ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

พระอรหันต์ขัดแย้งกันหรือไม่?


พระอรหันต์ได้ชื่อว่า "เป็นผู้หมดกิเลสอย่างสิ้นเชิง หรือหางไกลจากกิเลส" ยังสามารถขัดแย้งกันได้ แล้วเหตุใดปุถุชนเช่นเราซึ่งได้ชื่อว่า "เป็นผู้มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ" จะไม่สามารถขัดแย้งกันได้

                     

                     คำถามมีว่า  “พระอรหันต์ยังมีธรรมชาติแห่งความขัดแย้งอยู่ภายในหรือไม่”  การตอบคำถามนี้จำเป็นต้องแยกคำว่า “ความจริงในเชิงปรมัตถ์”   (ปรมัตถสัจจะ) ” กับ “ความจริงในเชิงสมมติ” (สมมติสัจจะ)  ออกจากกัน  เหตุผลสำคัญที่ต้องแยกเพราะสภาวธรรมของความเป็น       พระอรหันต์กับบัญญัติเป็นคนละประเด็น   คำว่า “อรหันต์” หมายถึง “ผู้ไกลจากกิเลส”   กล่าวคือ สภาวะจิตที่ไร้ภาวะความขัดแย้งเพราะนิพพานเป็นการดับกิเลสจึงทำให้เกิดภาวะที่ไม่มีความขัดแย้ง  ฉะนั้น  คำว่า “ไม่มีความขัดแย้ง” มีนัยบ่งถึงภาวะจิตที่สมบูรณ์โดยปราศจากการกระทำอันก่อให้เกิด “กุศล” หรือ “อกุศล”  การแสดงออกทางกาย วาจา ใจของพระอรหันต์จึงยืนอยู่บนฐานของคำว่า “กิริยา” หรือ “การกระทำ” ล้วน ๆ 

                      กล่าวโดยสภาวธรรม  พระอรหันต์จึงไม่มีความขัดแย้ง หรือไร้ภาวะความขัดแย้ง  ไม่มีใคร หรือสิ่งใดเป็นแรงผลักให้เกิดความขัดแย้งได้ดังพุทธพจน์ที่ว่า “อัคคินิเวสสนะ  ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้  ย่อมไม่ทะเลาะวิวาท ทุ่มเถียงกับใคร ๆ   โวหารใดที่ชาวโลกนิยมพูดกัน  ก็ไม่ยึดมั่นกล่าวไป ตามโวหารนั้น”[1] และ “มุนีผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น  รู้จักสมณพราหมณ์  ผู้เป็นเจ้าลัทธิเหล่านี้ว่า เป็นผู้เข้าไปอาศัยทิฐิและรู้จักเป็นที่อาศัย   นักปราชญ์ครั้นรู้จักแล้ว  ก็หลุดพ้น ไม่ถึงการวิวาทกัน[2]  พุทธพจน์บทนี้ย้ำเตือนว่า บุคคลที่เข้าถึงความจริงขั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาแล้ว  ย่อมไม่มีความขัดแย้งในสภาวธรรม ไม่มีความสงสัย หรือตั้งข้อสังเกตต่อสภาวธรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ผู้บรรลุธรรมจะก่อความบาดหมาง ทะเลาะวิวาทกัน

                      ประเด็นคำถามที่น่าสนใจก็คือ  “พระอรหันต์คิดต่างกัน  หรือมีมุมมองที่แตกต่างกันได้หรือไม่”  จากการศึกษาค้นคว้าทำให้ได้รับคำตอบว่า “คิด หรือมีมุมมองที่แตกต่างกันได้”  สิ่งที่   ทำให้พบคำตอบในลักษณะนี้ก็เพราะคำว่า “บัญญัติ” หรือ “ความจริงเชิงสมมติ” นั้นเป็นกุญแจสำคัญที่นำเราไปสู่คำตอบดังกล่าว          คำว่า “บัญญัติ” หรือ “ความจริงเชิงสมมติ” เป็นสื่อกลางในการที่จะใช้เป็นสะพาน หรือเป็นคู่มือสำหรับเรียนรู้ หรือเข้าใจร่วมกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ดังที่พุทธทาสภิกขุใช้คำว่า “ภาษาคน”  ฉะนั้น เมื่อวิเคราะห์ในบริบทนี้ทำให้เกิดคำถามว่า “เป็นไปได้หรือไม่ว่าผู้ที่เข้าใจโลกแห่งปรมัตถ์ จะสามารถเข้าใจโลกแห่งสมมติได้ทั้งหมด”  คำตอบข้อนี้ไปปรากฏอยู่ในคัมภีร์มิลินทปัญหาว่า “การรู้สิ่งทั้งปวงนั้น ไม่ใช่วิสัยของพระอรหันต์ทั่วไป  สิ่งที่พระอรหันต์ไม่รู้ก็มี  เช่น นาม และโคตรแห่งสตรีบุรุษ เป็นต้น พระอรหันต์รู้ได้เฉพาะวิมุตติก็มี    พระอรหันต์ชั้นอภิญญา ๖ ก็รู้เฉพาะในวิสัยของตน  พระสัพพัญญูเท่านั้นจึงจะรู้หมด”[3]

                      วิเคราะห์จากคำพูดของพระนาคเสนพบว่า   พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นสัพพัญญูบุคคลเท่านั้นที่ทรงทราบ และเข้าใจโลกแห่งปรมัตถ์และโลกแห่งสมมติได้อย่างตลอดสาย  ส่วนสาวกท่านอื่น ๆ ที่บรรลุพระอรหันต์มิได้หมายความว่าสามารถรู้ทั้งสองโลก  ความจริงข้อนี้ทำให้พบคำตอบว่า “พระอรหันต์ไม่สามารถรับรู้เรื่องราวต่างในโลกนี้ได้ทั้งหมด”  หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “พระอรหันต์มีข้อจำกัดในการรับรู้”  ฉะนั้น “พระอรหันต์ก็ย่อมคิด หรือมีมุมมองที่แตกต่างกันได้” หลักฐานชิ้นสำคัญที่สามารถยืนยันความจริงข้อนี้ก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๑

                      จากการศึกษาพบว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า “อานนท์  เมื่อเราล่วงไป  สงฆ์หวังอยู่ก็พึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้”  พระดำรัสในประเด็นนี้ได้กลายเป็นปัญหาในที่ประชุมสงฆ์  ๕๐๐ รูปว่า  “สิกขาบทข้อไหนที่จัดว่าเป็นสิกขาบทเล็กน้อย”  การยกประเด็นเรื่อง “สิกขาบทเล็กน้อย” ขึ้นมานำเสนอเพื่อหาข้อยุตินั้น ทำให้พระอรหันต์ได้พากันวิเคราะห์ ตีความ และตั้งข้อสังเกตออกเป็นหลายนัยด้วยกัน[4]  ซึ่งการตีความดังกล่าวนั้น สามารถแยกสรุปออกเป็น ๕  กลุ่มด้วยกัน  กล่าวคือ[5]

                      (๑) ยกเว้นปาราชิก ๔ สิกขาบท   ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

                      (๒) ยกเว้นปาราชิก ๔  สิกขาบท   สังฆาทิเสส  ๑๓ สิกขาบท   ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

                      (๓) ยกเว้นปาราชิก ๔ สิกขาบท  สังฆาทิเสส  ๑๓  สิกขาบท อนิยต ๒  ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

                      (๔) ยกเว้นปาราชิก ๔ สิกขาบท  สังฆาทิเสส ๑๓  สิกขาบท  อนิยต ๒ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท  ปาจิตตีย์  ๙๒ สิกขาบท  ที่เหลือจัดว่าเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

                      (๕) ยกเว้นปาราชิก ๔  สิกขาบท  สังฆาทิเสส ๑๓  สิกขาบท  อนิยต ๒  นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท  ปาจิตตีย์  ๙๒ สิกขาบท  ปาฏิเทสนียะ ๔ สิกขาบท  ที่เหลือจัดว่าเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

                      กรณีศึกษาที่ว่าด้วยความคิดเห็น หรือการตีความที่แตกต่างกันในประเด็นที่ว่าด้วย “สิกขาบทเล็กน้อย” นี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนมองว่าในแง่บัญญัติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บัญญัติดังกล่าว  จัดได้ว่าเป็น “พุทธบัญญัติ”  แต่เมื่อพระองค์ไม่ได้ตรัสชี้แจงให้ทราบว่านัยของ   คำว่า “เล็กน้อย” คืออะไรนั้น  กลายเป็นประเด็นที่ทำให้พระอานนท์ถูกพระสงฆ์จำนวน ๔๙๙ รูปปรับอาบัติท่านในฐานะที่ไม่ถามให้ชัดเจนว่า “อะไรคืออาบัติเล็กน้อย”  การปรับอาบัติพระอรหันต์ในท่ามกลางสงฆ์นั้น ผู้เขียนมองว่าเป็นประเด็นใหญ่ ฉะนั้น ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการตีความที่แตกต่างกันดังกล่าว  ต้องเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการสังคายนาครั้งที่ ๑ เป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน

                      กล่าวโดยสรุปแล้ว  ความขัดแย้งที่เกี่ยวกับความคิดเห็น จัดได้ว่าเป็น “ธรรมดา” หรือ “ธรรมชาติ” ของมนุษย์   ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ในระดับที่เป็นปุถุชนหรือพระอรหันต์ก็ตาม  สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ามีข้อจำกัดในการรับรู้เรื่องราวต่างๆ ในโลกนี้แตกต่างกัน ดังที่พระธรรมปิฎกได้ย้ำในประเด็นนี้ว่า “ความขัดแย้งนั้น ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา  คือ มันเป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย ที่แต่ละอย่างมีความเป็นไปของมัน เมื่อต่างอย่างต่างส่วนเป็นคนละทาง ก็ย่อมขัดแย้ง”[6] 

 


                      [1] “เอวํ  วิมุตฺตจิตฺโต  โข  อคฺคินิเวสฺสน ภิกฺขุ  น เกนจิ  สํวทติ  น เกนจิ  วิวทติ  ยญฺจ โลเก  วุตฺตํ  เตน  โวหรติ อปรามสํ”. ม.ม. (บาลี) ๑๓/๒๐๖/๑๘๒, ม.ม. (ไทย) ๑๓/๒๗๕/๒๔๓.

                      [2] ขุ.ม. (ไทย) ๒๙/๑๑๒/๓๓๕.

                      [3] “อวิสโย  มหาราช  เอกจฺจสฺส  อรหโต  สพฺพํ  ชานิตุ น หิ ตสฺส พลํ  อตฺถิ  สพฺพํ  ชานิตุ อนญฺญาตํ  มหาราช  อรหโต  อิตฺถิปุริสานํ  นามมฺปิ  โคตฺตมฺปิ, มคฺโคปิ ตสฺส  มติยา  อนญฺญาโต  วิมุตฺตึเยว  มหาราช  เอกจฺโจ  อรหา  ชาเนยฺย  ฉฬภิญฺโญ  อรหา  สกวิสยํ  ชาเนยฺย, สพฺพญฺญู  มหาราช  ตถาคโตว สพฺพํ ชานาติ”.  มิลินฺท. _/๓/๒๗๗-๒๗๙.

                      [4] พระอรรถกถาจารย์ขยายประเด็นนี้ว่า “พระสังคาหกเถระทั้งหลายกล่าวแล้วโดยปริยาย” ซึ่งหมายถึงการวิเคราะห์ ให้คำจำกัดความ และตีความแตกต่างกันออกไปหลายประเด็น

                      [5] วิ.จู. (ไทย) ๗/๔๔๑/๓๘๒.

                      [6] พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต), สลายความขัดแย้ง, พิมพ์ครั้งที่ ๑, (กรุงเทพมหานคร: บริษัทสื่อเกษตร, ๒๕๔๖), หน้า ๒.

หมายเลขบันทึก: 321843เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2009 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เป็น บทความที่มีประโยชน์มากขอรับ เป็นประโยชน์แก่ผมมากทั้งในแง่การให้เหตุผล การใช้หลักฐานอ้างอิง กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าครับ จะคอยตามอ่านขอรับ

อนุโมทนาและดีใจที่งานเขียนอาตมามีประโยชน์บ้าง งานนี้ อาตมาตัดเอามาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาตมาเรื่อง "การจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี" อาตมาลืมไปว่า "ไม่ได้ส่งวิทยานิพนธ์ฉบับเต็มไปไว้ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยนเรศวร"

เป็นบุญของกระผม ครับ บางครั้งเรา ลืมไปว่าเรามีสิ่งดีๆ อยู่ในมือขอรับ เราลืมหันกลับไปดูภูมิปัญญาการแก้ไขปัญหาของบรรพบุรุษของเราและขององค์พระศาสดาขอรับ องค์ครูอาจารย์ได้เป็นหลักฐานว่าภูมิปัญญาแบบของเราของพุทธนี้มีอยู่ขอรับ และมีประโยชน์จริง ขอรับ เรามัวแต่ไปมมุ่งศึกษาความรู้ต่างประเทศ และบางคนยิ่งแล้วใหญ่หาว่าความรู้แบบนี้ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย กระผมเองก็เคยเป็นเช่นนั้น จนได้หันกลับมาเห็นคุณค่าของการย้อนกลับมาศึกษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และขององค์พระศาสดาขอรับ และเห็นว่าทางนี้มีอยู่จริง และใช้แก้ปัญหาได้จริง ยิ่งได้เห็นเหล่าพระภิกษุ เข้ามาช่วยเหลือสังคม เอาองค์ความรู้มารับใช้สังคม อย่างนี้ ผมยิ่งดีใจขอรับ กระผมเองยิ่งเมื่อตามอ่านงานของพระคุณเจ้ายิ่งทราบว่า ทางมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิยาลัยได้มีโครงการดีๆ เพื่อสังคมหลายอย่างขอรับ กระผมยิ่งดีใจขอรับ และยิ่งเห็นว่าพระศาสนานี้มีประโยชน์จริงขอรับ กระผมคงต้องค่อยๆ เปิดกะลาออกจากตัวเองไปหาความรู้เพิ่มเติมให้มากเท่าที่จะทำได้ขอรับ ได้ได้ลดอัตตา และความโง่ของตนเองลงขอรับกราบขอบพระคุณขอรับ

เป็นบุญของกระผม ครับ บางครั้งเรา ลืมไปว่าเรามีสิ่งดีๆ อยู่ในมือขอรับ เราลืมหันกลับไปดูภูมิปัญญาการแก้ไขปัญหาของบรรพบุรุษของเราและขององค์พระศาสดาขอรับ องค์ครูอาจารย์ได้เป็นหลักฐานว่าภูมิปัญญาแบบของเราของพุทธนี้มีอยู่ขอรับ และมีประโยชน์จริง ขอรับ เรามัวแต่ไปมมุ่งศึกษาความรู้ต่างประเทศ และบางคนยิ่งแล้วใหญ่หาว่าความรู้แบบนี้ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย กระผมเองก็เคยเป็นเช่นนั้น จนได้หันกลับมาเห็นคุณค่าของการย้อนกลับมาศึกษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และขององค์พระศาสดาขอรับ และเห็นว่าทางนี้มีอยู่จริง และใช้แก้ปัญหาได้จริง ยิ่งได้เห็นเหล่าพระภิกษุ เข้ามาช่วยเหลือสังคม เอาองค์ความรู้มารับใช้สังคม อย่างนี้ ผมยิ่งดีใจขอรับ กระผมเองยิ่งเมื่อตามอ่านงานของพระคุณเจ้ายิ่งทราบว่า ทางมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิยาลัยได้มีโครงการดีๆ เพื่อสังคมหลายอย่างขอรับ กระผมยิ่งดีใจขอรับ และยิ่งเห็นว่าพระศาสนานี้มีประโยชน์จริงขอรับ กระผมคงต้องค่อยๆ เปิดกะลาออกจากตัวเองไปหาความรู้เพิ่มเติมให้มากเท่าที่จะทำได้ขอรับ ได้ได้ลดอัตตา และความโง่ของตนเองลงขอรับกราบขอบพระคุณขอรับ

เป็นบุญของกระผม ครับ บางครั้งเรา ลืมไปว่าเรามีสิ่งดีๆ อยู่ในมือขอรับ เราลืมหันกลับไปดูภูมิปัญญาการแก้ไขปัญหาของบรรพบุรุษของเราและขององค์พระศาสดาขอรับ องค์ครูอาจารย์ได้เป็นหลักฐานว่าภูมิปัญญาแบบของเราของพุทธนี้มีอยู่ขอรับ และมีประโยชน์จริง ขอรับ เรามัวแต่ไปมมุ่งศึกษาความรู้ต่างประเทศ และบางคนยิ่งแล้วใหญ่หาว่าความรู้แบบนี้ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย กระผมเองก็เคยเป็นเช่นนั้น จนได้หันกลับมาเห็นคุณค่าของการย้อนกลับมาศึกษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และขององค์พระศาสดาขอรับ และเห็นว่าทางนี้มีอยู่จริง และใช้แก้ปัญหาได้จริง ยิ่งได้เห็นเหล่าพระภิกษุ เข้ามาช่วยเหลือสังคม เอาองค์ความรู้มารับใช้สังคม อย่างนี้ ผมยิ่งดีใจขอรับ กระผมเองยิ่งเมื่อตามอ่านงานของพระคุณเจ้ายิ่งทราบว่า ทางมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิยาลัยได้มีโครงการดีๆ เพื่อสังคมหลายอย่างขอรับ กระผมยิ่งดีใจขอรับ และยิ่งเห็นว่าพระศาสนานี้มีประโยชน์จริงขอรับ กระผมคงต้องค่อยๆ เปิดกะลาออกจากตัวเองไปหาความรู้เพิ่มเติมให้มากเท่าที่จะทำได้ขอรับ ได้ได้ลดอัตตา และความโง่ของตนเองลงขอรับกราบขอบพระคุณขอรับ

อนุโมทนาอีกครั้ง ดีใจที่ได้อ่านความรู้สึกที่ดีๆ จากโยม และคิดว่ามีอีกหลายท่านที่คิดเช่นเดียวกับโยม โชคดีปีใหม่

  • นมัสการท่านฯ
  • เป็นเรื่องที่ดีมากเลยครับ
  • อยากให้บางคนอ่าน
  • ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อนะครับ
  • ปล.เปลี่ยนรูปใหม่ จำไม่ได้ครับ

อ.ขจิต ด้วยความยินดี ช่วยกันขยายและเผยแผ่ เพราะตอนนี้สังคมกำลังเข้าใจผิดเรื่องนี้กันมากเหลือเกิน

นมัสการพระคุณเจ้า

มาอ่านเพื่อเป็นความรู้เจ้าค่ะ

ขอบพระคุณพระคุณเจ้าค่ะ

กราบพระอาจารย์เจ้าค่ะ

อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มมากมายเลยเจ้าค่ะ

แต่ตรงนี้..นะเจ้าค่ะ "พระอรหันต์คิดต่างกัน หรือมีมุมมองที่แตกต่างกันได้หรือไม่"

ประโยคนี้ยังติดอยู๋ในใจของชยาภรณ์ อยู่เลยเจ้าค่ะ

ต้องหาความคิดของตัวเอง..ต่อไปนะเจ้าค่ะ แล้วจะกราบเรียนให้พระอาจารย์ทราบว่าคิดอย่างไร?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท