การศึกษา คือ การฝึกฝืน และ ฝึกฝนตนเอง (๒)


“ก่อนไปก็รู้สึกลุ้น เพราะใจเรารู้ว่าเด็กไม่ได้อยากไปมากนัก กลัวเขาจะไม่ไหว แต่ปรากฏว่าเด็กๆ เขาปรับตัวและเอาชนะตัวเองได้ เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเอง เช่น กางเตนท์และเก็บเตนท์เอง มีความสามัคคี มีจิตอาสา ยิ่งในวันหลังๆ จะเห็นว่าเขานิ่งมากขึ้น และตลอดการเดินเขาก็ได้เห็นชีวิตจริงของผู้คนมากมายที่แตกต่างจากเขา ขณะที่ตัวเราเองก็ได้เรียนรู้เหมือนกับเด็ก มีอะไรให้กินก็กิน ที่อาบน้ำมีอย่างไรก็อาบอย่างนั้น แล้วปกติเป็นคนที่นั่งสมาธิไม่ได้ แต่การเดินทำให้เรามีสมาธิ และได้เห็นตัวเองมากขึ้น”

 

คุณครูนุช-ชัญญานุช คมกฤส

 

 

“วันแรกเราก็ให้กำลังใจเด็กๆ เดินไปกับเขา เป็นเพื่อนเขา จนวันที่ ๓-๔ เด็กๆ เริ่มปรับตัวได้ วุฒิภาวะโตขึ้น และการที่เขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่หลากหลาย ทั้งคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าและเด็กกว่า ซึ่งธรรมชาติของเด็กนั้นจะสนิทกันเร็ว ทำให้เขารู้สึกสนุก ส่วนตัวผมเองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ ที่ประทับใจคือการทำงานเป็นทีมของผู้คนในขบวนธรรมยาตราที่ต่างก็ไม่รู้จักกัน แต่สามารถทำงานร่วมกันได้ดี”

 

คุณครูเกศ-เกศ ศรีวัฒนาพล

 

 

“สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดคือภาพทิวทัศน์ของสิ่งแวดล้อมที่มองลงมาจากทางเดินไปมอหินขาว เพราะว่ามันเป็นภาพที่สวยงามมาก มองเห็นได้ไกล บรรยากาศดีมาก หาได้ยาก หากว่าไม่มาค่ายนี้คงไม่ได้เห็นภาพที่สวยงามอย่างนี้แน่นอน และคงพลาดโอกาสในการที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง พลาดโอกาสในการที่จะได้พบเพื่อนใหม่ๆ พลาดโอกาสที่จะได้ทำวัตร และพลาดโอกาสที่จะได้มองดาวสวยๆ ฯลฯ... ผมรู้สึกว่าตัวเองนิ่งขึ้นกว่าเดิม และมีความอดทนเพิ่มขึ้น”

 

นายพิริยะ แก่นทอง (ไบรท์)

 

 

“พอผ่านวันแรกที่เดินทางไปถึง...ใจก็คิดแล้วว่าอยากกลับบ้าน อยู่แบบนี้ไม่ไหวแน่ พอได้ยินระยะทางที่ต้องเดินก็เริ่มรู้สึกท้อทันที แล้วก็เป็นอย่างนั้นมาทุกๆ วัน จนถึงวันที่ ๓ ก็ถึงขีดสุดจริงๆ หยิบโทรศัพท์โทรหาคุณแม่เป็นเชิงอ้อนวอนขอกลับบ้าน แต่แม่ก็ให้กำลังใจกลับมาว่า “ลองดูอีกสักวันสิลูก นี่เพิ่งวันที่ ๓ เอง” เราก็ลองอยู่อีกวัน และเหมือนมีอะไรดลใจ วันที่ ๔ ก็รู้สึกดีขึ้นจริงๆ... กลับมาแล้วรู้สึกดีกับค่ายนี้ขึ้นมาก เวลาทำอะไรก็คิดถึงเรื่องบุญบาปตลอด”

 

.ส.แพรวา บุญเสนันท์ (ว้าวา)

 

 

ในเวลาที่เดินรู้สึกมีสมาธิในการคิดเรื่องต่างๆ ดีขึ้น แบบที่หาไม่ได้ตอนอยู่ที่บ้าน เพราะเราได้อยู่กับตัวเองนานเท่าที่เราเดิน ตอนอยู่ที่บ้านเรารายล้อมด้วยกิเลสต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ การ์ตูน ห้าง เกม ฯลฯ แต่ในขณะเดินเราไม่มีอะไรเลย ทำให้เรามีสติรับรู้เรื่องต่างๆ ดีขึ้น และพอได้คิดเรื่องต่างๆ ก็จะลืมความเจ็บที่ขา และทำให้รู้สึกปวดน้อยกว่าการเดินไปบ่นไป คงเหมือนกับที่มีคนพูดว่า “เวลานั่งสมาธิไปนานๆ ความเจ็บมันจะหายไป แทนที่ด้วยความสบาย” ถ้าอย่างนั้นการเดินธรรมยาตราก็คือการนั่งสมาธิอย่างหนึ่ง แต่ต่างกันตรงที่ระหว่างเดินเราได้รณรงค์อนุรักษ์ธรรมชาติไปด้วย”

 

.ส.วิสิณีย์ ชาญวิทยาพัชร์ (ยูนีค)

 

 

“ระหว่างเดินรู้สึกเหนื่อย และอยากจะเปลี่ยนจากการเดินมาเป็นการขึ้นรถแทน แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ต้องรู้จักฝึกความอดทน เพราะผมเชื่อว่า “การที่คนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้นล้วนต้องอาศัยความอดทนเป็นหลัก” ซึ่งถ้าผมขึ้นรถ นั่นก็หมายความว่าผมไม่รู้จักมีความอดทน และต่อไปในอนาคต ถ้าเราเจอเรื่องที่ต้องใช้ความอดทน เราก็คงจะหนีปัญหา... การมาในครั้งนี้ทำให้ผมได้อยู่กับตัวเองมากขึ้นระหว่างเดิน ได้สังเกตเห็นความคิดของตัวเอง รู้จักการเข้าหาคนอื่น และมองเห็นความสำคัญของคนอื่น...ถ้ามีโอกาสจะไปอีกครับ”

 

นายเจษฎา วิจิตรโท (ไจแอนท์)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 327183เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2010 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 12:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วมีควมสุขค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท