การวิจัยในชั้นเรียน(Action Research:6)


การสังเกตเป็นการประเมินตามสภาพจริง ( Authentic Assessment ) ครูผู้ทำวิจัยจะต้องเตรียมเครื่องมือสำหรับการสังเกตให้พร้อมเพื่อที่จะทำการวิจัยในชั้นเรียนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

 การสังเกต ( Observe )
 การสังเกตเป็นการประเมินตามสภาพจริง ( Authentic Assessment ) ครูผู้ทำวิจัยจะต้องเตรียมเครื่องมือสำหรับการสังเกตให้พร้อมเพื่อที่จะทำการวิจัยในชั้นเรียนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ผู้เขียนได้กำหนดเนื้อหาสำหรับการสังเกตไว้ดังนี้
 3.1 การเก็บรวบรวมข้อมูล ( Collect   data )
 3.2 การวิเคราะห์ผล ( Analyze   data )
 3.1  การเก็บรวบรวมข้อมูล ( Collect   data )
 การเก็บรวบรวมข้อมูลการวิจัยในชั้นเรียนมีหลายวิธี  ครูผู้ทำวิจัยในชั้นเรียนจะต้องศึกษาข้อดีและข้อเสียของเครื่องมือที่จะใช้เก็บรวบรวมข้อมูลให้ดีเพื่อจะได้เลือกเก็บข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพมากที่สุด  การเก็บรวบรวมข้อมูลการวิจัยในชั้นเรียนมีดังนี้
 1. การจดบันทึก ( Field  note )  ครูผู้ทำวิจัยในชั้นเรียนบางคนจดบันทึกหลังการสอน บางคนจดบันทึกระหว่างการสอน  การจดบันทึกจะจดบันทึกตามความรู้สึกของผู้สอนว่าพฤติกรรมในชั้นเรียนเป็นอย่างไร         พฤติกรรมของนักเรียนที่ปรากฏออกมาครูผู้วิจัยมีความพอใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่กิจกรรมใดที่ควรแก้ไข  ปัญหาที่นักเรียนไม่เข้าใจคืออะไร มีกิจกรรมใดที่ดีอยู่แล้วและดีอย่างไร  การจดบันทึกจะเป็นประโยชน์แก่ครูผู้ทำวิจัยเพราะการจดจะดีกว่าการจำ  จะทำให้มีหลักฐานที่เป็นระบบสามารถตรวจสอบได้
 - ตัวอย่างการจดบันทึก
 ครูผู้สอนภาษาอังกฤษได้สอนเรื่อง Have / Get   something   done    ครูผู้สอนได้บันทึกไว้ว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 ยังสับสนเรื่องของการเปลี่ยนกริยาเป็นช่องที่ 3 เช่น  go นักเรียนไม่สามารถเปลี่ยนเป็น gone ได้ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/2 ไม่สามารถเปลี่ยนคำว่า make เป็น made ได้   นักเรียนชั้น ม.6/1และ ม.6/2 ตั้งใจเรียนดี การออกเสียง( pronunciation ) นักเรียนยังออกเสียงกริยาช่องที่ 3 บางคำไม่ถูกต้อง
 2. บันทึกประจำวันของนักเรียน ( Pupil’s  diaries ) ครูผู้สอนให้นักเรียนจดบันทึกหลังการเรียนประจำวัน  การจดบันทึกจะเป็นเครื่องมือให้นักเรียนแสดงความรู้สึกต่อเรื่องที่เรียนว่าส่วนไหนนักเรียนเข้าใจและส่วนไหนนักเรียนไม่เข้าใจ  เพื่อครูผู้ทำวิจัยจะได้แก้ไขบทเรียนของตนเองได้ การจดบันทึกประจำวันจะช่วยเหลือให้นักเรียนแสดงความรู้สึกออกมา  บางครั้งนักเรียนไม่กล้าถามคำถาม  ถ้าให้นักเรียนเขียนปัญหาที่ไม่เข้าใจลงในสมุดบันทึกประจำวันก็จะช่วยให้นักเรียนถามปัญหาแก่ครูผู้สอนได้
 3. แฟ้มสะสมงาน ( Portfolio )  แฟ้มสะสมงานจะเป็นตัวบ่งชี้ว่านักเรียนมีการพัฒนาในด้านการเรียนอย่างไร แฟ้มสะสมงานเป็นการประเมินผลงานแบบใหม่ เป็นการประเมินตามสภาพจริง ( Authentic Assessment ) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปการศึกษาจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ครูผู้ทำวิจัยสามารถประเมินผลการเรียนของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
 4. การสังเกต ( Observation )  ครูผู้ที่ทำวิจัยอาจใช้แบบสังเกตการสอน เช่น แบบสังเกตการพูดของครู ( Teacher’s  talk ) แบบสังเกตการใช้คำถามของครู ( Teacher’s  question ) หรือพฤติกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน  ครูผู้ทำวิจัยอาจสังเกตการสอนเองหรือให้เพื่อนร่วมงานสังเกตให้ก็ได้ ( Peer Observation ) ถ้าให้เพื่อนร่วมงานสังเกตการสอนจะต้องตกลงกันก่อนว่าจะให้สังเกตตรงจุดใด ใช้แบบสังเกตแบบใด ครูผู้ทำวิจัยจะต้องเตรียมการให้พร้อมและมีระบบ  ถ้าครูผู้ทำวิจัยให้เพื่อนร่วมงานสังเกตการสอนจะทำให้สะดวกในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพราะไม่ต้องกังวลและสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆได้อย่างครบถ้วนอีกด้วย
 5. การบันทึกเสียง ( Tape  recordings )  การบันทึกเสียงเป็นวิธีการที่ประหยัดและง่ายต่อการรวบรวมข้อมูล  ครูผู้ทำวิจัยสามารถรู้ได้ว่าเกิดพฤติกรรมใดบ้างจากการถอดเทปเสียง  แต่การบันทึกเสียงมีข้อเสียคือไม่สามารถบันทึกพฤติกรรมที่นักเรียนแสดงท่าทางโดยไม่ใช้เสียงไว้ได้  การบันทึกเสียงถ้าเป็นวิชาภาษาไทยหรือวิชาภาษาอังกฤษโดยให้นักเรียนฝึกทักษะการพูด  ครูผู้ทำวิจัยจะรู้ว่านักเรียนพูดเป็นอย่างไรบ้าง  ครูผู้ทำวิจัยใช้คำถามแบบใดถามนักเรียน  นักเรียนตอบว่าอย่างไรเป็นต้น
 6. การใช้วีดีทัศน์ ( Video  tape  recorder )  วีดีทัศน์สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนได้ทุกขั้นตอนและมีความเที่ยงตรงของข้อมูลค่อนข้างสูง นักเรียนอาจวอกแวกหรือเกิดอาการเกร็งจากการที่ครูผู้ทำวิจัยใช้วีดีทัศน์ในชั้นเรียนก็ได้    ดังนั้นครูผู้ทำวิจัยควรให้นักเรียนในชั้นคุ้นเคยกับการตั้งวีดีทัศน์ในชั้นเรียนเสียก่อนจะทำให้ครูผู้ทำวิจัยเห็นพฤติกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนจริงๆ
 7. แบบสอบถาม ( Questionnaires ) ผู้เขียนแบ่งแบบสอบถามที่ใช้ในชั้นเรียนไว้เป็น 2 ชนิดคือ
  7.1 แบบสอบถามปลายเปิด ( Open-ended  questionnaires )เป็นแบบสอบถามที่ถามข้อมูลและความคิดเห็นของผู้ตอบเอง เป็นแบบสอบถามที่ยากแก่การเก็บข้อมูลและแปลผลข้อมูลแต่มีข้อดีคือ จะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับความคิดเห็นได้ดี เช่นต้องการอยากรู้ว่านักเรียนเข้าใจเรื่องที่เรียนหรือไม่อาจถามง่ายๆ
  7.2 แบบสอบถามปลายปิด ( Close-ended  questionnaires )  เป็นแบบสอบถามที่มีตัวเลือกให้ตอบ  ( Multiple - Choice )
 8.การสัมภาษณ์ ( Interviews ) การสัมภาษณ์เป็นวิธีการที่ง่ายมากสำหรับการเก็บข้อมูล  ครูผู้ทำวิจัยควรวางแผนว่าจะสัมภาษณ์นักเรียนในเรื่องใดที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน การสัมภาษณ์ไม่ควรใช้เวลาให้มากนัก ครูผู้ทำวิจัยอาจใช้การสัมภาษณ์ที่ไม่เป็นทางการโดยสัมภาษณ์กับนักเรียนกลุ่มเล็กๆว่ามีปัญหาอะไรบ้าง มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในชั้นเรียนที่ครูผู้ทำวิจัยทำขึ้น การได้พูดคุยกับนักเรียนบ่อยๆจะทำให้นักเรียนในชั้นคุ้นเคย นักเรียนจะกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น  ครูผู้ทำวิจัยสามารถนำผลการสัมภาษณ์มาใช้ในการอภิปรายผลได้


 สรุป การใช้เครื่องมือสำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูล ครูผู้ทำวิจัยต้องเลือกเครื่องมือสำหรับการเก็บข้อมูลให้เหมาะสมกับการวิจัยในชั้นเรียนนั้นๆ การเก็บรวบรวมข้อมูลอาจใช้การจดบันทึก  บันทึกประจำวันของนักเรียน แฟ้มสะสมงาน  การสังเกต  การบันทึกเสียง  การใช้วีดีทัศน์ แบบสอบถามและการสัมภาษณ์การใช้เครื่องมือที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลควรให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจเสียก่อนว่ามีความเที่ยงตรงของข้อมูลหรือไม่เมื่อผู้เชี่ยวชาญตรวจแล้วควรนำมาปรับแก้ไขแล้วจึงนำไปใช้

  ครั้งต่อไปเป็นการวิเคราะห์ผล ( Analyze   data ) อยากได้ข้อมูลย้อนกลับว่า ยากกินไปไหมครับ...ที่คุณครูจะทำวิจัยในชั้นเรียน



คำสำคัญ (Tags): #การวิจัย
หมายเลขบันทึก: 32621เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2006 08:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2013 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

เขียนเรื่องเก่าเรื่องเดิม เป็นเนื้อหาสาระดีจังเนาะ

สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงๆ ขอแบบไร้สาระแต่ผ่อนคลายได้มั้ยคะ คุณขจิต

  • ขอบคุณมากครับที่เข้ามา
  • อยู่ขอบแก่นกับคุณชายขอบ คุณ Dr. Ka-poom
  • จะได้ F2F ไหมครับ
  •  มาถึงตอนใหนน้อ คิดว่าน่าจะได้เจอมั้งคะ
  • ไม่ค่อยแน่ใจตนเองเหมือนกัน ตอนนี้ไม่สบายค่ะ
  • ดูแลสุขภาพบ้างนะครับ

อยากได้ข้อมูลการทำแฟ้มสะสมงานครับ

  • จะให้ส่งไปที่ไหนครับ
  • แต่ข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษเสียส่วนใหญ่
  • บอก mail มานะครับ จะส่งไปให้
  • ขอบคุณมากครับที่แวะเข้ามา

ได้ความรู้ดีมากเป็นประโยชน์

ตอนนี้กำลังทำวิจัยในโรงเรียน

อยากได้แบบสังเกตการสอน;การนิเทศแบบคลินิก

ขอบคุณมากค่ะสำหรับความรู้

ขอบคุณมากคับสำหรับความรู้ ที่มอบให้คับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ลูกศิษย์คนนี้คิดถึงอาจารย์นะค่ะ

รักษาสุขภาพด้วยนะค่ะ

รักและเคารพ

งานดีมากมายค่ะ

ได้รับความรู้มากและได้นำไปใช้จริง ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท