พุทธวิธีการรักษาโรคด้วยโพชฌงค์ : ผลแห่งการปฏิบัติหรือมหัศจรรย์แห่งมนต์คาถา (ตอนที่ ๑)


“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดูเหมือนว่า บุคคลทั้งหลายสามารถพ้นจากโรคทางกายได้ เป็นเวลา ๑ ปีบ้าง ๒ ปีบ้าง ๓ ปีบ้าง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง...หรือแม้ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีบ้าง แต่ว่าในโลกนี้ บุคคลที่พ้นจากโรคทางใจแม้เพียงชั่วครู่ยามมีน้อยนัก นอกจากบุคคลที่พ้นจากกิเลสทั้งหลาย (คือ พระอรหันต์)”

พุทธวิธีการรักษาโรคด้วยโพชฌงค์ :  ผลแห่งการปฏิบัติหรือมหัศจรรย์แห่งมนต์คาถา [1]

บทนำ 

               ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ความเจริญทางด้านวัตถุได้รุดหน้าไปไกลและรวดเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีที่คอยบำเรอความสุขทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ดูไปแล้วคนในยุคปัจจุบันน่าจะมีความสุข  และความสบายมากกว่าแต่ก่อน   แต่ตรงกันข้ามกลับมีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ใจในรูปแบบต่างๆ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ ความคับข้องใจ เป็นต้น ทำให้สุขภาพกาย และสุขภาพจิตอ่อนแอ ทรุดโทรมหรือแปรปรวนจนเกิดเป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย  สิ่งที่น่าสนใจก็คือเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วพระพุทธศาสนาจะมีทางออกต่อประเด็นปัญหาสุขภาพอย่างไร  ข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นได้ชี้ให้เห็นว่าในพระพุทธศาสนา ให้ความสำคัญกับสุขภาพอย่างยิ่ง  ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”  (อาโรคฺยปรมา ลาภา)[2]  ในพระพุทธศาสนา กล่าวถึงการมีสุขภาพดีก็คือการไม่มีโรคทั้งทางกาย และทางใจ   ถ้ามนุษย์ไม่มีสุขภาพดี จะไม่สามารถปฏิบัติบทบาทของตนเองได้อย่างสมบูรณ์    รวมทั้งสามารถปฏิบัติพันธะทางศีลธรรมของตนได้โดยไม่เสีย  ดังปรากฎในโพธิราชกุมารสูตรว่า องค์ของภิกษุผู้มีความเพียรในพระพุทธศาสนานั้น ภิกษุจะต้องเป็นผู้มีสุขภาพดี  มีโรคาพาธน้อย  ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ  ไม่เย็นนัก  ไม่ร้อนนัก  ปานกลางพอเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร[3]   แต่อย่างไรก็ตามความเจ็บป่วยถือเป็นมรดกกรรมอย่างหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องประสบพบเจออย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก  จะแตกต่างก็เพียงจะช้าหรือเร็ว จะมากหรือน้อยเท่านั้น  บทความนี้ผู้เขียนต้องการเสนอท่าทีของพระพุทธศาสนาที่มีต่อประเด็นปัญหาเรื่องสุขภาพ  รวมถึงแนวทางในการแก้ปัญหา หรือการรักษาโรคหากมีโรคภัยเบียดเบียนเกิดขึ้น  ซึ่งหลักธรรมที่สำคัญของพระพุทธศาสนาที่ใช้ในการรักษาสุขภาพที่สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือหลักโพชฌงค์ ๗  ประการ  ซึ่งเป็นองค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้  ประเด็นที่ผู้เขียนสนใจก็คือ โพชฌงค์นั้นเกี่ยวข้องกับการรักษาโรคได้อย่างไร  และหากเกี่ยวข้องจริง การรักษาโรคด้วยโพชฌงค์นั้นจะเป็นผลของการปฏิบัติธรรมขั้นสูง ซึ่งเป็นการรักษาโรคอย่างถาวร  ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสความหมายไว้ว่า ความไม่มีโรคในพระพุทธศาสนานั้น ก็คือ การนิพพาน อันเป็นการแก้โรคทางใจ ได้แก่ เจตสิกทุกข์ ได้อย่างเด็ดขาด  หรือยังทรงหมายถึงโรคทั่วๆ ไปคือโรคทางกาย คือ กายิกทุกข์ก็สามารถรักษาได้ด้วยการปฏิบัติตามหลักโพชฌงค์ ๗ ประการ  อีกอย่างหนึ่งการหายจากโรคหากไม่ได้เกิดจากผลของปฏิบัติแล้ว  เป็นไปได้หรือไม่ว่าเกิดด้วยความมหัศจรรย์แห่งมนต์ หรือคาถาที่เรียกว่าโพชฌังคปริตร ดังปรากฎหลักฐานในคัมภีร์พระไตรปิฎก  ส่งผลก่อให้เกิดความเชื่อเป็นพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน  รวมถึงเป็นที่มาของการประกอบพิธีกรรมแปลกๆ มากมายของพระสงฆ์บางรูปที่ใช้การสวดมนต์ด้วยมุ่งหวังว่าจะช่วยรักษาโรคได้  ขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องรับประกันว่าจะรักษาโรคได้จริง นอกจากนี้ยังไม่สามารถอธิบายบทสวดเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามคำสอนในบทสวดได้ ทำให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นพระพุทธศาสนาในรูปแบบพิธีกรรมเสียเป็นส่วนมากดังที่ปรากฎให้เห็นอยู่โดยทั่วไป

 

วิธีการดูแลสุขภาพในพระไตรปิฎก

เป้าหมายสำคัญในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า คือ การให้การรักษาโรคทางใจแก่ชาวโลก  ข้อนี้คือเหตุผลที่ว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงได้รับการสรรเสริญจากสาวกของพระองค์ว่าเป็นแพทย์ของชาวโลกทั้งมวล (สพฺพโลกติกิจฺฉโก) ซึ่งแนวคิดเรื่องสุขภาพนั้นปรากฎหลักฐานมากมายในพระไตรปิฎก อย่างไรก็ตามขอยกตัวอย่างหลักฐานในพระสูตรที่สำคัญเพียงเล็กน้อย เช่นในอังคุตตรนิกาย กล่าวไว้ว่า  โรคในพุทธศาสนานั้น มี ๒ ชนิด  คือ ๑. โรคทางกาย  (กายิโก โรโค)  ๒.  โรคทางใจ (เจตสิโก โรโค) ดังพุทธวจนะที่ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดูเหมือนว่า บุคคลทั้งหลายสามารถพ้นจากโรคทางกายได้ เป็นเวลา ๑ ปีบ้าง ๒ ปีบ้าง   ๓ ปีบ้าง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง...หรือแม้ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีบ้าง แต่ว่าในโลกนี้ บุคคลที่พ้นจากโรคทางใจแม้เพียงชั่วครู่ยามมีน้อยนัก นอกจากบุคคลที่พ้นจากกิเลสทั้งหลาย (คือ พระอรหันต์)”

พุทธพจน์นี้ทรงชี้ว่าบุคคลทั้งหลายนั้นมีโรคภัยเบียดเบียนแทบจะตลอดเวลานั่นคือโรคทางใจ ส่วนโรคทางกายนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสว่าร่างกายนั้นเป็นรังแห่งโรคที่ต้องดูแลเอาใจตลอดเวลาดังปรากฏในนกุลปิตุสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า 

“คหบดี  เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น  คหบดี  เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น  ความจริง  กายนี้กระสับกระส่าย  เป็นดังฟองไข่  มีเปลือกหุ้มไว้  อนึ่ง บุคคลผู้บริหารกายนี้อยู่  พึงรับรองความไม่มีโรคได้แม้เพียงครู่เดียว  จะมีอะไรเล่านอกจากความโง่เขลา  เพราะเหตุนั้น  ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า  ‘เมื่อเรามีกายกระสับกระส่ายอยู่  จิตจักไม่กระสับกระส่าย’  ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้”[4]

เห็นได้ชัดว่าร่างกายนั้นเป็นรังของโรค จึงรับรองความไม่มีโรคได้ยาก วิธีการของพระพุทธศาสนาจึงมุ่งเน้นในการรักษาจิตไม่ให้กระสับกระส่าย  ในชราธัมมสูตร ซึ่งเป็นสูตรว่าด้วยผู้มีความแก่  มีใจความตอนหนึ่งว่า “สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของนางวิสาขามิคารมาตาในบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น ประทับนั่งผินพระปฤษฎางค์ให้แดดที่ส่องมาจากทิศตะวันตก ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วบีบนวดพระวรกายของพระผู้มีพระภาคด้วยฝ่ามือ พลางกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

 “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ บัดนี้พระฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาคไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนเมื่อก่อน พระอวัยวะทุกส่วนก็เหี่ยวย่นเป็นเกลียว พระวรกายก็ค้อมไปข้างหน้า และพระอินทรีย์ทั้งหลาย คือจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ ก็ปรากฏแปรเปลี่ยนไป”    

 พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  “จริงอย่างนั้น  อานนท์  ความแก่มีอยู่ในความเป็นหนุ่มสาว  ความเจ็บไข้มีอยู่ในความไม่มีโรค  ความตายก็มีอยู่ในชีวิต  ผิวพรรณไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนเมื่อก่อน  อวัยวะทุกส่วนก็เหี่ยวย่นเป็นเกลียว  กายก็ค้อมไปข้างหน้า  และอินทรีย์ทั้งหลาย  คือ  จักขุนทรีย์  โสตินทรีย์  ฆานินทรีย์  ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์  ก็ปรากฏแปรเปลี่ยนไป”[5] 

พระสูตรดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังทรงอาพาธ ทรงมุ่งหวังให้สาวกทั้งหลายไม่ประมาท  และให้เร่งรีบทำความเพียร  ในโทณปากสูตร[6] ทรงแสดงวิธีการปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคไว้ว่า

“สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระสุธาหาร หุงด้วยข้าวสาร ๑ ทะนาน จึงทรงอึดอัด เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ครั้งนั้นพระศาสดาตรัสกะท้าวเธอว่า “มหาบพิตร  พระองค์ยังไม่ทันพักผ่อนเลย เสด็จมาแล้วหรือ”   “อย่างนั้น พระเจ้าข้า ตั้งแต่เวลาที่บริโภคแล้ว หม่อมฉันมีทุกข์มาก”   “มหาบพิตร   การบริโภคมากเกินไป เป็นทุกข์อย่างนี้” พระพุทธองค์จึงตรัสสอนด้วยคาถาว่า “ในกาลใด  บุคคลเป็นผู้กินจุ  มักง่วง  และมักนอนหลับ กระสับกระส่าย เป็นดุจสุกรใหญ่ที่เขาเลี้ยงด้วยอาหาร ในกาลนั้น เขาเป็นคนมึนซึม  ย่อมเข้าห้องบ่อยๆ”  พระพุทธองค์ตรัสว่า  “มหาบพิตร การบริโภคโภชนะแต่พอประมาณจึงควร เพราะผู้บริโภคพอประมาณ ย่อมมีความสุข “ต่อจากนั้น พระองค์จึงตรัสคาถาแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า  “ผู้มีสติทุกเมื่อ รู้ประมาณในโภชนะที่ได้มา มีเวทนาเบาบาง  แก่ช้า อายุยืน” พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมอบหมายให้สุทัสสนะนัดดาของพระองค์เรียนคาถานี้แล้วทูลคาถาในเวลาที่เสวย ต่อมาพระราชามีพระวรกายกระปรี้กระเปร่าดี ทรงลูบพระวรกายด้วยฝ่าพระหัตถ์ ทรงเปล่งอุทานว่า  “พระพุทธเจ้านั้น ทรงอนุเคราะห์เรา ทั้งประโยชน์ชาตินี้และประโยชน์ชาติหน้า”

นี่เป็นตัวอย่างของพุทธวิธีการป้องกันโรคทางกายอันว่าด้วยสุขลักษณะในการบริโภคอาหารอย่างรู้จักพอประมาณ

              

โพชฌงค์ คืออะไร

คำว่า “โพชฌงค์” ประกอบด้วยคำว่า โพธิ ซึ่งหมายถึงปัญญาอันเป็นเครื่องตรัสรู้ หรือพระอริยบุคคลผู้บรรลุธรรมแล้ว และคำว่า องฺค หมายถึงปัจจัยที่เป็นหตุ ดังนั้น โพชฌงค์จึงหมายถึงธรรมที่เป็นองค์ของผู้ตรัสรู้หรือเป็นองค์แห่งการตรัสรู้    คำว่า โพชฌงค์นี้บางครั้งเรียกว่า สัมโพชฌงค์ คำว่า สัม หมายถึง เต็มบริบูรณ์ ถูกต้อง หรือแท้จริง การใช้คำนำหน้านี้เป็นการยกย่องและย้ำความ แต่ก็มิได้มีความหมายใดเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ

               ธรรมทั้ง ๗ ที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือคุณสมบัติเจ็ดประการของพระอริยบุคคล ได้แก่ สติ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือ ความระลึกได้ ธัมมวิจยะ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือ การเฟ้นธรรม คือ การใช้ปัญญาไตร่ตรอง พิจารณา สอดส่อง ค้นคว้าธรรม  วิริยะ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือ ความเป็นผู้กล้าหาญ ไม่ย่อท้อ ไม่ท้อถอย ปีติ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือ ความอิ่มใจ  หรือความดื่มด่ำ ความซาบซึ้ง ปลาบปลื้มใจ ปัสสัทธิ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือความสงบกายสงบใจ  มีความผ่อนคลาย หรือสงบเย็น ไม่กระสับกระส่าย ไม่เครียด สมาธิ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือ ความตั้งมั่นแห่งจิต และ อุเบกขา ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือความวางเฉย เป็นกลางๆ ไม่เอนเอียงไปข้างโน้นข้างนี้  องค์ธรรมทั้ง ๗ นี้สามารถพบได้ในทุกขั้นตอนของการเจริญวิปัสสนา แต่หากพิจารณาตามขั้นตอนของลำดับญาณแล้วอาจกล่าวได้ว่า องค์ธรรมทั้ง ๗ จะปรากฏชัดในญาณที่ผู้ปฏิบัติเริ่มเห็นความเกิดดับของสภาวธรรมต่างๆ  ผู้ปฏิบัติควรจะทำอย่างไรในการพัฒนาองค์ธรรมเหล่าให้เกิดขึ้น ก็โดยการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากผู้ปฏิบัติระลึกรู้อารมณ์ที่ฐานทั้งสี่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โพชฌงค์๗ ก็จะเกิดขึ้นจนบริบูรณ์” การเจริญสติปัฏฐานมิได้หมายถึงการศึกษา การคิดคำนึง การฟังเทศน์ หรือการสนทนาธรรมที่เกี่ยวกับสติปัฏฐาน แต่สิ่งที่พึงกระทำก็คือลงมือปฏิบัติเพื่อหาประสบการณ์ที่แท้จริงโดยตรง ด้วยการระลึกรู้ในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฐานทั้งสี่ของสตินี้ได้แก่ หนึ่ง ความรู้สึกทางกาย สอง เวทนา กล่าวคือความรู้สึกเจ็บปวด สบาย หรือเฉย ๆ ที่เกิดขึ้นทางกายและจิต สาม จิตและความคิด และ สี่ ธรรม กล่าวคือ อารมณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบกับจิต ได้แก่ สิ่งที่มองเห็น ได้ยิน ลิ้มรส และอื่นๆ นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังได้ตรัสว่า บุคคลควรปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยไม่ขาดตอน[7]

 


[1]  อุทัย  สติมั่น   ป.ธ.๗, พธ.บ.(เศรษฐศาสตร์) รุ่น ๔๓, M.B.A. (การจัดการ), นิสิตปริญญาเอก รุ่น ๖ บัณฑิตวิทยาลัย มจร., อาจารย์ประจำ ม.ราชภัฏสวนดุสิต.

[2]  ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ม.ม.  ๑๓/๒๑๖/๒๕๔, ขุ.ธ. ๒๕/๒๐๔/๙๖ (มาคัณฑิยสูตร)   

[3]  ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ม.ม.  ๑๓/๓๔๔/๔๑๖- ๔๑๗ (โพธิราชกุมารสูตร)  

[4]   ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในสํ.มู.  ๑๗/๑/๒  (นกุลปิตุสูตร)  

[5]   ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในสํ.มหา. ๑๙/๕๑๑/๓๒๒ (ชราธัมมสูตร) 

[6]   ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน สํ.ส. ๑๕/๑๒๔/๑๔๕-๖ (โทณปากสูตร)  

[7] พระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ.  รู้แจ้งในชาตินี้.  (กรุงเทพฯ : สหธรรมิก.  ๒๕๔๙ ).  หน้า  ๑๓๙ – ๒๕๑.

[8]  โปรดดูรายละเอียดใน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) . โพชฌงค์  พุทธวิธีเสริมสุขภาพ. (กรุงเทพ ฯ :  พิมพ์สวย. ๒๕๕๐). หน้า ๖ - ๒๗.

[9] พระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ.  รู้แจ้งในชาตินี้.  (กรุงเทพฯ : สหธรรมิก.  ๒๕๔๙). 

[10] พ.ญ. รุจิรา. โพชฌงค์  องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ พุทธวิธีเสริมสุขภาพและดูแลสุขภาพตนเองแบบองค์รวม ธรรมะประยุกต์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง.  ม.ป.ม.

[11] พระสิงห์ทน นราสโภ. พลังรังษีธรรม . (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โลกทิพย์, ๒๕๔๓) หน้า ๑๕.

[12] ฟูจิโมโต้  โนริยูกิ.  น้ำประจุพลังบำบัดโรค. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์รวมทรรศน์, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๗) หน้า ๒๓.

[13] ปรีชา  เปี่ยมพงศ์สานต์, ธัมมิกเศรษฐศาสตร์ : ปรัชญาเศรษฐศาสตร์สังคมของชาวพุทธ,  (กรุงเทพมหานคร: มิตรนราการพิมพ์, ๒๕๓๑), หน้า ๘.

[14]   รศ.จุฬาทิพย์ อุมะวิชนี.  ตำนานบทสวดมนต์และคำแปล. (กรุงเทพฯ: วิทยาการพิมพ์. ๒๕๕๑ ).  หน้า ๑ – ๖.

 

 

หมายเลขบันทึก: 323303เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2009 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท