การศึกษา คือ การฝึกฝืน และ ฝึกฝนตนเอง (๑)


กิจกรรมธรรมยาตราเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ ๑-๘ ธ.ค.๕๒  “ ธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาว ครั้งที่ ๑๐ณ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นการเดินธรรมยาตราเพื่อฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติลุ่มน้ำลำปะทาว ที่ริเริ่มโดยพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่ามหาวัน โดยหวังว่าการเดินธรรมยาตรานี้จะสร้างความตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้สึกนึกคิด จิตใจ และสติปัญญา เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามอย่างแท้จริง

 

เส้นทางจาริกในครั้งนี้แตกต่างไปจาก ๙ ครั้งที่ผ่านมา คือ เป็นการเดินทวนสายน้ำเพื่อทวนกระแสสังคม ทวนกิเลส และทวนกระแสบริโภคนิยม จากตัวเมืองชัยภูมิสู่ภูหลง วัดป่ามหาวัน อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ รวมระยะทางกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร

 

การเดินธรรมยาตราในครั้งนี้มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาร่วมเดินกว่า ๒๐๐ คน ซึ่งจะต้องตื่นขึ้นมาทำวัตรเช้าพร้อมกันตอนตี ๕ แล้วแยกย้ายกันไปทำธุระส่วนตัว รับประทานอาหาร ฟังพระเทศน์ ก่อนจะออกเดินอย่างพร้อมเพรียงกันในเวลา ๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. แล้วแวะพักค้างคืนที่วัดในชุมชนที่เดินทางไปถึง

 

ผู้ร่วมเดินทุกคนจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานส่วนรวมที่หมุนเวียนไปในแต่ละวัน เช่น ทำอาหาร เก็บขยะ ล้างห้องน้ำ พยาบาล ควบคุมขบวน การแสดง ฯลฯ ทำให้เด็กๆ จากโรงเรียนเพลินพัฒนา ทั้ง ๑๒ คน รวมไปถึงคุณครูทั้ง ๔ ท่าน ได้ฝึกเรื่องความอดทนบนเส้นทางการเดินเท้ากว่า ๑๐๐ กิโลเมตร การปรับตัวกับความไม่ได้สะดวกสบายต่างๆ ความรับผิดชอบและการทำงานเพื่อส่วนรวม ตลอดจนการได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพใหม่ วิถีของผู้คนบนเส้นทางที่เดินผ่าน รวมไปถึงธรรมชาติที่งดงามของภูหลง ซึ่งไม่อาจหาได้จากตำราเล่มใด นอกจากต้องเดินทางไปสัมผัสด้วยตัวเอง

 

 

บันทึกธรรมยาตรา เดินทวนกระแส ของคุณครูคัทลียา รัตนวงศ์

 

ก่อนออกเดินทาง

 

ครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมพิเศษที่ทางช่วงชั้นที่ ๔ จัดจัดขึ้นโดยไม่ได้วางแผนอะไรล่วงหน้าเลย  จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบนความไม่ได้ตั้งเนื้อตั้งตัวของทุกฝ่าย  

 

หลังจากที่แม่ต่าย – คุณจรวยพร จึงเสถียรทรัพย์ (แม่ของสารัตถะ นร.ชั้น ๑๒) ได้เสนอกิจกรรมนี้ขึ้นมาในวงประชุมผู้ปกครอง และครูส่วนใหญ่เห็นประโยชน์ของกิจกรรมนี้  ชนิดที่แผนการจะไปเที่ยววันหยุดยาวมีแล้วแต่ยินดียกเลิกเพื่อให้เด็กๆ ชั้น ๑๐ได้มีโอกาสเข้าร่วม 

 

ในตอนแรกรู้สึกอยากไปมาก แต่ก็ติดว่าได้นัดไปเที่ยวกับเพื่อนไว้แล้ว จึงตัดใจไปแล้วว่าอาจจะไม่ได้ไป  แม้ว่าจะไม่ได้เข้าไปคุยกับเด็กๆ ในเรื่องนี้เลย  แต่ข่าวแว่วๆ มาว่าเด็กไม่อยากไปเลย  ในช่วงเวลาที่ยังสับสนกันอยู่ว่าจะไปหรือไม่ไป จะเดินหน้าต่อหรือจะหยุดอยู่แค่นี้ แล้วค่อยว่ากันใหม่ปีหน้า  เพื่อนสนิทที่นัดจะไปเที่ยวด้วยกันก็โทรมายกเลิก  พร้อม ๆ กลับที่ครูใหญ่ฝ่ายมัธยม และคุณครูนุชก็มาบอกว่าเด็กๆ จะไปกัน เมื่อเราว่างแล้วก็เข้าทาง อยากไปและไปได้ เลยอาสาเป็นครูคนหนึ่งที่จะเดินทางไปกับเด็กๆ ด้วย

 

เราจะออกเดินทางกันวันจันทร์ ณ วันศุกร์เย็น  ทั้งครูและเด็กไม่รู้ว่ามีอะไรรออยูข้างหน้านั่นเลย  ในในเราก็เลยคิดว่า  เอาน่า...ชีวิตเรามันก็แบบนี้ไม่ใช่เหรอ ทุกอย่างเข้ามาแบบไม่บอกให้รู้ล่วงหน้าแบบนี้แหละ  ตื่นเต้นดี

 

เมื่อไปถึง ก็เป็นแบบที่คาดไว้  คือไม่มีความสะดวกสบายใดๆ ห้องน้ำไม่สะอาด ได้เย็นเสียงเด็ก ๆ เริ่มบ่นกัน  ใจครูก็รู้สึกว่า  เด็กเราจะไหวไหมหนอ  แต่ก็นิ่งไว้ จะได้เป็นหลักยึดให้เด็ก

 

ระหว่างทาง

 

วันที่ ๑ ในการเดินในวันแรกเป็นเราเริ่มจากวัดที่อยุ่ในเมืองและก็จะเดินเข้าป่าไปเรื่อย ๆ  ฉะนั้นวันแรกเราจึงต้องเดินบนทางราดยางไปตลอด  แต่ว่าระยะไกลมากตั้ง ๑๒ กิโล  แถมต้องเดินกลางแดด  เดินไปโรงเรียนตอนเช้ากิโลเดียวก็ได้เหงื่อแล้ว เดินมาครึ่งวันก็ต้องถอดรองเท้าเสียแล้ว  เพราะนิ้วเท้าปวดมาก พอถอดก็สบายขึ้น  เดินต่อได้    ถึงวัดที่เราจะเข้าพักในคืนแรกด้วยความปวดเมื่อย และเท้าที่ระบม

 

วันที่ ๒ วันต่อมาใส่รองเท้าแตะเดิน  เพื่อจะได้ไม่ไปรบกวนนิ้วที่เจ็บอยู่  วันที่ ๒ เดินได้สบายขึ้น  แต่รู้สึกว่ามีความผิดปกติขึ้นที่ข้อเท้า  แต่เมื่อเดินเริ่มเดินให้เบาขึ้น  ลงน้ำหนักลงบนพื้นให้เบา และเดินให้ช้าลง ระมัดระวังในการก้าวท้าวแต่ละก้าว  ในการวางเท้าบนพื้น ข้อเท้าที่เจ็บก็เริ่มดีขึ้น (ความเจ็บก็ไม่จีรัง) 

 

วันนี้เกิดความเข้าใจขึ้นมาว่า ท่าทีที่อ่อนโยนต่อสิ่งอื่นมันก็อ่อนโยนกับตัวเราเองด้วย  action = reaction เราทิ้งน้ำหนักลงพื้นแรงเท่าไหร่มันก็กระทบมาที่เท้าและข้อเท้าเท่ากัน ตอนบ่ายเลยถอดรองเท้าเดิน แม้ว่าจะเจ็บ แต่ก็ “ซ้ายทนได้ ขวาสบายมาก”

 

วันที่ ๓ เช้าวันต่อมาเพื่อทดสอบทฤษฎีที่ค้นพบเมื่อวาน  เราจึงตัดสินใจถอดรองเท้าเดินตั้งแต่เช้า แม้ว่าจะได้ความเข้าใจใหม่ๆ แล้ว แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด แสงแดดที่ร้อน ความแหลมคมของพื้นยางมะตอย และก้อนกรวด ทั้งเจ็บ ร้อน ข้อเท้าก็เริ่มเจ็บขึ้นมากอีก เพราะทางเรียบ ขบวนเดินเร็วทำให้ต้องเร่งฝีเท้าตาม 

 

ขณะที่เดิน มีความคิดผุดขึ้นมาว่า  “ข่มใจไว้” ด้วยเท้าที่เจ็บ รองเท้าก็อยู่ในกระเป๋าที่หิ้วมาด้วย ต้องข่มใจอย่างมาก รู้สึกจะยอมแพ้อยุ่หลายครั้ง แต่ก็อยากจะทำให้สำเร็จ อย่างน้อยก็ในวันนี้ ต้องพาร่างกายไปให้ถึงที่หมายให้ได้ แม้เท้าจะพองแล้วก็ตาม  แต่ก็ยอมแพ้ไม่ได้ ครั้งหนึ่งในชีวิต  อาจารย์ประมวลเดินกลับสมุยโดยที่ไม่มีเงินสักบาทยังรอดได้เลย การต่อสู้กับตัวเองในวันนี้ช่างยากเย็น แต่รอยยิ้ม และกำลังใจ คำสบประมาท คำแซว จากน้องออสก้า ไม่ได้ทำให้รู้สึกโกรธ แต่กลับรู้สึกขอบคุณ ทำให้เรารู้ว่ามีคนมองเราอยู่ แล้วคงส่งกำลังใจมาเหมือนกัน และคำถามจากเด็กๆ ที่ถามว่า ครูถอดรองเท้าเดินเหรอ  แม้จะเป็นคำถามแต่เราก็แปลมันเป็นกำลังใจ  เดินต่อไปจนถึงที่หมาย วัดโปร่งช้าง นาทีแรกที่เงยหน้าเห็นป้ายวัด ดีใจมากมาย แต่พอก้มลงมองพื้นถนนลูกรัง และมองไปตามทางที่ยังไม่เห็นตัววัด “เอาแล้วไง ยังไม่จบ” ต้องเดินต่อบนถนนเส้นนั้นด้วยความเจ็บปวดไปอีกหลายร้อยเมตร ก็ถึงวัดจนได้  หลังจากอาบน้ำเสร็จก็เลยต้องเจอะยาทำแผลซะหน่อย

 

วันที่ ๔ – ๕  วันนี้ใจหนึ่งรู้สึกอยากถอดรองเท้าเดินต่อ  แต่อีกใจหนึ่งก็กลัวว่าจะแย่ลงไปอีก  ต่อสู้กับใจตัวเองอยู่นาน  สุดท้ายก็ตัดสินใจใส่รองเท้าเดิน  เจอน้องออสก้าตอนเช้าเชียร์ให้ถอด  ออกแนวท้าทายเล็ก ๆ ถ้าเป็นสมัยก่อนตอนที่ยังวัยรุ่นคงต้องรักษาหน้ารับคำถ้าไปแล้ว  แต่ตอนนี้สังขารไม่เอื้อ  รวมทั้งไอ้หน้าตาที่ว่ามันก็ไม่ได้มีอยู่จริง  ก็เลยไม่รู้สึกอะไร  ๒ วันนี้เลยออกจะสบาย ๆ    ร่างกายปรับสภาพได้แล้ว  เท้าที่พองเพิ่มก็ไม่ใช่อุปสรรคแล้ว

 

วันที่ ๖  ควรจะไม่ต่างกับ ๒ วันที่ผ่านมา เดินไม่ลำบากมากนัก  อุปสรรคมีเพียงฝุ่นและระยะทาง ๑๘ กิโล  ที่ตอนแรกเรารู้ว่ามันเพียง ๑๔ กิโลเท่านั้น  คือเช้า ๗ บ่าย ๗ แต่เดินเข้าจริง ๆ บ่าย ๑๑ กิโล  น้องๆ ที่จัดมาเฉลยเอาตอนกลางคืน  ถึงได้ถึงบางอ้อว่า  มิน่าถึงได้เหนื่อย เท้าพองเพิ่ม แต่ก็ยัง “ทนได้สบายมาก” 

 

เมื่อถึงที่หมาย

 

วันสุดท้ายของการเดิน แม้ว่าจะไม่สุดท้ายจริงๆ แต่ที่คาด... ที่นั่นก็เหมือนที่เราถึงที่หมายแล้ว  เพราะว่าวิวที่นั่นสวยมาก  ดาวเต็มท้องฟ้า  จำไม่ได้ว่าได้เห็นดาวแบบนั้นมานานแค่ไหนแล้ว  ปล่อยใจเพลิดเพลินไปกับบรรยากาศ  รู้สึกอิ่มใจอย่างบอกไม่ถูก  จิตที่ฟุ้งไปกับความคิดในวันแรกๆ ก็กลับมาอีกครั้ง  ฟุ้งไปกับความงามรอบตัว  นี่คงเป็นรางวัลที่พระอาจารย์บอก ธรรมชาติที่งดงาม ได้อยู่ร่วมกับผู้คนที่จิตใจงดงาม แม้ว่าจะไม่ได้คุยกัน  แต่รับรู้ได้ในทุกความรู้สึกผ่านแววตาและรอยยิ้ม 

 

เช้าวันสุดท้ายน้องออสก้าถามว่าเพลินพัฒนาจะมาอีกมั๊ย  ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงตอบไปอย่างมั่นอกมั่นใจว่า “มาแน่นอน” แต่ทั้งแปดวันที่ผ่านมาทำให้เรารุ้ว่า ความแน่นอนมันไม่มีอยู่จริง การจะได้กลับไปหรือไม่นั้นมันขึ้นอยู่กับหลายเหตุหลายปัจจัยมาก คำถามนี้เลยไม่ได้ตอบไปตรงๆ ออกแนวอ้อม ถ้าตอบไปแบบนั้นก็จะพาลให้มีทุกข์กันไปเปล่าๆ เมื่อถึงเวลาไม่ได้มาจริงๆ จะทุกข์ทั้งคนฟังและคนพูดที่พยายามจะทำให้เป็นอย่างที่พูด 

 

ความเปลี่ยนแปลง

 

ร่างกายที่แข็งแรงอย่างไม่น่าเชื่อ  ไม่คิดว่าจะรอดวันที่ ๓ แดดร้อนๆ ปกติจะปวดหัว หัวระเบิดไปแล้ว  แต่ก็ไม่ปรากฎอาการ  เจอร้อนจัดหนาวจัดแบบนี้น่าจะป่วยกลับไม่ป่วย   วันสุดท้ายกลับมาถึงร.ร. รู้สึกว่าร่างกายเป็นปกติเร็วไปมั๊ย ลางานไปทำวีซ่าไปอินเดีย เดินจาก BTS ไปถึงที่ทำวีซ่า ครั้งก่อนรู้สึกว่าเล่นเอาเหนื่อย คราวนี้รู้สึก “สบายมาก”

 

ส่วนความเข้าใจกับตัวเองในเรื่องภายใน นอกจากความอดทนที่ต้องเพิ่มมากขึ้นเป็นธรรมดา ก็เกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพตัวเองมากขึ้นแล้ว

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้แบบเบาๆ ที่เหมือนเสียงกระซิบว่า ครั้งนี้ที่เรามาเดินทวนกระแส  ตามวัตถุประสงค์ของผู้จัดแล้ว คำถามที่ค้างคาในใจเมื่อไปจิตตคุรุปัญญาครั้งล่าสุดกับโรงเรียนก็ได้คำตอบมาแบบกระซิบว่า “ก็เราเดินทวนกระแสอยู่นี่นา มันจึงเหนื่อย มันจึงยาก มันจึงลำบาก มันจึงต้องอดทน มันจึงต้องสู้ แต่ทุกย่างก้าวของเราก็ต้องเป็นไปด้วยความรักและความเมตตาต่อสรรพสิ่ง”

 

ความช้าทำให้เห็นชีวิตงดงาม

 

สองเดือนก่อนรู้สึกว่าปีนี้ช่างเป็นปีที่แย่  ผ่านไปเพียง ๘-๙ วัน  กลับไปมองมันใหม่  กลับเห็นแต่ความงดงามลงตัวของชีวิตที่ผ่านมา ทุกเรื่องที่ผ่าน ทุกปัญหาที่เผชิญ ล้วนเตรียมตัวเราเพื่อเข้าใจชีวิตในอีกแบบ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 327178เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2010 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท