พุทธเศรษฐศาสตร์ : หลักการครอบครองแบบองค์รวม (ตอนที่ ๓)


“ในการแก้ปัญหาวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้นำหลักเศรษฐศาสตร์มาจากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่สอนเรื่องการพึ่งตนเองและทางสายกลาง ซึ่งพระองค์ทรงเรียกว่า"เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นแผนการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจเท่านั้นแต่ยังเป็นแผนพัฒนาแบบยั่งยืนที่ขยายออกไปในการที่เศรษฐกิจจะหมุนต่อไปด้วยกัน จนพบกับความต้องการในระดับที่พอเพียง มากกว่าจะให้ระดับความมั่งคั่งที่มีความโลภเป็นตัวขับเคลื่อนเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจที่ประชาชน และประเทศต่างๆ พอใจกับระดับความมั่งคั่งที่มีเหตุผล และความมั่งคั่งนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นจากความเสียหายของผู้อื่น ทุกคนมีพอที่จะยังชีพและพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนชาวพุทธทุกระดับ ตั้งแต่ระดับส่วนตัว ชุมชน และระดับชาติ ที่จะให้คืนกลับมาหาคุณค่าทางพระพุทธศาสนา และให้มีกิจกรรมและนโยบายทางเศรษฐกิจตั้งอยู่บนคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งในการที่ทรงปฏิบัติเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในโลกสมัยปัจจุบัน”

พุทธเศรษฐศาสตร์ : หลักการครอบครองแบบองค์รวม

เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ  มีหลักการคือการรู้จักประมาณในการบริโภค หมายถึง ความพอดีที่ให้คุณภาพของชีวิตมาบรรจบกับความพึงพอใจในคำสอน แสดงข้อปฏิบัติของพุทธศาสนาโดยเฉพาะพระสงฆ์ เมื่อจะบริโภคอะไรก็ต้องพิจารณาเหตุผล หรือความมุ่งหมายของการบริโภค  ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือไม่เบียดเบียนชีวิตทั้งปวง หมายถึงระบบชีวิตทั้งหมดที่สัมพันธ์กันในสภาพแวดล้อมซึ่งประกอบด้วยมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม เศรษฐศาสตร์แนวพุทธมีความสอดคล้องกับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยอย่างครบวงจร ซึ่งต้องเป็นโดยสัมพันธ์ด้วยดีกับองค์ประกอบทุกอย่างในระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ องค์ประกอบทั้ง ๓ ในการดำรงอยู่ของมนุษย์จะต้องประสานเกื้อกูลกัน ดังนั้น พฤติกรรมในทางเศรษฐกิจของมนุษย์จะต้องเป็นไปในทางที่ไม่เบียดเบียนตน คือ ไม่ทำให้เสียคุณภาพชีวิตของตนเอง แต่ให้เป็นไปในทางที่พัฒนาคุณภาพชีวิต เสริมคุณภาพชีวิต ที่เป็นการไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือ ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม และไม่ทำให้ระบบธรรมชาติแวดล้อมเสียคุณภาพ  หลักการมีชีวิตอย่างพอเพียงตามแนวทางพุทธเศรษฐศาสตร์ได้ทำให้สังคมมากมายอยู่รอดและเจริญรุ่งเรืองมาได้หลายศตวรรษ  สังคมเหล่านั้นเคารพข้อจำกัดของธรรมชาติ  และข้อจำกัดนี้ทำให้คนรู้จักจำกัดการบริโภค เมื่อสังคมสัมพันธ์กับธรรมชาติบนพื้นฐานของความพอเพียง ธรรมชาติจะดำรงอยู่ในรูปของสมบัติส่วนรวม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่เป็นหลักที่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย พระธรรมโกศาจารย์[๑]ได้แสดงปาฐกถาในเรื่องนี้ว่า

“ในการแก้ปัญหาวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้นำหลักเศรษฐศาสตร์มาจากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่สอนเรื่องการพึ่งตนเองและทางสายกลาง ซึ่งพระองค์ทรงเรียกว่า"เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นแผนการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจเท่านั้นแต่ยังเป็นแผนพัฒนาแบบยั่งยืนที่ขยายออกไปในการที่เศรษฐกิจจะหมุนต่อไปด้วยกัน จนพบกับความต้องการในระดับที่พอเพียง มากกว่าจะให้ระดับความมั่งคั่งที่มีความโลภเป็นตัวขับเคลื่อนเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจที่ประชาชน และประเทศต่างๆ พอใจกับระดับความมั่งคั่งที่มีเหตุผล และความมั่งคั่งนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นจากความเสียหายของผู้อื่น ทุกคนมีพอที่จะยังชีพและพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนชาวพุทธทุกระดับ ตั้งแต่ระดับส่วนตัว ชุมชน และระดับชาติ ที่จะให้คืนกลับมาหาคุณค่าทางพระพุทธศาสนา และให้มีกิจกรรมและนโยบายทางเศรษฐกิจตั้งอยู่บนคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งในการที่ทรงปฏิบัติเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในโลกสมัยปัจจุบัน”

 ระบบเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวิถีของธรรมชาติ ระบบที่นักคิดไทยหลายคนขนานนามว่า "พุทธเศรษฐศาสตร์" เป็นระบบเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนรุ่นหลังรอดพ้นจากหายนะได้ เมื่อบุคคลดำรงอยู่ในวิถีแห่งพุทธ  มีความสุขที่เกิดจากความสำเร็จตามเป้าหมาย   ทำให้บุคคลไม่ไปเบียดเบียนสังคม ไม่ก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่ชีวิตอื่น แก่สังคม หรือทำให้ชีวิต จิตใจ และสังคมเสื่อมโทรมตกต่ำ เกิดเป็น “สีลสามัญญตา คือความเป็นผู้มีศีลเสมอกัน” เพราะบุคคลได้พัฒนาความประพฤติภายนอกให้สุจริต พัฒนาจิตใจให้ตั้งอยู่ในคุณธรรม จึงมีการกระทำตรงตามคำพูด คือ ทำเช่นไร พูดเช่นนั้น พูดเช่นไร ทำเช่นนั้น นอกจากนี้แล้ว ความอิ่มเอมในความสุขเช่นนี้ ยังกินระยะเวลายาวนานกว่าความสุขที่เกิดจากการบริโภค จึงทำให้ความต้องการบริโภคเพื่อตนเองลดลงไปตามลำดับ และมีความประสงค์จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์มากขึ้น เกิดเป็น “สาธารณโภคี” ด้วยบุคคลมีแนวโน้มที่จะใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดเพื่อให้เกิดความสงบสุขที่ยืนนานที่สุด จึงมีทรัพยากรเหลือพอแก่คนส่วนใหญ่ ทั้งยังมีความยินดีที่จะช่วยเหลือแบ่งปันปัจจัยในการดำรงชีวิตส่วนเกินให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่าในสังคม ในที่สุดความอดทนอดกลั้นจากแรงผลักดันของตัณหาในตอนแรกจะเปลี่ยนไปเป็นความสงบเย็นอย่างแท้จริง เมื่อบุคคลได้มองเห็นเหตุปัจจัยในสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องว่ามีคุณค่าหรือก่อให้เกิดประโยชน์เพียงใด มองเห็นผลแห่งการกระทำที่ปรากฏเป็นความคุ้มค่ามากกว่าความคุ้มทุน คือ ความสุขของสังคม นอกเหนือจากความสุขของแต่ละปัจเจกบุคคล จึงเกิด“ทิฏฐิสามัญญตา” หรือความเห็นที่เสมอกันในการที่จะสร้างสังคมพระศรีอาริย์ร่วมกัน ทำให้เกิดสภาพสังคมที่ร่ำรวยความสุขรอบด้าน ทั้งรวยภราดรภาพที่ประสานใจเข้าหากันฉันท์พี่น้อง รวยมิตรภาพที่มีแต่ความปรารถนาดีต่อกัน พร้อมจะให้อภัยซึ่งกันและกัน รวยทรัพยากรแบ่งปันที่ไม่จำเป็นต้องกอบโกยไปเป็นสมบัติส่วนตัว อันถือเป็นนิโรธสัจจ์ในบทความนี้  

การเข้าใจตนเอง : หลักการครอบครองพื้นฐานในระดับปัจเจก

 ในสังคมที่นับวันยิ่งมีแต่แนวโน้มการเมินเฉยในเรื่องของศีลธรรม อันเป็นสัญญาณถึงความเสื่อมถอยของรากฐานทางจิตใจอย่างถึงที่สุด การบูชา "เงิน"  "การพัฒนาทางวัตถุ" "ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ" ได้พาสังคมโลกมาสู่จุดที่มันควรจะเป็นอย่างที่ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้ การไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักพอ ขาดความละอาย ไร้หิริโอตตัปปะ เป็นสิ่งที่เราทุกคนจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ได้สะท้อนถึงวิกฤตการณ์ทางจริยธรรมที่ต้องการการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงภายใน (inner transformation) ในระดับปัจเจกบุคคลอย่างเร่งด่วนที่สุด ถึงเวลาที่เราทุกคนควรจะหันกลับมามองตนเอง ร่วมสร้างปรากฏการณ์ของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายใน ใส่ใจกับรากฐานทางปัญญา ให้คุณค่าทางศีลธรรมและจริยธรรม จนเกิดเป็นการปฏิวัติทางจิตวิญญาณของสังคมอย่างยั่งยืน[๒] การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณในทางพุทธศาสนานั้นก็คือ การพัฒนาปัญญาให้สามารถเข้าใจตามสภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับตัวตน และสามารถออกจากทุกข์ด้วยการจัดการกับรากเหง้าที่แท้จริง อันได้แก่ความต้องการมีตัวตนที่แท้จริงยั่งยืน ซึ่งความต้องการดังกล่าวนั้นเป็นสาเหตุที่แท้จริงของความทุกข์ และได้ถูกลัทธิบริโภคนิยม หรือทุนนิยมโลกาภิวัตน์ปิดบังไว้  ทำการเกิดการยึดติดและครอบครองอย่างเหนียวแน่น การเข้าใจตนเองโดยการกอบกู้สติ สัมปชัญญะกลับคืนดังคำกล่าวที่ว่า “หากรู้จักใจ ก็เข้าใจทุกสิ่ง” จะทำให้มนุษย์มีเกาะป้องกัน ทั้งนี้พลังที่ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความเข้าใจตนเอง  มี ๓ ด้าน คือ ศรัทธา เป็นพลังแห่งความเชื่อมั่นในทางพระพุทธศาสนาได้แก่ความเชื่อมั่นในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และความเชื่อมั่นในคำสอนของพระองค์ว่าสามารถนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้จริง เมื่อเกิดความเชื่อมั่นเช่นนั้น ย่อมประพฤติตนตามหลักคำสอนโดยไม่ลังเล  พลังด้านที่สอง คือ ปัญญา เป็นพลังแห่งความฉลาดรู้เท่าทันปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว และความฉลาดในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาถือว่า พลังแห่งปัญญานั้นสามารถปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระและพ้นไปจากปัญหา  พลังด้านที่สาม คือ “เมตตา” เป็นพลังแห่งความรัก ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์ เป็นความปรารถนาดีในการเสริมสร้างความสุข ยินดีที่จะให้อภัยในความผิดพลาดของตนเองและผู้อื่น และพร้อมที่จะให้โอกาสแก้ตัวนอกจากนี้พลังแห่งความเมตตายังก่อให้เกิดการทำประโยชน์สุขโดยไม่หวังผลตอบแทน  

 

จริยธรรมการครอบครอง:  ปัญหาอทินนาทานเชิงโครงสร้าง

เมื่อกล่าวถึงการครอบครองย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาเชิงจริยธรรมอันเกิดจากการครอบครองที่ปรากฎเป็นข่าวในปัจจุบันมีอยู่อย่างมากมาย เช่น ข่าวเรื่องการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย  ข่าวเรื่องการขโมยสิขสิทธิ์  ข่าวการบุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์  เหล่านี้ล้วนมีที่มาจากการที่มนุษย์ละเมิดศีลที่เนื่องด้วยการครอบครอง นั่นคือ ศีลข้อที่ ๒ ของชาวพุทธ  ซึ่งในครั้งพุทธกาลเป็นสังคมเกษตรกรรม ทรัพยากรมีอยู่อย่างมากมาย ปัญหาเรื่องอทินนาทานจึงไม่สลับซับซ้อนดังเช่นปัจจุบัน การลงโทษผู้ที่ละเมิดศีลข้ออทินนาทาน ก็คล้อยตามกฎหมายบ้านเมืองในเวลานั้น เช่น หากภิกษุถือเอาทรัพย์มีราคาเกินห้ามาสกต้องอาบัติปาราชิก เป็นต้น หรือหากภิกษุจะตัดไม้ที่เป็นของสาธารณะต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงเคารพกติกาของบ้านเมือง ซึ่งแท้จริงผู้นำของบ้านเมืองอาจจะไม่อยู่ในทศพิธราชธรรมก็เป็นได้ แต่เมื่อเป็นกติกาของสังคมก็ต้องปฏิบัติ  กล่าวถึงยุคปัจจุบันหากกล่าวถึงทรัพยากรทางสังคม   ใครควรจะเป็นผู้ครอบครอง  หรือใครจะทำหน้าที่แบ่งปันอย่างยุติธรรม  ในโลกที่การครอบครองทรัพยากร ไม่ได้หมายถึงเพียงการถือสิทธิความเป็นเจ้าของ ในการดูแล เก็บรักษา แต่เป็นการครอบครองสิทธิที่สามารถกระทำต่อสิ่งที่ครอบครองโดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของ ทรัพยากรเหล่านี้อาจอยู่ในมือของกลุ่มองค์กร บุคคลใดก็ได้ ส.ศิวรักษ์ได้ให้ทัศนะว่า  “โครงสร้างทางเศรษฐกิจของโลก ทำให้มีการรวมโภคทรัพย์ไว้เป็นกระจุกๆ ดังเช่นรวมทุนไว้เป็นกระจุกๆ อย่างมหาศาล   ทรัพยากรต่างๆ ก็อยู่ใต้เบื้องบาทของเจ้าใหญ่นายโตที่คุมบรรษัทข้ามชาติ โดยไม่ยอมให้มหาชนได้มามีส่วนเฉลี่ยกับทรัพย์สิน ทุน หรือทรัพยากรนั้นๆ เอาเลย  และถ้าเราไม่เข้าใจว่านี่คืออทินนาทานแบบใหม่แล้วไซร้ พุทธศาสนาก็ไม่มีความหมายกับโลกสมัยใหม่ โดยขอให้สำเหนียกไว้ด้วยว่า ถ้าชาวบ้านตัดต้นไม้ ย่อมถูกจับ เข้าไปอยู่ในป่าก็ถูกไล่  แต่ถ้านายทุนขุนศึกที่สมคบกับบรรษัทข้ามชาติตัดไม้ทำลายป่ารุกป่าเข้าไปทำรีสอร์ตต่างๆ ย่อมกระทำได้ แม้จะผิดกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่ใช่ประเด็น โดยที่กิจกรรมที่ว่ามานี้ผิดศีลข้อไหน มีใครสนใจบ้างหรือเปล่า” [๓]  ประเด็นนี้สอดคล้องกันแนวคิดของนิธิ  เอียวศรีวงศ์[๔] ที่กล่าวว่า “เพราะเหตุผลที่ว่าในศาสนาพุทธแบบไทยสมัยก่อนนี้ เน้นในเรื่องของปัจเจกค่อนข้างมากจึงไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญว่า การกระทำของปัจเจกสัมพันธ์กับสังคมอย่างไร” ซึ่งนิธิ เห็นว่านั่นทำให้ไม่เกิดการประยุกต์เอาหลักธรรมของพุทธศาสนามาใช้เพื่อสังคม หรือสามารถอธิบายปัญหาหรือแก้ไขปัญหาที่อาจเป็นเพียงปัญหาระดับปัจเจก  แต่ได้ขยายผลไปถึงระดับสังคมที่มีความซับซ้อนได้  นี่เป็นการสะท้อนการช่วงชิงพื้นที่ทางปัญญาของสังคมประการหนึ่ง เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปโดยขับเคลื่อนของบริโภคนิยม และส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมหลายประการ แต่พุทธศาสนากลับไม่สามารถอธิบาย หรือให้แนวทางสำหรับทางออกจากปัญหาสังคมที่ซับซ้อนได้  โดยเฉพาะปัญหาเรื่องอทินนาทานที่มีความละเอียดอ่อน  ละเมิดง่าย สอดคล้องกับแนวคิดในอทินนาทานสูตร   ว่าด้วยสัตว์ผู้เว้นอทินนาทานมีน้อยว่า  “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ผู้งดเว้นจากอทินนาทาน   มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ผู้ไม่งดเว้นจากอทินนาทาน มีมากกว่า ฯลฯ.” [๕]    ในพระพุทธศาสนา  พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อนี้ เป็นอันทรงรับรองความมีทรัพย์ยึดครองอยู่ จึงห้ามมิให้ลักทรัพย์ของกัน และทรงสอนให้ประกอบอาชีพแสวงหาทรัพย์ในทางที่ชอบ เมื่อได้มาก็ให้รักษาไว้ให้ดี และใช้จ่ายให้พอสมควรแก่กำลัง ส่วนของสงฆ์นั้น เกี่ยวแก่พระภิกษุสงฆ์เมื่อมีวัดขึ้น ก็ต้องมีของกลางสำหรับวัด เรียกว่าเป็นของสงฆ์ สำหรับวัดเป็นวัดๆ ไป เช่นเดียวกับในฝ่ายอาณาจักรก็มีของหลวง ขององค์การ ของสมาคมนั้นๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติให้ต้องรวมของบุคคลเข้าเป็นของสงฆ์ และในคำสอนที่ให้สละบริจาค ก็สอนให้รู้จักเลือกให้ มิได้สอนให้สละเรื่อยไป แต่เมื่อจะออกบวชต้องสละสมบัติฆราวาสอยู่เองและต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของผู้บวช เป็นคฤหัสถ์ก็ควรปฏิบัติตามฆราวาสธรรมธรรมคู่กับศีลข้อที่๒คือสัมมาอาชีวะความเลี้ยงชีพในทางที่ชอบนอกจากนี้ว่าเครื่องอุปโภคกิจการเพื่อให้มีของกินของใช้มา เคยเรียกว่าโภคกิจ แล้วเปลี่ยนเรียกว่าเศรษฐกิจ เป็นเรื่องปากท้อง หรือเป็นเรื่องยังชีวิต เลี้ยงชีวิต คือการอาชีพ

พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร ได้นำเสนอประเด็นอทินนาทานเชิงโครงสร้างไว้ในบทความเรื่อง “แนวคิดและขบวนการพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม การปฎิวัติพระพุทธศาสนามาแก้ปัญหาสังคมหลังสมัยใหม่” โดยกล่าวว่ากลุ่มเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ ได้ตีความศีลข้อที่ว่าด้วยการลักทรัพย์ (อทินนาทาน) ให้ครอบคลุมปัญหาทางจริยธรรมของสังคมสมัยใหม่ ดังนี้

๑) อทินนาทานรูปของการขโมยโดยตรง : ได้แก่ การขโมยหรือการละเมิดทรัพย์ของคนอื่นโดยตรงเฉพาะทรัพย์สินประเภทที่จับต้องได้หรือเคลื่อนย้ายได้นี้เป็นความหมายของศีลข้ออทินนาทานแบบเดิม ซึ่งเหมาะสำหรับอธิบายปัญหาจริยธรรมในสังคมที่ไม่ซับซ้อนอย่างสังคมเกษตรกรรม เป็นต้น

๒) อทินนาทานในรูปของทรัพย์สินทางปัญญา : ได้แก่อทินนาทานอันเกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาของคนอื่นสมัยปัจจุบันถือว่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง เช่นการคัดลอกทรัพย์สินที่บรรจุในแผ่นซีดี-รอมไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ดนตรี เพลง หนัง หรือข้อมูลทางวิชาการอื่นๆ เช่น ความรู้ ภูมิปัญญาหรือการค้นพบใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์  

๓) อทินนาทานในรูปของการเล่นหุ้น : ได้แก่ อทินนาทานอันเกิดจากการเล่นหุ้นแบบเอาเปรียบคนอื่น เช่นการปั่นราคาหุ้น การปล่อยข่าวลือเพื่อให้ราคาหุ้นขึ้นหรือตก รวมทั้งการโจมตีค่าเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไรจากการค้าเงิน  

๔) อทินนาทานในรูปของการล้วงข้อมูล : ได้แก่ อทินนาทานอันเกิดจากการขโมยหรือการล้วงข้อมูลลับของคนอื่นทางอินเทอร์เนท เช่น พวกแฮคเกอร์(Hacker) ที่เจาะเข้าไปในเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อล้วงข้อมูลลับของคนอื่น

๕) อทินนาทานในรูปของความไม่ยุติธรรมทางเศรษฐกิจ : ได้แก่ อทินนาทานอันเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ไม่กระจายรายได้แก่ประชาชนอย่างยุติธรรม เช่น การเอื้อประโยชน์แก่คนรวยจำนวนน้อย หรือการพัฒนาที่ดึงเอาทรัพยากรท้องถิ่นเข้าส่วนกลาง โดยที่คนในท้องได้ไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรนั้น กรณีนี้ถือว่าเป็นการละเมิดทรัพย์ของประชาชนส่วนรวม หรือแม้แต่การทำธุรกิจที่เอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน ก็ถือว่าเป็นการละเมิดผลประโยชน์ที่พวกเขาควรจะได้เช่นเดียวกัน

๖) อทินนาทานในรูปของการครอบครองทรัพยากรของประเทศ : ได้แก่ อทินนาทานอันเกิดจากครอบครองทรัพยากรส่วนร่วมของประเทศ เช่น นักการเมือง นักธุรกิจ หรือผู้มีอิทธิพลเข้าบุกรุกพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แม่น้ำลำธาร ภูเขา ทะเล แล้วกอบโดยผลประโยชน์จากพื้นที่นั้นแต่ผู้เดียว  

๗) อทินนาทานในรูปของการปล่อยเงินกู้ : ได้แก่ อทินนาทานอันเกิดจากการที่ธนาคารปล่อยเงินกู้แล้วเก็บดอกเบี้ยสูงอย่างไม่ยุติธรรม รวมทั้งการนำเงินฝากของประชาชนไปปล่อยกู้แก่ธุรกิจที่ผิดศีลธรรม เช่น ปล่อยกู้ให้แก่บริษัทค้าอาวุธสงคราม บริษัทผลผลิตสิ่งเสพติดเป็นต้น ถือว่าจัดอยู่ในข่ายของการผิดศีลข้อที่ ๒ เช่นเดียวกัน[๖]  

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีการตีความอทินนาทานตามความหมายใหม่ แต่สิ่งที่ยังขาดก็คือเกณฑ์การวินิจฉัยที่ชัดเจน โดยเฉพาะหากพิจารณาในระดับโครงสร้างที่เป็นกลุ่มบุคคลว่าใครคือเจ้าของทรัพย์ ใครคือผู้กระทำล่วงละเมิด  อีกทั้งแต่ถ้าหากยังไม่ได้รับการรับรองจากพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปแล้วก็ยากที่จะถูกนำไปกล่าวอ้างเพื่อก่อเกิดจิตสำนึกใหม่ โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาเถรวาทที่ยังคงยึดมั่นตามตัวบทในคัมภีร์อย่างเหนียวแน่นย่อมรับไม่ได้กับการตีความแนวใหม่  หากคณะสงฆ์และชาวพุทธฝ่ายเถรวาททุกประเทศร่วมกันตีความคำสอนใหม่เพื่อรองรับปัญหาของโลกยุคใหม่  แต่ยังคงสาระเดิมไว้โดยมุ่งประโยชน์สูงสุดของสังคมเป็นสำคัญเชื่อว่าจะเป็นมรรคสัจจ์ที่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์โลกในยุคปัจจุบันได้

 

สรุป  

            อวิชชา คือความไม่รู้ ทำให้มนุษย์เห็นไปว่ามีตัวตน มีอัตตาอันยิ่งใหญ่ เป็นหนึ่ง เป็นใหญ่ในโลก ครองโลก ครอบฟ้า ครองสัตว์ทั้งหลาย สามารถเข้าไปจัดการกับชีวิตของสัตว์อื่นได้สารพัดอย่าง อันที่จริงในจักรวาลนี้หรือจักรวาลไหนก็ตาม ก็ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกชีวิตล้วนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่อาศัยกันและกัน เป็นเหตุเป็นผลเป็นปัจจัยต่อกัน ไม่มีใครใหญ่กว่าใครไม่มีใครสำคัญกว่าใคร ทุกอย่างทุกชีวิต ต้นไม้ทุกต้น แม่น้ำลำธารสัตว์ทุกชนิดทุกตัว มนุษย์ทุกคน ล้วนเป็นองค์ประกอบเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ในธรรมชาติ  พุทธศาสนาไม่ยกย่องการเป็นอยู่อย่างแยกกันเป็นส่วนๆ อย่างตัวใครตัวมัน หากเน้นในการเป็นอยู่อย่างชุมชนที่บรรสานสอดคล้องกันภายในแต่ละคน และภายในชุมชน ตลอดจนโยงใยถึงธรรมชาติที่แวดล้อมชุมชนอย่างไม่ทำลายล้าง หากเกื้อกูลกัน พึ่งพากัน[๗]  การครอบครอง จึงนับเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับความเป็นไปในธรรมชาติเพราะที่จริงไม่มีอะไรครองอะไรได้ ไม่มีใครครอบครองใครได้ การเข้าไปครอบครอง ก็คือการเข้าไปยึด เข้าไปถือเอาว่าเป็นของเรา เป็นสิ่งที่หวงแหนอยากมีไว้ อยากยึดเอาไว้เป็นของตน บุคคลใดมีความหวงแหนมาก ครอบครองอะไรต่ออะไรมากมาย ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ก็ย่อมหนักและอัดแน่นไปด้วยอัตตาตัวตน แบกสิ่งต่างๆไว้ หวงแหนยึดเอาไว้ ในแง่ของพุทธศาสนาไม่เห็นว่าการมีมากเป็นของดี โดยพุทธองค์ตรัสว่าเงินนั้นเปรียบกับอสรพิษ อยู่กับเงินจึงต้องมีปัญญาให้มากๆ พระเยซูสอนว่าดันอูฐให้เดินลอดรูเข็มเย็บผ้ายังง่ายกว่าดันคนรวยไปสวรรค์  หากแต่เห็นว่าการเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย  อย่างรู้ตัวทั่วพร้อม อย่างลดความมั่งมี หรือเลิกละอะไรต่างๆ ในทางความโลภโกรธหลงว่ามีค่าสูงส่งยิ่งกว่าอะไรอื่น แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าชาวพุทธที่ยากจนเป็นชาวพุทธที่แท้เสมอไปก็หาไม่ แต่หลักเมตตาธรรมในพุทธศาสนาเป็นคุณธรรมที่สำคัญมาก และเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานจนขนาดกล่าวได้ว่า “ท่านจะสามารถร่ำรวยได้ก็ต่อเมื่อท่านสามารถทนต่อภาพของความทุกข์ยากที่อยู่ต่อหน้าท่านได้เท่านั้น หากท่านไม่สามารถทนทานได้ ท่านจะต้องสละกรรมสิทธิ์ของท่านเสีย”  มีคำสอนเกี่ยวกับการดำรงชีวิตแบบสันโดษ และการกำจัดขอบขีดความต้องการของบุคคล  จุดประสงค์ของคุณธรรมข้อนี้ ก็เพื่อให้มนุษย์มีเวลามากขึ้นที่จะเอาใจใส่กับความเจริญเติบโตทางจิตวิญญาณของตัวเอง และบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น หากมนุษย์มัวแต่คิดและทำงานเพื่อสะสมความร่ำรวยให้ตัวเองเพียงถ่ายเดียว และไม่รู้ว่าจะหยุดสะสมเมื่อไร นั่นไม่ใช่ความสันโดษ และไม่ใช่แนวทางของพุทธศาสนา

 


[๑]  พระธรรมโกศาจารย์.  ปาฐกถา เรื่อง “พระพุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยปัจจุบัน”  ณ เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา, ๒๕๔๗.

[๒]  ดูรายละเอียดใน   วิจักขณ์ พานิช.  ปฏิวัติจริยธรรมทางสังคมจากภายใน.  http://www.budpage.com/vijak09.shtml.

[๓]  ส.ศิวรักษ์. สร้างสรรค์สันติประชาธรรมให้เป็นจริง. พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพมหานคร: บริษัท เฟื่องฟ้า พริ้นติ้ง จำกัด, ๒๕๔๕) หน้า  ๒๕.

 [๔] นิธิ เอียวศรีวงศ์. บทสนทนาเรื่องพุทธศาสนากับสังคม :  วิกฤตพุทธศาสนากับสังคมไทย.  http://www.geocities.com/miduniv/newpage23.htm.

 [๕]  สํ. มหา.(ไทย)  ๑๙/๑๑๔๒/๖๔๔.

[๖] ดูรายละเอียดเพิ่มเติม พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร. แนวคิดและขบวนการพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม การปฎิวัติพระพุทธศาสนามาแก้ปัญหาสังคมหลังสมัยใหม่    http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999574.html.

[๗]  ส.ศิวรักษ์ . สร้างสรรค์สันติประชาธรรมให้เป็นจริง. พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพมหานคร: บริษัท เฟื่องฟ้า พริ้นติ้ง จำกัด, ๒๕๔๕) หน้า  ๔๐-๔๑.

หมายเลขบันทึก: 326388เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2010 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท