ผมจะเล่าเพื่อแลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆนะครับ ...ถูกแล้วครับครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นการปฏิรูปที่สถานศึกษา แต่พอไปให้ความสำคัญกับการปฏิรูปที่โครงสร้าง 10 ปีที่ผ่านมาก็เป็นอย่างที่เห็นนั่นแหละ ตอนนี้ก็คิดจะกลับตัวใหม่ แต่ก็ยังมีคนวกเข้าเรื่องโครงสร้างอีก (ตัวเองจะได้อะไร มากกว่าเด็กจะได้อะไร) อยากให้ลองดูการปฏิรูปในสมัย ร.5 เป็นบทเรียน

สวัสดีค่ะอาจารย์

ไปอ่านบันทึกของครูคิมแล้ว ชื่นใจที่เห็นโรงเรียนดีบนดอยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท