แนวคิดการครอบครองทรัพยากรในพระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๒)


แนวความคิดเรื่องการครอบครองแบบพุทธ จึงเป็นการครอบครองแบบยืมใช้ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ของๆ เรา ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นหรือครอบครองไว้แต่เพียงผู้เดียว เมื่อมีมากพอแล้วก็ทำการเฉลี่ยแบ่งปัน เพราะหากเข้าไปครอบครองสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้า เราก็จะถูกสิ่งนั้นครอบครองเราด้วยเช่นกันเพราะการครอบครองเป็นปฏิสัมพันธ์ของสิ่งสองสิ่งที่มีอิทธิพลต่อกัน ฉะนั้นหากเราไม่อยากถูกสิ่งต่างๆ เข้าครอบครอง พุทธศาสนาจึงสอนให้ละวาง หรือปล่อยวาง เป็นการไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นอัตตาตัวเอง ให้พิจารณาสิ่งต่างๆเป็นอนัตตา แนวคิดนี้จึงขัดแย้งกับหลักการครอบครองทางตะวันตกอย่างสิ้นเชิง ที่มุ่งการครอบครองเป็นเป้าหมายหลักของชีวิต

แนวคิดการครอบครองทรัพยากรในพระพุทธศาสนา  

เมื่อพิจารณาแนวความคิดเรื่องการครอบครองในพระพุทธศาสนาจะพบสาเหตุ(สมุทัยสัจจ์) ที่สามารถอธิบายปรากฎการณ์แนวคิดการครอบครองแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ดังที่ปรากฏเรื่องราวของการกักตุนส่วนเกิน เป็นต้นเหตุแห่งวิกฤตการณ์ต่างๆตามมาดังนี้  “ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่งเกิดความเกียจคร้านขึ้น จึงได้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ เราช่างลำบากเสียนี่กระไร ที่ต้องไปเก็บข้าวสาลีมาทั้งในเวลาเย็นสำหรับอาหารเย็น ทั้งในเวลาเช้าสำหรับอาหารเช้า อย่ากระนั้นเลย เราควรไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคทั้งเย็นทั้งเช้าคราวเดียวเถิด ต่อแต่นั้นมาสัตว์ผู้นั้นก็ไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้ เพื่อบริโภคทั้งเย็นทั้งเช้าในคราวเดียวกัน”[1]   นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการครอบครองอันเกิดจากความเกียจคร้านแล้วเริ่มต้นการสะสมกักตุน อันเป็นอกุศลธรรมฝ่ายโลภะ   ข้อความต่อมาว่า “เมื่ออกุศลธรรมปรากฏ ข้าวสาลีของพวกเราจึงมีรำห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกขึ้นอีก ความพร่องได้ปรากฏ ให้เห็นจึงได้มีข้าวสาลีเป็นหย่อม ๆ ทางที่ดี เราควรแบ่งข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกันเถิด” ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงพากันแบ่งข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกัน (ถือครองที่ดิน)[2]  การครอบครองอย่างชอบธรรมได้เกิดขึ้นโดยการยินยอมพร้อมใจของคนทั้งหลาย

ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่งมีนิสัยโลภ รักษาส่วนของตนไว้แล้ว ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ให้มาบริโภค คนทั้งหลายจับเขาได้ จึงกล่าวว่า “คุณ คุณทำกรรมชั่วที่รักษาส่วนของตนไว้แล้ว ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ให้มาบริโภค คุณอย่าทำกรรมชั่วอย่างนี้อีก” สัตว์นั้นก็รับคำแล้ว (อทินนาทาน)    แม้ครั้งที่ ๒   แม้ครั้งที่ ๓ ก็ยังทำเช่นนั้น คนเหล่าอื่น ใช้ฝ่ามือบ้าง ก้อนดินบ้าง ท่อนไม้บ้าง ทำร้าย  ในเพราะเรื่องนั้นเป็นเหตุ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จึงปรากฏ การครหา จึงปรากฏ การพูดเท็จจึงปรากฏ (มุสาวาท) การถือทัณฑาวุธจึงปรากฏ (ปาณาติบาต)[3]   ข้อความนี้ชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของความโลภนำมาซึ่งการทำอทินนาทาน และเป็นสาเหตุแห่งอกุศลธรรมอื่นๆ อีก

ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงได้ประชุมกันปรับทุกข์กันว่า “ท่านผู้เจริญ บาปธรรมปรากฏในหมู่สัตว์แล้ว คือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักปรากฏ การครหาจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏ การถือทัณฑาวุธจักปรากฏ ทางที่ดี พวกเราควรสมมติ (แต่งตั้ง) สัตว์ผู้หนึ่ง (นักการเมือง)   ซึ่งจะว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ พวกเราจักแบ่งปันข้าวสาลีให้แก่สัตว์ผู้นั้น[4]  พระมหากษัตริย์หรือนักการเมืองได้ถือกำเนิดขึ้นจากเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์  หากผู้เป็นมหาชนสมมติ เป็นผู้มีศีลธรรมมีจริยธรรมก็ย่อมไม่มีปัญหา แต่หากผู้ที่ทำหน้าที่แบ่งปันไม่มีศีลธรรม เห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องก็ย่อมนำมาซึ่งปัญหาดังเช่นปัจจุบัน  เนื้อหาในพระสูตรตอนนี้คล้ายคลึงกับแนวคิดของโสเครติส เพลโต และอริสโตเติล ในยุคกรีกโบราณ

ในทสุตตรสูตร พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค ได้กล่าวถึงสาเหตุของการครอบครองไว้ว่า “เพราะอาศัยตัณหา  ปริเยสนา(การแสวงหา)  จึงเป็นไป   เพราะอาศัยปริเยสนา  ลาภะ(การได้)  จึงเป็นไป เพราะอาศัยลาภะ  วินิจฉยะ(การกำหนด)  จึงเป็นไป  เพราะอาศัยวินิจฉยะ  ฉันทราคะ(ความกำหนดด้วยอำนาจความพอใจ)  จึงเป็นไป  เพราะอาศัยฉันทราคะ  อัชโฌสานะ(ความหมกมุ่นฝังใจ)  จึงเป็นไป เพราะอาศัยอัชโฌสานะ  ปริคคหะ  (การยึดถือครอบครอง)  จึงเป็นไป  เพราะอาศัยปริคคหะ  มัจฉริยะ(ความตระหนี่)  จึงเป็นไป เพราะอาศัยมัจฉริยะ  อารักขะ(ความหวงกั้น)  จึงเป็นไป  เพราะอาศัยอารักขะเป็นเหตุ  บาปอกุศลธรรมเป็นอเนกที่เกิดขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา  การทะเลาะ  การแก่งแย่งการวิวาท และการพูดเท็จ จึงเป็นไป”[5] พระสูตรนี้กล่าวถึงตัณหาว่าเป็นเหตุเริ่มต้นแห่งการครอบครอง ส่วนเหตุใกล้แห่งการครอบครองคือความหมกมุ่นฝังใจหรือความใฝ่ใจคิดถึงนั่นเอง เมื่อมีการครอบครองแล้ว จะก่อให้เกิดความตระหนี่คือการไม่สละออกไป

นอกจากนี้ในพุทธศาสนายังปรากฏหลักธรรมที่ว่าด้วยการครอบครองอีกหมวดคืออุปาทาน [6] ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า “เชื้อ” และมีความหมายเชิงประยุกต์ว่า “ความยึดมั่นถือมั่น”  ในพุทธศาสนาเถรวาทอุปาทานจัดเป็นกิเลสชนิดหนึ่งซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่ กามุปาทาน คือความยึดมั่นในกาม ทิฏฐุปาทาน คือความยึดมั่นในทิฏฐิ  สีลัพพตุปาทาน คือความยึดมั่นในศีลและพรต และอัตตวาทุปาทาน คือความยึดมั่นในความเชื่อเรื่องอัตตา โดยที่    กามุปาทานมีองค์ธรรมคือโลภเจตสิก ส่วนอุปาทาน ๓ ประเภทที่เหลือมีองค์ธรรมคือทิฏฐิเจตสิก  กล่าวตามหลักกระบวนการปฏิจจสมุปบาท อุปาทานมีตัณหาเป็นปัจจัย และเป็นปัจจัยให้แก่ภพ ซึ่งจะนำไปสู่ความทุกข์ในที่สุด[7]  บรรดาอุปาทานทั้งหมดนั้น  กามุปาทาน ซึ่งเป็นประเภทของอุปาทานที่เห็นได้อย่างเด่นชัดที่สุด เพราะมีเป้าหมายอยู่ที่การทำกำไรสูงสุด เมื่อมาประกอบกับการที่พื้นที่ในระบบตลาดทุนนิยมโลกาภิวัตน์เป็น  “เขตปลอดจริยธรรม”  และบรรษัทไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบต่อพลเมืองเหมือนที่รัฐต้องมี[8]     ก็ยิ่งทำให้การแสวงหาผลกำไรโดยการแข่งขันสามารถทำได้อย่างไร้ขีดจำกัดมากขึ้น เพราะไม่มีสิ่งใดมาคอยเหนี่ยวรั้งความละโมบ

 

พระพุทธศาสนา : แนวคิดการครอบครอบแบบยืมใช้   

                   แนวความคิดเรื่องสิทธิและความเสมอภาคในพระพุทธศาสนา   

ตามทัศนะของมาร์กซ์ ต้นตอของความไม่เสมอภาคในสังคมมาจากการอนุญาตให้ปัจเจกบุคคลมีสิทธิ์ครอบครองทรัพย์สินส่วนตัว วิธีแก้ความไม่เสมอภาคเรื่องนี้มีอยู่ทางเดียวคือต้องยกเลิกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์สินส่วนที่เป็นเครื่องมือทำมาหากิน เช่นที่ดิน  โรงงาน เป็นต้น ทรัพย์สินเหล่านี้จะต้องเป็นสมบัติของสังคมส่วนรวม เมื่อทุกคนมีโอกาสใช้เครื่องมือเหล่านี้ทำมาหากินเสมอกัน   ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพเสรีภาพอย่างเต็มที่ที่จะทำมาหากินให้เกิดประโยชน์อย่างไรก็ได้[9] วิทย์   วิศทเวทย์เปรียบเทียบเสรีนิยมว่าเป็นปัจเจกนิยมที่เน้นเสรีภาพเป็นหลัก และเปรียบเทียบสังคมนิยมว่าเป็นสหนิยมที่เน้นความเสมอภาคเป็นหลัก ทั้งสองสำนักน่าจะเลือกดุลยภาพของทั้งเสรีภาพและความเสมอภาคจึงจะถูก[10]   วิทย์   วิศทเวทย์ได้เสนอปรัชญาสังคมเรื่องความเสมอภาคแนวพุทธไว้อย่างน่าฟังว่า พุทธธรรมเน้นธรรมาธิปไตย  คือความสมดุลย์ระหว่างปัจเจกนิยมกับสหนิยม ระหว่างความเสมอภาคและเสรีภาพ การพึ่งตนเอง และการบริโภคระดับกลาง[11] ในทัศนะของวิทย์ วิศทเวทย์  ทุนนิยมไม่ขัดกับศาสนาพุทธ  พุทธศาสนาเน้นศีลธรรมมากกว่ากฎหมาย เพราะกฎหมายซึ่งเท่ากับตัวศีลจะควบคุมได้แค่กายและวาจา แต่ธรรมจะช่วยควบคุมจิตใจ ในกรณีคนรวยคนจน พระพุทธศาสนามองว่า เป็นเพียงสมมติ ทุกอย่างมีสาเหตุ เป็นไปไม่ได้อยู่ๆ จะรวยขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้แต่ถูกลอตเตอรี่หรือคนที่ได้มรดกก็มีสาเหตุมาจากการที่เขาคนนั้นได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว แต่คนเหล่านั้นต้องทำความดีต่อไปต้องบริจาคเผื่อแผ่แบ่งปัน ถามว่าไม่ทำการบริจาคได้ไหม  ตอบว่าคุณมีสิทธิไม่บริจาคได้ แต่การกระทำเช่นนั้นไม่ค่อยชอบด้วยคุณธรรมนัก ชาวพุทธถือว่าความรวยประเภทนี้ไม่จีรัง ถ้าคุณไม่ทำบุญต่อไป ไม่รู้จักหาเพิ่ม ความร่ำรวยนั้นก็มีแต่หมดไป[12]

หลักความเสมอภาคที่แท้จริงในพระพุทธศาสนาคือหลักแห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน (Non-ego centric mind) ที่รู้จักกันดีในนามว่า อนัตตาการเห็นตามความเป็นจริงคือการเห็นอนัตตา เมื่อเห็นความจริงแล้วควรจะอยู่กับความจริงคืออยู่อย่างปราศจากตัวตน[13] ดังพุทธพจน์ว่า  ภิกษุทั้งหลาย  เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร  รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง”   “ไม่เที่ยง  พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง  สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์  พระพุทธเจ้าข้า”   “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  มีความแปรผันเป็นธรรมดา  ควรหรือที่จะพิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า  “นั่นของเรา  เราเป็นนั่น  นั่นเป็นอัตตาของเรา” [14]  คนที่อยู่อย่างปราศจากตัวตนย่อมมีความสมดุลย์ในชีวิต และย่อมมองทุกอย่างสมดุลย์คือมีความเสมอภาคกัน ตราบใดที่ยังมีอัตตาตราบนั้นยังไม่มีความเสมอภาคที่แท้จริง เพราะอัตตาจะทำให้คนอยู่ด้วยการแข่งขันและทำลายกันและเอาเปรียบกัน   ดูประวัติของพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง พระองค์อยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยอหังการตามลัทธิพราหมณ์ ถือชั้น ชาติ ศักดิ์และตระกูล  อันเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกในสังคม พระองค์ทรงประกาศความเสมอภาคของมนุษย์และรับรองเสรีภาพของมนุษย์ว่า กำเนิดชาติตระกูลมิได้ทำให้บุคคลเป็นพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์หรือพ่อค้า แต่ความประพฤติของบุคคลเป็นเครื่องกำหนดความแตกต่างระหว่างบุคคล  ความประพฤติในที่นี้หมายถึงหลักกรรม ดังพุทธพจน์ว่า “บุคคลไม่ได้เป็นคนชั่ว ไม่ได้เป็นคนดีเพราะชาติ หากเป็นเพราะการกระทำ บุคคลเป็นชาวนา เป็นศิลปิน เป็นพ่อค้า เป็นคนรับใช้ เป็นโจร เป็นทหาร เป็นผู้บูชายัญ เป็นพระราชา ก็เพราะการกระทำ โลกเป็นไปเพราะกรรม สัตว์ทั้งหลายผูกพันอยู่กับกรรม เหมือนกับลิ่มสลักเป็นเครื่องยึดรถที่แล่นไปฉะนั้น”[15] พระพุทธเจ้าทรงก่อตั้งสังฆมณฑลขึ้นอันเป็นตัวอย่างแห่งชุมชนที่อยู่กันอย่างเสมอภาคไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมาจากไหน พระพุทธเจ้าทรงประกาศหลักภราดรภาพซึ่งอยู่บนฐานแห่งพรหมวิหารธรรม ดังพุทธพจน์ว่า ผู้ที่ไม่เคยเป็นบิดามารดาเป็นบุตรธิดาและเป็นพี่น้องกันมาก่อนเลยไม่มี[16]

อำนวย ยัสโยธา วิจารณ์ว่า แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคแบบตะวันตกอยู่บนฐานวัตถุนิยมและอุดมคติแบบสุขนิยม มันจึงนำไปสู่ทุนนิยมและบริโภคนิยมแบบเสรีนิยมซึ่งตรงข้ามกับพุทธศาสนาที่มีฐานอยู่ที่จิตนิยมและมีอุดมคติแบบวิมุตตินิยม พระพุทธศาสนาต่อต้านบริโภคนิยม ลดการแข่งขัน สร้างความเห็นอกเห็นใจ สร้างความร่วมมือกันอันจะนำไปสู่สันติภาพในที่สุด[17] นัยนี้ตรงกับแนวความคิดเรื่องพุทธศาสนาเป็นปัจเจกนิยมทางจิตของ วิทย์ วิศทเวทย์   อำนวย ยัสโยธาได้ให้ทัศนะต่อว่า แนวความคิดแบบตะวันตกมองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในเชิงอัตตา เชิงการแข่งขัน  ดังนั้นจึงมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพกันบ้าง แต่พุทธศาสนามองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในเชิงอนัตตาคือบนฐานแห่งเมตตาและการละอัตตา[18] ดังนั้นสิทธิมนุษยชนในความหมายของพระพุทธศาสนาคือการทำตามหน้าที่ของมนุษย์อย่างเห็นอกเห็นใจกันมากกว่าการเรียกร้องสิทธิทางสังคม[19] ในทัศนะของบุญธรรมเห็นว่าเรื่องสิทธิตามแนวคิดตะวันตกแทบไม่มีในพระพุทธศาสนา แต่สมภาร พรมทาช่วยประสานแนวความคิดของทั้งสองคือเรื่องสิทธิเสรีภาพของพุทธศาสนาเหมือนตะวันตกและแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิง[20] สิทธิจากมุมมองพุทธศาสนาจึงมีลักษณะแบบ สัมพัทธสิทธิ คือ สิทธิที่ได้รับจากการทำหน้าที่โดยชอบธรรมของแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันตามสถานะที่เป็นอยู่ หาใช่เป็นสิ่งที่จะต้องได้รับอย่างนั้นจริงๆ ทุกกรณีไม่ เพราะสิทธิหลายอย่างจะต้องถูกจำกัดอยู่ภายใต้ขอบเขตของศีลธรรมและกติกาของสังคมแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน  แต่ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมที่จะต้องให้ความรักความเมตตาต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสมในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์ในสังสารวัฏ จึงไม่เป็นการสมควรที่จะเอารัดเอาเปรียบผู้ด้อยกว่าตน[21]  

สรุปได้ว่า แนวความคิดเรื่องสิทธิการครอบครองแบบพุทธ จึงเป็นการครอบครองแบบยืมใช้  ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ของๆ เรา ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นหรือครอบครองไว้แต่เพียงผู้เดียว เมื่อมีมากพอแล้วก็ทำการเฉลี่ยแบ่งปัน  เพราะหากเข้าไปครอบครองสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้า  เราก็จะถูกสิ่งนั้นครอบครองเราด้วยเช่นกันเพราะการครอบครองเป็นปฏิสัมพันธ์ของสิ่งสองสิ่งที่มีอิทธิพลต่อกัน  ฉะนั้นหากเราไม่อยากถูกสิ่งต่างๆ เข้าครอบครอง พุทธศาสนาจึงสอนให้ละวาง หรือปล่อยวาง เป็นการไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นอัตตาตัวเอง   ให้พิจารณาสิ่งต่างๆเป็นอนัตตา   แนวคิดนี้จึงขัดแย้งกับหลักการครอบครองทางตะวันตกอย่างสิ้นเชิง  ที่มุ่งการครอบครองเป็นเป้าหมายหลักของชีวิต[22] (โปรดอ่านต่อตอนจบ) 

 

 


[1]  ดูรายละเอียดใน ที. ปา. (ไทย)  ๑๑/๑๒๗/๙๓.

[2]  เรื่องเดียวกัน, หน้า  ๙๕.

[3]  อ้างแล้ว.

[4]  เรื่องเดียวกัน, หน้า  ๙๖. 

[5]  ดูรายละเอียดใน ที.ปา.  ๑๑/๓๕๙/๔๒๑. 

[6]  ดูรายละเอียดใน ที.ปา.  ๑๑/๓๑๒/๒๐๕.

[7]  พระเดโชพล เหมนาไลย. “อุปาทานในพุทธศาสนาเถรวาทกับปัญหาในโลกปัจจุบัน”.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต.  (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์). ๒๕๔๙  (บทคัดย่อ).

[8]  ปัจจุบันกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมได้เรียกร้องให้บรรษัทต่างๆ รับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้น และบรรษัทต่างๆเริ่มตระหนักมากขึ้นว่าหากไม่รับผิดชอบต่อสังคมแล้วก็อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อองค์กรในระยะยาวได้ อย่างไรก็ตามข้อเรียกร้องเรื่องความรับผิดชอบอันเป็นแนวคิดจากซีกโลกตะวันตกยังทำให้เกิดความสงสัยอยู่ว่าเป็นการสร้างภาพโฆษณาชวนเชื่อโดยมีวาระซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง หรือเป็นความตั้งใจจริง.

[9] สมภาร  พรมทา. ปรัชญาสังคมและการเมือง.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (๒๕๓๘).  หน้า ๑๕๑.

[10] วิทย์ วิศทเวทย์. ปรัชญาการศึกษาแนวพุทธ:แนวทางและปัญหา. เอกสารยังไม่ได้รับการตีพิมพ์. ห้องสมุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (๒๕๓๑, ๑๔-๒๐).

[11]  เรื่องเดียวกัน หน้า ๓๓.

[12]  ดูรายละเอียดใน อง.ทสก. ๒๔/๙๑/๒๐๗.

[13] วิทย์ วิศทเวทย์,”อนัตตาในพุทธปรัชญา”, พุทธศาสน์ศึกษา.มกรา-เมษา. ๒๕๔๒. Widya Sakyabhinand, “Equality-Why it cannot be achieved?: A Buddhist View,” มนุษยศาสตร์วิชาการ.เล่ม ๔. ๒๕๓๙. ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.veerachart.au.edu/index.html.

[14]  ดูรายละเอียดใน  สํ.ม. ๑๗/๕๙/๙๔.

[15]  ดูรายละเอียดใน ม.ม. ๑๓/๔๖๐/๕๘๑-๕๘๒.

[16]  ดูรายละเอียดใน สํ.นิ. ๑๖/๑๓๗-๑๔๒ /๒๒๗- ๒๒๙.

[17]  อำนวย  ยัสโยธา. กระบวนทัศน์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในพุทธศาสนา: ศึกษาโดยวิธีวิเคราะห์เปรียบเทียบกับแนวคิดแบบตะวันตก. พุทธศาสน์ศึกษา. มค.-เมษา. ๒๕๔๒. หน้า ๔๒-๖๐.

[18]  เรื่องเดียวกัน หน้า ๕๗.

[19]  บุญธรรม  พูนทรัพย์.   มโนทัศน์เรื่องสิทธิไม่จำเป็นสำหรับพุทธศาสนา.  พุทธศาสน์ศึกษา. พฤษภาคม-สิงหาคม  ๒๕๔๐.   หน้า ๔๗ – ๖๓  http://www.veerachart.au.edu/files/research/5table_of_content.doc.

[20]  เรื่องเดียวกัน,  หน้า ๔๘-๖๓.

[21] วีรชาติ นิ่มอนงค์. รายงานการวิจัย เรื่อง ความไม่เสมอภาคทางการศึกษาของพระภิกษุสามเณรในประเทศไทย.  สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. กรกฎาคม ๒๕๔๕ หน้า๑๓-๑๙ ดูรายละเอียดใน http://www.veerachart.au.edu/index.html.

[22] ดูรายละเอียดใน  R.Puligandla and K.Puhakka .Buddhism and revolution Buddhism and revolution PhilosophyEast&WestVol.20,No.4(October1970)pp.347file:///C|/WINDOWS/Desktop/Philosophy%20East%20and%20West/Buddhism%20and%20revolution.txt.

                

หมายเลขบันทึก: 326381เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2010 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท