รูปแบบการปกครองท้องถิ่นของนครปัตตานี


วันนี้เรื่องนครปัตตานีก็คือการปกครองตนเอง แต่รูปแบบปกครองตนเอง ถ้าถามผม ผมคงไม่พุ่งเป้าหรือฟันธงว่าจะต้องเป็นรูปแบบไหน เพราะมันต้องมาจากฐานความคิดของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ ว่าเขาต้องการรูปแบบใด แล้วรูปแบบนั้นได้ก่อตัวขึ้นมาจากการพูดคุย มีส่วนร่วมด้วยกัน จึงจะออกมาเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดและตรงกับสิ่งที่เขาอยากจะได้ แค่นี้วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ก็จะดีขึ้นเป็นลำดับแล้ว

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา  มีการจัดเวทีนครปัตตานี ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ที่ มอ.ปัตตานี 

ในวันนั้น ก่อนขึ้นเวทีมีนักข่าวสาวของ ศูนย์ข่าวอิศรา ชื่อแวลีเมาะ ปูซู  โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา  มาสัมภาษณ์ลุงเอก  ผ่านไปสักสัปดาห์เขาเอาบทสัมภาษณ์มาลง  วันนั้นถามหลายเรื่องหลายเองหลายประเด็น ไม่มีสคริ๊ป  ตอบไปตามธรรมชาติ  อ่านแล้ว  ความคิดที่ออกมาโดยธรรมชาติน่าจะดีกว่าเตรียมการ  ผลสรุปเขาเอามาลงเว็บดังนี้

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ : ชายแดนใต้ไม่ถูกแบ่งแยก...แม้มี “นครปัตตานี”

กระแสเรื่อง “นครปัตตานี” ยังไม่จบ เพราะแม้รัฐบาลประชาธิปัตย์จะแสดงจุดยืนชัดว่าไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องขยับเนื้อขยับตัวตอบรับกับกระแสที่แรงร้อนในพื้นที่พอสมควร ล่าสุดนายกฯเตรียมแก้กฎหมาย 4 ฉบับรวดเพื่อยกเครื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น นำร่องพื้นที่จังหวัดชายแดน

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขับเคลื่อนประเด็นว่าด้วย “นครปัตตานี” โดยเฉพาะการจัดเวทีสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย : ความฝันหรือความจริง?” ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อ “สถาบันพระปกเกล้า” เป็นหนึ่งในองค์กรร่วมจัดและให้การสนับสนุน

“ที่จริงเรื่องนครปัตตานีไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการพูดคุยกันมานาน และผมไม่ได้รู้สึกตื้นเต้นเหมือนที่ภาครัฐฟังคำประกาศออกมาแล้วเหมาว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน ส่วนตัวผมไม่ได้คิดว่าพี่น้องในพื้นที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ถ้าหากคิดว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน ผมไปสู้ในสนามรบดีกว่ามาสู้กันอย่างนี้ 

เท่าที่ผมดูตัวเลขจากการเลือกตั้งปี 2550 (23 ธ.ค.2550 ช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) คนในพื้นที่นี้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่า 70% และเป็นแบบนี้เกือบทุกปี สิ่งนี้เป็นตัวบ่งบอกว่าเขายังต้องการอยู่ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ ไม่ใช่ต้องการแบ่งแยกดินแดน

ถามว่ากลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกมีไหม...ก็มี แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ ผมคิดว่าถ้าพวกเขาต้องการแบ่งแยกจริง คงไม่ออกมาเลือกตั้งมากอย่างนี้หรอก เลือกตั้งแค่ 5% ให้รู้ไปเลยว่าเขาไม่ชอบระบอบการปกครองนี้

กลับกันถ้าเราย้อนไปมองเขตปกครองพิเศษอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนมาเลือกตั้งแค่ 50% อย่างมาก 60% แสดงว่าคนไม่สนใจระบอบประชาธิปไตยเลย

จุดหลักที่ผมดู การที่จะเกิดนครปัตตานีขึ้นได้ ผมว่าเป็นกระแสของการเมืองภาคประชาชนในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นพูดคุยเป็นสิ่งที่ดี จริงๆ แล้วการจัดเวทีเพื่อพูดคุยกันแบบนี้เป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองไม่ค่อยทำเรื่องเช่นนี้ให้ประชาชนมากนัก ทั้งๆ ที่หน้าที่ของพรรคการเมืองคือสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชน

ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 7 ทรงตรัสเอาไว้ว่า การจะมีระบอบประชาธิปไตยได้ ต้องให้ความรู้กับประชาชนก่อน แล้วให้ประชาชนปกครองตนเอง”

O กระบวนการนับจากนี้จะเป็นอย่างไร ประชาชนเสนอกฎหมายเองได้เลยหรือไม่?

แนวทางตามกระบวนการทางกฎหมายผมคิดว่าเสนอได้ แต่มันก็มีขั้นตอนของมัน โดยเฉพาะการจะออกพระราชบัญญัติ จะทำแบบรวบรัดไม่ได้

ตอนนี้ก็มีคนเสนอหลายรูปแบบ ทั้งทบวง (ตามข้อเสนอของนักวิชาการบางกลุ่ม และพรรคมาตุภูมิ) สบ.ชต. (สำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแนวทางของ ส.ส.ใต้บางกลุ่มในพรรคประชาธิปัตย์) หรือ ครม.ภาคใต้ (แนวทางที่รัฐบาลดำเนินการมาเกือบ 1 ปี) ซึ่งมันมีความพิเศษอยู่แล้ว

แต่ถ้าถามผม...ผมไม่เห็นด้วย  คุณเห็นว่าปัญหาภาคใต้เป็นมาแล้วร้อยปี คุณจะแก้ปัญหาในช่วงระยะเวลาทำงานของรัฐบาลที่เหลือแค่ 2-3 ปีหรือ คิดว่าแก้ได้ไหม ถ้าคิดว่าแก้ไม่ได้ อย่าเอารูปแบบอะไรที่ไม่ยั่งยืนมาใช้ ต้องเอารูปแบบที่ยั่งยืน คือรัฐบาลชุดนี้ไปแล้ว รัฐบาลใหม่มาก็ยังใช้ได้ต่อไปได้ ต้องเอารูปแบบนั้นมาใช้

การใช้โครงสร้างของ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) แก้ปัญหาภาคใต้ ผมว่าไม่สามารถทำให้เกิดการแก้ไขยั่งยืนได้

O อยากให้วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ว่าเป็นอย่างไร ถูกทางหรือไม่?

รัฐไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนครปัตตานี เสมือนหนึ่งว่าต้องปกป้องตนเอง เพราะถ้าไปเห็นด้วยเมื่อไหร่ กลัวคนที่อยู่พื้นที่ข้างนอกจะไม่เข้าใจและนำไปโจมตีรัฐบาลได้ว่าเป็นผู้ที่ทำให้เสียแผ่นดิน  ผมคิดว่าเรื่องอย่างนี้มันไม่น่าจะเกิดในยุคนี้แล้ว ขนาดนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย นายนาจิบ ราซัก ท่านยังแสดงจุดยืนเรื่องแบ่งแยกดินแดนว่าไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หรือบางฝ่ายที่ออกมาติดป้ายทำนองให้นำปัตตานีไปรวมกับมาเลเซีย เรื่องแบบนี้มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าขอให้เกิดองค์กรในรูปแบบที่ประชาชนเขาต้องการ แล้วฝ่ายรัฐเข้ามาสนับสนุน

มันถึงเวลาแล้วที่รัฐควรจะสนับสนุนไม่ใช่ชี้นำ ทุกวันนี้และที่ผ่านมาทั้งหมดฝ่ายรัฐเป็นผู้ชี้นำจึงเกิดปัญหา ซึ่งฝ่ายรัฐจะมารู้ดีและเข้าใจกว่าคนในพื้นที่ได้อย่างไร

O แล้วการร่วมจัดเวทีสัมมนาในเรื่องนครปัตตานี เป็นการแสดงบทบาทอะไรของสถาบันพระปกเกล้า?

เวทีวันนี้ (นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันหรือความจริง?) ผมมาในฐานะผู้สนับสนุน ไม่ได้ชี้นำ ดูว่ารูปแบบน่าจะเกิดได้ แต่จะเกิดภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญไทยควรจะเกิดแบบไหน เราก็เพียงแต่ให้ความรู้ความคิดเห็นเท่านั้น

O คิดว่า “นครปัตตานี” มีโอกาสเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน?

จริงๆ แล้วชื่อนั้นสำคัญไฉน จะเป็นชื่อ “นครรัฐปัตตานี” หรือ “ปัตตานีมหานคร” ผมว่าไม่สำคัญ แต่ต้องไปดูในโครงสร้างที่เรานำเสนอว่า โครงสร้างและระบบบริหารจัดการมันสอดคล้องกับวิถีชีวิตอย่างไรบ้าง

วันนี้ประชาชนในพื้นที่ เขาไม่เชื่อใจ เพราะเมื่อไรมีการปกครองที่ส่วนกลางเข้ามาครอบงำทั้งหมด มันไม่ได้มีประโยชน์ต่อคนในพื้นที่

ยกตัวอย่าง คนนอกพื้นที่จะตั้งคำถามว่า การมีเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) และอบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) ยังไม่พออีกหรือ แล้วทำไมไม่เอาตรงนี้เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่เสีย ต้องยอมรับว่าองค์กรเหล่านี้ วันนี้ถูกสั่งมาจากส่วนกลางทั้งหมด งบประมาณก็อยู่ส่วนกลาง งบให้กระจายสู่ท้องถิ่นก็ยังทำไม่ได้ทั้งหมด นี่คือปัญหา

ผมคิดว่าถ้าเกิดคนเราไม่ได้รับความเดือดร้อน เขาไม่ต้องการหรอก เช่นเดียวกับคนที่ได้รับความยุติธรรมอยู่แล้ว เขาก็ไม่ต้องการเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะนครปัตตานีหรืออะไร เพราะเขามีความสุขแล้ว แต่ในปัจจุบันนี้ชาวบ้านไม่มีความสุข เขายังเดือดร้อน

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นต่างจากหลายฝ่ายคือ เราจะไปเอาตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ หรือความหนาแน่นของประชาชน ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการตั้งเทศบาลระดับต่างๆ มาใช้กับพื้นที่นี้ไม่ได้ เพราะถึงเขาจะมีประชากรไม่หนาแน่น แต่มีความหนาแน่นเชิงอัตลักษณ์ วัฒนธรรมสูงมาก และเป็นมุสลิมถึง 85% เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์ ไทยพุทธเป็นชนกลุ่มน้อย ทำอย่างไรถึงจะอยู่ร่วมกันได้มากกว่า     

ผมยังมองเลยว่า เรื่องนี้ถ้าเผื่อขับเคลื่อนโดยชาวพุทธ อยากให้เกิดการปกครองพิเศษอย่างนี้ขึ้นมาในพื้นที่ มันน่าจะเกิดได้ง่ายขึ้น โดยมีฝ่ายมุสลิมเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงในพื้นที่นี้แล้ว คนจะถามต่อว่าจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเหตุการณ์ที่สู้รบกันอยู่มันจะจบลง เราก็รับรองไม่ได้อีกนั่นแหละ

แต่ผมเชื่อแน่ว่ามันเป็นเชื้อเริ่มต้นที่จะทำให้คนเชื่อมั่นต่อระบบของรัฐมากยิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบันนี้

O สรุปว่ารูปแบบการเมืองการปกครองที่เหมาะสมกับวิถีของชาวบ้านในพื้นที่นี้ควรเป็นลักษณะใด?

วันนี้เรื่องนครปัตตานีก็คือการปกครองตนเอง แต่รูปแบบปกครองตนเอง ถ้าถามผม ผมคงไม่พุ่งเป้าหรือฟันธงว่าจะต้องเป็นรูปแบบไหน เพราะมันต้องมาจากฐานความคิดของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ ว่าเขาต้องการรูปแบบใด แล้วรูปแบบนั้นได้ก่อตัวขึ้นมาจากการพูดคุย มีส่วนร่วมด้วยกัน จึงจะออกมาเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดและตรงกับสิ่งที่เขาอยากจะได้ แค่นี้วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ก็จะดีขึ้นเป็นลำดับแล้ว

แต่ผมผมยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังอยู่ที่นี่เหมือนเดิม แต่ต้องการรูปแบบการปกครองที่เหมาะกับวิถีชีวิตของเขา ปัญหาคือรัฐให้พวกเขาได้หรือไม่เท่านั้นเอง

อ่านแล้วมีความเห็นอย่างไรบ้าครับทั้งคำถามและคำตอบ

หมายเลขบันทึก: 326394เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2010 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ปัตตานี....พลาดมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป แล้ว....ความเห็นมีแค่นี้ละครับ ตอนนี้ก็เหมือนหยอดยารักษาแผลเน่าไปเรื่อยๆ รอวันตัดทิ้ง

ประเทศไทยทุกตารางนิ้วมีคุณค่ามากค่ะ ขอให้กำลังใจลุงเอกในการทำงานเพื่อชาติไทยของเรานะคะ

ขอให้กำลังใจในการทำงานวันนั้นได้เข้าร่วมและได้อ่านการสัมภาษณ์ฉบับนี้แล้วภูมิใจมากครับกับความตั้งใจ วันก่อนไปประชุมที่ ปปช. ก็เสนอทาง ปปช. ไปว่าอยากให้ช่วยพัฒนาพื้นที่ด้วยความจริงใจเหมือนกับที่สถาบันพระปกเกล้าเข้าไปช่วยครับ (หลานเชื่ออย่างนั้น)

  ดูแลสุขภาพด้วยครับ...

ไม่เห็นด้วยนะคะ เพราะปัญหาจะยิ่งบานปลายคะ

  • สวัสดีปีใหม่ค่ะ...ลุงเอก
  • สบายดีนะค่ะ
  • พูดยากนะค่ะ...ปัญหา 3 จ.ชายแดนใต้ มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซับซ้อน แม้แต่คนในพื้นที่ก็ยากจะเดาได้...แต่บอกได้ว่า...ประเทศไทยปกครองโดยระบบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นปะมุข ประเทศไทยควรจะมีรัฐเดียว เป็นรูปด้ามขวาน ไม่ควรจะมีการแบ่งแยก ไม่ว่าอะไรก็ตา...แต่ทำไม้ ทำไม...เพื่อนบ้านเรา หรือคนในประเทศ ก็ไม่รู้...ชอบทำให้ด้ามขวานไทยเราแหว่งอยู่เรื่อยเลย...เอ้อ ! ไม่เข้าใจจริง ๆ  
  • คิดว่าคนในประเทศ...คงอยากให้เป็นเช่นนั้น...รัฐเดียว ใจเดียว รวมเป็นหนึ่งเดียว...คือประเทศไทย ร่วมใช้มีธงไตรรงค์ผืนเดียวนะค่ะ
  • 6 ปีแล้วมั่งค่ะ...กับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังคงมีต่อไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด...เมื่อไหร่จะจบ  เมื่อไหร่จะเกม  เมื่อไหร่จะสงบ...เราได้แต่ถามว่าเมื่อไหร่ ๆ...นั่นสินะ...เมื่อไหร่กันล่ะ
  • สุดท้ายนี้...ขอให้ลุงเอกมีความสุข  สดชื่น สมหวัง สมปรารถนา มีสุขภาพแข็งแรง...สร้างสรรสิ่งดีงามตลอดไปนะค่ะ...ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ...โชคดีปีใหม่ค่ะ...ลุงเอกที่คิดถึง
  •  
  • สวัสดีค่ะคุณลุงเอก
  • มาให้กำลังใจพี่น้องชาวปัตตานี และมาขอบคุณที่มีโอกาสได้ทักทายในวันสัมมนา 
  • หลายๆคนชื่นชมผู้ดำเนินการอภิปราย หัวข้อ "การประสานเครือข่ายเพื่อพัฒนาสังคม และประชาธิปไตย"ค่ะ
  •  
  •  

Pขอบคุณ อ.เอื้องแซะที่เข้ามาทักทายและให้กำลังใจ ยังจำลุงเอกได้ ขอบคุณทุกๆกำลังใจที่ให้สำหรับชาวปัตตานี  ที่บ้านได้ฟังทางวิทยุตอนดำเนินการอภิปราย บอกฟังแล้วดุจัง  ทำเหมือนประธานสภาเลย  แท้จริงแล้วเป็นการเรียนรู้ประชาธิปไตยที่ทุกคนต้องรู้สิทธิและหน้าที่ของตัวเองครับ

5.

Pอ้อยควั้น ลุงเอกมาตอบบันทึกนี้ช้าด้วยตั้งใจให้คนอ่านได้คิดครับ  ไม่อยากทำตามกระแส  สวัสดีปีใหม่ที่ผ่านมา  ลุงเอกสบายดีครับ
ปัญหา 3 จ.ชายแดนใต้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซับซ้อน จริงๆ 
แน่นอนที่ประเทศไทยยังคงปกครองในระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นปะมุข  จะสงบจบได้ต้องต้องเปิดใจกันมากๆครับ

4.

P คุณกระดังงา รับไว้ครับกับการไม่เห็นด้วย  ทุกปัญหามีทางออกครับ

Pแก้ว..อุบล ครับทุกตารางนิ้วมีคุณค่า คงไม่มีใครเอาอะไรไปได้ครับ

Pคุณฝนแสนห่าขอโทษด้วยที่ตอบช้า ปัตตานีก็ยังคงเป็นปัตตานีและวิถีเขาครับ

ปัญหา 3 จว.ภาคใต้เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งการคมนาคม การค้าขายเศรษฐิจของบ้านเมือง การพัฒนาพื้นที่ ฯลฯ สาเหตุที่ปัญหา สามจังหวัดภาคใต้ไม่จบไม่สิ้นนั้นสิ่งหนึ่งที่ดิฉันสังเกตุเห็นคือ นโนบายการแก้ไขปัญหา หน่วยงานราชการไม่วางนโยบายการปราบปรามของแต่ละหน่วยงานของราชการเข้าด้วยกันแต่กลับยึดถือนโยบายของหน่วยงานตนเองเป็นใหญ่ รัฐมีการแก้ไขปัญหาอย่างใจเย็นมองไม่เห็นความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ รัฐกลับตั้งสมมติฐานของปัญหาอย่างผิดๆ ตั้งสมมติฐานเป็นการชี้นำกลับไม่สร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชน ที่สำคัญรัฐต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดความไว้วางใจระหว่างรัฐบาลและประชาชนชาวมุสลิมในภาคใต้ เพื่อที่จะให้เกิดความศรัทธา ทำอย่างไรรัฐจึงจะสามารถสร้างฐานทางสังคม ให้ประชาชนศรัทธา ไว้วางใจ สามารถเปิดปาก ให้ข้อมูล และร่วมมือกับทางราชการได้ สิ่งดังกล่าวเป็นฐานทางสังคมที่สำคัญที่รัฐหายไปมันทำให้อำนาจรัฐหายไปด้วย อีกฝ่ายเลยใช้อำนาจบาตรใหญ่เพราะไม่เกรงใจในอำนาจรัฐ เหตุการณ์ไม่ดีต่างๆจึงบังเกิดขึ้น เหมือนที่ลุุงเอกบอกว่าสามจังหวัดภาคใต้มีความเป็นอัตลักษณ์สูงมาก ดังนั้นพรรคการเมือง หรือรัฐบาลกล้าไหมที่จะเป็นเจ้าภาพในการพูดคุย เสวนาแสวงหาจุดร่วมบนความแตกต่างเพื่อที่จะหารูปแบบและโครงสร้างที่ตรงกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ การแก้ปัญหาอัตถประโยชน์นิยมจะต้องร่วมมือกัน และช่วยกันหลายด้าน ดิฉันเชื่อมั่นอย่างหนึ่งเหมือนกับลุงเอกที่ว่า คนสามจังหวัดจะยังอยูที่นี่เหมือนเดิม แต่เขาต้องการรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของเขามากกว่า รัฐอย่านิ่งนอนใจ ความหายนะกำลังรออยู่เบื้องหน้าหากไม่หาทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน วิธีที่ยั่งยืนคือวิธีที่รัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารก็สามารถสานต่อนโยบายได้ไม่ต้องไปนับหนึ่งใหม่

ลุงเอก สบายดีไหมค่ะ ช่วงหลังๆ ได้มาปัตตานีบ้างไหม?

นักข่าวสาว (แวลีเมาะ ปูซู)

รายงานตัวค่ะ

ปล.โอกาสหน้าอาจจะได้มีโอกาสสัมภาษณ์อีกนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท